เครือข่ายขบวนชุมชนภาคกลาง-ตะวันตกจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่เพชรบุรี ชูประเด็นแก้ปัญหาชุมชนที่เดือดร้อนจากรถไฟรางคู่กว่า 6 หมื่นครอบครัวทั่วประเทศ


เพิ่มเพื่อน    

เพชรบุรี/ เครือข่ายขบวนชุมชนภาคกลาง-ตะวันตก 16 จังหวัดจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่ จ.เพชรบุรี  ชูประเด็นการแก้ไขปัญหาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟรางคู่ของ รฟท.  เผยมีชุมชนที่ได้รับผลกระทบทั่วประเทศกว่า 60,000 ครัวเรือน  หลายชุมชนถูกยกเลิกสัญญาเช่า  โดนขับไล่  โดยขบวนองค์กรชุมชนฯ ยื่นข้อเสนอแก้ไขปัญหาผ่านทางผู้ช่วยรัฐมนตรี พม.ให้ยุติการไล่รื้อและดำเนินคดีกับชาวชุมชนในที่ดิน รฟท., จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้เดือดร้อน ฯลฯ

 

วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปี  องค์การสหประชาชนกำหนดให้เป็น วันที่อยู่อาศัยโลก(World Habitat  Day)  เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ให้ความสนใจกับสถานการณ์การอยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์  ตลอดจนสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม  และเพื่อสร้างความตระหนักในความรับผิดชอบร่วมกันในการจัดการให้มนุษย์ทุกคนมีที่อยู่อาศัยในอนาคต  ส่วนในประเทศไทยมีการจัดกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่องในภูมิภาคต่างๆ ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้  โดยที่ภาคกลางและตะวันตกได้จัดงานที่จังหวัดเพชรบุรี  โดยชูประเด็นการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟรางคู่เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ไข

 

ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม-1 พฤศจิกายน  เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนในจังหวัดภาคกลางและตะวันตก รวม 16 จังหวัด  ประกอบด้วยสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.)  เครือข่ายที่ดินแนวใหม่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองแห่งชาติ  และเครือข่ายสลัมสี่ภาค  ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์วันที่อยู่อาศัยโลกประจำปี 2562 ที่จังหวัดเพชรบุรี มีผู้แทนเครือข่ายประมาณ 400 คนร่วมกันเดินรณรงค์จากบริเวณสนามกีฬากลางไปยังศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี  มีนายพลยุทธ  อังกินันทน์  รองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองเพชรบุรีเป็นประธานในการปล่อยขบวนรณรงค์  หลังจากนั้นขบวนได้ไปยื่นหนังสือแถลงการณ์ต่อนายกอบชัย  บุญอรณะ  ผู้ว่าฯ จ.เพชรบุรี  และร่วมกันประกาศเจตนารมณ์

นายพลยุทธ  อังกินันทน์  รองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองเพชรบุรีเป็นประธานปล่อยขบวนรณรงค์ 

 

นายสาคร  อำภา  ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนภาคกลางและตะวันตก  กล่าวแถลงการณ์มีใจความว่า  1.เราจะมีบทบาทสำคัญในการเก็บ รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลชุมชน ครัวเรือนที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และที่ดินรัฐประเภทอื่นๆ เพื่อวางแผนการแก้ไขปัญหาในระดับนโยบาย  ทั้งแผนพัฒนาระยะสั้น-กลาง-ยาว และร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องที่  ท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับตำบล และเมืองเต็มพื้นที่ทุกจังหวัด 2. เราจะร่วมสร้างพื้นที่รูปธรรมเชิงคุณภาพเพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ การสื่อสาร และขยายผลในพื้นที่ ในทุกตำบล เมือง และจังหวัด  3.เราอยากเห็นทุกจังหวัดประกาศนโยบาย  แผนการพัฒนาว่าด้วยเรื่องที่ดิน  ที่ทำกิน และที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยของภาคประชาชน ได้รับการบรรจุเป็นแผนพัฒนาในระดับจังหวัดทั้งในระยะสั้น-กลาง และระยะยาว

 

“ท้ายนี้   พี่น้องขบวนองค์กรชุมชนภาคกลางและตะวันตก จะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาเคียงคู่กับภาครัฐ หน่วยงานภาคีทุกภาคส่วน ในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง   บ้านโดยชุมชน  ทุกคนร่วมกันสร้าง  ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนฯ กล่าว

             

ส่วนในวันที่ 1   พฤศจิกายน  มีการจัดกิจกรรมวันที่อยู่อาศัยโลก ‘บ้านมั่นคง บ้านโดยชุมชน  ทุกคนร่วมกันสร้าง’  (World  Habitat  Day 2019  ‘Collective Housing’)  ที่ห้องประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี  โดยมีนายสากล  ม่วงศิริ  ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานในพิธี  มีนายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  นายกอบชัย  บุญอรณะ  ผวจ.เพชรบุรี  ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนภาคกลางและตะวันตก  ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ร่วมงานประมาณ 500 คน  ทั้งนี้ผู้แทนชุมชนที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟรางคู่ได้ยื่นข้อเสนอและแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยในที่ดิน รฟท.ให้แก่นายสากลด้วย

             

นายสากล  ม่วงศิริ  ผู้ช่วย รมว.พม.กล่าวว่า  กระทรวง พม.มีแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ  โดยมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ รับผิดชอบประมาณ 1 ล้านครัวเรือน  และการเคหะแห่งชาติประมาณ 2   ล้านครัวเรือน  ส่วนการแก้ไขปัญหาที่ดินการรถไฟฯ ที่พี่น้องประชาชนมายื่นข้อเสนอในวันนี้  ตนจะรับข้อเสนอเพื่อนำไปประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาต่อไป

นายสากล  ม่วงศิริ  ผู้ช่วย รมว.พม.รับมอบข้อเสนอการแก้ไขปัญหาที่ดิน รฟท.

 

โครงการรถไฟรางคู่  คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 เห็นชอบแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย  ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2553 - 2558 รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่  ในเส้นทางสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้  รวม 873 กิโลเมตร  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางรถไฟ  โดยจะมีการก่อสร้างทางรถไฟ  และขยายพื้นที่เส้นทางรถไฟออกไปด้านละ 40 เมตร และรัศมีรอบสถานีชั้น 1 ระยะ 150 เมตร  จำนวน 77 สถานี ใน 47 จังหวัด  เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2558  

 

อย่างไรก็ตาม  ข้อมูลจากการสำรวจของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และคณะสถาปัตยกรรม  มหาวิทยาลัยศรีปทุม พบว่า  มีบ้านเรือนประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจำนวน  60,961 หลังคาเรือน  แบ่งเป็นบ้านเรือนที่จะได้รับผลกระทบในแผนพัฒนาระยะที่ 1 (พ.ศ. 2561 – 2565) จำนวน 24,266 หลังคาเรือน, แผนพัฒนาระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) จำนวน 11,678 หลังคาเรือน, แผนพัฒนาระยะที่ 3 (พ.ศ. 2571 – 2575) จำนวน 1,026 หลังคาเรือน  และไม่อยู่ในแผนพัฒนา 23,982  หลังคาเรือน   ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบมีทั้งผู้ที่มีสัญญาเช่าอาศัยอยู่ในที่ดินการรถไฟฯ อย่างถูกต้อง และที่อยู่อาศัยแบบไม่มีสัญญาเช่าอีกเป็นจำนวนมาก

 

ทั้งนี้ในพื้นที่ภาคกลางและตะวันตกมี 11 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟฯ  คือ  สมุทรสาคร ประจวบคีรีขันธ์  ราชบุรี  นครปฐม  กาญจนบุรี  เพชรบุรี  นครสวรรค์ สมุทรสงคราม พระนครศรีอยุธยา  ลพบุรี และสุพรรณบุรี      มีผู้ได้รับผลกระทบรวม 15,764 หลังคาเรือน  เฉพาะที่จังหวัดเพชรบุรีได้รับผลกระทบ 1,067 ครัวเรือน

การขยายเส้นทางรถไฟรางคู่และสร้างสถานีใหม่ที่ จ.เพชรบุรี

 

