ดิจิตอลเจ๊งเฮลั่น! ติ๋มชนะคดีกสทช.


เพิ่มเพื่อน    

“ฐากร” แบะท่าให้เอกชนเลิกทีวีดิจิตอล  ขอบคุณ “เจ๊ติ๋ม” ที่ฟ้องสร้างบรรทัดฐาน ศาลปกครองพิพากษาให้ทิ้งใบอนุญาตได้ พร้อมให้คืนเงินกว่า 1,500 ล้านบาทใน 60 วัน แต่ไม่ต้องชดใช้ที่ช่องเจ๊ง “พันธุ์ทิพา”ได้ทีขย่ม พร้อมเล็งอุทธรณ์เรียกค่าเสียหายต่อ อ้างทำธุรกิจมา 40 ปีไม่เคยขาดทุน อัด กสทช.สร้างบาปถึงขั้นทำครอบครัวแตกแยก “อสมท” ดีเดย์เลิกแอนะล็อกทั้งหมด ก.ค.นี้
เมื่อวันอังคาร ตุลาการศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ 652/2559 ระหว่างบริษัท ไทยทีวี จำกัด ผู้ฟ้องคดี กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงาน กสทช. ผู้ถูกฟ้องคดี เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่ง กสทช. ที่มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลทางช่องรายการไทยทีวี และช่องรายการ MVTV Family หรือช่องรายการ LOCA เดิม และแจ้งให้ธนาคารชำระหนี้ตามหนังสือค้ำประกันค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแทนบริษัทไทยทีวีเป็นเงิน 1,748,808,000 บาท และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคาร พร้อมชำระค่าเสียหายให้แก่บริษัทไทยทีวี  
ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ กสทช.ไม่สามารถดำเนินการให้ผู้ได้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินได้ระบบดิจิตอลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศเสร็จก่อนจัดการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล เป็นเหตุให้บริษัทไทยทีวีเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ตามประกาศสำนักงาน กสทช. และเป็นผู้ชนะประมูลและได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ประกอบกิจการโทรทัศน์ 2 ช่องคือ ไทยทีวี และโลก้า ไม่สามารถถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลได้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ตามประกาศเชิญชวนของสำนักงาน กสทช. และตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์ เมื่อ กสทช.และสำนักงาน กสทช.ไม่ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่ได้กำหนดไว้ตามกฎหมาย บริษัทไทยทีวีจึงมีสิทธิบอกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ทั้งสองช่องรายการ
        ส่วนเมื่อบริษัทไทยทีวีบอกเลิกใบอนุญาตแล้วต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตหรือไม่ เห็นว่าเมื่อศาลวินิจฉัยแล้วว่าบริษัทไทยทีวีมีสิทธิบอกเลิกใบอนุญาตแล้ว และบริษัทได้ชี้แจงการยุติการให้บริการให้ประชาชนได้รับทราบผ่านหน้าจอโทรทัศน์ทั้ง 2 ช่องรายการตลอดวัน เป็นเวลา 30 วันตามหลักเกณฑ์ของ กสทช. แล้วจึงมีผลเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ส่วนเป็นการงานที่ได้กระทำให้ และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การจะชดใช้คืนทำได้ด้วยเงินตามควรค่าแก่การนั้นๆ หรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทนก็ให้ใช้ตามนั้น
กสทช.ไม่ต้องจ่ายทีวีเจ๊ง
         ดังนั้น บริษัทไทยทีวีจึงต้องคืนคลื่นความถี่ที่ได้รับอนุญาตให้ กสทช. โดยไม่มีสิทธิเผยแพร่ออกอากาศรายการโทรทัศน์ทั้ง 2 ช่องอีกต่อไป และต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในงวดที่ 2 รวมดอกเบี้ยผิดนัด  7.5% ต่อปี ตามที่ได้ดำเนินการไปก่อนการบอกเลิกใบอนุญาตในวันที่ 25 พ.ค.2558 เป็นเงิน 288,472,000 บาท แก่ กสทช. ส่วนหนังสือค้ำประกันธนาคารกรุงเทพลงวันที่ 10 ก.พ.2557 จำนวน 16 ฉบับ ซึ่งเป็นการค้ำประกันชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแต่ละงวดๆ นั้น เมื่อบอกเลิกสัญญาเป็นไปโดยชอบแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตหลังการบอกเลิกสัญญาในงวดที่เหลือนับแต่วันที่ 25 พ.ค.2558 ดังนั้น กสทช.ย่อมไม่มีสิทธิยึดหน่วงหนังสือค้ำประกันดังกล่าวไว้ 
จึงพิพากษาให้คืนหนังสือค้ำประกันที่เกิน งวด 1, 2 ให้บริษัทไทยทีวี หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้จำนวนเงินตามหนังสือค้ำประกันที่ไม่สามารถคืนได้ให้กับบริษัทไทยทีวีให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่คดีถึงที่สุด และคืนค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนตามส่วนการชนะคดีให้แก่บริษัทไทยทีวี ส่วนที่บริษัทไทยทีวีขอให้ กสทช.ชดใช้ค่าเสียหาย 713,828,282.94 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปีนั้น ศาลเห็นว่าการดำเนินการล่าช้าของ กสทช.ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้บริษัทไทยทีวีประสบภาวะขาดทุน แต่ความเสียหายเกิดขึ้นมาจากการดำเนินธุรกิจปกติ กสทช.จึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้
        นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือติ๋ม ทีวีพูล เจ้าของบริษัท ไทยทีวีฯ กล่าวภายหลังรับทราบคำตัดสินศาลปกครองว่า พอใจที่ศาลชี้ว่า กสทช.ทำผิดจริง ทำให้คนทั้งประเทศรู้ว่า กสทช.ทำผิด ซึ่งศาลให้ กสทช.คืนแบงก์การันตีให้บริษัท ไทยทีวีฯ ในงวดที่สาม สี่ ห้า และหก มูลค่ารวมกว่า 1,500 ล้านบาท แต่ศาลไม่ได้ให้ชดใช้ค่าเสียหาย 700 ล้านบาทตามที่ขอไป จึงจะยื่นอุทธรณ์เพิ่มเติมในส่วนนี้ โดยมั่นใจว่ามีเอกสารที่ชี้ให้เห็นว่า กสทช.ทำผิดสัญญาจนทำให้เกิดความเสียหาย
"เชื่อว่าตัวเองเป็นคนเก่ง มีความสามารถ เพียงแต่สิ่งที่ กสทช.ทำไม่ได้เอื้อและเป็นอุปสรรคทำให้เกิดความเสียหาย ประวัติการทำธุรกิจเกือบ 40 ปี ไม่เคยขาดทุนแม้แต่บาทเดียว ทำไมเราจึงจะมาโง่วันนี้ กลายเป็นคนมองธุรกิจไม่เป็นอ่อนแอ เป็นเรื่องที่กระทบภาพลักษณ์มาก การสู้วันนี้ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่สู้เพื่อประชาชน ซึ่งตอนนี้ช่องอื่นๆ ก็ลำบากหมด บางคนครอบครัวแตกแยกถึงขนาดเกือบฆ่าตัวตาย ซึ่งล้วนเกิดจากการกระทำของ กสทช.ทั้งสิ้น ถือว่าเป็นบาปอย่างยิ่ง และแม้ว่า กสทช.ชุดที่อนุมัติเรื่องทีวีดิจิตอลจะพ้นตำแหน่งไปแล้ว แต่ใครทำกรรมอะไรไว้ก็ต้องรับผลกรรมนั้น" นางพันธุ์ทิพากล่าว
        ด้านนายสมบัติ ลีลาพตะ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กสทช. กล่าวว่า กสทช.จะยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน เนื่องจากศาลยังไม่ได้นำข้อเท็จจริงบางส่วนมาประกอบการพิจารณา เช่น รายละเอียดในหนังสือชี้ชวน  ที่กำหนดว่าโครงข่ายจะมีการขยายได้ปีละเท่าใด และกรณีที่บริษัท ไทยทีวีฯ อ้างว่าโครงข่ายของกรมประชาสัมพันธ์มีปัญหา แต่จริงๆ ไทยทีวีใช้โครงข่ายของผู้ประกอบการรายอื่น
อึ้ง!ฐากรเห็นดีด้วย
ขณะที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า สำนักงาน กสทช.ได้รับทราบคำสั่งศาลปกครองกลางแล้ว โดยเตรียมคัดคำพิพากษาศาลเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด กสทช. ในวันที่ 14 มี.ค.นี้ แต่ส่วนตัวพอใจกับคำวินิจฉัยของศาล ต้องขอขอบคุณผู้ประกอบการที่หาทางออกให้ผู้ประกอบการทีวีทุกช่อง สำนักงาน กสทช.มองว่าเป็นหลักการที่ดีที่ผู้ประกอบการที่ต้องการคืนใบอนุญาตจะได้มีหลักการดำเนินการได้ สำหรับการอุทธรณ์คำวินิจฉัยบอร์ด กสทช.จะพิจารณาอีกครั้ง
        "วันนี้เมื่อมีคำพิพากษาออกมา จะทำให้กระบวนการต่างๆ ง่ายขึ้น สิทธิในการเลิกประกอบการเป็นสิ่งที่ก่อนหน้าที่ไม่มีบรรทัดฐานว่าจะทำได้หรือไม่  ส่วนหากผู้ประกอบการรายอื่นหากจะเลิกการให้บริการโดยยกคำพิพากษาครั้งนี้ก็ทำได้ ยกเว้นว่าถ้า กสทช.ยื่นอุทธรณ์ทั้งหมดทุกประเด็นก็อาจต้องรอคำวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์ ส่วนหากใครจะมาร้องว่า กสทช.ไม่ได้ทำตามเงื่อนไขในการประมูล เรื่องนี้ศาลได้วินิจฉัยแล้วในส่วนความเสียหาย ซึ่งศาลบอกว่าความเสียหายที่เกิดจากการประกอบธุรกิจของตัวเองจะมาเรียกร้องค่าเสียหายคงไม่ได้" นายฐากรกล่าว
       ทั้งนี้ ในวันที่ 15 มี.ค. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เชิญสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลไปหารือถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล โดยจะเชิญผู้ประกอบการทุกกลุ่มและ กสทช.ไปประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล
    ส่วนนายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ช่องพีพีทีวี กล่าวในเรื่องนี้ว่า ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ดี ส่วนช่องพีพีทีวียังคงต้องต่อสู้ในอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอล เพราะรายการทีวีไม่ใช่นึกจะเลิกก็เลิกได้ ยังมีเรื่องของลิขสิทธิ์ซึ่งมีผลผูกพัน บางทีก็ซื้อลิขสิทธิ์มา 1 ปี, 2 ปี และ 3 ปี สำหรับในบางประเภท ฉะนั้นมันก็ต้องแล้วแต่เงื่อนไขของแต่ละช่อง เพราะทำการค้าไม่เหมือนกัน บางช่องก็ทำเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ค่อนข้างเยอะ บางช่องก็ทำรายการที่ตัวเองสร้างขึ้นมาเอง ทุกช่องก็มีมีเงื่อนไขต่างกันในการทำธุรกิจ มันไม่ใช่ว่านึกจะเลิกก็เลิกได้ เพราะทุกคนที่ตั้งใจเข้ามาทำแล้วเขาก็ต้องสู้ให้ถึงที่สุด 
    “คนที่อยากทำธุรกิจต่อก็เรื่องหนึ่ง คนที่อยากคืนก็เรื่องหนึ่ง ไอ้การผิดเงื่อนไขไม่เป็นไปตามที่ให้ไว้ตอนที่ไปโอนใบอนุญาตมันก็เรื่องหนึ่ง มันต้องดูเป็นส่วนๆ ไป ส่วนของเรามันทำแล้วมันก็ต้องทำต่อไป แต่คือตอนนี้สิ่งที่เราอยากได้ก็การทำธุรกิจเราก็ทำไป แต่ก็อยากได้การช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ เพราะใช้เงินลงทุนเยอะ ในขณะที่คนดูไม่พร้อม พูดง่ายๆ ธุรกิจดิจิตอลทีวีที่ลำบากกันในตอนต้นช่วง 1-3 ปีแรกจนถึงปัจจุบันที่มันค่อนข้างลำบากกัน เนื่องจากความไม่พร้อมเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมันเป็นเรื่องของรัฐที่ต้องไปทำมา”นายสุรินทร์กล่าว
“อสมท”ดีเดย์เลิกแอนะล็อก
    วันเดียวกัน นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  อสมท มีแผนยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกด้วยการยุติการส่งสัญญาณผ่านสถานีเครือข่าย 36 สถานีทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 73 จังหวัด แบ่งออกเป็น 2 เฟส เฟสที่ 1 จำนวน 13 สถานี ภายในเดือน เม.ย.2561 ที่สถานีจังหวัดสระแก้ว, สกลนคร, เพชรบูรณ์, น่าน, มุกดาหาร, ตาก, ชุมพร, เลย, ระนอง, สตูล, แม่ฮ่องสอน, อ. แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน และ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เฟสที่ 2 จำนวน 23 สถานี ในวันที่ 16 ก.ค.2561 ที่สถานีจังหวัด กรุงเทพฯ นครราชสีมา, สงขลา, เชียงใหม่, อุบลราชธานี, ระยอง, สิงห์บุรี, สุราษฎร์ธานี, ยะลา, สุโขทัย, นครสวรรค์, ตรัง, ขอนแก่น, ตราด, ภูเก็ต, อุดรธานี, ลำปาง, แพร่, เชียงราย, ร้อยเอ็ด, สุรินทร์, ประจวบคีรีขันธ์ และนครศรีธรรมราช โดยถือเป็นการยุติเพื่ออนาคต และมุ่งให้ประชาชนรับชมทีวีที่มีความคมชัดสูง และเนื้อหาหลากหลาย ตอบโจทย์ผู้ชมมากขึ้น พร้อมกับพัฒนาการรับชมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
    นายเขมทัตต์ยังกล่าวถึงกรณีที่สำนักงาน กสทช.จะทำหนังสือถึงบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) คู่สัญญาสัมปทานกับ อสมท เพื่อขอความร่วมมือยุติการออกอากาศทีวีแอนะล็อกภายในเดือน ก.ค.2561 ก่อนสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดในเดือน มี.ค.2563 ว่า อสมท ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และคู่สัญญาสัมปทานกับช่อง 3 จะหารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางในเรื่องดังกล่าว แต่ อสมท ยังไม่ได้รับแจ้งจาก กสทช. ซึ่งหากได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้ว จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ อสมท เพื่อพิจารณา หลังจากนั้น อสมท จะรายงานให้ กสทช.ทราบต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"