เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่ดินพร้อมอาคารตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนด เพื่อเป็นการสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง และเป็นการสร้างความมั่นคงให้เศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ จะส่งผลให้มีการลดค่าธรรมเนียมการโอนจากเดิม 2% เหลือ 0.01% และลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ จากเดิม 1% เหลือ 0.01% เช่นเดียวกัน สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัย ที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุด ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย และการจดทะเบียนการโอนและการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่อยู่อาศัย ต้องดำเนินการในคราวเดียวกัน โดยประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ถึงวันที่ 24 ธ.ค.2563
โดยก่อนหน้านี้ “ชาญกฤช เดชวิทักษ์” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่กระทรวงการคลัง ได้ร่วมหารือกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ เกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ก่อนที่ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ โดยประเมินว่ามาตรการดังกล่าวจะมีส่วนช่วยในการระบายสต๊อกอสังหาริมทรัพย์ของผู้ประกอบการทั้งสิ้น 35,000 ยูนิต และช่วยขับเคลื่อนให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563 ขยายตัวได้ถึง 5-7% พร้อมทั้งจะมีการจัดแคมเปญ โปรโมชั่นต่างๆ เพื่อกระตุ้นยอดขายเพิ่มเติมด้วย
นอกจากนี้ จะมีการเสนอให้ รมว.การคลัง เร่งหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท. ในการแก้ไขหลักเกณฑ์ของมาตรการกำกับดูแลสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (LTV) โดยจะเสนอให้สามารถกู้ได้ 100% โดยไม่จำเป็นต้องเป็นบ้านหลังแรกเท่านั้น ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นไปตามข้อเสนอของผู้ประกอบการ
ขณะที่ผู้ประกอบการในภาคอสังหาริมทรัพย์เอง ยอมรับว่าปี 2562 ภาคอสังหาริมทรัพย์จะไม่ขยายตัวมากนัก โดยคาดว่าปีนี้จะมียอดขายอยู่ราว 175,000 ยูนิต จากปีก่อนอยู่ที่ 196,000 ยูนิต แม้ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นออกมาก็ตาม สะท้อนจากยอดขายในช่วงไตรมาส 2-3 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมมีการปรับตัวลดลงถึง 20% ขณะที่บ้านจัดสรรอยู่ในระดับทรงตัว ซึ่งเป็นผลมาจากการที่สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ
“หากไม่มีมาตรการอะไรเลย คาดว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้จะทรงตัวในระดับที่ถดถอย และอยากให้รัฐบาลเร่งประสานงานเพิ่มเติมกับ ธปท. เพื่อคลายเกณฑ์ LTV ได้จะทำให้มีสัญญาณที่ดีขึ้น พร้อมทั้งมองว่ามาตรการดังกล่าว อาจทำให้เกิดการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ธ.ค.นี้” ผู้ประกอบการระบุ
ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการในภาคอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ต่างระบุว่า มาตรการ LTV ได้ส่งผลต่อตลาดและภาพรวมของเศรษฐกิจ โดยปัจจัยต่างๆ ทำให้หลายบริษัทชะลอความเร็วที่จะเปิดโครงการใหม่ๆ ลง พร้อมกำหนดกลยุทธ์เพื่อรับมือกับหลักเกณฑ์ ไปจนถึงทิศทางของเศรษฐกิจในระยะต่อไปด้วย จึงอาจเห็นว่าภาพรวมในภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมา อาจไม่ค่อยสดใสเท่าที่ควร
ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์นี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการส่งสัญญาณถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์กำลังต้องการความช่วยเหลือเป็นการด่วน จึงได้เร่งสั่งการให้กระทรวงการคลังออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือในส่วนนี้
แม้หลายฝ่ายจะสนับสนุนและเชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งผู้ประกอบการ และประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง แต่ก็ยังมีมุมมองที่แตกต่างออกไปด้วยเช่นกัน “โสภณ พรโชคชัย” ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ระบุว่า มาตรการดังกล่าวมีขึ้นเพื่อช่วยบริษัทผู้ขายบ้านให้สามารถขายบ้านได้สะดวกมากกว่าเป็นการช่วยผู้ซื้อบ้าน ถือเป็นการที่ไม่ได้ช่วยประชาชนส่วนใหญ่ ดังนั้นมาตรการนี้จึงถือเป็นทั้งข่าวดีและข่าวร้าย โดยข่าวดีคือรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่ข่าวร้ายคือมาตรการนี้อาจเป็นกับดักที่ผู้ซื้อบ้านต้องระวัง
อย่างไรก็ดี คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่รัฐบาลได้ผลักดันออกมานั้น จะมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจและขับเคลื่อนภาคอสังหาริมทรัพย์ให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด และประชาชนจะได้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่!.
ครองขวัญ รอดหมวน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |