รมว.ดีอีเอสเดินหน้าเต็มสูบใช้ 5 จีปีหน้า ชี้ไทยตกขบวนเสียหาย 2 ล้านล้านบาท กสทช.เคาะวันประมูล 16 ก.พ.63 ค่ายมือถือหวั่นปั่นราคา แนะวางแบงก์การันตี 100%
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวภายในงานเสวนา ROADMAP 5G ดันไทยนำ ASEAN ว่า กระทรวงดีอีเอสจะผลักดันให้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมประมูลความถี่ที่จะมีขึ้นในไตรมาส 1/2563 อย่างไรก็ตาม เหตุผล 5 จีไม่ใช่เรื่องมือถือเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การเกษตร สาธารณสุข เพื่อช่วยให้คนที่เข้าไม่ถึง ขณะเดียวกันจะผลักดันคลื่น 3.5 กิกะเฮิรตซ์ (GHz) ด้วย ว่าจะเอามาประมูลพร้อมกับคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) กับ 26Ghz
“สองสามเดือนที่ผ่านมาเข้าพบกับพี่ฐากร (ฐากร ตัณฑสิทธิ์) กับท่านสุกิจ (พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร) บ่อยมาก เพื่อหารือกันถึง 3.5 GHz จะหมดสัมปทานในเดือน ก.ย.2564 แต่เพื่อไม่ให้เกิดความไม่แน่นอน ดังนั้นอย่างน้อยควรมีการประมูลก่อน เพื่อให้มั่นใจว่า 5 จีเกิดขึ้นได้แน่นอน ต้องการให้มี 5 จีใช้ใน ก.ย.-ต.ค.63 เพราะไม่งั้นจะมีการย้ายฐานไปประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าไทยยังไม่เข้าสู่ 5 จี ภายในปีหน้า จะเกิดปัญหาใหญ่ในเรื่องของการดำเนินธุรกิจและการขับเคลื่อนประเทศ คาดว่าจะเกิดความเสียหายมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท ถึงเวลาแล้วที่ไทยจะต้องเดินหน้าเต็มที่เพื่อให้ไทยไม่ตกขบวน 5 จี" รมว.ดีอีเอสระบุ
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่เป็นอุปสรรค ทำให้ 5 จีไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย ประกอบด้วย 1.ราคาประมูลคลื่นความถี่สูงเกินไป 2.กฎกติกาไม่เอื้ออำนวยให้เอกชนลงทุน 3.การใช้งาน 3 จี 4 จี ยังไม่เต็มประสิทธิภาพของระบบ 4.การทำงานของหน่วยงานภาครัฐหรือรัฐบาล ยังไม่ทำงานในเชิงรุกที่จะทำให้เกิด 5 จี
ทั้งนี้ กสทช.ได้กำหนดแผนการจัดสรรคลื่นความถี่แบบมัลติแบนด์ รวมทั้งสิ้น 56 ใบอนุญาต ประกอบด้วย 1.คลื่นย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ขนาดใบอนุญาตใบละ 2x5 MHz จำนวน 3 ใบ ใบละ 8,792 ล้านบาท 2.คลื่นย่าน 1800 MHz 2x5 MHz จำนวน 7 ใบ ใบละ 12,486 ล้านบาท 3.คลื่นย่าน 2600 MHz ขนาด 10 MHz จำนวน 19 ใบ ใบละ 1,862 ล้านบาท และ 4.คลื่นย่าน 26 GHz ขนาด 100 MHz จำนวน 27 ใบ หรือเฉลี่ยใบละ 300 ล้านบาท ซึ่งราคาดังกล่าวเป็นผลศึกษาจาก 4 สถาบันคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และมหาวิทยาลัยชาลเมอร์ส ออฟ เทคโนโลยี ของสวีเดน
"เตรียมเสนอราคาดังกล่าวต่อที่ประชุมอนุกรรมการกลั่นกรองงานด้านโทรคมนาคม วันที่ 6 พ.ย. เสนอคณะกรรมการ กสทช. วันที่ 12 พ.ย. เพื่อนำร่างประกาศไปรับฟังความคิดเห็นระหว่างวันที่ 13 พ.ย.-12 ธ.ค. ซึ่งคณะกรรมการ 5 จี จะเป็นผู้กำหนดแผนและพื้นที่การลงทุน พร้อมกระตุ้นให้หน่วยงานต่างๆ เร่งเพื่อให้มีการใช้งาน โดยกำหนดวันประมูลวันอาทิตย์ 16 ก.พ.2563 และคาดว่าจะเปิดให้บริการภายในเดือน ก.ค.2563" เลขาธิการ กสทช.ระบุ
ทั้งนี้ จากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัย Surrey ประเทศอังกฤษ พบว่า ตั้งแต่ปี 2563-2573 จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจปีละ 5.68% ของผลิตภัณท์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แบ่งเป็น 1.45% จากการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และ 4.23% จากระบบการทำงานอัตโนมัติ
ขณะที่นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า กสทช.ยังใช้วิธีคิดแบบเดิม แค่ปล่อยราคาถูกกว่าเก่า ซึ่งไม่คิดว่ารายใหม่จะทำได้มีประสิทธิภาพ ดังนั้น กสทช.จะต้องมีการเขียนเงื่อนไขผู้ที่จะเข้ามาประมูลให้ชัดเจน และหากเป็นผู้เล่นรายใหม่จะต้องวางเงินค้ำประกันจากธนาคาร 100% เพื่อป้องกันการก่อกวนการประมูลปั่นราคาให้สูงขึ้น รวมทั้งขอให้นำเงินลงทุนมาหักออกจากเงินที่ประมูล
นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (มหาชน) หรือทรู กล่าวว่า การประมูลด้วยเงื่อนไขนี้จะถูกปั่นได้โดยง่าย คิดเหมือนกับเอไอเอส ดังนั้นรัฐบาลและหน่วยงานต้องดูแล ต้องดูแนวทางที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดการปั่นราคาจนสูงเกินจริงจนกระทบกับผู้ร่วมประมูล.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |