กม.ลูกจบที่ศาลรธน. สนช.ยื่นตีความพรป.ส.ส.-ส.ว./'บิ๊กตู่'ยันทันเลือกตั้งกพ.62


เพิ่มเพื่อน    

    นายกฯ ไม่ขัด “มีชัย” จ่อยื่นศาล รธน.ตีความร่าง พรป.ส.ส.-ส.ว. ชี้ทำให้ชัดตั้งแต่วันนี้ เชื่อศาลวินิจฉัยทันกรอบ ก.พ.62 ประธาน กรธ.หวั่นปล่อยถึงเลือกตั้ง ส.ว.ศาลตีความว่าขัดกระทบโรดแมปล้มทั้งยืนเริ่มใหม่ทั้งหมด พร้อมชงความเห็นแย้งประธาน สนช. ขณะที่วิป สนช.เชื่อ 15 มี.ค.สมาชิกลงชื่อยื่นตีความ  "บิ๊กตู่" ปัดเอี่ยว “พรรคพลังประชารัฐ” ลั่นไม่ยุบ คสช.ไล่ให้ดู รธน.มาตรา 265 ย้อนสมัยก่อนนายกฯ ยังหาเสียงได้ 
    เมื่อวันอังคาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. จะทำให้การเลือกตั้งที่เคยระบุว่าไม่เกินเดือน ก.พ.62 เลื่อนออกไปอีกหรือไม่ ว่าก็แล้วแต่ การเลือกตั้งไม่เลื่อน ไม่มีล่าช้า จะช้าได้อย่างไร ตนบอกแล้วทุกอย่างต้องไม่ให้ล่าช้า ต้องเป็นไปตามกำหนด ก.พ.62 เว้นแต่มีอะไรที่เราบังคับไม่ได้ บังคับศาลได้หรือไม่ แต่คิดว่าในเวลาที่มีอยู่ ศาลน่าจะพิจารณาได้ทัน เขาคงไม่อยากให้มีปัญหา 
    "จริงๆ แล้วมันก็ไม่อยากให้มีการไปฟ้องร้องอะไรต่างๆ แต่ว่าเขาเป็นห่วงว่าวันข้างหน้าจะถูกฟ้อง และถ้าถูกฟ้องขึ้นมา พ.ร.ป.สองฉบับนี้จะเป็นปัญหาการเลือกตั้งอะไรต่างๆ ก็จะทำให้เป็นปัญหาหมด มันจะทำให้วุ่นวายสับสนอลหม่านไปหมด เอาเสียให้ชัดในตอนนี้ แต่ผมบอกแล้วว่าขอให้ทำอยู่ในกรอบเวลาที่กำหนด ไม่ต้องห่วงหรอก ยังไงก็ได้เลือกตั้ง แต่ปัญหาของผมคือทำอย่างไรบ้านเมืองจะสงบเรียบร้อย ไม่มีคนไปส่งเสริมสนับสนุนคนที่ออกมาเคลื่อนไหวผิดๆ ถูกๆ อ้างเหตุผลนู่นนี่ไปหมด ในเมื่อบอกกุมภา.ก็คือกุมภา. แล้วจะมาเร่งเลือกตั้งอะไร จะมาไล่ คสช.ได้อย่างไร ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
     ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวว่า กรธ.จะทำความเห็นต่อ พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ ให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. พิจารณาว่าจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ เนื่องจากมีข้อห่วงกังวลคือ ในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ห้ามคนไม่ไปเลือกตั้งเป็นข้าราชการการเมืองนั้น เป็นการตัดสิทธิหรือเสรีภาพ ซึ่งถ้าเป็นสิทธิสามารถตัดได้ แต่ถ้าเป็นเสรีภาพตัดไม่ได้ อีกประเด็นคือการให้เจ้าหน้าที่ช่วยผู้พิการลงคะแนน โดยให้ถือว่าเป็นการลงคะแนนโดยตรงและลับนั้น ซึ่งมันไม่ใช่ และอาจขัดกับหลักในรัฐธรรมนูญ 
     นายมีชัยกล่าวว่า ส่วนใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ที่แยกผู้สมัครเป็น 2 ประเภท แบบอิสระและองค์กร แต่ในรัฐธรรมนูญบอกให้เลือกกันภายในกลุ่ม อีกทั้งอาจจะมีปัญหาในทางปฏิบัติและความสุจริต เพราะการกำหนดให้ 1 องค์กรสามารถส่งผู้สมัครได้จังหวัดละ 1 คน เช่น หอการค้ามี 76 จังหวัด แต่ละแห่งส่งครบทั้งประเทศ แค่หอการค้าแห่งเดียวก็มีผู้สมัครกว่า 5,000 คนแล้ว ทั้งนี้ หาก สนช.ดำเนินการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตอนนี้ จะไม่กระทบกับโรดแมป ส่วนจะต้องทำอย่างไรต้องดูคำวินิจฉัย แต่หากปล่อยไปจนถึงเลือกตั้ง ส.ว.ไปแล้วมีคนไปร้อง แล้วศาลบอกไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จะกระทบต่อโรดแมปทันที 
     “กระบวนการที่อยากให้เร็ว มันจะล้มทั้งยืน ทุกอย่างต้องเริ่มใหม่หมด ต้องเริ่มนับหนึ่ง เขียนกฎหมายกันใหม่ ใครจะเขียน กรธ.ก็ไม่อยู่แล้วตอนนั้น ตอนนี้ กรธ.เป็นห่วง หากจะอยู่นิ่งเฉยก็เหมือนไม่ทำหน้าที่ จึงจะส่งบันทึกความเห็นไปให้ สนช.ภายในวันสองวันนี้” ประธาน กรธ.กล่าว
สนช.ลงชื่อยื่นตีความ
      ขณะที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย กล่าวถึงกรณีนายมีชัยทำข้อสังเกตร่าง พ.ร.ป. 2 ฉบับว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือดังกล่าว คงต้องรอดูรายละเอียดก่อนว่าเห็นแย้งอย่างไร ในชั้น กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายก็ไม่มีใครอภิปรายว่าขัดรัฐธรรมนูญ ตนก็ไม่อยากจะพูดว่าทำไมไม่ยอมทำทุกอย่างให้จบก่อนกระบวนการทุกอย่างจะเสร็จสิ้นลง แต่เมื่อท่านส่งมาตอนนี้ ทางแก้ไขก็มีทางเดียว คือยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่สมาชิกต้องไปว่ากันเอง ตนไปชี้นำไม่ได้ ทุกคนจับจ้องว่าจะทำให้เลื่อนโรดแมปการเลือกตั้ง ยื้อการเลือกตั้ง ซึ่งการยื้อหรือเลื่อนโรดแมปทุกคนก็มองมาที่ตัวประธาน สนช.เป็นหลัก แต่ประธานไม่มีสิทธิ์บอกหรือบังคับสมาชิกว่าให้ยื่นหรือไม่ยื่น
    "ผมตั้งใจว่าจะยื่นร่างกฎหมายทั้งสองฉบับให้นายกฯ ในวันที่ 14 มี.ค. แต่บังเอิญตอนตรวจร่างเมื่อเช้าพบถ้อยคำไม่ตรงกัน ไม่สอดคล้องกัน จึงต้องปรับร่างประกอบกับนายมีชัย ยื่นข้อสังเกตมาแบบนี้ก็ต้องให้สมาชิกดูก่อนว่าจะเอาอย่างไร ผมห่วงใยว่าถ้ายื่นร่าง พ.ร.ป.ด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะกระทบโรดแมป จึงต้องคิดมาก ก็แล้วแต่สมาชิกว่าจะเห็นอย่างไร ในส่วนของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. หากมีการยื่นศาลจะไม่กระทบ" นายพรเพชรกล่าว
    นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกกรรมาธิการกิจการวิสามัญ สนช. แถลงว่า ในการประชุมวิป สนช.วันที่ 13 มี.ค. มีการพูดคุยกันเล็กน้อยเรื่องการยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความร่าง พ.ร.ป. 2 ฉบับ ตามที่นายมีชัย แสดงความเป็นห่วงมา คงต้องนำไปหารือในที่ประชุมสนช.วันที่ 15 มี.ค.นี้ เพื่อสรุปว่าจะยื่นร่างกฎหมายลูกทั้งสองฉบับต่อศาลหรือไม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจน เท่าที่คุยกันร่างกฎหมายสองฉบับไม่ขัด แต่หากส่งตีความก็เพื่อให้เกิดความชัดเจน เพราะผู้ใหญ่ท้วงติงมาขอให้ส่งศาลจะได้ไม่เกิดปัญหาภายหลัง ซึ่งการส่งศาลตีความไม่กระทบต่อโรดแมปเลือกตั้งเดือน ก.พ.2562 เนื่องจากได้กำหนดระยะเวลาเผื่อไว้ในเพดานสูงสุดไว้แล้ว  
