เส้นทาง-พรรค อนค. หลังตัดสินคดี ธนาธร 20 พ.ย.


เพิ่มเพื่อน    

สมมุติ อนค.ถูกยุบพรรค

หัวใจของพวกเราก็ยังคงอยู่

        พรรคอนาคตใหม่ ที่ตั้งขึ้นมาได้แค่หนึ่งปีกว่า แต่กลายเป็นพรรคการเมืองที่ถูกจับตามองทุกฝีก้าว โดยเฉพาะช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังเกิดความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับพรรคหลายกรณี อาทิ เรื่องที่ 70 ส.ส.ของพรรคลงมติไม่รับร่างพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยงานบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 แต่ในมติดังกล่าวก็มี ส.ส.ของพรรคส่วนหนึ่งที่โหวตสวนกับมติพรรค แม้กระทั่งการแพ้การเลือกตั้งซ่อมที่นครปฐม ปัญหาความขัดแย้งในการบริหารจัดการภายในพรรค จนมีอดีตผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคและสมาชิกจำนวนหนึ่งไปยื่นใบลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค รวมถึงการนับถอยหลังใกล้งวดเข้ามาทุกทีกับปัญหาคดีความของแกนนำพรรคอย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ในคดีถือหุ้นสื่อ ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 20 พ.ย.นี้ เป็นต้น

ทุกเรื่องราวทั้งหมดเกี่ยวกับพรรคอนาคตใหม่ข้างต้นและทิศทางการเมืองต่อจากนี้ โดยเฉพาะหลังเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมาจะเป็นอย่างไร ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่-ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคร่วมกับธนาธร จะตอบทุกข้อซักถามที่หลายคนอยากรู้ถึงก้าวย่างของพรรคอนาคตใหม่นับจากนี้

เริ่มต้นจากเรื่องก้าวย่างของพรรคหลังจากนี้ กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังคำตัดสินของศาล รธน.ในคดีของธนาธร

-หลัง 20 พย. หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในทางที่ไม่เป็นคุณกับธนาธร จะเกิดอะไรขึ้นกับพรรคอนาคตใหม่หรือไม่?

ในทางที่ไม่เป็นคุณแรงที่สุดเท่าที่จะแรงได้ตามคำร้องก็คือ ไม่ได้เป็น ส.ส. แต่เขาก็เป็นหัวหน้าพรรค แล้วเขาก็สามารถรณรงค์ได้อีก คือแม้ไม่ได้เป็น ส.ส. ไม่ได้เข้าสภา ก็อยู่นอกสภา ก็รณรงค์ต่อเนื่องได้ แล้ววันหนึ่งเป็นรัฐบาลก็ยังเป็นรัฐมนตรีได้ ยังเป็นนายกฯ ได้อยู่

สำหรับผมมองว่าคำวินิจฉัยเรื่องนี้เราสู้เต็มที่ และเรามั่นใจเพราะในทางกฎหมายเช็กยังไงก็มั่นใจมาก เพราะเขาโอนหุ้นเมื่อ 8 มกราคม ดังนั้นก่อนวันลงสมัคร ส.ส.ของพรรคเขาไม่ได้ถือหุ้นวีลัคแล้ว และที่สำคัญกว่านั้นบริษัทวีลัคก็ไม่ใช่สื่อ บริษัทวีลัคเข้าสู่การเตรียมปิดบริษัท แต่ยังเหลือการทำงานค้างอยูหนึ่งฉบับเพราะว่ามันเป็นสัญญาที่เกี่ยวเนื่องกันมากับสายการบิน NokAir แต่เขาปิดบริษัทไปแล้ว และวัตถุประสงค์ของวีลัคก็ไม่ได้ทำสื่อจริงๆ แต่รับจ้างผลิตนิตยสาร คือทาง NokAir เขาเขียนมาให้เสร็จหมดเลย แล้วบริษัทก็ไปทำให้มันออกมาเป็นเล่มเท่านั้นเอง เหมือนโรงพิมพ์ จึงไม่ใช่บริษัททำสื่อในความมุ่งหมายตาม รธน.

ผมจึงมั่นใจมากว่าคดีนี้พิจารณาอย่างเป็นธรรม ยังไงคุณธนาธรก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องนี้ ยังไงก็มีคุณสมบัติครบถ้วนแน่นอน แต่ในท้ายสุดในทางกฎหมายก็สู้กันไป แล้วผลจะเป็นอย่างไรก็รอดูคำวินิจฉัยของศาล รธน.

“ผมมั่นใจว่าไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรก็ตาม ไม่ได้ทำให้พรรคอนาคตใหม่เสียกำลังใจหรืออ่อนยวบลง ไม่ได้ทำให้หัวหน้าพรรคท้อถอย ไม่ได้ทำให้หัวหน้าพรรคเสียกำลังใจในการทำงาน  อย่างที่ผมย้ำเสมอผมกับคุณธนาธรตัดสินใจก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ มีความมั่นใจในการเอาจริงเอาจังกับการเมือง และหวังที่จะหลอมรวมคนในประเทศนี้ที่มีความคิดเห็นว่าบ้านเมืองเป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้ ต้องมาเปลี่ยนแปลงประเทศไปด้วยกัน”

เมื่อถามว่าส่วนตัวแล้วยังเชื่อมั่นต่อการตัดสินที่จะออกมาหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาก็มักมีข่าวทำนองบางฝ่ายพยายามจะสกัดพรรค อนค.ไม่ให้เติบโต มีข่าวจะยุบพรรค อนค.ออกมา ปิยบุตร-เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ให้คำตอบว่า ผมมั่นใจในกระบวนการของประเทศไทย แม้ว่าที่ผ่านมาจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปเยอะมาก ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา แต่ผมมองในภาพรวมแบบนี้ว่ามันเป็นกระบวนการที่สอดคล้องต้องกันกับแนวโน้มของโลก ในภาษาอังกฤษเขากำลังนิยมใช้กันคือ Lawfare ที่ล้อมาจากคำว่า  Warfare ที่เริ่มต้นมาจากลาตินอเมริกา คือในลาตินอเมริกาคุณเลือกประธานาธิบดีที่เป็นสังคมนิยม ที่จะทำนโยบายช่วยเหลือประชาชน ทางสหรัฐก็จะไม่พอใจ เมื่อก่อนเขาจะใช้วิธีรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นในชิลี บราซิล อาร์เจนตินา โดนแบบนี้หมดคือถูกรัฐประหาร แล้วก็จะส่งคนไปเป็นประธานาธิบดีที่เป็นตัวแทนของฝ่ายสนับสนุน ลัทธิเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ที่สนับสนุนสหรัฐเข้ามาแทน แต่ยุคปัจจุบันโลกไม่ยอมรับ "เอ้ย อะไรยึดอำนาจอีกแล้ว" เขาก็เปลี่ยนจาก Warfare ที่ใช้อาวุธยึดอำนาจมาเป็น Lawfare คือใช้กฎหมาย อันนี้เป็นเทรนด์ของโลก

Lawfare ทำงานโดยมีสองเครื่องมือหลักๆ หนึ่ง Judicialization of Politics คือเอาประเด็นการเมืองให้ไปอยู่ในมือศาล โดยมาในนามของ Rules of Law หลักนิติรัฐ นิติธรรม ศาลต้องมีอำนาจในการตรวจสอบ และไปในนามของ Transparency ความโปร่งใส, Anti-Corruption ต้องตรวจสอบนักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชัน โดยคดีต่างๆ ของนักการเมืองไปอยู่ในมือศาล กับอีกเครื่องมือที่ขับเคลื่อนได้คือ  Mediatisation of Politics Judicial Case คือเอาประเด็นการเมืองไปอยู่ในมือศาล แล้วก็เอาประเด็นการเมืองที่อยู่ในศาลไปอยู่ในมือสื่อ หมายถึงสื่อก็จะช่วยกันทำข่าว ชี้นำสังคมไปเรื่อยๆ “ผิดแน่ ผิดแน่ ไม่รอด ไม่รอด โดนแน่” พูดทุกวัน

...เช่น ข้อมูลหนึ่งบรรทัดไปเปิดดูว่าถือหุ้นอะไรไว้บ้าง เรื่องหนึ่งบรรทัด ปั้ม-ผลิตข่าวได้สองร้อยข่าว มันจะเป็นลักษณะแบบนี้ ซึ่งผมยืนยันว่าเรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ประเทศไทย แต่มันเป็นแนวโน้มของโลกที่กำลังทำกัน ที่มีการให้ชื่อว่า Lawfare เรื่องที่มีการนำประเด็นที่อยู่ในศาลไปอยู่ในมือสื่อ คือจะให้สื่อนำเสนอทุกวัน จนสังคมเชื่อไปแล้วว่าผิด โดยที่คนซึ่งเสพสื่อไม่ได้ไปดูข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่เชื่อไปล่วงหน้าเรียบร้อย แล้วก็ค่อยๆ บ่มสถานการณ์ไปเรื่อยๆ ผมก็ไม่แน่ใจว่าประเทศไทยเข้าสู่สถานการณ์นั้นหรือไม่อย่างไร แต่สิ่งนี้เป็นแนวโน้มของโลกที่นำมาอธิบายให้ทราบกัน  พอเรื่องเป็นแบบนี้ความสำคัญของมัน ลองตั้งคำถามดูลึกๆ พรรคอนาคตใหม่เราก่อตั้งพรรคมาหนึ่งปีเศษ พรรคลงเลือกตั้งไปหนึ่งสมัย ทำงานในสภามาสี่เดือนกว่า เรายังไม่ได้บริหารประเทศ ยังไม่ได้มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน เรื่องทุจริตคอร์รัปชันก็ไม่มีทางเกิดเพราะยังไม่ได้ใช้อำนาจรัฐในการบริหารประเทศเลย แต่ทำไมถึงเจอคดีหนักๆ ตลอด คำร้องต่างๆ 20 กว่าเรื่องที่ไปอยู่ในมือตำรวจ อยู่ที่สำนักงาน กกต., ศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เราเพิ่งตั้งพรรคมายังไม่ได้ทำงานอะไรเลย

...ท้ายที่สุดผมเลยอยากลองถามให้สังคมฉุกคิดกันดู ว่าคุณเชื่อว่าธนาธรโดนแน่ ปิยบุตรโดนแน่  พรรคอนาคตใหม่โดนแน่ คุณเชื่อแบบนั้นเพราะธนาธร ปิยบุตร และพรรคทำผิดจริงๆ เลยต้องโดน หรือคุณคิดว่าธนาธร ปิยบุตรและพรรคอนาคตใหม่ ต้องโดนเพียงเพราะว่าผู้มีอำนาจมองว่าพวกนี้เป็นอันตรายต่อเขา ที่เราตัดสินไปแล้วว่าโดนแน่ เราตัดสินจากเหตุผลชุดไหนกันแน่

-คือมองว่าอาจมีการใช้ Lawfare เพื่อสกัดพรรคอนาคตใหม่?

คือผมอาจอยู่ในสถานะที่ตอบเรื่องนี้ไม่ได้ แต่ผมคิดว่ากระแสสังคมที่พูดกันทุกวันว่าโดนๆ ผมเลยย้อนกลับไปถามดูว่า คุณใข้เหตุผลชุดไหนในการตัดสินว่า ปิยบุตร ธนาธร พรรคอนาคตใหม่โดนแน่ จากเรื่องของการผิดกฎหมายจริงๆ หรือว่าผู้มีอำนาจเขาไปคิดว่าพวกนี้มันอันตราย ผมว่าไม่เพียงแค่สื่อมวลชน แต่ทุกคนที่เชื่อว่าพรรคนี้โดนแน่ ลองถามกลับว่าคุณตัดสินจากเหตุผลชุดไหน

-มองคำร้องและคดีอื่นๆ เช่นคดียุบพรรคอนาคตใหม่ที่ศาล รธน.รับไว้วินิจฉัยด้วยมติ 5  ต่อ 4 อย่างไร มีธงอะไรไหม?

ผมยังมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย คำร้องชุดนี้ไปอ่านดูมันอ่อนมาก อ่อนมากๆ  อ้างเรื่องโน้นอ้างเรื่องนี้โยงกันไปมา แล้วมันเลยกลายเป็นเรื่องที่กลับตาลปัตรมากที่สุดว่า กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาต่อสู้ในรัฐสภา ลงเลือกตั้งโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งอนุญาตให้ตั้งพรรคการเมือง แต่พรรคการเมืองพรรคนี้กำลังถูกกล่าวหาว่าล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งหากเป็นแต่แรก กกต.ไม่ให้จัดตั้งพรรคได้หรอกครับ แล้วก็จะมาเอาเรื่องความคิดเห็นต่างๆ มาโยงใย ซึ่งหากเอาเรื่องนี้ กกต.เขาไม่ยอมให้ผ่านมาได้หรอกครับ กกต.ก็ให้ผ่านให้ตั้งพรรคได้ ข้อบังคับพรรคทุกอย่างครบถ้วนหมด แล้วพรรคก็ลงเลือกตั้ง มีส.ส.อยู่ในสภา แล้วพฤติกรรมของพรรคหลังจากนั้นก็ไม่ได้มีอะไรที่เป็นการล้มล้างการปกครอง มันจะกลายเป็นเรื่องตาลปัตรที่สุดที่คนมารวมตัวกันตั้งพรรค แล้วลงเลือกตั้ง กลายเป็นคนล้มล้างการปกครอง แต่คณะนายทหารกลุ่มหนึ่งยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งทั้งฉบับ ไม่โดนอะไรเลย แล้วยังเป็นนายกฯ อยู่ตอนนี้ สุดท้ายแล้วประเทศไทยคุณจะเดินหน้ากันต่อแบบไหน

-หากวันที่ 20 พ.ย.เกิดอะไรขึ้นกับธนาธร แล้วมีความพยายามจะนำไปสู่การยุบพรรคอนาคตใหม่ มวลชน ฐานเสียงของพรรคจะรับได้หรือไม่?

ผมไม่อยากให้คิดไปในลักษณะต่างๆ ว่าพรรคอนาคตใหม่จะโดนหรือไม่โดนอะไร แต่ผมมองในภาพกว้างมากกว่า เพื่อความยุติธรรมต่อประชาชนทั้งหมดทั้งที่เชียร์พรรคและไม่เชียร์พรรคอนาคตใหม่  ผมอยากให้ลองมานั่งนึกกันจริงๆ ว่าการยุบพรรคการเมืองมันแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ 13-14 ปีที่ผ่านมา ยุบไปแล้วหลายครั้ง การต่อสู้ทางการเมืองก็ยังเป็นคู่เดิม แสดงว่าการยุบพรรคการเมืองไม่ใช่หนทางในการแก้ไขปัญหาการเมืองได้ เพราะยุบพรรคเวลายุบคุณยุบได้แต่โครงร่างของมัน คุณยุบได้แต่เนื้อตัว ร่างกาย กระดูก แต่คุณยุบหัวใจมันไม่ได้ คุณยุบมาแล้วกี่ครั้ง แต่หัวใจของพรรคยังอยู่ แล้วหัวใจของพรรคก็จะไปเติบโตเป็นอย่างอื่นต่อไป

“สมมุติวันนี้คุณยุบพรรคอนาคตใหม่ คุณก็ทำได้แต่ยุบร่างกาย โครงของพรรค แต่หัวใจของพรรคอนาคตใหม่ยังอยู่ แล้วเราก็จะร้อยรัด ส.ส., สมาชิกพรรค, กรรมการบริหารพรรคของเรา และคนที่สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ เราร้อยรัดกันจนเป็นหัวใจ คุณเอาโครงนี้ระเบิดทิ้งไป ทำให้หายไป ถึงหายไปแต่หัวใจยังอยู่ แล้วหัวใจก็จะไปทำงานต่อ เพราะคนมันหัวใจเดียวกันแล้ว”

...ที่ผ่านมาก็เหมือนกันที่ยุบกันไป 4-5 พรรคก็เป็นแบบนี้ ก็เป็นลักษณะวนแบบนี้ ผมถึงมองภาพรวมดีกว่าว่าในท้ายที่สุดวิธีการแบบเดิมที่ใช้กันมา ในยุคสมัยหนึ่งมันอาจได้ผลในช่วงเวลาหนึ่งที่คุณคิด แต่ ณ ตอนนี้มันพิสูจน์มาแล้วว่าใช้ไม่ได้ มันเหมือนกับขับรถผิดซอย แต่ยืนยันว่าขับถูกแล้วจะขับแบบนี้ต่อไปอีก ครั้งนี้กลุ่มคนที่มีอำนาจลองนั่งคุยกันจริงๆ จังๆ แล้วสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ผมก็มั่นใจว่าพลเอกประยุทธ์, พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ, พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ และผู้มีอำนาจทั้งหลายก็มีความหวังดีต่อชาติบ้านเมือง พวกผมก็มีความหวังดีกับชาติบ้านเมืองในแบบของผม ก็รักชาติเหมือนกัน ก็มานั่งคุยกันว่ารักชาติแบบนี้แล้วจะออกแบบไหน คืออย่าตีเส้นแบ่งว่าพวกนี้ถูกยุยงปลุกปั่นเยาวชน ถูกยุยงปลุกปั่นล้างสมอง ถ้าแก้แบบนี้มันจะไปจบเหมือนตอนสมัยก่อน คือคุณเชื่อว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์แล้วคุณก็เอาเขาออกไปจากสังคมไทย แล้วในท้ายที่สุดก็ต้องออกนโยบาย 66/23 เอากลับมาทำงานร่วมกันอยู่ดี ผมเชื่อจริงๆ ว่าเรายังมีโอกาส เรายังมีเวลา อย่าให้สถานการณ์เลื่อนไหลไปไกลมากกว่านั้น 

-มีการมองกันมาตลอดว่ากลุ่มอนุรักษนิยม บุคคลบางกลุ่มในสังคมมองว่าพรรคอนาคตใหม่ ธนาธร-ปิยบุตร เป็นเป้าหมายที่จะมาล้มพวกเขา คนกลุ่มนั้นไม่ได้มองไปที่ทักษิณ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย หรือคนเสื้อแดงแล้ว เพราะมองว่าเป็นกลุ่มที่กำลังอ่อนล้าแล้ว?

ถ้าเรามองกันในลักษณะแบบนี้ คือเรามองการเมืองแบบเป็นศัตรู คุณไม่ได้มองในฐานะเพื่อนร่วมชาติ ความเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องปกติ แต่อย่ามองคนที่คิดไม่เหมือนคุณ รักชาติคนละเวอร์ชันกับคุณ เป็นเรื่องศัตรูให้หมด

ถ้าคิดแบบนี้ มิติแบบนี้ คือมิติแบบสงครามเย็น สงครามเย็นในอดีตคือคุณต้องสร้างศัตรูทุกวัน  ต้องมีศัตรู ไม่อย่างนั้นไม่รู้จะไปสู้กับใคร แน่นอนอาจจะมีคนที่คิดสุดไปอีกข้างหนึ่งก็มี แต่คุณกำลังผลักคนที่เห็นต่างกับคุณให้ไปอยู่ในมุมสุดให้ได้ เพื่อจะบอกว่าพวกนี้เป็นพวกเดียวกัน เป็นศัตรูทั้งหมดเลย เพื่อที่คุณจะได้ครองอำนาจต่อไป คุณจะได้ใช้งบประมาณ ใช้กำลัง ใช้อำนาจของคุณในการจัดการศัตรู  ถ้าคิดแบบนี้ผมว่าย้อนไปในสมัยสงครามเย็น แทนที่คุณจะบอกว่าพรรคอนาคตใหม่ ธนาธร-ปิยบุตร  และผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่เขามีความคิดเห็นที่ต่างจากการพัฒนาประเทศ แบบที่คุณทำอยู่ จากที่คุณกำลังบริหารประเทศอย่างที่คุณทำอยู่ แบบนี้มันคนละรูปแบบ ก็จะมาในรูปแบบของการสร้าง  dialogue สร้างการสนทนาที่มีคุณภาพเพื่อหาทางออกร่วมกัน แต่ถ้าตั้งแง่แล้วว่าพวกนี้อันตราย ปล่อยไว้ไม่ได้ วิธีแก้คุณก็จะกำจัดมันซะ ด้วยวิธีอะไรก็ได้ ซึ่งผมว่าไม่ใช่ทางออก

-จากที่มองกันดังกล่าวยิ่งพอ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่มาโหวตไม่เห็นชอบร่าง พ.ร.ก.การโอนอัตรากำลังพลฯ ก็เลยยิ่งถูกเพ่งเล็ง?

คือจริงๆ เรื่อง พ.ร.ก.ผมอภิปรายในสภาชัดเจนมากแล้วว่า กรณีนี้มันเป็นปัญหาระหว่าง ครม.กับสภา ถ้าสภาไม่ยืนยันเรื่องนี้ในอนาคตคุณอาจจะมีสภาเอาไว้รับเงินเดือนเฉย มีสภาเอาไว้ตั้งกระทู้ถาม ตอบข้อหารือเฉยๆ แต่คุณไม่ได้มีอำนาจในการเข้าไปตรวจสอบถ่วงดุลคณะรัฐมนตรีเลย ครม.เสนอพระราชกำหนดมา แล้วสภาเห็นว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน คำว่าจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ ครม.ก็มีดุลยพินิจของเขา แล้วเรื่องจำเป็นเร่งด่วนจะมีการเข้าชื่อเสนอให้ศาล รธน.วินิจฉัยไม่ได้ เพราะ ครม.มีดุลยพินิจของเขา แล้วเมื่อออก พ.ร.ก.ไปแล้วก็ต้องส่งกลับมายังสภา สภาก็ย่อมมีดุลยพินิจในการที่จะบอกว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ก็ไม่อนุมัติ นี่คือกลไกถ่วงดุลกัน

หากกลไกนี้ไม่มี วันข้างหน้านายกรัฐมนตรีอยากจะฟาสต์แทรกต์กฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งก็ทำเป็น พ.ร.ก.หมด ผมถึงใช้คำว่าในอนาคตจะกลายเป็นมาตรา 44 จำแลง ผมก็อภิปรายแสดงเหตุผลให้เห็นว่ากฎหมายจำนวนมากที่เราว่ากันว่าเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ทำเป็น พ.ร.บ.ให้เห็นมาแล้วในอดีต ประเด็นปัญหาเรื่องนี้คือเป็นเรื่องปกติในการถ่วงดุลกันระหว่างสภากับคณะรัฐมนตรี

-ก็เลยมีคนบางกลุ่มพยายามโยงว่าจากการลงมติดังกล่าว เลยยิ่งทำให้ภาพของพรรคอนาคตใหม่ชัดเจนว่าคิดอะไรกับสถาบัน?

