ส่งทูตพาณิชย์ดีซี ต่อรองGSPสหรัฐ


เพิ่มเพื่อน    

 "บิ๊กตู่" ยันตัดจีเอสพีเป็นเรื่องธรรมดา เราโตแล้วอย่าทำตัวเป็นเด็กๆ ต้องเข้มแข็งด้วยตัวเอง "สมคิด" เตือนสหรัฐ ก้าวผ่านเรื่องสิทธิประโยชน์ไปแล้ว เป็นเรื่องของเพื่อนฝูง การให้น้ำใจกัน ด้าน "วิษณุ" ชี้ตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าวทำไม่ได้ ขณะที่ "จุรินทร์" เผยสำนักงานพาณิชย์ที่ ดี.ซี. เตรียมหารือยูเอสทีอาร์ 1 พ.ย.นี้ 

    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐอเมริกาจะระงับข้อตกลงตามมาตรการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) 573 รายการ โดยจะมีผลในวันที่ 25 เมษายน 2563 ว่า หน่วยงานภาครัฐและรัฐบาลมีงานอีกมากที่ต้องทำ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์รัฐบาลดิจิทัล และต้องรับมือกับความท้าทายในหลายมิติ อุปสรรคหลายอย่างจะแทรกเข้ามา อย่างจีเอสพีหรืออะไร ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องธรรมดา อะไรที่เขาให้และเขาก็เอาคืนมันก็ได้หมด เพราะเป็นสิทธิประโยชน์ 
    "อย่าลืมว่าเราก็โตขึ้นมากแล้ว บางครั้งถ้าเราทำตัวเป็นเด็กเล็กๆ ต่อไปก็ไม่ได้อีก เราต้องสร้างความเข้มแข็ง คนไทยต้องสร้างประเทศไทยเข้มแข็งด้วยตัวเราเอง ด้วยความร่วมมือระหว่างกันให้เร็วที่สุด ก็จะไม่ไปเจออุปสรรคความท้าทายอื่นๆ ขึ้นมาโดยไม่จำเป็น"
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า โลกเปลี่ยนแปลงทุกวัน ทั้งสงครามการค้า มาตรการกีดกัน พหุภาคี การค้าเสรีมีปัญหาหมด เพราะทุกประเทศเริ่มนึกถึงตัวเอง ทำให้กติกามีมากขึ้น จากการเรียกร้องของประชาชน ทุกประเทศเจอเหมือนกันหมด ประชาชนต้องการอย่างโน้นอย่างนี้ รัฐบาลก็ต้องทำขึ้นมา ซึ่งเกิดผลกระทบกับคนอื่นเขาด้วย นี่คือสิ่งที่ยึดโยงระหว่างกัน เราจึงต้องใช้มาตรการละมุนละม่อม การเจรจา พูดคุยต่อรอง สิ่งเหล่านี้เป็นการอยู่ร่วมกันในโลกใบนี้ 
    "การค้าการลงทุนวันนี้เขาใช้วิธีต่างตอบแทน ถ้าขายเรา เราก็ต้องซื้อเขา หรือเราจะขายเขาแล้วเขาก็ต้องซื้อเรา เพราะถ้าเราจะขายให้เขาโดยไม่ซื้อเขาก็ไม่ได้อีก นี้เป็นการวิธีปฏิบัติการค้าเสรีที่เป็นแบบนี้มานานแล้ว แต่วันนี้โลกรวมกลุ่มกันมากขึ้น มีหลายกลุ่มอำนาจ" นายกฯ กล่าว
    นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทันทีที่สหรัฐประกาศตัดจีเอสพี หลายฝ่ายก็ตกอกตกใจ แต่ถามว่าจีเอสพีคืออะไร มันคือการช่วยเหลือจากประเทศที่พัฒนาแล้วให้กับประเทศที่ด้อยพัฒนา แต่วันนี้ไทยก้าวมาไกลมากแล้ว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ควรภูมิใจด้วยซ้ำ เพราะแสดงว่าประเทศไทยมาได้ไกลแล้ว จึงอยากให้ทุกคนภูมิใจ
    อย่างไรก็ตาม นายสมคิดระบุว่า รายการสินค้าบางส่วนของไทยที่ถูกตัดสิทธิ์จีเอสพียังเป็นเรื่องของน้ำใจ เพื่อนฝูง ฉะนั้นต้องพูดคุยกัน อย่าให้บรรยากาศเสีย โดยยืนยันว่าไม่เอาหัวไปชนกำแพงแน่นอน
    "การตัดสิทธิ์จีเอสพี อยากให้สหรัฐคิดให้ดีๆ มันก้าวผ่านเรื่องสิทธิประโยชน์ไปแล้ว แต่เป็นเรื่องของเพื่อนฝูง เป็นเรื่องของการให้น้ำใจกัน สหรัฐก็เป็นเหมือนมหามิตรของเรา และเรื่องนี้เราคงไม่เอาหัวไปชนกำแพงแน่นอน" นายสมคิดกล่าว
    ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อเสนอที่ให้ตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าวนั้น โดยกฎหมายเวลานี้มันทำไม่ได้ รมว.แรงงานได้ออกมาพูดแล้วว่าทำไม่ได้ หลายประเทศไม่ได้เปิดโอกาสให้ทำ และเข้าใจว่าในสหรัฐก็ยังไม่ได้ทำ จึงยากหากจะต้องทำ แม้แก้กฎหมายก็ต้องใช้เวลานาน เกินกว่ากรอบเวลาที่สหรัฐให้ไว้ 6 เดือน ดังนั้นคงต้องใช้วิธีการเจรจา เพราะมีช่องทางที่จะเจรจากันหลายเรื่อง 
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ใช้คำว่าปิดประตูเรื่องตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าวไปเลยใช่หรือไม่ รองนายกฯ ตอบว่า ไม่อยากพูดเช่นนั้น เพราะเรื่องนี้กระทรวงแรงงานต้องเป็นผู้ไปพิจารณา เขายกเรื่องแรงงานเป็นเรื่องแรก แต่การเจรจาเราอาจยกเรื่องอื่นขึ้นมาเจรจาเพื่อแลกเปลี่ยนกันก็ได้  
    นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประสานงานร่วมกับทูตแรงงาน ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ไปหารือร่วมกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ สำหรับหมวดสินค้าที่สหรัฐตัดสิทธิ์จีเอสพีครั้งนี้ 573 รายการ จะทำให้นำสินค้าเข้าสหรัฐบางรายการเสียภาษีเพิ่มประมาณร้อยละ 4-5 และบางรายการเสียภาษีสูงถึงร้อยละ 20 ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์เชิญภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบมาประชุมหารือ เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบ
    สำหรับการแก้ไขปัญหาด้านการตลาดนั้น ภาพรวมจะเร่งรัดตลาดใหญ่ๆ ทั่วโลกสำคัญ 10 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย ตุรกี เยอรมนี ศรีลังกา บังกลาเทศ ตะวันออกกลาง แอฟริกาใต้ อังกฤษ ยุโรป โดยจะเจาะลึกการส่งออกรายตลาดมากขึ้น และได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์แต่ละประเทศศึกษารายละเอียดก่อนจะนำทัพภาคเอกชนเข้าไปขยายตลาด 
    ส่วนกรณีสหรัฐเรียกร้องให้ไทยมีการจัดตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าวในไทยนั้น นายจุรินทร์ระบุไม่เกี่ยวข้องกับการที่สหรัฐตัดจีเอสพี ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงแรงงานจะต้องไปพิจารณาถึงความเหมาะระหว่างการจัดตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าวกับการเสียภาษี อะไรจะส่งผลดีต่อประเทศมากกว่ากัน ส่วนกรณีที่สหรัฐจะให้ไทยนำเข้าหมูสารเร่งเนื้อแดงนั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข และไม่มีความเกี่ยวข้องกับการที่สหรัฐตัดสิทธิ์จีเอสพีไทย
    ด้านนายกีรติ รัชโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า การหารือกับยูเอสทีอาร์จะเป็นการสอบถามถึงสาเหตุที่ไทยถูกตัดสิทธิ์ และสิ่งที่ไทยและสหรัฐจะดำเนินการต่อไปหลังจากนี้ ซึ่งในทางปฏิบัติ การประกาศตัดสิทธิ์ไทยของยูเอสทีอาร์ถือว่าขั้นตอนการทบทวนการให้จีเอสพีรายประเทศ (Country Review) จบแล้ว ดังนั้นหากในการเจรจาครั้งนี้สหรัฐยอมคืนสิทธิให้ไทย ก็ไม่น่าจะคืนได้ทันภายในปีนี้ คงต้องเห็นผลในปีถัดไป
    แม้สหรัฐตัดสิทธิ์ไทย แต่ยังมีโอกาสเจรจาขอคืนสิทธิได้ เพราะในการประกาศสหรัฐใช้คำว่า แขวน (suspend) ซึ่งต่างจากอินเดียและตุรกีที่ใช้คำว่า ยุติการให้สิทธิ (terminate) และถอนออกจากการเป็นประเทศที่ได้รับสิทธิ แต่ภายหลังการเจรจาแล้วสหรัฐจะคืนสิทธิให้หรือไม่ อยู่ที่การพิจารณาของเขา แต่ที่ผ่านมา กรมเตือนผู้ส่งออกมาตลอดว่าวันหนึ่งสหรัฐอาจตัดจีเอสพีไทย ดังนั้นต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้แข่งขันได้มากขึ้น จะมารอแต่จีเอสพีตลอดไปไม่ได้ ซึ่งผู้ส่งออกได้ปรับตัวมาอย่างต่อเนื่องแล้ว”
    อย่างไรก็ตาม จากสถิติการใช้สิทธิจีเอสพีส่งออกสินค้าไปสหรัฐ ผู้ส่งออกไทยใช้สิทธิประมาณ 70% ของมูลการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ ส่วนอีก 30% ไม่ใช้สิทธิ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสินค้าไทยมีศักยภาพการแข่งขันที่ดีในตลาดสหรัฐ ไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิจีเอสพี และผู้นำเข้ายอมเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติแทน.


    
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"