นับหนึ่งรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน


เพิ่มเพื่อน    

 

     ลั่นระฆังนับหนึ่งลุยเดินหน้าโครงการเต็มสูบสำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท เมกะโปรเจ็กต์แรกของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ได้ฤกษ์เซ็นสัญญาระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อม 3 สนามบิน จำกัด ที่กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) จัดตั้งขึ้นใหม่

                ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 หลังล่าช้าเกือบ 1 ปีเต็ม แต่หลังเซ็นสัญญากลุ่ม CPH ก็ได้ยืนยันว่าจะเร่งสปีดออกแบบก่อสร้าง ควบคู่กับกางโรดแมปพัฒนาที่ดินทำเลทองบริเวณสถานีมักกะสันและศรีราชา ซึ่งสามารถสร้างรายได้ในเชิงพาณิชย์ ทำให้การลงทุนโครงการไฮสปีดอีอีซีมีความคุ้มค่าในการลงทุน

                โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ว่าดีใจกับความก้าวหน้าโครงการ หลังรัฐบาลผลักดันมาโดยตลอด 2 ปี ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว แต่ยังไม่จบ เซ็นสัญญาไม่ได้ มาถึงรัฐบาลนี้จึงสานต่อโครงการต่อเนื่องจนเซ็นสัญญาได้ จุดมุ่งหมายต้องมองอนาคตข้างหน้า ซึ่งอาจจะไม่เร็วนัก เพราะการก่อสร้างต้องใช้เวลา สิ่งสำคัญคือจะเกิดผลต่อเศรษฐกิจ การจ้างงาน การขยายเมืองใหม่ การเพิ่มพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ เพราะทุกสถานีที่รถไฟความเร็วสูงจอดให้บริการจะมีโอกาสเติบโต โดยการทำระบบคมนาคมเชื่อมกับระบบ เช่น ถนน ระบบราง เป็นต้น

                ซึ่งการลงทุนของโครงการนี้เป็นการร่วมลงทุน PPP ระหว่างรัฐและเอกชนกว่า 2 แสนล้านบาท การลงนามในสัญญาครั้งนี้ถือว่าเป็นการนับหนึ่งเพื่อเริ่มก่อสร้าง มีหลายฝ่ายร่วมมือกัน ซึ่งประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะเชื่อมโยง 3 สนามบิน แต่จะเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง จะเชื่อมโยงไปยังประเทศอื่นด้วย เป็นการวางรากฐานของประเทศไปสู่อนาคต และเป็นโครงการร่วมลงทุน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย จีน ญี่ปุ่น

                ส่วนรายละเอียดหลังลงนามสัญญาแล้วจะเริ่มงานไม่เกิน 2 ปี ทั้งส่วนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและพื้นที่มักกะสันและศรีราชา จากนั้นซีพีจึงจะจ่ายเงินส่วนต่างๆ ให้รัฐ เช่น ค่าเช่าที่ดิน ส่วนค่าใช้สิทธิ์เดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ 10,671 ล้านบาท อยู่ที่เอกชน แต่ทยอยจ่ายได้ใน 2 ปี เนื่องจากซีพีจะต้องทำแผนเรื่องปรับปรุง จัดซื้อรถใหม่เพิ่มเติม และหลังจากนี้มีอะไรต้องทำร่วมกันอีกมาก เพราะต้องลงรายละเอียดในเนื้องานของโครงการจริงๆ เช่น ออก พ.ร.ฎ.เวนคืน ย้ายผู้บุกรุก เร่งรัดส่งมอบพื้นที่ใน 2 ปี ในเร็วๆ นี้ พ.ร.ฎ.จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป

                เมื่อพูดถึงการบริหารสัญญา โดยช่วงเวลา 5 ปีแรกเป็นการก่อสร้าง ซึ่งปัญหาใหญ่ที่ทำให้การเจรจายืดเยื้อ เป็นเรื่องการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างที่ไม่ชัดเจน ตลอดโครงการจะใช้พื้นที่กว่า 4,300 ไร่ เป็นพื้นที่รถไฟ จำนวน 3,571 ไร่ พื้นที่เวนคืน 850 ไร่ (มีจำนวน 42 แปลง) และมีสิ่งปลูกสร้าง 245 หลัง ใช้วงเงิน 3,570 ล้านบาท

                อยู่ระหว่างออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) การกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

                ส่วนพื้นที่ของ รฟท. จำนวน 3,571 ไร่ พร้อมส่งมอบในช่วงแรก จำนวน 3,151 ไร่ (80%) ส่วนที่เหลือแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.พื้นที่ถูกบุกรุก จำนวน 210 ไร่ จะเคลียร์ภายใน 2  ปี 2.พื้นที่ติดสัญญาเช่า จำนวน 210 ไร่ จำนวน 83 สัญญา ดำเนินการภายใน 1 ปี ส่วนที่ดินมักกะสันทั้งหมดจำนวน 142.26 ไร่ ส่งมอบช่วงแรก 132.95 ไร่ ส่วนที่เหลือประมาณ 9.31 ไร่ เนื่องจากเป็นพื้นที่พวงราง ซึ่งทางซีพีต้องดำเนินการย้ายพวงรางออกไปก่อน จึงจะเข้าใช้ประโยชน์ได้ ส่วนสถานีศรีราช จำนวน 27.45 ไร่ โดยซีพีจะต้องก่อสร้างแฟลตบ้านพักรถไฟทดแทนให้ก่อนจึงจะเข้าพื้นที่ได้ ฟากซีพีต้องการแผนที่ชัดเจนว่าจะส่งมอบพื้นที่แต่ละจุดได้วันเวลาใด เพื่อความมั่นใจในการลงทุน.

กัลยา ยืนยง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"