ส่วนการแก้ไขผลกระทบชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่นั้น  รฟท.ได้ให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เป็นหน่วยงานที่ทำสัญญาเช่าที่ดินจาก รฟท.แทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจำนวน  59 ชุมชน  รวม 3,442  ครัวเรือน  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สนับสนุนงบประมาณการพัฒนาที่อยู่อาศัยครัวเรือนละประมาณ 50,000 บาท  และให้สินเชื่อซื้อที่ดิน-สร้างที่อยู่อาศัยไม่เกิน 300,000 บาท  โดยชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินเดิมของ รฟท.ได้จะต้องรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวเส้นทางรถไฟด้านละ 40 เมตร  ส่วนชุมชนที่อยู่ในที่ดิน รฟท.ไม่ได้จะต้องหาที่ดินแปลงใหม่โดยการเช่าหรือซื้อที่ดิน   ขณะนี้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยไปแล้วกว่า 10 ชุมชนในหลายจังหวัด  เช่น  เพชรบุรี  ประจวบคีรีขันธ์สงขลา   ฯลฯ

 

อย่างไรก็ตาม  เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศไทยเห็นว่า  แม้ว่าชุมชนจะได้รับสัญญาเช่าที่ดิน รฟท.แล้ว  แต่ก็ยังไม่มีความมั่นคง  เนื่องจากในสัญญาเช่าที่ดินจาก รฟท.ระบุว่า  หาก รฟท.ต้องการใช้ประโยชน์ในที่ดินก็จะไม่ต่อสัญญาเช่าให้กับชุมชน  ทำให้ชุมชนต้องถูกไล่รื้อ   โดยที่ผ่านมามีหลายชุมชนที่โดนไล่รื้อแล้ว   เช่น  จ.สงขลา  ได้รับสัญญาเช่าที่ดิน รฟท. 19 ชุมชน  แต่ได้รับผลกระทบจากการขยายทางรถไฟ 13  ชุมชน  อ.หัวหิน  จ.ประจวบคีรีขันธ์  ได้รับผลกระทบ 19 ชุมชน  (บุกรุกที่ดิน รฟท.) ประมาณ 1,004  ครัวเรือน  โดย รฟท.ฟ้องร้องต่อศาลเพื่อให้ชุมชนรื้อย้ายออกจากที่ดิน รฟท.ภายในสิ้นเดือนธันวาคมนี้  ฯลฯ

 

ดังนั้นเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศไทยจึงได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ดินที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตสำหรับประชาชนที่มีรายได้น้อยในที่ดินการรถไฟฯ  โดยมีข้อเสนอดังนี้  1.หยุดการไล่รื้อ  และการดำเนินคดีความกับชุมชนในที่ดิน รฟท.  2.ให้มีการเปิดเผยข้อมูล  นโยบาย  โครงการพัฒนาในที่ดิน รฟท.ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน  และต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

 

3.ให้มีการจัดตั้งกองทุนกลางเพื่อพัฒนาที่ดินที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิต  โดยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ  โดยรวมไว้ในมูลค่าโครงการอย่างเป็นธรรม  เพื่อนำกองทุนไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ  เช่น  ช่วยเหลือค่ารื้อย้าย  ลดภาระค่าที่อยู่อาศัยตามความเหมาะสม  จัดซื้อที่ดิน  ที่อยู่อาศัย  ของเอกชน  การเคหะแห่งชาติ  หรือเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ

 

4.ให้มีการอำนวยการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและจัดหาที่ดินรองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน   5.ให้มีการจัดตั้งและประสานให้เกิดกลไกในการแก้ไขปัญหาชุมชนที่ได้รับผลกระทบกรณีที่ดิน รฟท.ที่มีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ทั้งในระดับนโยบายและจังหวัด  และ 6.ให้มีการปรับคู่สัญญาเช่าที่ดิน รฟท.  โดยให้ชุมชน/สหกรณ์สามารถเช่าที่ดินโดยตรงกับ รฟท.ได้

การจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่ ม.ราชภัฏเพชรบุรี


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"