แห่อาลัย "ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์" นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศ เกิดอุบัติเหตุต้นปาล์มในบ้านล้มทับเสียชีวิต สวดพระอภิธรรมคืนแรก 2 พ.ย. วัดธาตุทอง
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม เวลา 11.30 น. ร.ต.อ.สามารถ แก้วทอง รอง สว.(สอบสวน) สน.คลองตัน เดินทางไปตรวจสอบภายในบ้านเลขที่ 30 ซอยเอกมัย 12 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กทม. ภายหลังรับแจ้งว่าช่วงเช้าเวลาประมาณ 07.30 น. ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ อายุ 54 ปี ผู้อำนวยการวิจัยด้านบริหารการจัดการระบบเศรษฐกิจฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจรายสาขา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประสบอุบัติเหตุถูกต้นไม้ล้มทับภายในบ้านได้รับบาดเจ็บสาหัส ก่อนคนภายในบ้านช่วยกันนำส่งโรงพยาบาลคามิลเลียน และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ที่เกิดเหตุเป็นบ้านเดี่ยวหลายหลังปลูกในพื้นที่ส่วนตัว เนื้อที่กว่า 1 ไร่ มีรั้วรอบขอบชิด ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ จากการตรวจสอบบริเวณสนามหญ้าหน้าบ้าน พบตอต้นปาล์มความยาวประมาณ 4-5 เมตรล้มฟาดอยู่กับม้านั่งหินอ่อนและชิงช้า ได้รับความเสียหาย จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่าต้นปาล์มต้นดังกล่าวยืนต้นตายอยู่มาเป็นเวลานานจนโคนต้นพุพังจากข้างใน
สอบสวนทราบว่า เมื่อช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา ดร.เดือนเด่นพร้อมคนรับใช้ได้เดินออกกำลังกายบริเวณสวนหน้าบ้าน ซึ่งมีโต๊ะม้านั่ง ชิงช้า และเครื่องเล่นตั้งวางอยู่ จู่ๆ ต้นปาล์มต้นดังกล่าวค่อยๆ เอนล้มมาทาง ดร.เดือนเด่นที่ยืนอยู่บริเวณดังกล่าวพอดี ซึ่ง ดร.เดือนเด่นก็ได้หลบต้นปาล์มแล้วแต่ไม่พ้น ถูกทับบริเวณขา จน ดร.เดือนเด่นเสียหลักล้มลงศีรษะฟาดเข้ากับเครื่องเล่นซึ่งเป็นเหล็กได้รับบาดเจ็บและหมดสติ ก่อนที่จะมีผู้ให้การช่วยเหลือนำส่ง รพ.คามิลเลียนและเสียชีวิตในเวลาต่อมา
เบื้องต้นทางญาติไม่ติดใจในสาเหตุการเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม จะได้ส่งศพไปผ่าพิสูจน์ที่นิติเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต ก่อนที่จะมอบศพให้ญาติรับดำเนินการทางศาสนาต่อไป
สำหรับงานสวดพระอภิธรรมนั้น จะจัดที่วัดธาตุทอง ศาลาสิทธิสยามการ (ศาลา 4) โดยจะมีพิธีรดน้ำศพในวันที่ 2 พ.ย. เวลา 15.00 น. จากนั้นจะสวดพระอภิธรรม เวลา 18.30 น. โดยจะมีสวดพระอภิธรรม 7 คืน จากนั้นครอบครัวจะบรรจุและเก็บไว้ที่วัดประมาณ 2 เดือน โดยจะประชุมเพลิงสัปดาห์แรกของเดือน ม.ค. 2563
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจากไปอย่างกะทันหันของ ดร.เดือนเด่น ได้สร้างความเสียใจให้กับสถาบันทีดีอาร์ไอและวงการนักวิชาการอย่างมาก โดยมีนักวิชาการชื่อดังหลายคนได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเสียใจและไว้อาลัย ดร.เดือนเด่น อาทิ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ "สุดอาลัยเพื่อนร่วมงานที่น่าคบหามากที่สุดคนหนึ่ง จะจดจำความดีและความงามในจิตใจของอุ๋ยตลอดไป ..... RIP", นายสุริยะใส กตะศิลา คณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต "ท่านเป็นนักวิชาการ นักวิจัย ที่ยกระดับความรู้ ความเข้าใจในมิติเศรษฐศาสตร์ของคนในสังคมได้มากมาย งานของท่านเกือบทุกชิ้นล้วนมีข้อค้นพบใหม่ๆ โดยเฉพาะการชี้ให้เห็นถึงความเลวร้ายของธุรกิจผูกขาดและความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันทางการค้า สิทธิผู้บริโภค ผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน ...ต้องยอมรับว่าแวดวงเศรษฐศาสตร์เราได้สูญเสียนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศไปหนึ่งคน ในฐานะสมาชิกของสังคม เราได้สูญเสียทรัพยากรอันทรงคุณค่าของประเทศไปอย่างน่าเศร้าใจ.."
น.ส.สมลักษณ์ หุตานุวัตร นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม "เป็นความสูญเสียที่ใหญ่หลวงที่สุดในด้านวิชาการของยุคสมัย อาจารย์เดือนเด่น เป็นนักวิชาการบริสุทธิ์จากฝักฝ่าย เคยร่วมเป็นอนุกรรมาธิการในวุฒิสภาด้วยกันก่อนยุค คสช. ทำหน้าที่อย่างปราดเปรื่อง กล้าหาญ หาตัวจับได้ยาก เราไม่มีคำใดจะเอ่ยได้สมกับความสูญเสียที่เกินคาดหมายนี้ เมื่อคืนนี้เพิ่งดูรายการย้อนหลัง ที่อาจารย์สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ (สามีอาจารย์เดือนเด่น) ช่อง The Standard คิดว่าสองสามีภรรยานี้คืออนาคตที่มีค่าของงานวิชาการไทย เสียดายเหลือเกิน เสียดายจริงๆ ..." เป็นต้น
สำหรับ ดร.เดือนเด่น จบการศึกษาสูงสุด เศรษฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยแมคกิลล์ มลรัฐควิเบก ประเทศแคนาดา เมื่อปี 2531 ร่วมงานกับมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เมื่อปี 2531 ในตำแหน่งรองนักวิจัย ฝ่ายอุตสาหกรรม การค้า และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก่อนเติบโตในสายงานตามลำดับ อีกทั้งยังมีผลงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะ โดยเฉพาะการวิจัยปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย นโยบายการแข่งขัน การป้องกันการผูกขาด นโยบายการค้าบริการ และการลงทุนระหว่างประเทศ ความตกลงการค้าระหว่างประเทศ
เคยได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์) เมื่อปี 2550-2551, ผู้อำนวยการวิจัยด้านบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจฝ่ายวิจัย เศรษฐกิจรายสาขา ทีดีอาร์ไอ ปี 2551 ถึงปัจจุบัน, อนุกรรมาธิการทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ คณะกรรมการทรัพย์สินทางปัญหาและการค้าระหว่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี 2554-2556, อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ปี 2554 ถึงปัจจุบัน เป็นต้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |