ฮือฮา! 'นิธิ' ปล่อยบทความ '...มีไว้ทำไม' หลังเคยทิ้งบอมบ์กองทัพ 'ทหารมีไว้ทำไม'


เพิ่มเพื่อน    

31 ต.ค 62 - เมื่อวันที่ 30 ต.ค ที่ผ่านมา เว็บไซต์ประชาไท เผยแพร่บทความเรื่อง "...มีไว้ทำไม" เขียนโดย ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นนักคิด นักเขียน และศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ โดยมีรายละเอียดเนื้อหาดังนี้

นอกจากกองทัพควรต้องถามตัวเองว่า "ทหารมีไว้ทำไม" แล้ว สถาบันและองค์กรทางสังคมทั้งหมดก็ควรถามตัวเองเหมือนกันว่า มีตัวเองไว้ทำไม

เพราะคำถามว่า "มีไว้ทำไม" เป็นคำถามแห่งยุคสมัย เป็นคำถามของศตวรรษใหม่ ที่อาจกินเวลาไปอีกหลายศตวรรษข้างหน้า

แต่ "มีไว้ทำไม" ไม่ได้หมายความว่า สถาบันหรือองค์กรนั้นๆ ไม่มีประโยชน์ ตรงกันข้าม เพราะสถาบันหรือองค์กรนั้นยังดำรงอยู่มาได้ถึงปัจจุบัน ก็เพราะมันต้องเคยทำประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่จำเป็นแก่สังคมมาแล้วแน่ เพียงแต่ว่ายุคสมัยของปัจจุบันนั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว ขนาดที่นักคิดบางคนเสนอ (และได้รับความเชื่อถือมาหลายสิบปีแล้ว) ว่า เราได้ก้าวเข้าสู่"คลื่นลูกที่สาม"แล้ว แน่นอนว่าทำให้โลกเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เช่นเดียวกับโลกภายใต้การปฏิวัติเกษตรกรรมในคลื่นลูกที่หนึ่ง ถูกทำให้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงมาแล้ว เมื่อเผชิญกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมในคลื่นลูกที่สอง

นอกจากเคยทำประโยชน์มาแล้ว แม้ตัวมันเองตกยุคพ้นสมัยไปแล้ว แต่องค์ความรู้ที่ได้สร้างสมไว้ของสถาบันและองค์กรเหล่านั้น ก็ช่วยให้การปรับเปลี่ยนหรือเกิดใหม่ของสถาบันและองค์กรที่เข้ากับยุคสมัยเกิดขึ้นได้ง่าย และโดยราบรื่น

เช่นการสำรวจพื้นที่ด้วยหลักวิชาตรีโกณมิติ เพื่อทำแผนที่อันแม่นยำล้าสมัยตกยุคไปแล้ว เมื่อภาพถ่ายทางอากาศทำให้ทำแผนที่ได้แม่นยำกว่าและถูกกว่า แต่หากเราไม่มีแผนที่อื่นๆ ซึ่งเคยทำมาด้วยวิธีต่างๆ แต่โบราณกาล นับตั้งแต่ข่าวเล่าลือไปจนถึงตริโกณมิติ แผนที่ซึ่งเกิดจากภาพถ่ายทางอากาศก็จะกลวงเปล่า เพราะกว่าจะลงรายละเอียดเนื้อหาได้ก็ต้องออกสำรวจและใช้เวลาอีกนาน

การ"ต่อยอด"เป็นวิถีทางปรกติที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการเกิดและพัฒนาอารยธรรมเสมอ

ความเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างใหญ่ไพศาลและลึกซึ้งของ"คลื่นลูกที่สาม" ทำให้แทบไม่เหลือสถาบันหรือองค์กรทางสังคมใดเหลือรอดจากการถูกตั้งคำถามหรือถามตนเองว่า "มีไว้ทำไม"

ระบบการศึกษาทั้งระบบ ที่มี"สถานศึกษา"ตายตัวซึ่งผู้เรียนต้องเข้าไปแสวงหาความรู้ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย มีไว้ทำไม ยังเป็นวิธีกระจายและสืบทอดความรู้และทักษะที่มีประสิทธิภาพที่สุดอยู่หรือ? ในสังคมและยุคสมัยที่การแสวงหาความรู้ และการคิดเอง รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างกัน สามารถทำได้ด้วยวิธีอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากันหรือมากกว่า

โรงพยาบาลซึ่งเป็นสถาบันที่เพิ่งเกิดขึ้นแพร่หลายใน"คลื่นลูกที่สอง"ยังจำเป็นอยู่หรือ? ต้องเข้าใจด้วยว่า โรงพยาบาลไม่ใช่การรักษาพยาบาลซึ่งอยู่กับสังคมมนุษย์มาแต่สมัยหิน แน่ใจหรือว่าการจัดการรักษาพยาบาลสาธารณะด้วยโรงพยาบาล (อย่างที่เรารู้จักในทุกวันนี้) จะเป็นวิธีที่สิ้นเปลืองน้อยที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุด

ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ที่เราเริ่มจัดเพื่อสาธารณะมาตั้งแต่คลื่นลูกที่สองก็เหมือนกัน เป็นวิธีการเรียนรู้แก่คนทั่วไปที่ราคาถูกสุดและมีประสิทธิภาพสุดแล้วหรือ? ระหว่างห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์จริง กับห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์เสมือนบนไซเบอร์ อย่างไหนจะให้บริการแก่สาธารณชนได้มากกว่ากัน (แน่นอนว่า ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ล้วนมีจุดอ่อนอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งสิ้น)

ศาลสถิตย์ยุติธรรมเป็นวิธีระงับความขัดแย้งในสังคมที่ดีที่สุดแล้วหรือ มนุษย์ในทุกสังคมและยุคสมัยใช้วิธีอื่นๆ อีกมากหลายในการระงับความขัดแย้ง แม้เมื่อมีบริการของศาลยุติธรรมทั่วไปอันเป็นผลผลิตของคลื่นลูกที่สองแล้ว วิธีอื่นๆ ก็ยังอยู่และถูกใช้ระงับความขัดแย้งมากกว่าศาลยุติธรรมอยู่นั่นเอง จนถึงทุกวันนี้เมื่อคดีพิพาทเอกชนขึ้นสู่ศาล สิ่งแรกที่ศาลมักทำคือแนะให้ทำการไกล่เกลี่ยกันเองก่อน พูดอีกอย่างหนึ่งคือแนะนำให้ใช้วิธีการอื่นในการระงับความขัดแย้ง แต่ในขณะที่เราลงทุนพัฒนาระบบศาลยุติธรรมตลอดมา เราแทบไม่ได้ลงทุนอะไรสักอย่าง เพื่อจรรโลงให้วิธีระงับความขัดแย้งอื่น สามารถทำงานได้ต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

คิดไปเถิด ก็แทบไม่เห็นสถาบันหรือองค์กรใดที่ไม่ควรถูกถามหรือถามตนเองว่า "มีไว้ทำไม" แม้แต่ชาติที่เราถูกปลุกให้รักจนขาดใจ ก็ไม่เป็นข้อยกเว้น แท้จริงแล้วชาติถูกตั้งคำถามนี้มาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 เพราะหากชาติทำให้มนุษย์ต้องฆ่าฟันกันด้วยอาวุธร้ายแรงที่ต้องคิดและสร้างกันขึ้นอย่างมโหฬารเช่นนี้ ชาติ"มีไว้ทำไม"

ยิ่งกว่านี้ ชาติยังเป็นกลไกปกป้องสิทธิเสรีภาพของพลเมืองจากการละเมิดของอำนาจภายนอกและภายในที่ได้ผลจริงอยู่หรือ? ชะตากรรมของกรรมกร, ผู้หญิง, เด็ก, คนชรา, คนหลากหลายทางเพศ, ชนกลุ่มน้อย, ฯลฯ ได้รับการคุ้มกันจากสัญญาระหว่างประเทศมากเสียยิ่งกว่า หรือมีประสิทธิภาพกว่าชาติเสียอีก

แม้ไม่ต้องถามคำถามแห่งศตวรรษนี้เลย หลายต่อหลายอย่างก็หายไปเองเพราะความเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว ต่อหน้าต่อตาเราด้วย หลายปีมาแล้ว ไปรษณีย์ไทยประกาศว่าจะรับส่งโทรเลขเป็นวันสุดท้าย ผู้คนพากันไปส่งโทรเลขถึงตนเองเป็นที่ระลึกจำนวนมาก โทรศัพท์พื้นฐานกำลังเดินตามโทรเลขไปอย่างช้าๆ เคเบิลใต้น้ำซึ่งผูกรัดโลกทั้งใบไว้ด้วยกัน บัดนี้กลายเป็นขยะที่จมอยู่ใต้ทะเลโดยไม่มีใครใส่ใจจะกู้ขึ้นมาอีกแล้ว เมื่อสายใยแก้วและดาวเทียมเข้ามาแทนที่ ตลาดสดอย่างที่เรารู้จักจะอยู่ต่อไปได้อีกนานเท่าไรไม่มีใครรู้ อาจเดินตามร้านโชห่วยไปเร็วกว่าที่หลายคนจะปรับตัวได้ทันด้วยซ้ำ

ในทางตรงกันข้ามคำถาม "มีไว้ทำไม" ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องนำไปสู่การยุบเลิกสถาบันหรือองค์กรต่างๆ ลงหมด ที่มักเกิดขึ้นมากกว่าก็คือการปรับตัวให้เหมาะกับสังคมที่เปลี่ยนไปแล้ว รูปลักษณ์ภายนอกอาจเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม แต่ภาระหน้าที่เดิมก็ยังอยู่ รูปแบบของระบบการศึกษาอาจเปลี่ยนไปอย่างแทบจำเค้าเดิมไม่ได้ แต่การศึกษาก็ยังขาดไม่ได้เสมอสำหรับทุกสังคม

ขอยกตัวอย่างมหาวิทยาลัย แท้ที่จริงแล้วมหาวิทยาลัยเปลี่ยน"โฉม"ตลอดมา มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ที่มีนักศึกษาเป็นหมื่นๆ คนนั้น เพิ่งมีขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองนี้เอง ไม่เฉพาะแต่ในเมืองไทยรวมถึงในสหรัฐและยุโรปด้วย การจัดการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษา 5,000 กับนักศึกษา 50,000 นั้น ทำให้"โฉม"ของมหาวิทยาลัยเปลี่ยนไปอย่างยิ่ง ในทุกๆ ด้านด้วย

ดังนั้นหากมหาวิทยาลัยถามตนเองว่ามีไว้ทำไม คำตอบอาจเป็นได้หลายทาง และคงใช้เวลาอยู่พอสมควรกว่าจะรู้ว่ามหาวิทยาลัยที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการจัดการด้านอุดมศึกษาแก่"มวลชน"ที่กว้างขวาง ในราคาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้เสมอหน้ากัน และอย่างได้ผลและมีคุณภาพที่สุดนั้น จะทำให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยน"โฉม"ครั้งใหญ่ไปเป็นอย่างไร

(ซึ่งดีกว่าแต่เฝ้าถามตนเองว่า ทำอย่างไรจึงจะติดอันดับสูงขึ้น เพื่อทำเงินกับนักศึกษาต่างชาติได้มากๆ)

ในขณะเดียวกัน คำตอบของคำถาม "มีไว้ทำไม" อาจไม่ตรงกันในแต่ละสังคม เพราะแม้ว่าคลื่นลูกที่สามจะซัดสาดทุกสังคมเหมือนกัน หากทว่าแต่ละสังคมมีพื้นภูมิและเงื่อนไขแวดล้อมที่ต่างกัน จึงไม่อาจลอกเลียนคำตอบของสังคมอื่นมาใช้ได้อย่างสิ้นคิด

กองทัพไทยควรมีคำตอบต่อคำถาม "ทหารมีไว้ทำไม" แตกต่างจากจีนหรือสหรัฐ เพราะไทยเป็นประเทศเล็กและไม่มีบทบาทด้านการทหารระดับนานานาชาติอย่างเป็นอิสระของตนเอง ในขณะที่การรักษาความมั่นคงของประเทศจากภัยภายนอกด้วยวิธีทางทหารนั้น ประเทศเล็กๆ อย่างไทยทำไม่ได้ (และที่จริงย้อนกลับไปดูในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ก็ไม่เคยทำตลอดมา) "ทหารมีไว้ทำไม" จึงเป็นคำถามเริ่มต้นที่ขาดไม่ได้ หากตั้งใจจะปฏิรูปกองทัพจริง ไม่ถามคำถามนี้ ก็จะติดอยู่กับเรื่องปลีกย่อย เช่นเกณฑ์ทหารหรือรับสมัคร, เรือดำน้ำหรือเรือผิวน้ำ, รถหุ้มเกราะหรือรถกู้ภัย, ไฮบริดวอร์แฟร์หรือแคมรีไฮบริด, ฯลฯ

การรัฐประหารและความชะงักงันของประเทศอย่างต่อเนื่องกว่าทศวรรษที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า ไม่มีคำถามอะไรที่เหมาะเจาะแก่สังคมไทยในปัจจุบันยิ่งไปกว่า "... มีไว้ทำไม"

และอันที่จริงต้องมีคำตอบแก่คำถามนี้ –  อย่างน้อยก็คร่าวๆ – ก่อนจะแก้รัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ

ผมทราบดีว่า หากเราถามจริงและพยายามตอบจริงอย่างไม่หลบเลี่ยง คำตอบจะกระทบผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจในสถาบันและองค์กรต่างๆ อย่างมาก เพราะคำตอบซึ่งมีอยู่ในใจหรือสืบสันดานมาว่า อะไรมีไว้ทำไม ทำให้เราจัดรูปแบบและกลไกของสถาบันและองค์กรทางสังคม ชนิดที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งๆ เข้ามาเกาะกินสถาบันหรือองค์กรนั้นอย่างสืบเนื่อง ไม่แต่เพียงคนที่มีอำนาจในสถาบันและองค์กรเท่านั้น แต่รวมถึงคนอื่นๆ ซึ่งยังไม่มีอำนาจ แต่ได้ลงทุนเกาะกลุ่มหรือประพฤติปฏิบัติตามแนวทาง เพื่อจะไต่เต้าขึ้นไปสู่อำนาจและผลประโยชน์ที่มากขึ้นด้วย นับเป็นจำนวนคนก็อาจถึงหมื่นถึงแสนในแต่ละสถาบันและองค์กร

ผมจึงไม่แปลกใจที่คำถาม"มีไว้ทำไม" ย่อมสั่นคลอนสังคมทั้งสังคมอย่างถึงรากถึงโคน และเพราะเหตุนั้นนั่นแหละ ที่ทำให้เรายิ่งต้องตั้งคำถามนี้ในเวลานี้.

สำหรับศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเขียนบทความเรื่อง "ทหารมีไว้ทำไม" ตีพิมพ์ในหนังพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่13 มกราคม 2559 จนมีการพูดถึงอย่างกว้างขวางในสังคมไทย

ขอบคุณที่มาของบทความจาก https://prachatai.com


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"