เชียงราย/ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดงานวันที่อยู่อาศัยโลก ภาคเหนือปี 2562 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงราย มีผู้แทนขบวนองค์กรชุนชนจาก 17 จังหวัด และหน่วยงานภาคีเข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน โดยมอบบ้านให้ผู้มีรายได้ที่ พอช.สนับสนุนตามโครงการบ้านมั่นคง-บ้านพอเพียงชนบทรวม 3,636 ครัวเรือน ขณะที่ภาคประชาชนยื่นข้อเสนอ 7 ข้อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย-ที่ดินทำกินโดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก (World Habitat Day)’ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศต่างๆ ในโลกได้ให้ความสนใจกับสถานการณ์การอยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ตลอดจนสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม และสร้างความตระหนักในความรับผิดชอบร่วมกันในการจัดการให้มนุษย์ทุกคนมีที่อยู่อาศัยในอนาคต ซึ่งในปี 2562 วันที่อยู่อาศัยโลกได้ตรงกับวันจันทร์ ที่ 7 ตุลาคม 2562 ในประเทศไทยมีการรณรงค์เคลื่อนไหวของภาคประชาชนหลายกลุ่มทั้งส่วนกลางและภูมิภาคตลอดช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้
ที่ภาคเหนือมีการจัดกิจกรรมวันที่อยู่อาศัยโลกที่จังหวัดเชียงราย โดยในวันที่ 3 พฤศจิกายน มีการจัดกิจกรรมเดินรณรงค์จากบริเวณหน้าโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม ไปยังลานออกกำลังกายสวนตุงและโคมเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย มีผู้เข้าร่วมเดินรณรงค์ประมาณ 700 คน และมีการประกาศเจตนารมณ์การขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาที่อยู่อาศัยขององค์กรเครือข่ายการพัฒนาที่อยู่อาศัยภาคเหนือ ทั้งนี้ในพื้นที่ภาคเหนือ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนฯ หรือทับซ้อนกับที่ดินของรัฐประเภทต่างๆ มีปัญหาความไม่มั่นคงในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย
ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์การพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในภาคเหนือ
วันที่ 4 พฤศจิกายน มีการจัดกิจกรรมที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงราย โดยมีนายนิพนธ์ บุญญมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธี มีนายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ และสมาชิกเครือข่ายการพัฒนาที่อยู่อาศัยภาคเหนือเข้าร่วมงานประมาณ 1,000 คน ภายในงานมีการจัดเวทีเสวนา นิทรรศการแสดงผลงานการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในพื้นที่ต่างๆ เช่น ตำบลดอยยาว-ดอยผาหม่น จ.เชียงราย ชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์ที่ดินและป่าไม้, การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยกรณีภัยพิบัติที่บ้านห้วยขาบ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ฯลฯ
จากนั้นนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย เป็นประธานในการมอบบ้านให้แก่ประชาชนที่มีรายได้น้อยที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ ให้การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงเมืองและชนบทจำนวน 3,636 ครัวเรือน (บ้านมั่นคงเมืองและชนบท จำนวน 1,182 ครัวเรือน บ้านพอเพียงชนบท จำนวน 2,454 ครัวเรือน
เช่น บ้านมั่นคงเมืองและชนบทตำบลยาบหัวนา อ.เวียงสา จังหวัดน่าน 507 ครัวเรือน บ้านมั่นคงชนบท (กรณีภัยพิบัติดินถล่ม)บ้านห้วยขาบ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน 60 ครัวเรือน บ้านพอเพียงชนบทภาคเหนือ จำนวน 2,454 ครัวเรือน ฯลฯ
รมช.มหาดไทย (ที่ 2 จากขวา) มอบบ้านให้แก่ผู้แทนชุมชน
นายประนอม เชิมชัยภูมิ ประธานคณะทำงานบ้านมั่นคงและการจัดการที่ดินภาคเหนือ กล่าวถึงข้อเสนอของภาคประชาชนที่ยื่นต่อ รมช.มหาดไทยว่า 1. หน่วยงานภาครัฐทุกระดับต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินอย่างจริงจัง 2.ขอให้หน่วยงานในระดับจังหวัดบรรจุแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัย และการจัดการที่ดินเป็นแผนยุทธศาสตร์หลักของจังหวัด โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม
3.สนับสนุนให้มีการจัดประชุมคณะทำงานการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยในระดับจังหวัดอย่างต่อเนื่อง และผลักดันพื้นที่ที่มีประเด็นปัญหาข้อติดขัดต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ทั้งระดับอำเภอ และระดับจังหวัด อย่างสม่ำเสมอ 4.ในเชิงกลไกคณะทำงานการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน(คทช.) ให้มีการทบทวนองค์ประกอบ โดยเพิ่มสัดส่วนผู้แทนสภาองค์กรชุมชน กลุ่มผู้เดือดร้อน เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพิจารณาเสนอแนะปัญหาและข้อติดขัดที่เกิดขึ้น เพื่อสะท้อนถึงสถานการณ์ปัญหาที่แท้จริง ตลอดจนรักษาไว้ซึ่งสิทธิการเข้าถึงทรัพยากร ในทุกระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับอำเภอ จังหวัด และระดับชาติ
ร่วมกันกล่าวข้อเสนอแก้ไขปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัย
5.ให้มีการจัดตั้งกองทุนกลางสำหรับการพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน และการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยให้ผู้มีรายได้น้อยมีส่วนร่วมบริหารจัดการ เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างเป็นธรรม สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ทางกายภาพ สังคม และเศรษฐกิจของพื้นที่ เช่น เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง พอช. ซื้อโครงการที่อยู่อาศัย การเคหะฯ เอกชน หรือกลับภูมิลำเนา ฯลฯ ตลอดจนการสร้างความเข้มแข็งและยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน
6.การบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน ในการสนับสนุนระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในพื้นที่โครงการการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยอย่างทั่วถึง 7.หากเกิดกรณีภัยพิบัติขึ้น ให้มีการอำนวยการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและจัดหาที่ดินรองรับให้กับผู้ได้รับผลกระทบที่สอดคล้องกับวิถีการดำรงชีวิตและวัฒนธรรม
บ้านชาวห้วยขาบ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน 60 หลังที่เกิดภัยพิบัติดินถล่มเมื่อปี 2561 กำลังเร่งก่อสร้าง โดยบริษัทไทยเบฟสนับสนุนงบประมาณ หน่วยงานต่างๆ และ พอช.ร่วมกันสนับสนุนการก่อสร้าง
นอกจากนี้ประธานคณะทำงานบ้านมั่นคงและการจัดการที่ดินภาคเหนือได้ยกตัวอย่างปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยในจังหวัดเชียงรายว่า ขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่ดอยยาว-ดอยผาหม่น อ.เทิง อ.เวียงแก่น และ อ.ขุนตาล จ.เชียงราย ประมาณ 32 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 20,000 คน กำลังวิตกกังวลเนื่องจากทางราชการกำลังสำรวจพื้นที่เพื่อประกาศเขตอุทยานแห่งชาติภูชี้ฟ้า พื้นที่ประมาณ 200,000 ไร่ ซึ่งหากมีการประกาศเขตอุทยานฯ จะทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ เพราะพื้นที่เขตอุทยานฯ จะครอบคลุมที่อยู่อาศัยและทำกินของชาวบ้านรวม 32 หมู่บ้าน ทำให้มีข้อห้ามต่างๆ เช่น เข้า-ออกผ่านเขตอุทยานฯ จะต้องแลกบัตร ห้ามเก็บหน่อไม้ เก็บเห็ด หรือห้ามเลี้ยงสัตว์ในเขตอุทยานฯ ห้ามปลูกสร้าง ต่อเติมที่อยู่อาศัย ฯลฯ
“ดังนั้นชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันเพื่อยื่นข้อเสนอขอให้ทางราชการยุติการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติภูชี้ฟ้า โดยทางชาวบ้านมีข้อเสนอที่จะร่วมกับเจ้าหน้าที่ในการอนุรักษ์และดูแลพื้นที่ป่าไม้ให้มีความสมบูรณ์ เช่น การร่วมกันปลูกป่า ห้ามตัดต้นไม้ ห้ามล่าสัตว์ จัดทำเขตป่าชุมชน โดยที่ผ่านมาชาวบ้านได้ยื่นข้อเสนอกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้” นายประนอมกล่าว
นายนิพนธ์ รมช.มหาดไทย กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของพี่น้องประชาชน โดยทางกระทรวงมหาดไทยมีแนวทางที่จะบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงาน 3 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินการเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว
“โดยจะดำเนินการสำรวจข้อมูลที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย โดยใช้กลไก คทช. (คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ) ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลในการจัดสรรที่ดินให้กับประชาชน โดยทดลองใช้ One map มาเป็นเครื่องมือในการกันพื้นที่ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงาน โดยกระทรวงทรัพยากรฯ และกระทรวงมหาดไทย เพื่อจัดแนวเขตที่ดินให้ชัดเจนว่าพื้นที่ส่วนใหญ่จะสามารถนำมาจัดสรรให้กับพี่น้องประชาชน พื้นที่ส่วนใหนเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์” รมช.มหาดไทยกล่าว
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ กล่าวว่า จากปัญหาการขาดแคลนและความไม่มั่นคงในเรื่องที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ รัฐบาลจึงมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดย พอช. จัดทำ ‘แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)’ โดยมีเป้าหมายให้คนไทยทุกคนเข้าถึงสิทธิในที่อยู่อาศัย มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพ และเสริมสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายและครอบคลุมในทุกมิติ มีวิสัยทัศน์ คือ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่ว และมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายในปี 2579” โดย พอช.มีเป้าหมายสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศประมาณ 1,050,000 ครัวเรือน เช่น โครงการบ้านมั่นคง โครงการบ้านพอเพียงชนบท บ้านประชารัฐริมคลองลาดพร้าว ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาชีวิตคนไร้บ้าน
สมชาติ ภาระสุวรรณ ผอ.พอช.
“หลักการสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของ พอช.ก็คือ ให้ชุมชนเป็นแกนนำในการแก้ไขปัญหาของตนเอง โดยมีหน่วยงานต่างๆ ให้การสนับสนุน เช่น พอช. องค์กรปกครองในท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายต่างๆ เปลี่ยนจากการที่หน่วยงานรัฐทำให้เป็นชุมชนที่เดือดร้อนซึ่งเป็นเจ้าของปัญหาดำเนินการเอง โดยชาวบ้านและชุมชนที่เดือดร้อนจะต้องรวมกลุ่มกัน ร่วมกันสำรวจข้อมูลชุมชน ข้อมูลผู้ที่เดือดร้อน กำหนดทางเลือกในการแก้ไขปัญหา เช่น เช่าที่ดินอย่างถูกต้อง หรือจัดหาที่ดินแปลงใหม่ ร่วมกันออกแบบบ้าน ออกแบบผังชุมชน ร่วมกันออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน จนถึงการบริหารงานก่อสร้างบ้านและชุมชน” ผอ.พอช.กล่าว
ทั้งนี้ พอช.ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2546 ภายใต้โครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ปัจจุบัน (กันยายน 2562 ) พอช.สนับสนุนโครงการบ้านมั่นคงไปแล้วทั่วประเทศ รวม 1,231 โครงการ ทำให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงรวมทั้งหมด 112,610 ครัวเรือน โดยมีการอนุมัติงบประมาณเพื่อสนับสนุนชุมชนในด้านการก่อสร้างสาธารณูปโภค และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย รวมทั้งหมด 6,311 ล้านบาทเศษ ซึ่งสินเชื่อดังกล่าวนี้ ชุมชนต่างๆ ได้ทยอยชำระคืนให้แก่ พอช. เพื่อนำไปใช้หมุนเวียนแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศต่อไป
การจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือที่จังหวัดเชียงราย ภายใต้หัวข้อ ‘การขับเคลื่อนแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินระดับจังหวัดให้เกิดรูปธรรม’ มีเป้าหมายการจัดงาน คือ 1.สร้างความตระหนักต่อการให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกินและคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยแก่สาธารณะและหน่วยงานต่างๆ 2.ผลักดันให้กลไกในระดับจังหวัดที่มีอยู่ทั้งการพัฒนาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินขับเคลื่อนแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินให้เป็นรูปธรรม โดยการเชื่อมโยงและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง 3.ผลักดันให้เกิดการจัดตั้งและพัฒนากองทุนที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของผู้มีรายได้น้อยในระดับจังหวัด โดยความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และชุมชน
บรรยากาศการจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่เชียงราย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |