"บิ๊กตู่" ปิดงานสตรีอาเซียน ยกผู้หญิงเป็นคอมมานเดอร์ในบ้าน ชวนผู้ชายหนุนสร้างความเท่าเทียม "จุรินทร์" ประชุมคณะมนตรีอาเซียน ผลักดัน 13 ประเด็นเศรษฐกิจ "พท." โยง "ทรัมป์" ตัดสิทธิ์ GSP แถมไม่มาประชุมอาเซียนซัมมิต ส่งสัญญาณหักดิบความสัมพันธ์ เหตุไม่พอใจไทยสนิทสนมจีน "พิชัย" ชี้มะกันตัดสิทธิพิเศษกระทบหนัก "พาณิชย์" ถก "วอร์รูม" แก้เกมถูกตัดจีเอสพี เอกชนลั่นพร้อมปรับตัวสู้
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 31 ต.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการประชุมสุดยอดผู้นำ ASEAN Summit 2019 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพว่า ช่วงเช้าที่ผ่านมานายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ได้โทรศัพท์มาพูดคุยกับตน โดยระบุว่าติดปัญหาภายในประเทศ ทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมอาเซียนซัมมิตที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพได้ แต่จะมีผู้แทนมาร่วมประชุม แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ที่มีต่อกันระหว่างเราและแคนาดา และแคนาดากับอาเซียนด้วย
พล.ต.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ทีมงานนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกฯ ได้แสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐบาลแคนาดาอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-แคนาดา ทั้งในระดับทวิภาคีและภูมิภาค โดยเฉพาะความสัมพันธ์อาเซียน-แคนาดา ซึ่งนายกรัฐมนตรีแคนาดาเองได้ยืนยันที่จะร่วมมือกับไทยเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของเศรษฐกิจและการค้าการลงทุน
ต่อมาเวลา 17.00 น. ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธานอาเซียน เป็นประธานกล่าวปิดการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีนักบริหาร "การกำหนดทิศทางธุรกิจสตรีก้าวล้ำ สหัสวรรษ 4.0" ตามที่เครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียนจัดการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีนักบริหาร เครือข่ายผู้ประกอบการอาเซียน 2019
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งว่า รู้สึกดีที่ได้เดินทางมาวันนี้ เห็นบ้านเมืองสงบสุข มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก สถานการณ์บ้านเมืองถ้าทุกอย่างสงบเรียบร้อยก็เป็นเช่นนี้ และสตรีทุกคนที่อยู่ในห้องนี้ ไม่ต้องกังวลอะไร ท่านเป็นซีอีโอประจำบ้านอยู่แล้ว เป็นคอมมานเดอร์ในบ้าน ทั้งนี้ ประเทศไทยกำหนดนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของสังคมผ่านยุทธศาสตร์พัฒนาสตรี พ.ศ.2560-2564 รวมถึงส่งเสริมส่งการเข้าถึงแหล่งทุน สำหรับผู้ประกอบอาชีพ มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีและกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ส่งผลให้ประเทศไทยมีสัดส่วนธุรกิจที่มีสตรีเป็นเจ้าของถึงร้อยละ 25.2 จัดอยู่ในอันดับ 25 ของโลก
“การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพสตรี ไม่ใช่เรื่องของสตรีเพียงฝ่ายเดียว จึงขอเรียกร้องให้ฝ่ายชายส่งเสริม สนับสนุนบทบาทของสตรีให้มีความเสมอภาค ให้พลังสตรีมีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างยั่งยืน และมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 18 ว่า วันนี้เป็นการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนนัดสุดท้ายที่ไทยเป็นเจ้าภาพ โดยที่ประชุมได้ยินดีและรับทราบความคืบหน้าประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ไทยผลักดันทั้ง 13 ประเด็น โดยมั่นใจว่าจะสามารถผลักดันไปสู่ความสำเร็จครบทั้ง 13 ประเด็นภายในสิ้นปีนี้ และจะรายงานความคืบหน้าต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนต่อไป
ถกอาเซียนดัน 13 ด้านศก.
