สุดจะทน! ส.ส.สงขลา พปชร.จ่อไขก๊อก กมธ.ป.ป.ช.ซัด "เสรีพิศุทธ์” ใช้ กมธ.เป็นเครื่องมือดิสเครดิตนายกฯ และรัฐบาล ส่ง "สิระ" มารับมือแทน ลั่นไม่ปล่อยผ่านเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เด็กเสรีฯ อ้างทำตามหน้าที่ เปรียบเป็นความหวังของ ปชช.เบอร์หนึ่งแห่งความยุติธรรม จับตาประเดิมเปิดสภา 6 พ.ย. ตั้ง กมธ.วิสามัญแก้ไข รธน. "ชลิตา" ยื่นฟ้อง "ผู้กองปูเค็ม" หมิ่นกรณีเสนอแก้ รธน.ม.1 หาว่าเป็นกบฏปลุกปั่นแบ่งแยกดินแดน
เมื่อวันศุกร์ นายพยม พรหมเพชร ส.ส.สงขลา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ภายในสัปดาห์หน้าตนจะยื่นหนังสือขอลาออกจาก กมธ.ชุดดังกล่าว เนื่องจากว่ามีความรู้สึกอึดอัดใจในการทำหน้าที่ โดยเฉพาะการที่ต้องทำงานร่วมกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ในฐานะประธาน กมธ. ซึ่งตนยังมีฐานะเป็นโฆษก กมธ. ที่จะต้องรับผิดชอบในการลงมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกอึดอัดใจ เพราะต้องยอมรับว่าตนคือ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ที่มีความเชื่อมั่นในการเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่มาวันนี้จะให้ตนแถลงข่าวเพื่อดิสเครดิต พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาล ตนทำไม่ได้ ถ้าทำแบบนั้นก็คงเสียคน
"ได้พูดคุยกับทางพรรคพลังประชารัฐแล้ว ซึ่งพรรคจะให้ผู้ที่มีความเหมาะสมเข้าไปนั่งในกรรมาธิการชุดนี้แทนผม เพราะผมระบุเหตุผลไปว่าไม่สามารถทำงานร่วมกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ได้จริงๆ"
นายพยมกล่าวอีกว่า การเข้าร่วมประชุมในแต่ละครั้ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ไม่เคยคุมการประชุมให้อยู่ในวาระประชุมเลย โดยที่ไม่สนใจในประเด็นใหม่ๆ หรือเรื่องที่เป็นประโยชน์กับประชาชนเลยมุ่งเน้นเพียงแต่ต้องการหาประเด็นจาก พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ อย่างเช่นล่าสุดก็จะรื้อคดีนาฬิกาหรูขึ้นมาพิจารณาใหม่ ซึ่งตนมองว่าเรื่องดังกล่าวจบสิ้นกระบวนการพิจารณาไปแล้ว จึงไม่เห็นถึงประโยชน์ที่ต้องรื้อเรื่องนี้ขึ้นมาอีก เพราะเป็นการทำงานที่ถอยหลังลงคลอง สิ้นเปลืองเบี้ยประชุมที่มาจากภาษีประชาชน
“ผมไม่เคยมีปัญหากับการทำหน้าที่ กมธ.ในฐานะ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล หากเรื่องที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์หยิบยกขึ้นมาพิจารณาเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ผมพร้อมที่จะทำ แต่ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ใช้ กมธ.เป็นเครื่องมือเพื่อจะดิสเครดิต พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาล” นายพยมกล่าว และว่า พรรค พปชร.น่าจะส่งนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. เป็น กมธ.แทน เนื่องจากเป็นคนกล้าสู้กล้าชน น่าจะมีความเหมาะสมมากกว่าตน
ด้านนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรค พปชร. กล่าวว่า ตนได้มีการพูดคุยกับนายพยม ซึ่งนายพยมได้เปรยกับตนหลายครั้งแล้วว่าอึดอัดใจที่ต้องเข้าร่วมประชุมกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ซึ่งตนก็เข้าใจความรู้สึกของนายพยมดี จึงได้มีการแจ้งให้พรรคทราบ ทั้งนี้ก็คงต้องรอให้พรรคมีมติออกมาก่อนว่าจะให้ตนไปทำหน้าที่แทนหรือไม่ การไปทำหน้าที่แทนนายพยม ตนไม่ได้หวังที่จะเข้าไปเป็นศัตรูหรือขวางการทำหน้าที่ของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ หวังเพียงที่จะให้ กมธ.ชุดนี้ใช้เวทีของสภาไปในทางที่ถูกที่ควร ใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ให้คุ้มกับภาษีของประชาชนที่ต้องจ่ายเป็นเบี้ยประชุม ไม่ใช่ใช้ตำแหน่งประธานมาทำเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง
"อยากฝากไปถึง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ หากยังใช้กรรมาธิการชุดนี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเหมือนกับที่ผ่านมา โดยไม่คิดจะไปทำเรื่องอื่นที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ คอยจ้องแต่จะทำลาย พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตร ผมเชื่อว่าคงมี ส.ส.ในกรรมาธิการชุดนี้อีกหลายท่านที่ไม่อยากทำงานร่วมกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เพราะไม่ว่าจะเป็นใครก็ย่อมกลัวการติดคุกติดตะรางจากการทำเรื่องที่ไม่ถูกต้องด้วยกันทั้งนั้น และผมก็จะไม่ยอมปล่อยผ่านในเรื่องที่ไม่ถูกต้องเช่นกัน" นายสิระกล่าว
ร้องกกต.-ผู้ตรวจฯ ฟันเสรีฯ
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสนธิญา สวัสดี สมาชิกพรรค พปชร. เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต. เพื่อขอให้ดำเนินการตรวจสอบ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส กรณีที่กระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ จากการให้สัมภาษณ์โดยใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม ซึ่งตนเห็นว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กระทำการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง และกระทำการที่ขัดต่อพระบรมราชโองการ รวมทั้งกระทำการที่นอกเหนือจากที่กฎหมายและรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ จึงอยากให้ กกต.ดำเนินการเรียกพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์มาชี้แจงว่ามีการกล่าวถ้อยคำดังกล่าวหรือไม่ และหากเป็นจริง ขอให้ กกต.พิจารณาวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่
นายสนธิญากล่าวด้วยว่า ในสัปดาห์หน้าตนจะยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริง กรณีที่ คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ เรียก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เข้ามาชี้แจงในประเด็นกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณ และการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ว่าสามารถกระทำได้หรือไม่ เนื่องจากขณะนี้ประเด็นดังกล่าวมีความเห็นแตกต่างออกเป็น 2 ฝ่าย ว่าสามารถกระทำได้หรือไม่
ด้าน น.ส.นภาพร เพ็ชร์จินดา ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคเสรีรวมไทย เปิดเผยว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ไม่ได้ต้องการใช้ กมธ.เป็นเวทีเล่นการเมือง หรือดิสเครดิต พล.อ.ประยุทธ์ตามที่ถูกนักการเมืองบางคนออกมากล่าวหา แต่เป็นการทำหน้าที่ประธาน กมธ.ตรวจสอบความไม่ถูกต้องในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องที่มีการร้องเรียนจากประชาชนหลากหลายสาขาอาชีพเข้ามามาก จน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ต้องการที่จะตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเพิ่มขึ้นอีก โดยไม่เอาเบี้ยประชุมของสภา
“ตอนนี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์เปรียบเหมือนความหวังของประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นเบอร์ 1 แห่งความยุติธรรมก็ว่าได้ เวลาชาวบ้านมีปัญหาเดือดร้อนมักจะนึกถึงท่านเสรีพิศุทธ์ จนมีวาระที่ต้องดำเนินการหารือเยอะ ไม่ได้จ้องเฉพาะฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด สามารถดูจากวาระการประชุมได้ จึงเป็นที่มาของการทำงานที่หนักของ กมธ. ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่บางท่านอาจไม่สะดวกที่จะทำหน้าที่ต่อไป ซึ่งเชื่อว่าทางท่านเสรีพิศุทธ์พร้อมที่จะรับฟังและปรับเปลี่ยนการทำงานหากมีการพูดคุยกัน” น.ส.นภาพรกล่าว
น.ส.นภาพรกล่าวว่า การเชิญ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาชี้แจงใน กมธ.นั้น เป็นการเชิญตามปกติ เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ กมธ.ของสภา เหมือนกับที่ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ เคยเชิญ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. เข้าไปพูดคุยถึงเรื่องที่ยังเข้าใจไม่ตรงกัน ซึ่งก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรอย่างที่หลายฝ่ายวิตกกังวล จึงไม่อยากให้มองเป็นแค่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างทำไปตามหน้าที่ของตัวเองตามระบบรัฐสภามากกว่า
นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ในฐานะโฆษก กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 แถลงว่า วันนี้ทาง กมธ.ได้พิจารณางบประมาณรายจ่ายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จำนวน 30,370 ล้านบาท โดยเป็นการพิจารณาภาพรวม และกรมที่อยู่ภายใต้กระทรวงดังกล่าว ส่วนการพิจารณาเมื่อวันที่ 31 ต.ค. ทาง กมธ.ได้พิจารณาในงบประมาณของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เสร็จเรียบร้อย วงเงิน 6,897 ล้านบาท จำนวน 6 หน่วยงาน อาทิ สำนักปลัดกระทรวงดีอีเอส 721 ล้านบาท, กรมอุตุนิยมวิทยา 1,848 ล้านบาท, คณะกรรมการดีอีเอส 1,000 ล้านบาท เป็นต้น ทั้งนี้ การพิจารณาในชั้น กมธ.เป็นเพียงการพิจารณาในภาพรวม ส่วนจะตัดหรือเพิ่มงบประมาณในส่วนต่างๆ ทาง กมธ.จะส่งเอกสารทั้งหมดให้กับอนุ กมธ. ซึ่งจะตั้งขึ้นภายในสัปดาห์หน้า
เปิดสภาตั้ง กมธ.แก้ รธน.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ได้นัดประชุมสภาครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) ในวันที่ 6 พ.ย.นี้ ตั้งแต่เวลา 13.00-21.00 น. ทั้งนี้ ในเอกสารนัดประชุมสภามีเรื่องด่วน 17 เรื่อง อาทิ ญัตติด่วนเรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ซึ่งนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และพรรคอนาคตใหม่ กับคณะเป็นผู้เสนอ และญัตติเรื่อง ขอให้สภาตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน และนายปิยบุตร เป็นผู้เสนอ
ขณะเดียวกัน ยังมีเรื่องที่เสนอใหม่ 19 เรื่อง อาทิ ญัตติเรื่องขอให้ตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้เสนอ, ญัตติขอให้สภาพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นผู้เสนอ และเรื่องขอให้ตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รวมกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้เสนอ
วันเดียวกัน ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก น.ส.ชลิตา บัณฑุวงศ์ รองหัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วยนายพิสุทธิ์ อังจันทร์เพ็ญ ทนายความ เดินทางมาเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล หรือผู้กองปูเค็ม เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 กรณี น.ส.ชลิตา โจทก์ แสดงความคิดเห็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 แต่ ร.อ.ทรงกลด จำเลย กล่าวหาโจทก์เป็นกบฏ ยุยงปลุกปั่นแบ่งแยกดินแดน
น.ส.ชลิตากล่าวว่า เจตนาของการอภิปรายในวันที่ 28 ก.ย. 2562 เป็นการพูดในเรื่องการแก้ปัญหาชายแดนใต้กับรัฐธรรมนูญ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง อัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ การเมืองที่เกี่ยวข้องอย่างไร ต้องปรับอย่างไร แต่ไม่มีข้อเสนอหรือบทสรุปว่าต้องเป็นแบบไหน ปัญหาชายแดนใต้เป็นปัญหาของประเทศ การแก้ไขรัฐธรรมนูญควรเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายเพื่อรับฟังความเห็นของประชาชน แต่การนำคำพูดของตนไปตีความในลักษณะการเป็นกบฏ เป็นการตีความจนเลยเถิด สร้างความเกลียดชัง จึงฟ้องเพื่อปกป้องสิทธิ
6 พ.ย.รายการปฏิรูป ปท.
โดยนายพิสุทธิ์ ทนายความกล่าวสรุปคำฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดต่อโจทก์ 4 กรรม ทำให้โจทก์ได้รับการดูหมิ่นเกลียดชัง เสื่อมเสียชื่อเสียง เพราะโจทก์ไม่มีแนวคิดตามที่จำเลยกล่าวอ้าง ขอให้ศาลรับคำฟ้องไว้เพื่อมีคำพิพากษาต่อไป โดยศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 20 ม.ค.2563 เวลา 13.30 น. สำหรับการไต่สวนมูลฟ้องจะใช้ภาพการโพสต์ข้อความของผู้กองปูเค็ม เป็นพยานหลักฐานให้ศาลพิจารณาพร้อมนำ น.ส.ชลิตาขึ้นเบิกความในฐานะพยานในการไต่สวนมูลฟ้องด้วย การฟ้องครั้งนี้เป็นเพราะการกระทำของผู้กองปูเค็ม ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของ น.ส.ชลิตา ที่เป็นอาจารย์มีลูกศิษย์มากมาย ต้องถูกใส่ความทำให้เสียหาย ทำให้ผู้คนทั่วไปหลงเชื่อ ดูหมิ่นเกลียดชัง มีผลต่อความเจริญก้าวหน้าในราชการ และต้องการให้จำเลยได้รับโทษตามกฎหมาย
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายกฯ ระบุจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นในปีหน้าว่า เนื่องจากปีนี้จะหมดแล้ว และคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะจะต้องมีการออกกฎระเบียบ รวมถึงอาจจะต้องมีการแก้กฎหมายด้วย ที่แน่นอนคืออนุบัญญัติและการเตรียมการของ กกต. ตลอดจนเรื่องการเตรียมงบประมาณ นอกจากนี้ กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่า ในกรณีที่ คสช.สิ้นสุดลง อำนาจนี้ให้เป็นของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ฉะนั้น ครม.จะต้องเริ่มต้นเป็นด่านที่หนึ่ง ทั้งนี้ กกต.จะกำหนดวันเมื่อไรก็แล้วแต่เขา แล้วเขาจะไปดูความเหมาะสมให้ไม่ขัดแย้งกัน ขณะที่ในส่วนของเมืองพัทยา กทม. อบจ. อบต. และเทศบาล จัดอยู่ในเรื่องของท้องถิ่นทั้งหมด และกระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้ที่เสนอเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นเข้า ครม.
ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายค้านมีการยื่นหนังสือให้เร่งรัดเรื่องความชัดเจนในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) นายวิษณุกล่าวว่า ในกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นฉบับกรุงเทพมหานคร ระบุไว้ว่า ให้มีการแก้ไขกฎหมายในส่วนของกฎหมายเลือกตั้ง กทม. และในระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายนั้น ก็ยังไม่ให้มีการนำมาตราที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ข.มาใช้บังคับ ดังนั้นสามารถแปลความได้ว่า หากไม่มีการแก้กฎหมายก็จะไม่ให้มีการเลือก ส.ข. ซึ่งขณะนี้ ส.ข.ไม่มี เพราะหมดอายุไปแล้ว และไม่ได้ตั้งใหม่ แต่มีเขียนไว้ในกฎหมายดังกล่าว ส่วนรัฐบาลอยากให้มี ส.ข.หรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ เพราะรัฐบาลไม่เคยพูดเรื่องนี้ ต้องไปถามที่กระทรวงมหาดไทยและ กทม.
นายวิษณุกล่าวถึงกรณีรัฐบาลจะต้องรายงานความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศในรอบ 3 เดือนต่อสภา ในช่วงเปิดสมัยประชุมสภาสมัยที่สอง ว่าใช่ จะเข้าวาระในวันที่ 6 พ.ย.นี้ โดยตนและนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการปฏิรูปทั้ง 11 คณะจะไปด้วย ซึ่งการรายงานในครั้งนี้ฝ่ายค้านสามารถอภิปราย ซักถาม สอบถาม และให้ข้อสังเกตได้ ไม่อย่างนั้น เราจะไปเสนอทำไม ซึ่งการรายงานดังกล่าวจะไม่มีการลงมติ เสียใจด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |