ครม.เศรษฐกิจยังไม่กล้าเคาะปัญหาสัมปทานรถไฟสายสีเขียว แค่รับทราบข้อมูล เชื่อก่อน พ.ย.ได้ผลสรุปแน่ ยันค่าโดยสารประชาชนรับได้ ที่ประชุมเห็นชอบกรอบพัฒนาเอสเอ็มอี 7 ด้าน 13 มาตรการ พ่วงยืนเป้าเศรษฐกิจโต 2.7-3.2% ก่อนสภาพัฒน์วิเคราะห์ตัวเลขไตรมาส 3
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวระหว่างการประชุมว่า ภาพรวมเศรษฐกิจอาเซียนและไทยไม่ได้ใช้คำว่าเศรษฐกิจถดถอย แต่เป็นเศรษฐกิจเติบโตช้าลงในปีหน้าและปีต่อไป ซึ่งไทยต้องหามาตรการหลายมาตรการด้วยกันเพื่อช่วยทำให้ดีขึ้น รวมถึงเรื่องการใช้จ่ายภายในประเทศ และมาตรการการเงินการคลังของไทยที่ต้องเอื้ออำนวยให้เกิดการใช้จ่ายการลงทุนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้คนนำเงินออกมาลงทุน ตลอดจนสร้างสภาวะแวดล้อม ความมีเอกภาพและเสถียรภาพ เพื่อประโยชน์ต่อการลงทุนทั้งหมด
“การประชุมวันนี้มี 2 เรื่องสำคัญคือ เรื่อง SME ต้องมีเงื่อนไขชัดเจน ไม่ใช่ให้เปล่า ต้องมีมาตรการกำกับ ตรวจสอบ การทำบัญชี การอบรมพัฒนา และเรื่องรถไฟสายสีเขียว ที่ต้องหารือกัน พร้อมระมัดระวังการใช้จ่ายงบประมาณ ต้องใช้จ่ายให้คุ้มค่า ประหยัด เพียงพอ ทั้งจำเป็นต้องมองในภาพรวมของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ประกอบการพิจารณาด้วย”พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการ ครม.เศรษฐกิจ แถลงภายหลังประชุมว่า ครม.เศรษฐกิจมีมติเห็นชอบในหลักการกรอบแนวทางการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมครบวงจร รวม 7 ด้าน 13 มาตรการ (MSME 2020) ตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เสนอ เพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอีรายย่อย และแก้ 5 ปัญหาสำคัญทั้งปัญหาแหล่งเงินทุน ความรู้/ทักษะ/การบริหาร การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด และฟื้นฟูกิจการ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับกรอบแนวทางการพัฒนาวิสาหกิจฯ 7 ด้าน 13 มาตรการ ประกอบด้วย 1.การปรับสถานะกองทุนภาครัฐที่เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับเอสเอ็มอีให้เป็นเงินทุนหมุนเวียน 2.การเพิ่มรูปแบบการค้ำประกันสินเชื่อให้แก่เอสเอ็มอี โดยระยะเริ่มต้นมีวงเงินจำกัดไม่เกิน 1,500 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน 3.สินเชื่อระยะสั้น-กลาง สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย ระยะเวลา 6 เดือน 4.พัฒนาระบบการให้ความรู้ในการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ วงเงิน 20 ล้านบาท ระยะเวลา 12 เดือน 5.การส่งเสริมการจัดทำบัญชีของวิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจรายย่อย 6.เงินสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับวิสาหกิจรายย่อย/วิสาหกิจชุมชน เพื่อโอกาสทางการตลาดมากขึ้น 30 ล้านบาท 12 เดือน
7.พัฒนากลไกกลางในการพัฒนาช่องทางการตลาดให้เอสเอ็มอี งบประมาณ 15 ล้านบาท 12 เดือน 8.มหกรรมการจำหน่ายสินค้าเอสเอ็มอี งบประมาณ 40 ล้านบาท ระยะเวลา 12 เดือน 9.โครงการเอสเอ็มอีล้มแล้วลุก 10.การลดอุปสรรคในการฟื้นฟูธุรกิจ 11.มาตรการพัฒนาระบบการประเมินศักยภาพเอสเอ็มอี และฐานข้อมูลเอสเอ็มอี 12.มาตรการการพัฒนาระบบให้เอกชนสามารถเป็นหน่วยงานในการให้การส่งเสริมเอสเอ็มอี งบประมาณ 80 ล้านบาท ระยะ 12 เดือน และ 13.มาตรการต้นแบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน งบประมาณ 20 ล้านบาท ระยะเวลา 24 เดือน
รองเลขาธิการนายกฯ ยังกล่าวว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบผลสรุปการแก้ไขปัญหาการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ที่ก่อนหน้านี้มีการออกมาตรา 44 ให้ตั้งคณะกรรมการไปศึกษาหาแนวทางออกของปัญหาสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่มีถึง 3 สัมปทาน ทำให้เกิดปัญหาคือ การขึ้นลง 3 ครั้ง และค่าโดยสารมีอัตราที่สูง ซึ่งหัวใจการพิจารณาคือให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย ขึ้นรถได้ตั้งแต่ต้นจนจบ และค่าโดยสารต้องไม่แพงเกินไป ให้ประชาชนสามารถใช้บริการได้ โดยเท่าที่มีการเสนอมาเชื่อว่าสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้
เมื่อถามว่า ตามสัญญาสัมปทานจะขยายไปอีก 30 ปี และค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาท นายกอบศักดิ์กล่าวว่า หลักการค่าโดยสารได้นำเสนอ ครม.เศรษฐกิจเป็นค่าโดยสารที่ประชาชนเข้าถึงได้ และห้ามชาร์จเพิ่ม และต้องอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดต้องให้ทางกรุงเทพมหานครเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป โดยในที่ประชุมทาง กทม.และกระทรวงมหาดไทยได้นำข้อสรุปทั้งหมดเสนอให้ที่ประชุมรับทราบ รวมถึงการรับทราบผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ช่วงสะพานตากสิน และการต่อสัมปทานการเดินรถ ซึ่งรายละเอียดของข้อสรุปทั้งหมดไม่สามารถที่จะเปิดเผยได้ รอให้เข้าสู่ที่ประชุม ครม. ก่อน ซึ่งจะยังไม่ทันการประชุม ครม.วันที่ 6 พ.ย. แต่เชื่อว่าจะอยู่ในช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้แน่นอน
ขณะเดียวกัน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้รับมอบขบวนรถชุดแรกโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยนายศักดิ์สยามระบุว่า อัตราค่าโดยสารเบื้องต้นได้ทำศึกษาไว้จะอยู่ที่ 14-47 บาท และจะเปิดให้บริการในช่วง ม.ค.2564 แน่นอน ส่วนการจัดตั้งบริษัทลูกของ รฟท.ที่จะเข้ามาบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงนั้น อยู่ระหว่างการศึกษา คาดว่าภายในปลายปีนี้จะสามารถเสนอไปยัง ครม.พิจารณาอนุมัติได้
นายกอบศักดิ์ยังเผยถึงการประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจ ว่า จะขอรอการประเมินตัวเลขทางเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 จากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในวันที่ 18 พ.ย.นี้ก่อนที่ ครม.เศรษฐกิจจะพิจารณาว่าจำเป็นต้องมีมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปีอีกหรือไม่ ซึ่งที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจยังมองที่เป้าเติบโตที่ 2.7-3.2
วันเดียวกัน นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า บริษัท เรตติ้งแอนด์อินเวสเมนต์ อินฟอร์เมชั่น อิงค์ (อาร์แอนด์ไอ) ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือรายใหญ่ของญี่ปุ่น ได้ปรับอันดับความน่าเชื่อถือของไทย จากระดับ BBB+ มาเป็น A- และคงมุมมองความน่าเชื่อไว้ที่ระดับเสถียรภาพ หรือ Stable Outlook โดยสาเหตุที่ไทยได้รับการจัดอันดับในระดับที่ดีขึ้น เป็นผลจากการดำเนินมาตรการเชิงรุกในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเกิดความเชื่อมั่นและพร้อมเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจในระยะยาวมีเสถียรภาพและเติบโตดี
“การเกินดุลการค้าและดุลบริการที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งทางด้านรายได้จากการท่องเที่ยว รวมถึงการมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงกว่าหนี้ต่างประเทศ ขณะเดียวกันไทยยังมีวินัยทางการเงินการคลังที่แข็งแกร่ง โดยจัดทำกรอบวินัยการเงินการคลังและบริหารจัดการด้านการคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม และยังได้กำหนดเพดานหนี้สาธารณะไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจน ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในขณะนี้ยังอยู่ในระดับต่ำ จึงไม่มีความกังวลในด้านการระดมทุนและความเสี่ยงด้านการคลัง” นางแพตริเซีย กล่าว
นางแพตริเซียกล่าวต่อว่า อาร์แอนด์ไอยังมองว่าไทยมีเสถียรภาพด้านการเมืองมากขึ้น จากการที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง และออกนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานราก ที่จะปรับโครงสร้างการกระจายรายได้ระหว่างเขตเมืองและชนบท โดยปีนี้ไทยได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มูดี้ส์และฟิทช์เรทติ้งส์ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือให้กับประเทศไทย จากระดับเสถียรภาพมาเป็นเชิงบวก ขณะที่เอสแอนด์พีจะมาเก็บข้อมูลไทยในเดือน พ.ย.นี้ และประกาศปรับเครดิตในเดือน ธ.ค. ซึ่งเชื่อว่าจะมีแนวโน้มในทิศทางที่ดีเช่นเดียวกัน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |