ภาษา..สิ่งดีๆที่ต้องตั้งคำถาม?!? เด็กไทยขาดราก..ชาติไม่พัฒนา


เพิ่มเพื่อน    

 

         เป็นเรื่องน่าขบคิดสำหรับเด็กนักเรียนไทยที่เข้าเรียนโรงเรียนนานาชาติ ส่วนหนึ่งทำให้การใช้ภาษาไทยที่เป็นภาษาแม่ของเราไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งการอ่าน การเขียน หรือการที่เด็กสมัยใหม่พูดภาษาไทยคำ อังกฤษคำ เป็นต้น ส่วนหนึ่งเพราะโรงเรียนนานาชาติสอนวิชาภาษาไทย 1-2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงการใช้ภาษาที่เป็นรากเหง้าของเราอย่างเดียว โดยเฉพาะเมื่อจบออกมาแล้ว เด็กหลายคนเปลี่ยนแผนที่จะทำงานราชการในบ้านเรา ทำให้ต้องติดต่อสื่อสารและประสานงานด้วยภาษาไทย ทั้งการอ่านคิดและพูด แต่ถ้าไม่เข้าใจภาษาแม่ รวมถึงวัฒนธรรมของเรานั้น อาจทำให้การดำเนินชีวิตเป็นไปด้วยความยากลำบาก

                นั่นจึงทำให้เกิดการอบรมครู กทม.อย่าง โครงการโรงเรียนไทยสู่ความเป็นเลิศ ของ มูลนิธิชิน โสภณพนิช ได้เกิดขึ้นเมื่อ 16 ปีที่แล้ว และปัจจุบันได้อบรมครูในสังกัด กทม.ไปแล้วทั้งสิ้น 77 คน รวมถึงคุณครูในโรงเรียนเอกชนอีก 7 ราย ซึ่งวัตถุประสงค์ของโครงการอบรมดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้คุณครูในสังกัด กทม.เพื่อเน้นเรื่องของการสอนเป็น เพื่อเด็กนักเรียนมีความสุขเวลาที่มาโรงเรียน อยากเรียนต่อในระบบ อีกทั้งเพื่อให้การเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัด กทม.ไม่แตกต่างจากโรงเรียนอินเตอร์ ที่เน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอน ผ่าน 4 ทักษะสำคัญที่คุณครูพึงมี

                เริ่มจากทักษะที่ 1.การจัดสภาพสิ่งแวดล้อมในห้องเรียน 2.การเข้าใจความแตกต่างของเด็กแต่ละคนของครู อีกทั้งส่งเสริมเรื่องความสัมพันธ์เชิงบวก 3.การอบรมเกี่ยวกับการหากิจกรรม หรือเทคนิคเล็กน้อย เพื่อกระตุ้นความโดดเด่นให้กับเด็กๆ แต่ละคน เพื่อให้เด็กเกิดความมั่นใจและกล้าแสดงออก 4.เพื่อให้คุณครูดึงศักยภาพของเด็กแต่ละคนออกมา โดยคุณครูสังกัด กทม.ที่สนใจเข้าร่วมอบรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 7 วัน โดยคุณครูที่เข้าอบรมสอนในระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 (อบรมปีละ 2 ครั้งช่วงปิดเทอม) อีกทั้งติดตามผลหลังจากอบรมเป็นเวลา 6 เดือน ทั้งนี้เพื่อผู้ปกครองส่งลูกหลานมาเรียนโรงเรียนไทยก่อนเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนที่สอนภาษาต่างชาติ

                คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช กรรมการอำนวยการของ มูลนิธิชิน โสภณพนิช บอกว่า การระบาดของโรงเรียนนานาชาติในปัจจุบัน ประกอบกับการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยของโรงเรียนอินเตอร์สัปดาห์ละ 1-2 ชั่วโมง ทำให้เด็กไทยอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ หรือพูดคำไทย อังกฤษคำ ทำให้ต้องไปเรียนพิเศษวิชาภาษาไทย จึงรู้สึกเป็นห่วงว่าเด็กไทยจะลืมความเป็นไทย ตลอดจนวัฒนธรรมที่เป็นรากเหง้าของเรา และสร้างความตระหนักให้กับผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานเข้าเรียนโรงเรียนนานาชาติ หันกลับมามองอนาคตของเด็กยุคใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเรียนจบกลับมาจากต่างประเทศแล้ว เด็กหลายคนจำเป็นต้องทำงานที่เกี่ยวกับแวดวงราชการในบ้านเรา หรือทำงานเป็นผู้นำในระดับประเทศด้านต่างๆ ดังนั้นถ้าเราไม่เข้าใจภาษา วัฒนธรรมและประเพณีของไทย ซึ่งเป็นรากเหง้าของตัวเอง ก็จะไม่เข้าใจประเทศไทยที่ถือได้ว่ามีเสน่ห์และเอกลักษณ์

                ถ้าเราไม่เข้าใจภาษาและวัฒนธรรมไทย ก็จะทำให้เด็กไทยลืมเลือนในเรื่องนี้ เพราะปัจจุบันทุกคนให้ความสนใจกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ไอเอ หรือปัญญาประดิษฐ์ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเด็กยุคใหม่จะเปิดรับสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ แต่ว่าต้องเข้าใจทุกอย่างที่เป็นประเทศไทยก่อน เพื่อรักษารากฐานที่ดีของเราเอาไว้ หรือให้เด็กไทยหาจุดยืนของตัวเองให้เจอ นั่นคือเรื่องของภาษาไทย เพราะอย่าลืมว่าถ้าคุณเป็นคนไทย แต่คุณไม่รู้ภาษาไทย คุณจะก็จะไม่รู้ประวัติความเป็นมาของคนไทย

                สำหรับการอบรมครู กทม.อย่าง โครงการโรงเรียนไทยสู่ความเป็นเลิศ เกิดขึ้นในปี 2546 เพื่อช่วยอบรมคุณครูให้สอนเป็นผ่าน 4 ทักษะที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยเปิดอบรมให้กับคุณครูใน 3 กลุ่ม คือ คุณครูที่สอนระดับชั้นอนุบาล และกลุ่มที่ 2 คือเด็ก ป.1-3 และกลุ่มที่ 3 คือเด็ก ป.4-6 ซึ่งหลังจากอบรม 7 วันแล้ว เราก็จะติดตามผลโดยการลงพื้นที่ โดยให้ครูที่เป็นเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมครูของมูลนิธิลงพื้นที่ไปกับคุณครูที่มาอบรมเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อปรับสภาพห้องเรียนในโรงเรียนให้มีมุมต่างๆ เช่น มุมวิทยาศาสตร์ มุมศิลปะ หรือแม้แต่การติดคะแนนความดี โดยการให้ดาวที่บอร์ดสำหรับนักเรียนที่ทำความดีทุกคน ไม่ใช่แค่คนที่เก่งในด้านต่างๆ ในระดับ 1 2 3 เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจและภูมิใจให้กับเด็ก สิ่งเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้น เนื่องจากคุณครูมาอบรมกับเรา กระทั่งเมื่อครบ 6 เดือน เราก็จะมีการมอบใบประกาศนียบัตรให้กับครูที่เข้ารับการอบรม

                ทั้งนี้กิจกรรมที่เราจัดต่อเนื่องมาตลอด 16 ปีนั้น เนื่องจากเราเป็นห่วงว่าผู้ปกครองไทยจะส่งบุตรหลานไปโรงเรียนนานาชาติกันหมด เราจึงพัฒนาระบบครูไทยภายใต้สังกัด กทม. หรือแม้แต่ครูในโรงเรียนเอกชนที่สนใจที่เข้าร่วมการอบรม เพื่อให้ครูสอนเป็น และทำให้เด็กในช่วงวัย 6-9 ปี ซึ่งเป็นวัยแห่งการเรียนรู้และจดจำนั้น มีความสุขในการเรียน กล้าแสดงออก อีกทั้งรู้จุดดีจุดด้อยในตัวเอง นั่นจะทำให้เด็กรู้จักศักยภาพของตัวเอง ที่สำคัญยังสร้างความตระหนักให้กับผู้ปกครองยุคใหม่ส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนในโรงเรียนไทย ก่อนที่จะไปศึกษาต่อในโรงเรียนที่สอนภาษาต่างชาติ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กไทยลืมเลือนภาษาไทย และรากเหง้าความเป็นเป็นไทย อีกทั้งเมื่อเรามีพื้นฐานด้านภาษาไทยที่ดี มีความสุขจากการเรียนการสอนที่กระตุ้นให้เด็กภูมิใจ และเห็นคุณค่าในตัวเอง ทำให้เด็กกล้าพูด กล้าคิด กล้าตัดสินใจ และไม่ท่องจำคำศัพท์ในรูปแบบของชายด์เซ็นเตอร์ในโรงเรียนไทย หรือให้เด็กเป็นศูนย์กลาง เช่นเดียวกับโรงเรียนนานาชาติแล้ว ก็จะทำให้ภาษาอังกฤษของเด็กดีขึ้นตามธรรมชาติของเขา เพราะในระบบการเรียนปัจจุบันนั้นมีการสอนภาษาอังกฤษอยู่แล้ว

                คุณหญิงชดช้อย บอกอีกว่า หลายคนที่ตั้งคำถามว่าการจัดอบรมคุณครูดังกล่าวจะให้ผลดีและเป็นไปในทางที่ดีทันทีหรือไม่ ตรงนี้จำเป็นต้องดูระยะยาว แต่สังเกตง่ายๆ ว่าเมื่อครูที่ได้รับการอบรมจากเราเป็นเวลา 6 เดือน เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงก่อน เช่น การที่ครูลดระดับเสียงขณะสอนเด็กในห้องเรียน ซึ่งเมื่อครูเสียงดังน้อยลง ความเครียดของครูก็จะลดน้อยลงไปด้วย และทำให้เด็กเริ่มสงบมากขึ้น จากนั้นครูจะเริ่มสื่อสารกับเด็กในรูปแบบของการใช้สัญญาณมือ ซึ่งนั่นจะทำให้เด็กเริ่มคิดและตัดสินใจด้วยตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นจะทำให้เด็กรู้จักที่อยู่ด้วยกันแบบเคารพกฎกติกาต่างๆ ที่เกิดขึ้น

                แต่ทั้งนี้คิดว่าการอบรมครูผ่าน โครงการโรงเรียนไทยสู่ความเป็นเลิศ นั้นค่อนข้างได้ผลดี เพราะที่ผ่านมามี ผอ.โรงเรียนที่มาอบรมและจบไปแล้ว 1 กลุ่ม ให้ความร่วมมือโดยการให้คุณครูในโรงเรียนของตัวเองมาอบรม หรือเมื่อย้ายไปดำรงตำแหน่ง ผอ.โรงเรียนอื่น ก็แนะนำให้คุณครูเข้ามาอบรมเช่นเดียวกัน ส่วนในอนาคตนั้น นอกจากการที่เราอบรมครูในสังกัด กทม.แล้ว ก็อยากเข้าไปอบรมทักษะทั้ง 4 ด้าน ให้กับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่จะต้องจบไปเป็นครูหรือสอนเด็ก ซึ่งตรงนี้จะเป็นการเพิ่มจำนวนครูที่มีความรู้ความสามารถทั้ง 4 ด้าน หรือเป็นครูอาจารย์ที่สอนเด็กเป็น ที่สำคัญให้เด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ค่ะ

                ด้าน ผอ.แบ๋ม-กตัญชลี ชินสมบูรณ์ ผู้อำนวยการโครงการโรงเรียนไทยสู่ความเป็นเลิศ บอกว่า การที่ครูสอนเป็น หรือมีทักษะ 4 ประการจากการเข้ารับการอบรมโครงการโรงเรียนไทยสู่ความเป็นเลิศ และนำไปปรับใช้ในการเรียนการสอนนั้น ครูจะมีทัศนคติที่ดีต่อตัวเอง จากเดิมที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าเด็กในโรงเรียนสังกัด กทม.นั้น เด็กมักจะมาจากความหลากหลาย ซึ่งบางคนอาจจะไม่พร้อม ประกอบกับครูก็มักจะมองว่าอาชีพของตัวเองเหนื่อย แต่ทักษะทั้ง 4 ด้านนี้จะทำให้ครูสามารถจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และทำให้เด็กอยากมาเรียนหนังสือมากขึ้น อีกทั้งคุณครูเองก็มีกำลังใจ เห็นคุณค่าในตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นจะทำให้ทัศนคติของครูเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น อีกทั้งเราจะสังเกตได้ว่าแววตาของเด็กนั้น เมื่ออยู่ในการเรียนการสอนดังกล่าว เขาจะอยากร่วมกิจกรรมมากขึ้น หรือกล้ายกมือตอบคำถาม ทั้งที่ก่อนหน้านี้เด็กมักจะนิ่งเงียบเมื่อครูถาม อีกทั้งคุณครูที่ผ่านการอบรมนั้นจะไม่ตำหนิเวลาที่เด็กตอบคำถาม ตรงกันข้ามครูจะฟังคำตอบจากความคิดเห็นของเด็ก และค่อยๆ หาวิธีตะล่อมคำตอบที่ถูกต้องและดีให้กับเด็ก

                “สำหรับหนึ่งในเทคนิคของการสร้างความกล้าแสดงออก และการรู้จักที่ให้เด็กคิดเองนั้น จากการอบรม โครงการโรงเรียนไทยสู่ความเป็นเลิศ เราจะใช้วิธีของการเขียนชื่อเด็กใส่ไว้ในไม้ไอศกรีม จากนั้นให้สุ่มจับชื่อเด็ก ตรงนี้จะทำให้เด็กที่ไม่ค่อยกล้าตอบคำถาม ได้มีโอกาสตอบคำถามมากขึ้น ซึ่งจะช่วยฝึกการกล้าถามและกล้าตอบ อีกทั้งฝึกการคิด ที่สำคัญเมื่อเด็กตอบคำถามได้ดี คุณครูควรกล่าวชื่นชม เพื่อให้เด็กรู้สึกมั่นใจในการตอบคำถามครั้งต่อไป ซึ่งตรงนี้เป็นเทคนิคที่สามารถนำไปใช้กับคุณครูในโรงเรียนได้เช่นกัน เพราะอย่าลืมว่าคนทุกเพศทุกวัย เมื่อเราทำความดีและได้รับคำชื่นชม ตรงนี้จะเป็นกำลังใจ ทำให้เรารู้สึกเห็นคุณค่าในตัวเองค่ะ ซึ่งนั่นจะทำให้บรรยากาศการเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีความสุข เพราะถ้าเด็กมีความสุข ครูผู้สอนก็จะมีความมั่นใจและภูมิใจในตัวเองเช่นกัน”.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"