'ประยุทธ์'สั่งเร่งสางทุจริต แบมเชื่อมั่นลุงตู่ปราบโกง


เพิ่มเพื่อน    

    นายกฯ ปัดเกียร์ว่างปล่อยข้าราชการทุจริต สั่ง “ป.ป.ท.” ไล่ตรวจละเอียดทุกกระทรวง พร้อมคุ้มครองพยานเต็มที่ "น้องแบม" ยืนยันหนูไม่ได้เป็นเด็กเลี้ยงแกะ หลังหน่วยงานรัฐตรวจสอบพบโกงอื้อ 44  จังหวัด เชื่อ "ลุงตู่" ปราบโกงได้ ด้าน มท.1 ฮึ่มฟันไม่เลี้ยงหากท้องถิ่นมีเอี่ยว
    เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุม ครม. ถึงปัญหาการทุจริตในโครงการของกระทรวงต่างๆ ว่า เรื่องทุจริตมีหลายหน่วยงานที่ปรากฏออกมา ไม่ใช่ว่ารัฐบาลนี้ปล่อยปละละเลย มีการตั้งกรรมการสอบสวนอยู่ แต่กระบวนการสอบสวนบางครั้งที่มันช้าเกินไป วันนี้ได้เร่งรัดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ไปตรวจในทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน หรือทุกงบประมาณที่มีปัญหา ทำไมตนถึงต้องเน้นตรงนี้ เพราะเป็นการใช้งบประมาณโดยตรงจากรัฐ 
    เช่น ในโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการเงินคนไร้ที่พึ่ง โครงการจ้างงาน และโครงการเงินทุนการศึกษา ซึ่งโครงการเหล่านี้มีมานานแล้ว และตนเคยบอกแล้วว่ามันก็อยู่ที่ผู้ได้รับผลประโยชน์ อยู่ที่เจ้าหน้าที่ อยู่ที่ประชาชนส่วนหนึ่งที่ได้ประโยชน์ก็เข้าร่วมมือด้วย และด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เขาให้อะไรมาก็เอาหมด เผอิญโชคดีระหว่างการสอบสวนมีผู้หญิงกับผู้ชาย 2 คนมาให้ข้อมูล ก็เป็นสิ่งที่น่าชมเชย ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนต้องร่วมมือกัน มีหลักฐานก็ออกมาพูดจะทางลับหรือเปิดเผยก็ได้ ตนก็รับหมด
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตอนนี้ทั้ง 3 เรื่องดังกล่าวมีคนมาให้ข้อมูล มีเจ้าหน้าที่ต่างๆ ให้ข้อมูลแล้ว คือเขากล้าขึ้น จะไม่อยู่ร่วมขบวนการอีกต่อไป มันสะสมมายาวนาน ก็อยากไปทบทวนกันให้รู้ว่ารัฐบาลนี้เอามาเปิดเผยได้กี่เรื่องแล้ว คดีใหญ่ๆ เล็กๆ กลางๆ ก็มาหมด ไม่ใช่รัฐบาลปล่อยปละละเลย เพียงแต่มันต้องสอบสวนหาสาเหตุ หลักฐานวัตถุพยานบุคคลมาให้ได้ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยยอมเป็นพยานกัน เพราะกลัว ไม่ต้องกลัวหรอก ตนดูแลคุ้มครองให้ เพราะใครที่ไปทำร้ายไปรังแก งบประมาณที่จะต้องไปถึงคนจน คนเหล่านี้ตนถือว่าแย่มาก คนที่ด้อยโอกาสแล้วยังไปเอาของเขามาอีก ตนว่ามันน่าอับอาย ในทางศีลธรรมก็ไม่ได้อีก หลายกระทรวงตนกำลังให้ ป.ป.ท.ลงไปตรวจสอบอยู่ ในกรณีการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ มันต้องให้ความชัดเจนและให้ความเป็นธรรมเกิดขึ้น
    พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการตรวจสอบกรณีทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่ง มีทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ว่า ตนยังไม่ได้รับรายงานส่วนนี้ ยืนยันว่าการทุจริตเป็นปัญหาของประเทศชาติมานาน ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย หากมีที่ใดพบการทุจริต จะมีการสอบสวน โทษนั้นจะมีความรุนแรงถึงขั้นไล่ออก ไม่ได้รับบำนาญใดๆ ยิ่งจับได้มาก และลงโทษได้มากจะกลายเป็นบรรทัดฐานไม่ให้มีการกระทำผิดแบบนี้อีก
    ที่โรงแรมขอนแก่น โฮเต็ล นายฉัตรชัย อุ่นเจริญ นายอำเภอเมืองขอนแก่น พร้อมด้วย น.ส.จิรดา พูนสวัสดิ์ ประชาสัมพันธ์ จ.ขอนแก่น, นายธีระพงษ์ โสดาศรี อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ พร้อมด้วยกำนันและผู้ใหญ่จากทั้ง 17 ตำบลในเขต อ.เมืองขอนแก่น ได้ลงนามความร่วมมือบันทึกข้อตกลงร่วมกันในการเป็นเครือข่ายภาคประชาชนป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในเขต อ.เมืองฯ ตามแผนการดำเนินงานร่วมกันระหว่างสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช., สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.ขอนแก่น, อำเภอเมืองขอนแก่น และชมรมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน อ.เมืองขอนแก่น โดยมี น.ส.ปณิกา ยศปัญา นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) สาขาการพัฒนาชุมชน และ น.ส.ณัฐกานต์ หมื่นผล อดีตลูกจ้างศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น ซึ่งเป็นพยานคนสำคัญในคดีการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและผู้ป่วยโรคเอดส์ ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมเป็นสักขีพยาน
    น.ส.ปณิดาหรือน้องแบมกล่าวว่า วันนี้แสดงให้เห็นแล้วว่าตนเองไม่ได้เป็นเด็กเลี้ยงแกะตามที่อาจารย์หรือผู้ใหญ่กล่าวหา เพราะเรื่องที่นำมาเปิดเผยต่อสาธารณชน และนำเข้าร้องเรียนต่อเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.นั้น ป.ป.ท.ได้ทำการตรวจสอบแล้ว และพบมูลความผิดมากถึง 44 จังหวัด ซึ่งเรื่องคดีความนั้นเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ต้องตรวจสอบ ซึ่งตนเองนั้นยังคงต้องให้การกับ ป.ป.ท. ในฐานะพยานปากสำคัญตามขั้นตอนของการไต่สวน
    "เป็นเวทีสาธารณะเวทีแรกที่หนูมากล่าวแสดงความรู้สึกกับสิ่งที่เกิดขึ้น หนูขอขอบคุณทุกกำลังใจเพราะวันนี้กำลังใจที่หนูได้รับมาจากทั่วทั้งประเทศ ซึ่งถือเป็นของขวัญที่สูงสุดของตัวเองและครอบครัวแล้ว เพราะเราทำดี ทำในสิ่งที่ถูกต้อง จนกลายเป็นกรณีศึกษาที่นิสิตคนหนึ่งนำสิ่งที่ผิดมาแจ้งให้กับรัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบนั้นได้รับทราบ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและทำให้ถูกต้อง การพูดวันนี้คงเป็นการสร้างกำลังใจและจุดประกายความกล้าให้กับภาคประชาชนและภาคประชาสังคมในการที่จะออกมาต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เพราะรัฐบาลประกาศนโยบายเรื่องการปราบโกงการปราบการทุจริตคอร์รัปชันชัดเจน และเชื่อว่าลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีนั้นทำได้ และปราบโกงได้สำเร็จ"
    น.ส.ปณิดากล่าวต่อว่า สาขาพัฒนาชุมชนและพัฒนาสังคม คนที่เรียนคือคนที่มีใจรักและต้องการทำงานเพื่อชุมชนและสังคมอย่างแท้จริง วันนี้ตนทราบมาว่าน้องๆ นักเรียนและคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจที่จะเรียนในสาขานี้เยอะขึ้น และตนเองพร้อมที่จะเป็นรุ่นพี่ที่คอยแนะนำและสอนให้กับน้องๆ รุ่นใหม่ในการเป็นพัฒนาชุมชนและนักพัฒนาสังคมที่ดี และนำความรู้ความสามารถและวิชาที่เรียนมานั้นไปทำประโยชน์ให้กับประเทศและทำประโยชน์ให้กับผู้ยากไร้ คนยากคนจนได้อย่างครบถ้วน
    น้องแบมกล่าวว่า ขอบคุณที่หลายคนยกให้ตนเป็นต้นแบบของการต้านโกง เป็นต้นแบบให้กับเด็กและเยาวชนครุ่นใหม่ ในการที่จะกล้าทำดี และทำจริง วันนี้ขอให้น้ำหนักในเรื่องเรียนมากกว่า เพราะเมื่อเปลี่ยนหัวข้อการวิจัยจากเดิม คือเรื่องการดูแลผู้ป่วยทางจิตเวช ที่ต้องทำงานร่วมกันระหว่างศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่นและ รพ.จิตเวชราชนครินทร์ขอนแก่น มาเป็นหัวข้อการดูแลผู้สูงอายุ และมีการเปลี่ยนพื้นที่ในการทำวิจัย เปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษา ทำให้งานช้ากว่าเพื่อนมาก วันนี้ทำได้เพียงร้อยละ 40 และจะต้องสำเร็จการศึกษาในเดือน พ.ค.ที่จะถึงนี้พร้อมเพื่อน ทำให้ช่วงนี้ขอลงพื้นที่ทำวิจัยอย่างเต็มที่ โดยมีพี่ทหารและตำรวจคอยรักษาความปลอดภัยอยู่ทุกวัน แต่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมอาจารย์ต้องเปิดเผยพื้นที่ของการทำวิจัยด้วย ทำให้การลงพื้นที่แต่ละต้องระวังตัวเองอยู่ตลอดเวลา
    ขณะที่นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า ได้มีคำสั่งสั่งการไปยังนายอำเภอทั้ง 26 อำเภอของจังหวัดขอนแก่น ในการอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. ในการลงพื้นที่ไต่สวนพยานในคดีทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและผู้ป่วยโรคเอดส์ ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น กระทรวง พม. หลังพบมูลความผิดเกิดขึ้นในพื้นที่ ที่ในขณะนี้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ยังคงลงพื้นที่ไต่สวนบุคคลตามที่ปรากฏในรายชื่อเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2560 ซึ่งในคำสั่งดังกล่าวนั้น ได้กำชับให้นายอำเภอทุกอำเภออำนวยความสะดวก และให้การสนับสนุนการดำเนินงานของ ป.ป.ท. เนื่องจากเกรงว่าอาจจะมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว
    "ผมได้กำชับให้นายอำเภอทั้ง 26 อำเภอทำการตรวจสอบ และให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ เพื่อปราบปรามการทุจริตที่เกิดขึ้น ซึ่งหากมีการตรวจสอบพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผม มีส่วนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานในคดีดังกล่าว และหากพบว่ามีการเคลื่อนย้ายหรือทำลายหลักฐาน ก็จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดทันที" ผวจ.ขอนแก่นกล่าว
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนอุดม อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น นายทองสุข ณ พล นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) เขต 4 พร้อมด้วยพนักงานสืบสวนและคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและผู้ป่วยโรคเอดส์ ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น ลงพื้นที่สอบสวนชาวบ้านตามรายชื่อที่ปรากฏในบัญชีเบิก-จ่าย ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น ประจำปีงบประมาณ 2560 ในพื้นที่ ต.โนนอุดม อ.ชุมแพ โดยมีรายชื่อชาวบ้านจำนวน 121 ราย ที่มีชื่อในรายการเบิกจ่ายรวม 242,000 บาท โดยในการสอบสวนนั้นเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนและผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในห้องสอบสวนโดยเด็ดขาด และให้ผู้ที่มีรายชื่อรออยู่ด้านนอก โดยทำการสอบสวนทีละคน