นายจุรินทร์กล่าวว่า สำหรับประเด็นด้านเศรษฐกิจทั้ง 13 ประเด็น ได้แก่ 1.แผนงานด้านดิจิทัลของอาเซียน 2.แผนงานในการส่งเสริมนวัตกรรมอาเซียน 3.การเตรียมการสำหรับการพัฒนาแรงงานเพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 คือเรื่องของการใช้แรงงานพัฒนาแรงงานคนเพื่อรองรับการใช้เครื่องจักร การใช้นวัตกรรมใหม่ในการผลิต 4.การเดินหน้าไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 5.การเตรียมการที่จะนำ SME ไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เช่น การค้าออนไลน์ เป็นต้น
6.การดำเนินการในเรื่อง ASEAN Single Window การนำเข้าส่งออกระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกันที่ต้องมีการอำนวยความสะดวกโดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ และไม่ซ้ำซ้อน ทำให้การส่งออกระหว่างการคล่องตัวยิ่งขึ้น 7.เรื่องการผลักดันให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่นค้าขายระหว่างกันในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมแล้วอย่างน้อย 3 คู่ คือ ไทย-ฟิลิปปินส์, ไทย-อินโดนีเซีย และไทย-มาเลเซีย ภายใต้ความร่วมมือของแบงก์ชาติของไทยกับธนาคารพาณิชย์ของ 3 ประเทศ
8.การเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในระบบที่เรียกว่า PPP 9.การร่วมมือกันระหว่างอาเซียนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร คือ การใช้อาหารส่งเสริมการท่องเที่ยว 10.การแสดงเจตจำนงร่วมกันผลักดันให้ RCEP ซึ่งอาเซียนเป็นศูนย์กลางของ RCEP จบภายในสิ้นปีนี้ 11.การผลักดันเครือข่าย IUU ของอาเซียน คือ การทำประมงอาเซียนที่มุ่งเน้นในเรื่องของการสร้างความยั่งยืน 12.การส่งเสริมตลาดทุนของอาเซียนในประเทศต่างๆ โดยเมื่อจะรับบริษัทเข้าไปจดทะเบียน ต้องคำนึงถึงเป้าหมายของบริษัทนั้นๆ ที่มุ่งเน้นความยั่งยืน เช่น สิ่งแวดล้อม เป็นต้น และ 13.การผลักดันให้มีการลงนาม ศูนย์พลังงานอาเซียนระหว่างมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงชีวภาพ
นายจุรินทร์กล่าวว่า นอกจากนี้ได้ให้การรับรองแผนการดำเนินงานตามกรอบการบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียน ปี 2562-2568 ซึ่งครอบคลุมการดำเนินงาน 6 ด้าน ได้แก่ 1.การอำนวยความสะดวกทางการค้า 2.การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลพร้อมกับการส่งเสริมการค้าดิจิทัลและนวัตกรรม 3.การส่งเสริมการชำระเงินดิจิทัล 4.การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล 5.การส่งเสริมวิสาหกิจ และ 6.กลไกความร่วมมือ
ขณะที่ น.ส.สรัสนันท์ อรรณนพพร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวถึงกรณีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐปฏิเสธคำเชิญเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนซัมมิต 2019 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพว่า การที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ เซ็นระงับสิทธิทางภาษีนำเข้าจีเอสพีนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อสินค้าไทยหลายร้อยรายการอย่างมีนัยสำคัญ และต่อด้วยการปฏิเสธคำเชิญเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนซัมมิต 2019 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ เป็นการบ่งบอกถึงสัญญาณที่ทางสหรัฐไม่ได้ให้น้ำหนักกับประเทศไทยเหมือนเคย ถือว่าเป็นการหักดิบความสัมพันธ์การต่างประเทศ
"แม้การเซ็นระงับสิทธิทางภาษีนำเข้าจีเอสพีกับประเทศไทยอาจมาจากหลายๆ ปัจจัย เช่น นโยบาย America First ที่มุ่งเน้นการปรับดุลการค้าที่ขาดดุลมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี แต่ก็อาจมาจากจุดยืนด้านการต่างประเทศ ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์แลดูให้ความสำคัญกับประเทศจีนเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการเซ็นโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่เอื้อแก่กลุ่มเจ้าสัวและรัฐบาลจีน หรือการปล่อยให้ Alibaba เข้ามาทำกิจการอย่างง่ายดาย โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบอื่นๆ ส่งผลให้อุตสาหกรรมไทยขนาดเล็กหลายพันบริษัทต้องประสบสภาวะขาดทุน" น.ส.สรัสนันท์กล่าว
รองโฆษกพรรค พท.กล่าวว่า รัฐบาลไทยดูท่าจะไม่มีแนวทางรองรับกับผลกระทบที่กำลังจะตามมาเป็นระลอกจากการแย่งชิงอำนาจระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ การที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ เลือกที่จะไม่มาร่วมการประชุม ซึ่งต่างกับทุกๆ ครั้งที่ผู้นำสูงสุดของประเทศจะต้องมาร่วมเอง แต่เลือกที่จะส่งนายโรเบิร์ต โอบราเอน ซึ่งเป็นผู้ช่วยด้านความมั่นคง ในฐานะทูตแต่งตั้งพิเศษพร้อมรัฐมนตรีการพาณิชย์ เป็นการกระทำที่ทำให้เห็นชัดเจนว่าสหรัฐอเมริกากำลังใช้ไม้แข็งกับรัฐบาลไทย