ผมเห็นอย่างนี้ครับว่าคนที่โยง ยิ่งโยงเท่าไหร่ยิ่งเป็นอันตรายต่อสถาบัน กลุ่มคนที่พยายามจะอธิบายว่า "โอ๊ย คิดอะไรอยู่" เท่ากับคุณกำลังทำลายสถาบันโดยคุณไม่รู้ตัว ผมไม่รู้ว่าคุณรู้หรือไม่รู้ตัว  แต่มันส่งผลในทางไม่เป็นคุณต่อสถาบัน นั่นคือคุณกำลังจะบอกว่าอะไร คุณกำลังบอกว่าสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องในทางการเมือง กฎหมายฉบับนี้สถาบันผลักดันแบบนั้นหรือ หากคุณอธิบายแบบนี้นั่นก็ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนะครับ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผมก็พูดในสภาว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยืนยันเอาไว้ในคำร้องยุบพรรคไทยรักษาชาติว่า ในระบอบนี้พระมหากษัตริย์ทรงปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง พระมหากษัตริย์ทรงเป็นกลางในทางการเมือง ทรงอยู่เหนือการเมือง ดังนั้นใครก็ตามที่กล่าวหาผมหรือพรรคอนาคตใหม่ในเรื่องเหล่านี้ ไปคิดทบทวนให้ดีๆ การพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ถูกต้อง ผมยืนยันต้องปฏิบัติหน้าที่แบบที่ผมและพรรคอนาคตใหม่ทำ

-จากที่พรรคเคยพูดเรื่องปิดสวิตช์ ส.ว.ตอนโหวตนายกฯ แต่มาวันนี้มองว่ามีความพยายามจะใช้ทั้งกฎหมาย การเมือง ข่าวสาร มาปิดสวิตช์พรรคอนาคตใหม่หรือไม่?

(ถอนหายใจ) ก็ดูแนวโน้ม เขาก็มีความพยายามจะทำกัน หลายเรื่องพยายามทำให้เป็นข่าวอะไรตลอด แต่ก็ไม่เป็นไร เราก็เข้าใจในทางการเมือง พร้อมรับทุกมรสุมอยู่แล้ว

ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าพี่น้องคนไทยมีวิจารณญาณ และผมพร้อม สำหรับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับพรรคอนาคตใหม่ ผมพร้อมไปพูดคุยกับท่านทุกเวที จะเวทีปิด เวทีเปิด จะมีสื่อ หรือไม่มีสื่อ ได้หมด ผมพร้อมจะไปร่วมพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน ผมถึงยืนยันมาตลอดว่าผมและคุณธนาธรพร้อมที่จะยื่นมือไปแตะ ไปพูดคุยกับคนทุกกลุ่มทุกฝ่าย เพราะเรามีแต่ความปรารถนาดีว่าบ้านเมืองอยู่แบบนี้ต่อไปไม่ได้ หากเรายังมาติดกันแต่เรื่องพอมีอำนาจแล้วก็ดูว่า วันนี้ใครแหลม ใครจะมาเป็นศัตรูเรา จะเสียสมองที่จะทำงานเพื่อบ้านเมือง มานั่งคุยกันดีกว่า แม้จะเห็นไม่ตรงกันแต่ผมก็มั่นใจว่าทุกคนมีความปรารถนาดีต่อชาติ

-พรรคอนาคตใหม่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งทางการเมืองในเวลานี้ อย่างที่บางฝ่ายพูดกัน?

ถูกต้อง เรามีแต่จะพยายามผลักดันการเมืองแบบใหม่ อนาคตแบบใหม่ เพื่อไม่ให้สังคมติดอยู่ที่เดิม

...............................

อนาคตใหม่-การเมืองใหม่

ไม่มีเผด็จการ-ไม่มีเจ้าของพรรค

        ข่าวเรื่องปัญหาการบริหารจัดการภายในพรรคอนาคตใหม่ จริงๆ แล้วเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนตั้งพรรคใหม่ๆ จนมาถึงช่วงใกล้เลือกตั้ง และตอนนี้ก็กลับมาถูกพูดถึงมากขึ้นหลังเกิดกรณี ส.ส.ของพรรคโหวตสวนมติพรรคในการพิจารณาร่าง พ.ร.ก.การโอนอัตรากำลังพลฯ และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ตลอดจนมีอดีตผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคที่สอบตกออกมาพูดถึงอำนาจการตัดสินใจต่างๆ ภายในพรรค ที่ดำเนินการโดยเพียงคนไม่กี่คนในพรรค จนต้นสัปดาห์ที่ผ่านมามีอดีตผู้สมัคร ส.ส.และสมาชิกพรรคไปยื่นใบลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคจำนวนหนึ่งที่สำนักงาน กกต.

      ปิยบุตร-เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ที่เปรียบเสมือนเสนาธิการพรรค กล่าวถึงข่าวปัญหาภายในพรรคในช่วงที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นด้วยการพูดถึงระบบการบริหารงานพรรคว่า ต้องอธิบายแบบนี้ก่อน ถามว่าพรรคการเมืองคืออะไร พรรคการเมืองก็คือที่รวมตัวกันของบุคคลที่มีความคิดอุดมการณ์ในทางการเมืองตรงกัน แล้วก็มารวมตัวกันเพื่อหวังว่าพรรคการเมืองนี้จะเข้าไปมีอำนาจรัฐ จะได้ผลักดันแนวคิดของตนเอง อันนี้คือนิยามของพรรคการเมือง พรรคการเมืองจึงไม่ใช่บ้านหรือที่อยู่อาศัยของคนที่อยากจะเป็น ส.ส. และคนที่อยากจะมีตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น แต่ต้องมีการร้อยรัดความคิดด้วยกัน ถึงจะทำได้ และผมเน้นเรื่องนี้มาตลอด ดังนั้นจะมีแนวทาง แกนกลางอุดมการณ์ของพรรคเหมือนเป็นกระดูกสันหลังเอาไว้ ส่วนจะเห็นแตกต่างว่าทำไมไม่ทำเรื่องนี้ก่อน ทำไมไปทำอันนี้ทีหลัง หรือไม่เห็นด้วยกับวิธีการทำงาน ไม่เห็นด้วยกับยุทธศาสตร์การหาเสียง แบบนี้เป็นเรื่องรายละเอียด แต่กระดูกสันหลังต้องตรงกันก่อน ไม่อย่างนั้นพรรคก็จะเป็นแค่กลุ่มก๊วนที่คนมาอยู่กันไปเพื่อลงเลือกตั้ง ซึ่งผมไม่ยอมเด็ดขาดที่จะให้พรรคอนาคตใหม่เป็นแบบนี้

...ถามว่าความเห็นที่แตกต่างกันของคนในพรรคเป็นเรื่องดีหรือไม่ หรือว่าเป็นเรื่องที่ทำให้พรรคแลดูระส่ำระสาย ผมเห็นว่าเป็นเรื่องดีเสียอีก และเป็นบทพิสูจน์ว่าหัวหน้าพรรคและตัวผมไม่ได้เป็นเผด็จการในพรรค ถ้าหัวหน้าพรรคและผมเป็นเผด็จการในพรรค เป็นเจ้าของพรรคจริง ไม่มีใครได้พูดแบบนี้

“เราจะไม่ยอมให้พรรคอนาคตใหม่มีเจ้าของพรรคที่คอยจ่ายเงินเดือนให้กับ ส.ส. จ่ายเงินให้ทุกคน มีหัวหน้ามุ้งคอยไปจัดการ ไปจ่าย ไปเคลียร์จะได้หุบปาก ผมไม่เอาเด็ดขาด หากจะทำพรรคอนาคตใหม่ให้เป็นลักษณะแบบนี้ผมไม่ยอมเด็ดขาด ดังนั้นมันก็จึงมีบรรยากาศแบบที่เห็นต่าง เห็นไม่ตรงกันเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติดร.ปิยบุตรกล่าวด้วยน้ำเสียงเชื่อมั่นจริงจัง

เลขาธิการพรรค อนค. กล่าวต่อไปว่า เราออกแบบเรื่องประชาธิปไตยภายในพรรคกับเรื่องวินัยของพรรคให้สอดคล้องกันอย่างไร ผมก็มีระบบช่องทางการร้องเรียน ทุกวัน ผมมาที่สำนักงานพรรค ก็จะมีมาเป็นปึกเลย ร้องเรียนกันภายในพรรค เช่น สมาชิกคนนี้ไม่เห็นด้วยกับคนนั้น บางทีไม่เห็นด้วยกับผมก็มี ทักท้วงผมก็มี เต็มไปหมด และมีการเสนอแนะเรื่องต่างๆ มากมาย ผมก็ดีใจมากที่สมาชิกพรรคและคณะทำงานจังหวัดของพรรคกระตือรือร้นจริงๆ มีส่งเข้ามาตลอดเวลา เราต้องการพรรคการเมืองแบบนี้ โดยเราก็มีกระบวนการจัดการภายในพรรค นี่คือการแสดงความคิดเห็น เป็นประชาธิปไตยในพรรคควบคู่ไปกับเรื่องวินัยภายในพรรค

...ดังนั้น ถ้าสมาชิกพรรคไม่พอใจ ออกไปโวยวาย ออกไปเขียน ไปโพสต์แสดงความเห็นข้างนอก ผมบอกจริงๆ ว่าเป็นส่วนน้อยมาก สมาชิกเรากว่า 6 หมื่นคนมีคนที่กระตือรือร้นทำงานต่อเนื่องทุกวันอีกหลายพันหลายหมื่นคน ดังนั้นคนที่ไม่เห็นด้วยประมาณ 1-2-3-4 คนประมาณนี้ ก็เป็นความเห็น ก็ไม่เป็นไร แต่เรามีกระบวนการจัดการภายในอยู่ แต่บังเอิญว่าส่วนน้อยที่ไปแสดงออกภายนอก ถูกสื่อนำไปขยายผลให้บานปลายมากขึ้น ว่าพรรคระส่ำระสาย พรรคแตกแน่ ก็ไม่เป็นไร ก็ว่ากันไปตามกระบวนการ

สำหรับในส่วนของ ส.ส.เราก็มีวิธีการทำงาน เราทราบดีว่า ส.ส. มีเอกสิทธิ์รับรองไว้ใน รธน.ว่าเขามีเอกสิทธิ์ในการลงมติ แต่ รธน.ก็บังคับว่า ส.ส.ต้องสังกัดพรรค ส.ส.ก็ต้องตามกับพรรค เพราะเมื่อมาอยู่กับพรรคนี้ เพราะคุณเชื่อในแบบเดียวกันเลยมาอยู่ด้วยกัน หากเราจะบอกว่า ส.ส.อยากลงมติ อยากลงอะไรก็ได้ อย่างนี้ก็ไม่ต้องมีพรรค ไม่ต้องสังกัดพรรคก็ได้ แต่ทุกคนมาในนามพรรค สังกัดพรรค แต่ปัญหาคือ คุณจะหาจุดสมดุลอย่างไร ระหว่างมติพรรค ซึ่งดำเนินตามแนวทางพรรค กับอิสระของ ส.ส. จะหาจุดสมดุลอย่างไร ผมก็ออกแบบให้มีที่ประชุม ส.ส.ทุกวันอังคารตอนบ่าย ที่เราจะดีเบต ถกเถียงกันหนักมาก ผมไม่ใช่แบบ “อ้าวพวกเรา มากัน 80 คน พรุ่งนี้เข้าไปโหวตในสภา ทำตามนี้ บอกหนึ่ง สอง สาม แล้วปิดประตู แยกย้ายกันกลับบ้าน” ไม่มีเลย ผมไม่เคยทำแบบนี้ เรามีแต่ดีเบตถกเถียง เริ่มประชุมกันบ่ายโมง กว่าจะเลิกหกโมงเย็น บางทีสองทุ่มก็ยังไม่เลิก ซึ่งหลายเรื่องที่เราคุยกันรู้เรื่อง เห็นตรงกันก็จบ ก็ง่ายไม่ต้องลงมติ หรือมติจะออกมาเป็นเอกฉันท์แต่ก็มีหลายเรื่องที่มีการดีเบตถกเถียงกันหนัก หลายครั้ง ผมกับธนาธร เป็นเสียงข้างน้อยในที่ประชุม ส.ส. ซึ่งพอดีเบตกันเสร็จก็ตามด้วยการลงมติ โดยให้ถือตามเสียงข้างมาก ซึ่งบางครั้งก็อาจมีเสียงข้างน้อยที่รับไม่ได้กับมติ ขัดกับจิตสำนึกส่วนตัวอย่างแรงกล้า ทำตามมติพรรคไม่ได้จริงๆ ผมก็เปิดช่องเป็นข้อยกเว้นให้มาระบายกัน ให้พูดกันในที่ประชุมเลยว่าคุณไม่ไหว

...ยกตัวอย่าง เราเคยมีมติจะให้ตั้ง กมธ.สามัญในเรื่องความหลากหลายทางเพศ ก็มี ส.ส.ที่นับถือศาสนาอิสลามและที่เป็นคริสเตียน ว่าเรื่องนี้ขัดกับจิตสำนึกในความเชื่อทางศาสนาของเขา เขาขดงดออกเสียง เขาลุกขึ้นพูดเลย เพื่อน ส.ส.ก็โอเค ไม่เป็นไร แบบนี้เป็นต้น เรามีกระบวนการภายในของเราอยู่ มองในมุมกลับกัน กรณีร่าง พ.ร.บ.งบฯ กับเรื่องพระราชกำหนดฯ ก็มาบอกพรรคแตกแน่แล้ว ซึ่งหากมาลองคิดกันดูจริงๆ ส.ส.ของพรรคที่อยู่ในสภา ปฏิบัติหน้าที่ได้ 79 คน โดยมีคนโหวตไม่รับพระราชกำหนด 70 คน มีขอลาประชุมสภาสองคน ซึ่งหากสองคนนี้มาโหวตเขาก็จะโหวตไม่รับเช่นเดียวกัน เราจึงมีเสียงที่เห็นไม่ตรงกัน 7 คน ที่ก็จะหากระบวนการแก้ไขปัญหากันภายในพรรคว่าจะทำกันอย่างไร กับคนที่ไม่เห็นด้วยจริงๆ กับมติเสียงข้างมาก ส่วน พ.ร.บ.งบฯ มีแค่หนึ่งคนที่โหวตสวนกับมติพรรค

...เอาเข้าจริงๆ ผมกลับมองในแง่บวกด้วยซ้ำว่า พ.ร.ก. ซึ่งว่ากันว่าเป็นเรื่องที่แหลมคม ต้องอาศัยความกล้าหาญ พรรคอนาคตใหม่สามารถลงมติอย่างพร้อมเพรียงกันได้ถึง 70 คนก็คิดเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ของจำนวน ส.ส.ของพรรค หลังจากผ่านการดีเบตถกเถียงกันในพรรค 3-4 วัน ประเด็นนี้ จนได้มติดังกล่าว ผมจึงมองว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีเสียอีก แต่สื่ออาจนำอีกมุมหนึ่งไปขยายผล แต่ก็ไม่เป็นไร

-เสียงวิจารณ์ที่ออกมาว่าภายในพรรค อนค.มีการแบ่งกลุ่มก๊วน มีกลุ่มคนใกล้ชิดแกนนำพรรคอย่าง ธนาธร-ปิยบุตร รวมถึงกลุ่ม ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ได้สิทธิ์ต่างๆ มากกว่า ส.ส.เขต เช่น การไปเป็น กมธ.โควตาพรรค?

อย่างที่บอก ผมไม่ใช้ระบบโควตาภาคในพรรคอนาคตใหม่ เพราะหากเราใช้ระบบโควตาภาคเมื่อใด เราก็จะมีมุ้งภาค มีมุ้งภาคเมื่อไหร่ ก็จะมีหัวหน้ามุ้งของภาค แล้วมันจะตามด้วยการรวบรวมกำลัง ส.ส.แล้วมาต่อรองตำแหน่ง สุดท้ายแล้วก็จะเป็นพรรคแบบเดิม คือ คุณเห็นคนเป็นจำนวนนับเพื่อเอามาต่อรองอำนาจต่างๆ ดังนั้นเรายืนมาตลอดว่า คนที่เข้าไปทำงานคือคนที่มีความรู้ความสามารถในประเด็นนั้นๆ แล้วเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความรู้ความสามารถ

ยกตัวอย่างเรื่องการอภิปรายในสภา พรรคก็มีการให้ ส.ส.มาลงชื่อว่าต้องการอภิปรายเรื่องอะไรในเชิงประเด็น แล้วเราก็มีกระบวนการคัด กรรมาธิการก็เช่นกัน ส.ส.ทุกคนได้เป็นกรรมาธิการหมด ผมก็เปิดเลย ให้ ส.ส.แต่ละคนเลือกมา 5 อันดับ เหมือนเลือกสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย เพราะเรามั่นใจว่า ส.ส.อยากทำงานที่ตัวเองชอบและถนัด ซึ่งผลที่ออกมาส่วนใหญ่แต่ละคนก็ได้เข้าไปเป็น กมธ.ชุดที่เลือกที่อยู่ในอันดับหนึ่งกับสอง มีแค่ 2-3 คนเท่านั้นที่ไม่ได้อยู่ใน 5 อันดับ แต่เขาก็โอเค พร้อมจะไปทำงาน ผมไม่ได้มีการจับคนไปลงมั่วซั่ว ทั้งหมดมาจากความต้องการของ ส.ส. และมีการแบ่งสรรปันส่วนในเรื่องนี้

...สำหรับอดีตผู้สมัคร ส.ส.ต่างๆ หากไปดูธรรมเนียมที่ผ่านมา เวลามีการตั้งผู้ช่วย ส.ส.ในสภา เขาให้ ส.ส.เลือกกันเลย ไม่มีการแบ่งให้ใครที่ไหน แต่ผมเองเป็นคนยืนยัน หลังเสร็จศึกเลือกตั้งว่าคะแนนเสียงทุกคะแนนของพรรคอนาคตใหม่มาจากน้ำพักน้ำแรง สรรพกำลังทั้งหมดของพรรคร่วมกัน ไม่ใช่ ส.ส.คนเดียว แต่มันมาร่วมกันทั้งพรรค ตั้งแต่สมาชิกพรรค-คณะทำงานจังหวัด-อดีตผู้สมัคร ส.ส.ทุกคน-เจ้าหน้าที่พรรค ร่วมกันลงแรงลงใจจนได้คะแนนเสียงเลือกตั้งมา

การแบ่งสัดส่วนผู้ช่วย ส.ส.ต่างๆ จึงต้องแบ่งให้สมดุลกันระหว่าง ส.ส.เลือกเองส่วนหนึ่ง กับที่เหลือพรรคต้องจัดสรรคนเข้าไป เพื่อให้พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคของคนทุกคนในพรรค และของคนที่ร่วมงานกันจริงๆ เราก็แบ่งสัดส่วน ให้เจ้าหน้าที่พรรค คณะทำงานพรรคจังหวัดต่างๆ และอดีตผู้สมัคร ส.ส.ที่ไม่ได้รับเลือกตั้ง แต่ตำแหน่งก็มีจำกัด ก็ทำให้คนที่ไม่ได้รับเลือกตั้งที่มีประมาณกว่า 300 คน ก็จะไม่ได้ทั้งหมด เพราะหากได้ทั้งหมด พวกพนักงานพรรค ทีมงานจังหวัดก็ไม่ได้ ก็แบ่งสรรปันส่วนกัน ก็มีอดีตผู้สมัคร ส.ส.ประมาณเกือบ 200 คนที่ได้ตำแหน่งพวกนี้ พรรคออกแบบระบบที่ชัดเจนและยุติธรรม แต่แน่นอนที่สุดเวลาเลือก โดยตำแหน่งมีจำกัด ก็ต้องมีคนที่สมหวังและไม่สมหวัง

-ในฐานะเลขาธิการพรรค มั่นใจว่าข่าวที่ออกมาเกี่ยวกับพรรคเวลานี้ เชื่อว่าจะไม่เกิดผลกระทบกับพรรคอนาคตใหม่ในระยะยาว?

ผมอยากให้ดูที่ภาพใหญ่ มันอยู่ที่ว่า พอคุณเห็นเรื่องราวทั้งหมด คุณดูภาพใหญ่หรือดูภาพเล็ก ภาพที่คนบอกว่ามีความขัดแย้งกันระหว่าง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์กับ ส.ส.เขต แต่ตอนที่ไปหาเสียงเลือกตั้งซ่อมที่นครปฐม ก็มีการนำ ส.ส.ทั้งพรรค ไปช่วยหาเสียง ไปช่วยกันเฝ้าคูหาเลือกตั้งทุกหน่วย อันนี้คือภาพใหญ่ทีเห็น แต่ปรากฏว่าในทางสังคม ในทางสื่อ ก็ไปนำภาพเล็กของคนที่เขียน status ในเฟซบุ๊กมาพูด นำข่าวที่เป็นแหล่งข่าวกล่าวว่า มาพาดหัว เช่นเดียวกัน อดีตผู้สมัคร ส.ส.ไม่พอใจ มีหนึ่งคนให้ความเห็น แต่ในภาพใหญ่ก็มีอดีตผู้สมัคร ส.ส.จำนวนมากที่ไม่ได้ตำแหน่งและได้ตำแหน่ง ก็ยังทำงานอยู่กับพรรคเต็มไปหมด แต่ภาพเหล่านี้ไม่ถูกนำเสนอออกมา ก็อยู่ที่ว่าจะมองภาพใหญ่หรือภาพเล็ก หากมองภาพเล็กที่มีคนหนึ่งคน สามคน แล้วบอกว่า “โอ้โห ตายแล้ว พรรคนี้ตายแล้ว ล่มแน่” ผมว่าแบบนี้ก็ไม่ค่อยยุติธรรมกับพรรค อนค.

………………………..........................................................

ปมร้อนการเมืองหลังเปิดสภา

เดินหน้าปักหมุดแก้ รธน.

      ตั้งแต่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา รัฐสภาได้มีการเปิดสมัยประชุมอย่างเป็นทางการแล้ว โดยการประชุมสภารอบนี้มีเรื่องหนึ่งที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ นั่นก็คือ การเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

      ปิยบุตร-เลขาธิการพรรค อนค. แกนนำพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งการประชุมสภาสมัยที่ผ่านมาทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่า เป็นพรรคฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่ในสภาได้อย่างมีคุณภาพมากที่สุดในบรรดาพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งหมด โดย ปิยบุตร กล่าวถึงบทบาทของฝ่ายค้านในสมัยประชุมสภารอบนี้ว่า หลังเปิดสภาจะมีวาระสำคัญๆ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ไปจนถึงปีหน้า 2563 เดือนมกราคมที่มีเรื่องสำคัญรออยู่ โดยเมื่อเปิดสมัยประชุมสภา ญัตติแรกที่รออยู่คือญัตติที่ผมเป็นคนเสนอเข้าไป คือ ญัตติที่ขอให้สภาตั้งคณะ กมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากประกาศและคำสั่งของ คสช. และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ที่เสนอคาไว้อยู่ในระเบียบวาระ โดยคาดว่าญัตติดังกล่าวจะมี ส.ส.อภิปรายกันหลายคน

      ...จากนั้น ญัตติต่อไป ต่อเนื่องเลยที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภา ต่อเนื่องกันไปเลยคือ ญัตติให้สภาตั้งคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติม รธน. ที่หลายพรรคการเมืองยื่นญัตติ เรื่องดังกล่าวอยู่ในระเบียบวาระ ซึ่งเรื่องนี้หากอภิปรายกันดีๆ สังคมจะได้เห็นว่ามีความจำเป็นจริงๆ ที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติม รธน. โดยเมื่อมีการตั้ง กมธ.เกิดขึ้น จะเป็นนิมิตหมายที่ดีในการผลักดันให้มีการแก้ไข รธน.โดยเมื่อสภาเห็นความสำคัญ วันข้างหน้าแต่ละพรรคก็จะนำไปผลักดันกันต่อเนื่อง เมื่อใดก็ตามที่มันเป็นวาระของสังคม-คนทั้งสังคมเห็นด้วยกันหมด เชื่อว่าทุกพรรคการเมืองจะเอาด้วยหมด เพราะพรรคการเมือง หากไม่เอาด้วยก็คือ “ตกขบวน”

...ส่วนสุดท้ายอาจเป็นเดือนธันวาคม น่าจะเป็นเรื่องของการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเราก็ยังไม่ได้ตัดสินใจในระดับ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่เราก็มาประเมินกันว่า ปกติแล้วอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ปีละหนึ่งครั้ง ก็ต้องมานั่งชั่งน้ำหนักกันดูว่าปีนี้จะอภิปรายหรือไม่ เพราะหากไม่อภิปรายก็ต้องไปรออภิปรายปีหน้า ซึ่งผมคิดว่ามีปัญหาที่สามารถนำไปอภิปรายได้หลายเรื่อง เช่น เรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรีบางคน เรื่องของทุจริตคอร์รัปชัน-การแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจที่ไม่สำเร็จ-โครงการขนาดใหญ่ที่เอื้อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เป็นต้น

...ทั้งสามเรื่องนี้ก็จะเป็นเรื่องสำคัญไปจนถึงสิ้นปี จากนั้นในเดือนมกราคม ปี 2563 ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 ก็จะกลับเข้ามาใหม่ในวาระ 2 และ 3 ทำให้การเมืองในสภาต่อจากนี้ไปอีก 4 เดือนจะคงความเข้มข้นเหมือนเดิม

      ปิยบุตร กล่าวถึงความชัดเจนในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เมื่อสภาตั้ง กมธ.แล้ว จะเป็นหมุดหมายที่สำคัญ เพราะการแก้ไข รธน.จะไม่ใช่เรื่องของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแล้ว เพราะหากพูดถึงเรื่องของพรรคใดพรรคหนึ่ง พรรคการเมืองที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้าม หรือกองเชียร์คนละกลุ่มกัน ก็จะมีความรู้สึกว่า เมื่อพรรคการเมืองพรรคนี้ต้องการให้แก้ไข รธน. อีกพรรคหนึ่งก็ต้องไม่แก้ แต่หากทำในรูปแบบของคณะ กมธ.ฯ จะเป็นผลงานร่วมกันของสภา ซึ่งหากสามารถหาฉันทามติได้ในระดับสภาว่าทั้งสภาเอาด้วยกับการแก้ไข รธน. หากเป็นแบบนี้ก็ผลักดันได้ง่าย หวังว่า กมธ.ศึกษาการแก้ไข รธน.จะเกิดขึ้นจริง แล้วก็รณรงค์ด้วยกันทั่วประเทศ ทำในเรื่องหลากหลายประเด็น ศึกษาออกมาเลยว่าต้องแก้ไข รธน.ในประเด็นใด และวิธีการแก้ไข รธน.ต้องเปลี่ยนแปลงหรือไม่ รวมกระทั่งศึกษาว่าต้องมีสภาร่าง รธน.หรือไม่อย่างไร

-การเคลื่อนไหวในเรื่องนี้จะทำอย่างไรให้การแก้ไข รธน.ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพราะก็ยังมีการบอกกันว่า ตอนนี้ยังมีปัญหาเรื่องอื่นอยู่ เช่น ปัญหาปากท้อง ยังไม่ต้องเร่งแก้ไข รธน. หรือบางฝ่ายเกรงว่าหากมีการผลักดันเรื่องนี้อาจนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้ง?

ประเด็นปัญหาของฝ่ายที่มองว่ายังไม่ควรต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะวนเวียนอยู่กับชุดเหตุผลสามข้อใหญ่ๆ

ข้อแรกคือ ไม่เกี่ยวกับปัญหาปากท้อง สอง นำมาซึ่งความขัดแย้ง สาม รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันผ่านการทำประชามติมา เขาจะให้เหตุผลวนอยู่กับสามข้อนี้ ซึ่งผมว่าสามข้อข้างต้นตอบได้หมดทุกเรื่อง

เรื่องแรก ที่บอกว่าไม่ใช่ปัญหาปากท้อง เรายืนยันหลายครั้งแล้วว่าการแก้ปัญหาปากท้องพร้อมกับการแก้ไข รธน.ทำไปด้วยกันได้ การแก้ปัญหาปากท้องเป็นอำนาจของรัฐบาล แต่ฝ่ายค้านก็ไม่ได้พูดแต่เรื่องการแก้ไข รธน. ฝ่ายค้านพูดเรื่องการแก้ปัญหาปากท้องบ่อยมาก เราเดินสายไปหลายจังหวัด ก็ไปตั้งเวทีพูดเรื่องนี้ สิ่งที่ฝ่ายค้านพูดมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นในสภาหรือนอกสภา เรื่องการตรวจสอบทุจริตฯ การแก้ปัญหาปากท้อง การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและ รธน. ผมว่าเราพูดพร้อมๆ กันหมดเลย ไม่ได้เน้นแต่เรื่องแก้ รธน.อย่างเดียว เช่นกัน ตรงกันข้ามหากเรายังให้มี รธน.แบบนี้ ต่อไป ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจอาจลดน้อยถอยลงด้วยซ้ำ รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำแบบนี้เกิดขึ้นมาเพราะ รธน.แบบนี้ แล้วยังปล่อยให้ รธน.แบบนี้ใช้ต่อไป นักลงทุนต่างชาติก็มองออกว่าจะมีรัฐบาลกี่ชุดก็ได้แต่รัฐบาลปริ่มน้ำแบบนี้ แล้วใครจะมีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการลงทุน เพราะฉะนั้น รธน.กับปัญหาปากท้องจึงผูกโยงกัน

ข้อที่สอง ที่บอกว่าการแก้ไข รธน.จะนำมาซึ่งความขัดแย้ง แต่ผมคิดว่ายิ่งปล่อยให้ใช้ รธน.ฉบับต่อนี้ต่อไป ความขัดแย้งจะยิ่งเกิดขึ้น เพราะ รธน.ฉบับนี้มันเหมือนระเบิดเวลาที่รออยู่ว่าจะสุกงอมเมื่อใด รธน.มันค่อยๆ ออกฤทธิ์ออกเดช ออกผลร้ายออกมา แม้กระทั่งตัวพลเอกประยุทธ์ก็ได้รับผลร้ายจาก รธน.ฉบับนี้ไปพอสมควร นายกฯ จะโดนร้องทุกวันเพราะแต่ละเรื่องมันทำให้ทำงานยากไปหมด ขนาดแถลงนโยบายแล้วไม่ชี้แจงที่มารายได้ก็เป็นประเด็นที่ทำให้ฝ่ายค้านนำไปอภิปรายได้ เพราะ รธน.ถูกออกแบบมาให้การเมืองไม่มีเสถียรภาพ ยิ่งปล่อยแบบนี้ต่อไป ความขัดแย้งมันก็จะยิ่งเกิด

...ต้องไม่ลืมว่านับแต่ 19 ก.ย.2549 จนถึงปัจจุบัน เรามีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่น้อยทีเดียว จะเกินครึ่งประเทศหรือไม่ ก็ยังไม่แน่ใจ มีคนกลุ่มหนึ่งที่เขาเห็นจริงๆ ว่า รธน.ปี 2549 (ฉบับชั่วคราว) รธน.ปี 2550 รธน.ฉบับชั่วคราวปี 2557 และ รธน.ฉบับปัจจุบัน 2560 มันไปไม่ได้ เป็น รธน.ที่ผมเรียกอยู่เสมอว่าเป็นฉบับแก้แค้นเอาคืน คือออกแบบ รธน.มาเพื่อ ตอบโต้กับสภาพการณ์ทางการเมืองในเวลานั้น ตอบโต้กับพรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่ครองเสียงข้างมากอยู่ตลอด เลยออกแบบ รธน. 4 ฉบับหลังมาแบบนี้หมด ซึ่ง รธน.แบบแก้แค้นเอาคืนแบบนี้มันไม่มีทางขจัดความขัดแย้งได้ มันมีแต่ฝังความขัดแย้งให้ลึก ให้ลึกขึ้นไปอีก

        รธน.ที่ดีต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ว่าใครแพ้ หรือชนะการเลือกตั้ง ก็ยอมรับได้ ผู้แพ้และผู้ชนะการเลือกตั้งสามารถอยู่ในกติกาแบบนี้ร่วมกันได้ ไม่มี winner take all  ไม่มีผู้ชนะกินรวบหมด รธน.แบบนี้ต่างหากที่จะขจัดความขัดแย้งได้ ซึ่ง รธน. ปี 2560 ไม่ตอบโจทย์แน่นอน

ประเด็นสุดท้าย เรื่อง รธน.ผ่านประชามติ แต่ทุกคนก็รู้ว่าการทำประชามติที่ผ่านมาไม่ได้มาตรฐานอย่างไร ฝ่ายรณรงค์ไม่ให้รับร่าง รธน.ขยับไม่ได้เลย มีคดีความตามมา แต่ฝ่ายรณรงค์ให้รับร่าง รธน.สามารถรณรงค์ได้อย่างเต็มที่ ทำให้การออกเสียงประชามติไม่ได้มาตรฐาน และสำคัญไปกว่านั้นอีกคือ รธน.ที่อ้างว่าผ่านประชามติมาด้วย 16 ล้านเสียง ที่มีหมวดว่าด้วยการแก้ไข รธน. ที่หมายถึงหมวดประชามติก็ผ่านประชามติมาด้วย แล้วเรากำลังใช้หมวดว่าด้วยการแก้ไข รธน.เข้าไปแก้ รธน.ปี 2560 ดังนั้นก็คือ เรากำลังใช้มาตราหนึ่งใน รธน.ปี 2560 (มาตรา 256) ที่ผ่านประชามติมา เพื่อเข้าไปแก้ รธน. แล้วแบบนี้เราไม่เคารพประชามติตรงไหน

เพราะฉะนั้นเราอธิบายได้ทั้งหมด ถ้าหาก รธน.เขียนไว้ชัดเลยว่า ห้ามแก้เลย แบบนี้เราก็ยากแล้ว หรือ รธน.ฉบับนี้เขียนไว้ว่า หากจะแก้ต้องผ่านประชามติก่อน ด่านที่หนึ่งคือ ต้องไปถามก่อนว่าจะแก้ไขหรือไม่ ถ้าแบบนี้ก็โอเค ทำตามรัฐธรรมนูญ แต่ รธน.บัญญัติไว้ถึงกระบวนการแก้ไข รัฐสภาเสนอได้ โดยผ่านสมาชิกรัฐสภา ส.ส.-ส.ว.ประชุมร่วมกัน โดยเราทำตามบทบัญญัติใน รธน.ที่อยู่ใน รธน.ปี 2560 ซึ่งผ่านประชามติมาเช่นกัน ดังนั้น 3 เหตุผลที่ฝ่ายไม่อยากให้แก้ไข รธน.ยกมาเราสามารถอธิบายได้หมด

-หากประชาชนถามว่า ทำไมต้องแก้ รธน. แล้วหาก ไม่แก้ รธน. จะเกิดผลกระทบกับประเทศอย่างไร?

มีหลายเรื่อง แต่เรื่องที่ใกล้ตัวก็คือ การที่ รธน.ออกแบบมาแบบนี้ ที่ให้มี ส.ว. 250 คน ที่มาจากการเลือกของ คสช. อันหมายถึงจะมีการเลือกตั้งกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ก็จะได้รัฐบาลที่ไม่ได้เป็นความต้องการของคนเลือกจริงๆ คนจะเริ่มรู้สึกว่าเลือกกี่ครั้งต่อกี่ครั้งก็ไม่ได้คนที่ตัวเองต้องการเป็นนายกฯ เป็นรัฐบาล เพราะไปติดตรง ส.ว. 250 คน อันนำมาซึ่งคนที่ประชาชนไม่ได้เลือก แต่ก็ยังจะดึงดันตั้งรัฐบาลให้ได้ เพราะรู้ว่ามี ส.ว. 250 คนอยู่แล้ว ก็ตั้งได้สำเร็จ แล้วก็มาเป็นนายกฯ แต่ก็เป็นลักษณะเสียงปริ่มน้ำ แบบนี้เรื่อยๆ อันเป็นเสียงปริ่มน้ำที่นำมาซึ่งการซื้อ”งูเห่า” เป็นการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ นำมาซึ่งพรรคการเมืองที่มีหนึ่งเสียงแต่มีอำนาจการต่อรองสูง นำมาซึ่งนโยบายของแต่ละพรรคที่ไม่สามารถเข้าไปผลักดันให้เป็นนโยบายรัฐบาล เพราะต้องผสมผสาน ต้องประนีประนอมกันทุกอย่าง ไม่อย่างนั้นรัฐบาลล่ม แทนที่จะได้มุ่งหน้าบริหารประเทศก็ต้องมามุ่งหน้าแก้ปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาลตลอดเวลา อันมีผลต่อเนื่องส่งผลมาถึงเสถียรภาพรัฐบาล เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โครงการต่างๆ ที่จะทำในลักษณะปรับโครงสร้างก็จะไม่ได้ทำ เพราะรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำแบบนี้ก็จะทำนโยบายในลักษณะเล็กๆ น้อยๆ อัดฉีดเงินให้มากเพื่อหวังคะแนนนิยมในการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่จะไม่ทำในเรื่องโครงสร้างใหญ่ๆ เพราะไม่มีเสียงเพียงพอที่จะทำ จะทำก็กระทบกันเป็นลูกโซ่หมด และทำให้คนเห็นว่าการเมืองไทยไม่มีทางออก หากยังมีลักษณะแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ คนจะเริ่มสิ้นหวัง รู้สึกว่าไม่มีทางออกสำหรับประเทศไทย.

 

สมมุติวันนี้คุณยุบพรรค อนค. คุณก็ทำได้แต่ยุบร่างกาย โครงของพรรค แต่หัวใจของพรรค อนค.ยังอยู่ แล้วเราก็จะร้อยรัด ส.ส.-สมาชิกพรรค-กรรมการบริหารพรรค-คนที่สนับสนุนพรรค เราร้อยรัดกันจนเป็นหัวใจ คุณเอาโครงนี้ระเบิดทิ้งไป ทำให้หายไป ถึงหายไปแต่หัวใจยังอยู่ แล้วหัวใจก็จะไปทำงานต่อ เพราะคนมันหัวใจเดียวกัน

 

คนที่โยง ยิ่งโยงเท่าไหร่ยิ่งเป็นอันตรายต่อสถาบัน กลุ่มคนที่พยายามจะอธิบายว่า “โอ๊ย คิดอะไรอยู่” เท่ากับคุณกำลังทำลายสถาบันโดยคุณไม่รู้ตัว ผมไม่รู้ว่าคุณรู้หรือไม่รู้ตัว...ใครก็ตามที่กล่าวหาผมหรือพรรคอนาคตใหม่ในเรื่องเหล่านี้ ไปคิดทบทวนให้ดีๆ การพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ถูกต้องผมยืนยันต้องปฏิบัติหน้าที่แบบที่ผมและพรรคอนาคตใหม่ทำ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"