     "นายมีชัยเป็นผู้ใหญ่ เมื่อมุมมองนักกฎหมายท้วงติงมา สนช.ต้องรับฟังนำมาหารือกัน ต้องมาคิดให้หนัก เมื่อผู้ใหญ่ชี้มาเช่นนี้ ต้องคิดให้รอบคอบ ดูแนวโน้มแล้วคงต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะในการประชุมสนช.วันที่ 15 มี.ค. จะง่ายต่อการเข้าชื่อ หลักๆ คนที่เข้าชื่อคงเป็นผู้ลงมติไม่เห็นด้วย และงดออกเสียง รวมถึงคนที่ไม่ได้มาร่วมโหวตลงมติ แต่ไม่จำกัดสิทธิคนที่ลงมติเห็นด้วย จะมาร่วมลงชื่อก็ได้ เพราะคนลงมติเห็นชอบ อาจเห็นด้วยกับภาพรวมกฎหมาย แต่ไม่อาจไม่เห็นด้วยในบางมาตรา" นพ.เจตน์กล่าว
    ด้าน พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ วิป สนช. กล่าวว่า คาดว่าอย่างน้อย สนช.คงต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความในส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต เพราะกรณีที่กฎหมายประกาศบังคับใช้แล้ว และมีการสรรหา ส.ว. 50 คนเสร็จแล้ว ปรากฏว่ามีผู้ไปยื่นต่อศาลว่าขั้นตอนการสรรหา ส.ว. 50 คนไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ จะยิ่งเกิดปัญหามากขึ้น เพราะถึงตอนนั้น เมื่อได้ ส.ว.ครบถ้วนแล้ว แต่จะเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกฯ ได้หรือไม่ การเปิดประชุมรัฐสภาอาจต้องชะงักไว้ก่อน การเลือกนายกฯ ก็จะชะงักไปด้วย ถึงตอนนั้นจะตั้งรัฐบาลไม่ได้ นี่เป็นสิ่งที่หลายคนแสดงความเป็นห่วง จึงต้องการทำให้เกิดความชัดเจน
ปัดเอี่ยวพลังประชารัฐ
    สำหรับกรณีที่มีการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐและมีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นประธานที่ปรึกษานั้น  พล.อ.ประยุทธ์กล่าวปฏิเสธ ว่าตนไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรสักอย่างกับพรรคพลังประชารัฐ ก็รู้จากหนังสือพิมพ์ วันนี้ก็ยังไม่เห็นมีใครเชิญตนไปนั่งเก้าอี้ประธานที่ปรึกษาพรรคเลย มีแต่พูดกันไป และตนจะตัดสินใจอย่างไรก็ไม่ทราบเช่นกัน ขอเวลาทำงานในส่วนของตนไปก่อน การเมืองยังมีเวลา ว่ากันต่อไป 
    เมื่อถามว่า ได้คุยกับ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทำไมต้องคุย เมื่อถามอีกว่า พ.อ.สุชาติเป็นเพื่อนกับนายกฯ ไม่ใช่หรือ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เพื่อนตนมีตั้ง 200 คน ไม่ได้คุยทุกคน คุยกับพี่อ้อ (พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกฯ)
    ส่วนกรณีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเรียกร้องให้ยุบ คสช. เพื่อให้เป็นรัฐบาลรักษาการในช่วงเตรียมการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 265 เขียนไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า คสช.ต้องทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ก็ต้องเป็นไปตามนั้น การที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเสนอให้ยุบ คสช.นั้น จึงเป็นไปไม่ได้ ถ้าสงสัยอะไรให้ไปดูคำตอบก่อนหน้านี้
    เมื่อถามถึงกรณีพรรคการเมืองใหม่ประกาศสนับสนุนให้เป็นนายกฯ คนนอก พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตอนนี้ก็สนับสนุนกันหมด เพราะเป็นเรื่องการเมืองที่เดินกันไป ซึ่งก็มี 2 พวก คือพวกที่สนับสนุนกับพวกที่ไม่สนับสนุน คือฝ่ายหนึ่งต้องการปฏิรูป อีกฝ่ายไม่ต้องการปฏิรูป หรือฝ่ายหนึ่งต้องการให้ทุกอย่างกลับไปเหมือนเดิม ก็จะมีความวุ่นวายแบบเดิมๆ อีกฝ่ายไม่ต้องการให้เกิด สรุปก็ไม่ความพอดีสักอย่าง ก็เป็นตัวชี้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นมา ซึ่งมันก็ไม่แน่ หน้าที่ของ คสช.จะต้องดูความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองพรรคใด ถ้าเป็นต้นเหตุหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย ความขัดแย้ง ความรุนแรง หรือความไม่สงบเกิดขึ้น ก็ต้องไปพิจารณาตามกฎหมายว่าควรจะดำรงอยู่ต่อไปหรือไม่ อย่างไร อย่าลืมว่า คสช.ยังมีอำนาจอยู่ตรงนี้ ในการรักษาความสงบของบ้านเมือง ซึ่งทุกคนก็ทราบดีอยู่แล้ว แต่ก็ยังอยากจะฝ่าฝืนกันอีก
    "ไม่ได้รู้สึกกดดันเลย เพราะผมไม่ได้คิดอะไรมาก บอกแล้วว่าทั้งหมดอยู่ที่ประชาชนจะตัดสินใจ มีความต้องการจะให้ประเทศชาติเป็นอย่างไรต่อไป ต้องการปฏิรูปหรือไม่ เป็นเรื่องที่ประชาชนจะตัดสินในการเลือกตั้ง"
    ส่วนที่เสนอให้ตนลาออกจากตำแหน่งหากจะตัดสินใจลงเล่นการเมืองนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็สงสัยว่าในสมัยก่อนเวลาที่นักการเมืองเป็นรัฐบาล เขาลาออกกันหรือไม่ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ มันเป็นคนละเรื่องกันทั้งหมด ขอร้องว่าอย่าไปทำให้เกิดการบิดเบือน อย่าทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันอีก เพราะไม่เช่นนั้นประชาชนก็จะรังเกียจ คสช. เกลียดตน อยากให้ย้อนกลับไปดูในสมัยก่อน นายกฯ ซึ่งก็เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ประกาศลงเลือกตั้ง ก็สามารถลงไปหาเสียงได้ ในขณะที่ยังเป็นนายกฯ อยู่ด้วยซ้ำไป วันนี้ตนยังไม่ได้เป็นอะไรสักอย่าง แล้วก็ไม่ได้หาเสียงด้วย ยังทำงานอยู่อย่างหนัก เพื่อจะทำให้ประเทศชาติเกิดการเปลี่ยนแปลง
    พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุม ครม.ช่วงวาระข้อสั่งการ นายกฯ ปรารภกับ ครม.ถึงกรณีมีกระแสข่าวการเตรียมตั้งพรรคพลังประชารัฐว่า “เป็นการไปร่ำลือกันเอง ว่าผมเป็นประธานที่ปรึกษาฯ ผมก็ไม่รู้ว่าร่ำลือกันแบบนี้สังคมจะว่าอย่างไร”
นายกฯ เป็นสมาชิกพรรคได้
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกระแสข่าวที่พรรคพลังประชารัฐทาบทามให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นที่ปรึกษาฯ ขณะนี้มีใครทาบทามหรือไม่ ว่า "ไม่มี" เมื่อถามย้ำว่าถ้ามีพรรคการเมืองมาทาบทามจะสนใจหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า  "ไม่มี เรื่องนี้ก็ถามกันมาตั้งหลายทีแล้ว ยังยืนยันคำตอบเดิม"
    นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงกระแสข่าวจะร่วมกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ตั้งพรรคประชารัฐ ว่าไม่จริง และก่อนหน้านี้ไม่มีใครมาทาบทาม ชื่อที่ปรากฏเป็นข่าวก็มีรัฐมนตรีอยู่หลายคน แต่ส่วนตัวไม่ตกใจกับข่าวที่ปรากฏ เพราะไม่มีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้น ส่วนตัวไม่เคยเป็นนักการเมือง ไม่เคยเล่นการเมือง แล้วจะมีใครมาทาบทามเรื่องนี้ได้อย่างไร เมื่อถามว่าสนใจการเมืองหรือไม่ นายสนธิรัตน์กล่าวว่า เป็น รมว.พาณิชย์ สนใจอะไรที่ไหน
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงข้อกฎหมายกรณีที่มีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์จะรับตำแหน่งที่ปรึกษาพรรคการเมืองในขณะนี้ว่า ในกฎหมายไม่มีอะไรห้ามไว้ ส่วนจะมีเหตุอย่างอื่นหรือไม่ อย่างไร ตนไม่ทราบ ไม่รู้เรื่อง และไม่เคยได้ยินด้วย ทั้งนี้ นายกฯสามารถเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ ไม่เห็นมีปัญหาอะไร เพราะในกฎหมายไม่ได้เขียนห้ามไว้ เพียงแต่จะไปลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ หากจะลงต้องลาออกก่อน
    พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงกรณีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งยังคงเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องว่า เป็นการเคลื่อนไหวตามที่เขาได้วางแผนไว้ เป็นการเคลื่อนไหวที่เชื่อมโยงการกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น การชุมนุมถ้าไม่มีเหตุรุนแรง ไม่กระทบต่อความมั่นคงหรือกฎหมาย ไม่มีปัญหาดำเนินการได้ เท่าที่ดูยังไม่เกินกรอบที่กฎหมายกำหนด ตอนนี้เจ้าหน้าที่จับตาดูอยู่ไม่ให้มีเหตุรุนแรงขึ้นมา ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยก็เดินไปตามโรดแมปเลือกตั้ง ส่วนที่ยื่นเงื่อนไขให้ยุบ คสช.เหลือเพียงรัฐบาลรักษาการเลือกตั้งนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้ คสช.รักษาการไปจนกว่าหลังเลือกตั้ง จะมี ครม.ชุดใหม่เข้ารับหน้าที่ คสช.ก็ต้องทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญกำหนด 
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าปลดล็อกพรรคการเมืองแล้ว ต้องปรับการดูแลสถานการณ์ทางการเมืองหรือไม่ พล.อ.วัลลภกล่าวว่า ต้องปรับ เพราะสถานการณ์จะต่างออกไป เมื่อปลดล็อกแล้วสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไป เราต้องปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ส่วนจะปลดล็อกเมื่อไรนั้น ขึ้นอยู่กับ คสช.เป็นผู้พิจารณา.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"