‘ชวน’อบรมวุฒิภาวะ‘เสรีพิศุทธ์’


เพิ่มเพื่อน    

 "ชวน" อบรม "กมธ." ต้องมีวุฒิภาวะ รู้อำนาจหน้าที่ตัวเอง อย่าเชิญใครเปะปะ พร้อมทั้งให้เกียรติ ไม่ใช่ข่มขู่คุกคาม แนะ "บิ๊กตู่" ควรมาชี้แจงในสภา "สลน." ส่งหนังสือย้อนถาม "เสรีพิศุทธ์" ใช้อำนาจใดเรียกนายกฯ แจง "เทพไท" หนุนภาคสังคมเคลื่อนไหวแก้ รธน. ติงนักการเมืองทำสังคมหวาดระแวง "ศักดิ์สยาม" งงฝ่ายค้านตั้งเป้าซักฟอก "กมธ.งบฯ 63" ขอ ปธ.สภาฯ ชี้สถานะ "ธนาธร" 

    ที่รัฐสภา วันที่ 29 ต.ค. นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นประธาน จะเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เข้าชี้แจงกรณีเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ทั้งที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญว่า สนับสนุนให้ใครที่ได้รับเชิญ แม้กระทั่งรัฐบาล ให้ความร่วมมือในการทำงานของ กมธ. แต่ผู้ที่เชิญก็ต้องมีวุฒิภาวะ ในการเชิญเขามา ต้องให้เกียรติผู้รับเชิญ เพราะเขาไม่ได้เป็นลูกน้อง ไม่ใช่เชิญมาข่มขู่คุกคาม ต้องเชิญมาตามเงื่อนไขของกฎหมาย คือให้ข้อเท็จจริงและความเห็น เพราะระบบเป็นอย่างนี้ก็ต้องเคารพ
    นายชวนกล่าวว่า การเชิญบุคคลมาชี้แจงต้องอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรรมาธิการแต่ละชุด ไม่ใช่เชิญเปะปะ ต้องอยู่ในอำนาจหน้าที่ตัวเอง ส่วนเชิญใครนั้นก็เป็นสิทธิ์ของผู้เชิญ ส่วนผู้รับเชิญสำหรับตนแนะนำว่าควรให้ความร่วมมือมาชี้แจง ซึ่งนายกฯ และผบ.ทบ.ก็อยู่ในข่ายที่สามารถเชิญมาชี้แจงได้ เพราะเคยกราบเรียนนายกฯ ว่าเวลามีอะไรในสภาก็ให้ท่านมาสภา เพราะเราอยู่ในระบบนี้ก็ต้องเคารพระบบ 
    "แต่ถ้าหน้าที่ไม่เกี่ยวกับกรรมาธิการชุดนั้นๆ ก็ไปเชิญเขามาชี้แจงไม่ได้ เพราะแต่ละชุดกำหนดบทบาทเอาไว้ในกฎหมายชัดเจน ซึ่งเท่าที่ดูการเชิญบุคคลมาชี้แจงของกรรมาธิการแต่ละคณะก็ยังไม่มีปัญหา” นายชวนกล่าว
    ถามถึงภาคประชาสังคมจะมายื่นเรื่องให้แก้รัฐธรรมนูญ ประธานสภาฯ กล่าวว่า ขณะนี้มี 2-3 คณะ ไม่ใช่เฉพาะคณะของนายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งยังไม่ได้นัดวันที่จะมาพบตน เพียงแต่เป็นข่าวเท่านั้น 
    "กรณีกลุ่มอื่นนัดไว้สัปดาห์ก่อน แต่ฝ่ายผู้นัดไม่ว่าง ซึ่งเราก็ยินดี เพราะถือว่าเป็นประโยชน์ แต่ละคนจะได้มารับรู้รับทราบ และหากมีอะไรที่เป็นประโยชน์ก็ยินดีให้ความร่วมมือและรับฟัง คิดว่าเมื่อทุกคณะมาพบ ก็คงมาเล่าความคิดเห็นให้ฟัง แต่ละฝ่ายคงมีความคิดเห็นที่สอดคล้องกันได้ในบางเรื่อง เช่น ความคิดเรื่องประชาธิปไตยก็คงไม่ต่างกันมากนัก" ประธานสภาฯ กล่าว
    ซักว่าจะทำอย่างไรให้ทุกอย่างมาอยู่ในระบบของสภา เพราะภาคประชาชนไปเคลื่อนไหวข้างนอก นายชวนกล่าวว่า รณรงค์ข้างนอกเพื่อให้ความรู้กับประชาชนนั้นไม่เป็นไร แต่ต้องให้ความจริงและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ส่วนข้อเสนอที่ให้ทำคล้ายกับกระบวนการของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) นั้น คิดว่าต้องคุยกัน แม้กระทั่ง ส.ว. ซึ่งการปรับปรุงรัฐธรรมนูญอาจจะกระทบเขา ก็ต้องเชิญมาคุยว่าหากจะแก้ไขปรับปรุงจะกระทบเขาจริงหรือไม่ หรือควรจะมีเงื่อนเวลาอย่างไร ดังนั้นทุกฝ่ายควรจะพูดคุยกัน ซึ่งก็คงไม่ง่ายนัก แต่ดีกว่าไม่คุยกัน แม้กระทั่งรัฐบาลตนก็เห็นว่าควรจะคุย เพราะทุกฝ่ายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศนี้เหมือนกัน
    ถามว่าโดยส่วนตัวจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมาพูดถึงมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่าย นายชวนกล่าวว่า แล้วแต่คณะ กมธ.จะหารือกัน ส่วนความเป็นไปได้ที่จะให้ภาคประชาชน เช่น นายโคทม เข้ามาเป็นกรรมาธิการด้วยนั้น แล้วแต่เขาจะตั้งเพราะ กมธ.ชุดนี้สามารถตั้งคนนอกได้
ถามใช้อำนาจใดเรียกบิ๊กตู่