น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ (พ.พ.ช.) กล่าวว่า คนในรัฐบาลอย่าให้ข่าวจนประชาชนคิดว่าเป็นแหล่งข่าวลวงข่าวปลอมเอง ในสองวันนี้ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ที่ออกมาพูดเรื่องถูกตัดสิทธิ์จีเอสพี เพราะเศรษฐกิจโต การถูกตัดสิทธิ์จีเอสพีเป็นเรื่องน่าภูมิใจ ซึ่งเป็นการพูดข้อเท็จจริงไม่หมด เข้าข่ายข่าวลวง การพูดในฐานะผู้บริหารประเทศต้องพูดให้ครบทุกด้าน ทั้งด้านดีและด้านไม่ดี และบอกวิธีแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นการพูดแก้ตัวปัดความผิดพลาดให้พ้นไป
ส่วนนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวว่า การที่สหรัฐตัดสิทธิ์จีเอสพีของไทย จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่ย่ำแย่อยู่แล้ว ไม่ได้เล็กน้อยเหมือนที่รัฐบาลพยายามจะแก้ตัว และให้ข้าราชการออกมาพยายามจะกลบเกลื่อน ซึ่งสามารถดูได้จากราคาหุ้นของบริษัทกลุ่มที่ส่งออกที่ถูกตัดสิทธิ์จีเอสพีที่ราคาร่วงตกกันยกแผง และการที่สหรัฐพิจารณาตัด 573 รายการ สหรัฐต้องมีตัวเลขในใจแล้ว และต้องการให้มีผลกระทบกับไทยอย่างแน่นอน
เอกชนปรับตัวสู้ตัด GSP
ที่กระทรวงพาณิชย์ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมวอร์รูมกรณีสหรัฐตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ไทย ประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ได้สั่งให้ตนประชุมวอร์รูมร่วมกับภาคเอกชน เพื่อรับฟังผลกระทบและข้อเสนอแนะของภาคเอกชนในการแก้ปัญหา หรือลดผลกระทบจากการถูกตัดสิทธิ์ โดยภาคเอกชนส่วนใหญ่เห็นว่าการส่งออกสินค้าในกลุ่มที่ถูกตัดจีเอสพีจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก มีเพียงบางรายการเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบมาก เพราะจะต้องกลับไปเสียภาษีนำเข้าในอัตราสูง เช่น กลุ่มสุขภัณฑ์เซรามิก ที่จะกลับไปเสียภาษีสูงถึง 26% จากที่ไม่ต้องเสียภาษีเลย อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนเห็นว่า สินค้าของตนยังสามารถทำตลาดประเทศอื่นๆ ได้อีกมากทดแทนการส่งออกไปสหรัฐ
"ผลการประชุมวันนี้จะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ที่มี รมว.พาณิชย์เป็นประธานในช่วงต้นเดือน พ.ย.นี้ เพื่อนำมากำหนดเป็นแผนปฏิบัติในการแก้ปัญหาการถูกตัดสิทธิ์จีเอสพี และแผนการทำตลาดสินค้ากลุ่มที่ถูกตัดสิทธิ์ ซึ่งจะทำควบคู่ไปกับแผนการเจาะตลาดเป้าหมาย 10 แห่ง ที่กระทรวงพาณิชย์กำลังดำเนินการอยู่ เช่น ในตลาดจีน หนึ่งในตลาดเป้าหมายที่ไทยต้องการบุกเจาะ หากเห็นว่าสินค้ากลุ่มถูกตัดจีเอสพีรายการใดเหมาะกับการบุกตลาดจีนบ้าง ก็จะผลักดันการส่งออกให้มากขึ้น" ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าว
ด้านนายกฤษดา ทรัพย์ทวยชน รองประธานสมาคมอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคมไทย กล่าวว่า กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะจะต้องกลับมาเสียภาษีเฉลี่ยที่ 5% จากก่อนหน้านั้นไม่เสียภาษีเลย และจากการหารือกับผู้นำเข้า ส่วนมากบอกว่าหนักใจ และอาจชะลอการนำเข้าได้ ขณะเดียวกันการที่ไทยถูกตัดจีเอสพีอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติในสินค้ากลุ่มนี้ที่ลงในจีนอยู่ก่อนแล้ว และมีแผนย้ายฐานการผลิตมาไทย เพื่อหนีภัยสงครามการค้าอาจชะลอการย้ายฐาน หรืออาจไปประเทศเพื่อนบ้านไทยแทน ซึ่งจะทำให้สูญเสียเงินลงทุนจากต่างประเทศ และอาจทำให้การลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้รับผลกระทบ
"กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีมาตรฐานแรงงานในระดับสูงอยู่แล้ว เพราะผู้ซื้อต้องมาตรวจโรงงาน และมาตรฐานแรงงาน จึงเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ในการเจรจาขอคืนสิทธิกับสหรัฐให้นำเสนอว่าควรตัดจีเอสพีเฉพาะกลุ่มสินค้า แต่ไม่ควรตัดกลุ่มของเราที่มีมาตรฐานแรงงานสูง รวมถึงเสนอให้เจรจากับสหรัฐอย่าเพิ่งตัดสิทธิ์เดือนเม.ย.63 แต่ควรให้โครงการจีเอสพีปัจจุบันสิ้นสุดลง หรือจบในเดือน ธ.ค.63 ก่อนแล้วค่อยตัด เพราะไทยเพิ่งได้รับการต่ออายุจีเอสพีถึงสิ้นปี 63 แล้วอยู่ๆ มาตัดกลางปี ผู้ส่งออกผู้นำเข้าช็อกปรับตัวไม่ทัน” รอง ปธ.สมาคมอุตสาหกรรมไฟฟ้าฯกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |