ลุ้นศาลปค.สั่งคดีแบน3สารพิษ


เพิ่มเพื่อน    

 ศาลปกครองยังไม่เคาะมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเรื่อง 3 สารพิษ เครือข่ายคนรักแม่กลองนำ 2 อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรให้ข้อมูล “อนันต์” ซัด กก.วัตถุอันตรายลงมติไร้ข้อมูล แต่ถูกรัฐมนตรีชี้นำ เกษตรกรบุกกระทรวงขีดเส้น 7 วันขอดูข้อมูลก่อนเคาะมติแบน

    เมื่อวันพุธที่ 30 ต.ค. องค์คณะผู้พิพากษาศาลปกครองกลางนัดไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ ส.26/2562 คดีที่ น.ส.อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง พร้อมด้วยเครือข่ายผู้แทนเกษตรกร 6 จังหวัด รวม 1,091 คน ยื่นฟ้องคณะกรรมการวัตถุอันตราย, คณะกรรมการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ให้ยกเลิกการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต, ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2562 เป็นต้นไป
         โดยการไต่สวนครั้งนี้เป็นไปตามคำขอของ น.ส.อัญชุลี ที่ขอให้ศาลกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวโดยระงับคำสั่งยกเลิกการใช้ 3 สารพิษในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ไปก่อน จนกว่าศาลมีคำพิพากษา ซึ่ง น.ส.อัญชุลีได้นำพยาน 10 ปากให้ข้อมูล โดยในช่วงเช้ามีนายอดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเข้าให้ข้อมูล โดยระบุว่า กระบวนแบนสารเคมีเกษตรไม่ชอบและไม่ครอบคลุมตามข้อกฎหมายที่ควร เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้สารเคมี  แต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายกลับลงมติด้วยความลุกลี้ลุกลน ไม่ได้ดำเนินการอย่างรอบคอบ ไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล
นายอนันต์ ดาโลดม อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ซึ่งมาเป็นพยานให้เครือข่ายฯ กล่าวก่อนให้ข้อมูลกับศาลในช่วงบ่ายว่า หวังอำนาจศาลเป็นที่พึ่งสุดท้าย จะให้ความเป็นธรรม เพราะที่ผ่านมาไม่มีตัวแทนเกษตรกรแท้จริงเข้าไปร่วมพิจารณา ทั้งในชั้นคณะกรรมการศึกษา คณะกรรมการวัตถุอันตราย ก่อนมีคำสั่งแบน 3 สารดังกล่าว ข้อมูลที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาเป็นข้อมูลเก่าทั้งสิ้น ไม่มีข้อมูลใหม่ และเห็นว่าการพิจารณามีการชี้นำของรัฐมนตรีในการลงมติ จึงเป็นมติที่ขาดความชอบธรรมและเสี่ยงต่อการถูกฟ้อง
"การประชุมใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงก่อนยกเลิก 3 สาร ไม่มีการศึกษาอย่างรอบด้าน สมัยผมเป็นอธิบดีกรมวิชาการเกษตร จะแบนสารเคมีต้องใช้เวลาถึง 2 ปี เพราะต้องศึกษาผลกระทบ สารทดแทนให้ครบถ้วน การพิจารณาก็โปร่งใสทุกขั้นตอน แต่ครั้งนี้กรรมการเหมือนถูกกดดันได้รับคำสั่ง” นายอนันต์กล่าว
หลังศาลปกครองใช้เวลาตลอดทั้งวันในการไต่สวน ในเวลา 16.30 น. น.ส.อัญชุลีกล่าวว่า วันนี้เป็นการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยชี้แจงทั้งวาจาและเอกสาร ซึ่งศาลยังไม่ได้ระบุว่าจะมีคำสั่งเมื่อใด และไม่ได้มีการนัดหมายอะไรเพิ่มเติม โดยพยานฝ่ายเครือข่ายฯ ผู้ร้องที่เข้าให้ถ้อยคำในวันนี้มี 4 คน ขณะที่ฝ่ายผู้ถูกร้องมีผู้แทนเลขาฯ คณะกรรมการวัตถุอันตราย ผู้แทนคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ผู้แทนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และผู้แทนฝ่ายกฎหมายกรมวิชาการเกษตร 
ทั้งนี้ การไต่สวนช่วงบ่าย ศาลได้อนุญาตให้เครือข่ายฯ นำพยานเข้าให้ข้อมูลเพิ่มอีกเพียง 2 ปาก จากที่เหลือจากช่วงเช้า 8ปาก คือ นางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยและเอเชียแปซิฟิก และนายวิชา ธิติประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ที่มาให้ข้อมูลในฐานผู้ทรงคุณวุฒิ
ด้าน น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า หลังจากแบน 3 สาร ได้สั่งการดูแลช่วยเหลือเกษตรกรทันที โดยให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เร่งสำรวจความต้องการจากสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศกว่า 700 แห่ง โดยจะรวบรวมความต้องการก่อนเสนอของบกลางเพื่อให้ทันฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ รวมทั้งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดแนวทางดูแลเกษตรกรแล้ว
     เมื่อถามถึงตัวแทนเกษตรกรกว่า 1,000 คนได้ยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อคัดค้านการแบน 3 สาร และให้ทบทวนมติยกเลิกใช้ 3 สาร น.ส.มนัญญากล่าวว่า ขณะนี้ขอให้รอฟังคำสั่งศาลปกครอง จะมีผลออกมาอย่างไร ไม่ขอก้าวล่วง รอให้มีคำวินิจฉัยออกมา แต่ตกใจที่ได้อ่านบทความของอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ที่เขียนโจมตีว่าเราทำให้เกษตรกรตกเป็นผู้ร้าย ทำแผ่นดินอาบสารพิษ ไม่ทราบว่าเขียนบนความเข้าใจสิ่งใด 
“ขอถามว่าทำไมต้องไปเดือดร้อนแทนเจ้าของ 3 สารเคมี และยังไม่เห็นเจ้าของบริษัทผู้นำเข้ารายใดจะออกมาพูดเรียกร้องอะไร มีแต่คนอื่นพูดแทนเดือดร้อนแทนบริษัทกันทั้งนั้น” น.ส.มนัญญา กล่าว
ส่วนนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ซึ่งมีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานทำหนังสือตอบข้อซักถามของกลุ่มเกษตรกรพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพด และไม้ผล 
ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรได้ยื่นข้อเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยเอกสารฉบับเต็มของกระทรวงเกษตรฯ ที่ลงนามโดย รมว. เกษตรฯ ใช้ประกอบวาระการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 จนนำไปสู่การลงมติยกเลิกการใช้สารเคมีตามคำแถลงของคณะกรรมการวัตถุอันตราย
นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า เกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิดต้องการให้กระทรวงเกษตรฯ แสดงความโปร่งใสในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว โดยเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการวัตถุอันตรายที่อยู่ที่เกษตรกรหลังวันที่ 1 ธ.ค.2562 มาตรการและรายละเอียดเกี่ยวกับสารทดแทนวิธีการทดแทน วิธีการทางเลือก ที่กระทรวงเกษตรฯ นำเสนอให้เกษตรกรไทยปฏิบัติตาม เมื่อมีการยกเลิกการใช้สารเคมี ตลอดจนรายละเอียด ค่าชดเชย หรือมาตรการการเยียวยาเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกการใช้สารเคมี แนวทางการรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศกระทรวงว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย ตลอดจนวิธีการและช่องทางที่เปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นของเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง เนื่องจากเกษตรกรหลายรายไม่สามารถเข้าถึงการรับฟังความเห็นโดยผ่านช่องทางเว็บไซต์
“กลุ่มเกษตรกรขอให้กระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวภายใน 7 วัน ตามสิทธิ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 59 ที่ว่า รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐที่มิใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือเป็นความลับของทางราชการตามที่กฎหมายบัญญัติ และต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารดังกล่าวโดยสะดวก เนื่องจากเกษตรกรจำนวนมากไม่เห็นด้วยต่อมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในการยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิด เพราะจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ผลผลิตตกต่ำ และรายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ” นายสุกรรณ์กล่าว.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"