    นางบรรณ เนียมสุระ อายุ 64 ปี หนึ่งในผู้ที่มีรายชื่อปรากฏในเอกสารการเบิก-จ่าย กล่าวว่า ไม่ทราบมาก่อนว่ามีชื่อไปเบิกเงิน 2,000 บาท เพราะไม่เคยได้ยินชื่อศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่นมาก่อน อีกทั้งผู้นำชุมชนไม่เคยบอกว่าจะได้รับเงินสงเคราะห์จำนวนนี้ มาทราบก็ต่อเมื่อทาง ป.ป.ท.ได้ประสานงานมายัง รพ.สต. และมีการประสานงานมาในพื้นที่ จึงเดินทางมาพบกับพนักงานสอบสวน
    "หลังเข้าพบเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.เขต 4 จึงรู้ว่ามีการนำสำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน ไปเบิกเงินจำนวน 2,000 บาท ซึ่งไม่รู้ว่าใครเบิกมา เพราะไม่เคยได้รับเงินแม้แต่บาทเดียว ส่วนสำเนาบัตรประชาชนนั้น ได้ให้ผู้ใหญ่บ้านไปใช้ในการขอรับการสนับสนุนโครงการต่างๆ ของทางรัฐบาล คือรับเงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุ เดือนละ 600 บาทเท่านั้น แต่เงินของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่นนั้นไม่เคยได้รับ" นางบรรณกล่าว
    ขณะที่นายทองทิพย์ จันทะบุรมย์ อายุ 67 ปี กล่าวว่า ไม่ทราบเช่นกันว่ามีชื่อไปอยู่ในรายการเบิกจ่ายของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่นได้อย่างไร เพราะถ้ามีการสงเคราะห์จริง ก็อยากจะให้ชาวบ้านผู้ยากไร้ไม่มีอันจะกินมากกว่าที่จะรับไว้เอง เพราะครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย และมีฐานะในระดับพออยู่พอกิน ไม่เดือดร้อน ดังนั้นจึงอยากให้เจ้าหน้าที่นำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายให้หมด
    นายทองสุข ณ พล นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการพิเศษ ป.ป.ท. เขต 4 กล่าวว่า พนักงานสอบสวนจะทำการลงพื้นที่ไต่สวนและสอบสวนชาวบ้านตามรายชื่อที่มีที่อยู่ตามหมู่บ้านและตำบลต่างๆ ของแต่ละอำเภอ ที่มีอยู่ในบัญชีการเบิกจ่ายของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น ในปีงบประมาณ 2560 ใน 22 อำเภอ ของจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีรายชื่อปรากฏในเอกสารกว่า 3,200 คน งบประมาณรวม 6,900,000 บาท โดยเฉพาะที่ บ.โนนอุดม วันนี้เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ต้องทำการไต่สวน สอบสวน เพราะมีรายชื่อชาวบ้านจำนวน 121 ราย อยู่ในรายการเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งชาวบ้านทั้งหมดนี้อยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเพียงกลุ่มเดียว แต่จากการสอบสวนชาวบ้าน ต่างก็ยืนยันว่าไม่ได้รับเงินแม้แต่คนเดียว 
    "การทำงานของเจ้าหน้าที่นั้น ต้องตรวจสอบเส้นทางของการเบิกและการจ่ายเงินอย่างละเอียด โดยการทำงานของคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ จะทำงานกันอย่างเต็มที่ เพื่อให้เสร็จทันกรอบเวลาที่กำหนดไว้ และได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเป็นอย่างดี" นายทองสุขกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"