    ขณะที่สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) โดยนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีหนังสือที่ นร 0404/10738 ด่วนที่สุด ถึงประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร อ้างถึงหนังสือคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ด่วนที่สุด ที่ สผ 0019.05/547 ลงวันที่ 25 ต.ค.
    หนังสือ สลน.ระบุว่า ตามหนังสือที่อ้างถึงคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร แจ้งว่าอาศัยอำนาจตามมาตรา 129 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 คณะกรรมาธิการได้มีหนังสือให้กราบเรียนเชิญนายกฯ และ ครม. มาร่วมประชุมเพื่อแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นกรณีการเสนอร่าง พ ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ทั้งๆ ที่นายกฯ และ ครม.ยังไม่สามารถเข้ารับหน้าที่ได้ เนื่องจากถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ยังไม่ถูกต้องครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ความละเอียดทราบแล้วนั้น
    สลน.ได้นำกราบเรียนนายกฯ แล้ว เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตลอดจนข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ซึ่งข้อ 90(22) กำหนดให้มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการและมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ 
    จึงมีประเด็นขอความชัดเจนในเบื้องต้นก่อนดังนี้ 1.การเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เกี่ยวข้องกับการทุจริตประพฤติมิชอบอันอยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร อย่างไร 2.ประเด็นที่อ้างว่า ครม.ยังไม่สามารถเข้ารับหน้าที่ได้ เนื่องจากเห็นว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่ถูกต้องครบถ้วน ข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 ก.ย.62 ไม่รับคำร้องของนายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ ซึ่งเสนอโดยผู้ตรวจการแผ่นดินไว้พิจารณาวินิจฉัย ทั้งนี้ โดยมีเหตุผลสรุปได้ว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมืองของ ครม.ในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ และการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด
    นอกจากนี้ ยังมีข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในวันที่ 17 ต.ค.62 ก่อนการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ครม.ได้เสนอ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 และสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาอนุมัติ พ.ร.ก.ดังกล่าว โดยมีมติด้วยเสียงข้างมาก อีกทั้งก่อนหน้านี้ ในวันที่ 8 ส.ค.62 ครม.ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 พ.ศ..... และร่าง พ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. .... ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาด้วยกรรมาธิการเต็มสภาและเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวไม่มีการทักท้วงและทำหน้าที่ของ ครม.แต่อย่างใด
    "กรณีจึงเป็นประเด็นที่ใคร่ขอความชัดเจนจากคณะกรรมาธิการ เพื่อจักดำเนินการให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป จึงเรียนมาเพื่อโปรดแจ้งให้ทราบด้วย จักขอบคุณยิ่ง ขอแสดงความนับถือ" ท้ายหนังสือ สลน.ระบุ
ยื่น'ชวน'ชี้สถานะธนาธร
    จากนั้นนายดิสทัตให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า ได้ส่งหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา ไปยัง กมธ.ป.ป.ช. ดังนั้นตนจะพูดก่อนคงไม่ดี เพราะเขาอาจจะยังไม่เห็นหนังสือ 
    ถามว่าส่วนตัวมองว่านายกฯ ต้องไปชี้แจงด้วยตัวเองหรือไม่ นายดิสทัตกล่าวว่า ขอดูคำชี้แจงก่อน ตนคงตอบอะไรไม่ได้ ขอให้มีความชัดเจนของ กมธ.ก่อน ส่วนพรรคฝ่ายค้านมีการหยิบยก พ.ร.บ.คำสั่งเรียก พ.ศ.2554 ขึ้นมานั้น ตนไม่ทราบ แล้วแต่ทางโน้น เพราะเขาเป็นคนหยิบยกขึ้นมา
    ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนที่ยึดแนวทางวิชาการนำการเมือง โดยให้กลุ่มนักวิชาการเป็นหัวหอกในการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุด เพราะกลุ่มนักวิชาการเป็นกลุ่มที่ไม่มีผลประโยชน์ทางการเมืองแอบแฝง สังคมจะได้ไม่หวาดระแวงว่ามีวาระซ่อนเร้นเพื่อกลุ่มของตัวเอง ซึ่งผิดกับการเคลื่อนไหวของนักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่จะตกเป็นเป้าโจมตีของฝ่ายไม่เห็นด้วยว่าทำเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองหรือพรรคการเมืองเท่านั้น ทำให้ขาดการยอมรับและเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยทั่วไปที่มองภาพนักการเมืองในทางลบ 
    นายเทพไทกล่าวว่า อยากให้นักการเมืองเคลื่อนไหวเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเวทีรัฐสภาจะเป็นการเหมาะสมที่สุด โดยการขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำลังจะตั้งขึ้นในสมัยประชุมสมัยที่จะถึงนี้ เพราะมีสัดส่วน ส.ส.จากทุกพรรคการเมืองเข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ด้วย 
    "เพื่อขจัดความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในสังคม แต่ละฝ่ายควรจะแบ่งบทบาทการเคลื่อนไหวให้สอดคล้องกับอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนจะดีกว่า เพื่อเป้าหมายที่สูงสุดคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง" ส.ส.ปชป.รายนี้ระบุ
    วันเดียวกัน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านเตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลช่วงกลางเดือน ธ.ค.ว่า ส่วนตัวยังไม่ทราบเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่วันที่ 1 พ.ย. นี้ รัฐสภาจะเปิดประชุมสมัยสามัญ โดยปกติเมื่อสภาเปิดแล้วก็จะมีการอภิปรายไม่ได้วางใจ หรือการยื่นญัตติอื่นๆ ซึ่งการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจอาจจะเกิดขึ้นได้ระหว่างเดือน ธ.ค.62-ม.ค.63 ซึ่งเป็นการโหมโรงของฝ่ายค้าน ทุกสมัยที่ผ่านมาเป็นลักษณะนี้
    ส่วนนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจตนเองว่า ขอดูรายละเอียดก่อน ต้องดูให้ชัดเจนก่อนว่าหัวข้อที่ฝ่ายค้านจะใช้อภิปรายคืออะไร แต่ไม่รู้สึกกังวล เพราะเท่าที่ทำงานมาก็ยังไม่มีประเด็นอะไรที่จะต้องถูกอภิปราย 
    ที่รัฐสภา นายชัยชนะ เดชเดโช โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 กล่าวถึงกรณีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ เรียกร้องให้ตรวจสอบสถานะนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา กมธ.งบปี 63 ว่า ประธาน กมธ.ได้ทำหนังสือไปถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จึงไม่มีการหยิบยกเรื่องนี้มาพิจารณากันในชั้น กมธ. เพราะงานหลักคือการพิจารณางบประมาณปี 2563
    นายชัยชนะกล่าวว่า ในส่วนการประชุมพิจารณางบประมาณรายกระทรวงนั้น กระทรวงพาณิชย์เป็นกระทรวงแรกที่เข้าสู่การพิจารณา โดยตั้งงบประมาณไว้ 7,553 ล้านบาท ซึ่งเมื่อวันที่ 28 ต.ค. ได้พิจารณางบประมาณของสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ 1,802 ล้านบาท และสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า 213 ล้านบาท โดยคณะ กมธ.ตั้งข้อสังเกตงบประมาณเพื่อซื้อที่ดินพร้อมอาคารที่ทำการคณะผู้แทนการค้าไทยถาวรประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญา ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จำนวน 197.6 ล้านบาท ว่าคุ้มค่าหรือไม่ เนื่องจากงบประมาณปี 2563 เป็นงบประมาณขาดดุลและกู้เงินจากต่างประเทศมาทำงบประมาณเกือบ 5 แสนล้านบาท จึงต้องพิจารณาว่าจะเอางบประมาณซึ่งมาจากการกู้ไปซื้อ จะคุ้มกับค่าดอกเบี้ยที่ต้องเสียหรือไม่ เมื่อเทียบกับค่าเช่าที่เช่าอยู่ ทั้งนี้ สำนักงานปัจจุบันเช่ามาเป็นเวลา 24 ปีแล้ว 
    "เบื้องต้นยังไม่มีการตั้งเป้าปรับลดงบประมาณ เพราะต้องพิจารณารายละเอียดในชั้นอนุกรรมาธิการ เพียงแต่มีการตั้งข้อสังเกตถึงภาพรวม" โฆษก กมธ.งบประมาณกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"