"อนุทิน” ย้ำแบน 3 สารพิษ 1 ธันวา. ส่วนเกษตรกรไม่เห็นด้วยเป็นสิทธิยื่นศาลปกครองได้ เผยนายกฯ สั่งกระทรวงเกษตรฯ-อุตฯ ตั้งทีมเก็บข้อมูลผลกระทบ ขณะที่ประธานผู้ตรวจฯ เคลมกรรมการวัตถุอันตราย ยึดตามข้อเสนอห่วงสุขภาพเป็นหลัก แนะรัฐบาลหนุนเครื่องจักรให้เกษตรกรยืมใช้กันลดต้นทุน "มนัญญา" ดันอุทัยธานีเมืองต้นแบบเกษตรอินทรีย์
เมื่อวันที่ 29 ต.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เรื่องการแบน 3 สารพิษนั้น เราทำด้วยความเป็นห่วงสุขภาพประชาชนและอนาคตของชาติ เพื่อไม่ให้มีสารปนเปื้อน เพราะจากการพิสูจน์ 3 สารพิษไม่ได้มีประโยชน์ใดๆ และไม่มีอะไรที่เราต้องไปกลัว รวมถึงอย่าเอาเรื่องจีเอสพีไปผูกโยงกับเรื่องสารพิษ เพราะเป็นคนละเรื่อง สำหรับการแบนสารพิษนั้น คิดว่านายกฯ คงทราบแล้ว และตนได้รายงานผ่านทางไลน์ของ ครม.ไปก่อนหน้านี้แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีกลุ่มเกษตรกรไปยื่นศาลปกครองให้ระงับการแบน 3 สารพิษ นายอนุทินกล่าวว่า ทุกคนมีสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ โดยนำข้อเท็จจริงมาแสดง และยืนยันว่าการแบน 3 สารพิษจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. เนื่องจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีมติไปแล้ว ไม่สามารถยืดหรือผ่อนปรนได้ ไม่เช่นนั้นทุกอย่างจะผิดพลาดไปหมด อีกทั้งคณะกรรมการฯ ดังกล่าวอยู่ภายใต้กฎหมาย ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเป็นการเฉพาะกิจ ซึ่งมีขั้นตอนในการดำเนินการทุกอย่าง
เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะขยายออกกรอบเวลาการแบนสารพิษจากที่กำหนดไว้ในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ไปอีก 6 เดือน นายอนุทิน กล่าวว่า ทุกอย่างมันชัดเจนอยู่แล้ว นอกจากว่าจะมีการเขียนในบันทึกการประชุม แต่คิดว่าน่าจะมีคณะกรรมการฯ โต้แย้งอีก ซึ่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุชัดเจนว่าคณะกรรมการฯ มีมติเป็นเสียงข้างมาก ในการแบนสารพิษ พร้อมทั้งระบุว่าสารพิษดังกล่าวไม่ได้อยู่เฉพาะแค่บนดินเท่านั้น แต่ยังแทรกซึมเข้าไปยังผลผลิตของสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผลไม้ ตรงนี้คือเหตุผลที่ทำให้คณะกรรมการฯ ลงมติคัดค้านการใช้สารพิษ
วันเดียวกัน ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบน 3 สารเคมีทางการเกษตร ว่าเป็นเรื่องที่ดีที่คณะกรรมการชุดดังกล่าวมีมติยกเลิกการใช้สารดังกล่าวในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ ซึ่งเร็วกว่าที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอแนะ ส่วนการที่ยังมีเกษตรกรจำนวนหนึ่งยื่นเรื่องให้ศาลปกครองวินิจฉัย ถือเป็นสิทธิที่สามารถยื่นฟ้องได้ ซึ่งในส่วนของผู้ตรวจฯ ได้ยึดในเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ โดยสามารถไปดูผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงได้กับเกษตรกรที่ จ.หนองบัวลำภู และ จ.น่าน ที่มีเกษตรกรได้รับผลกระทบจากสารเคมีดังกล่าว
"เรื่องนี้ถือเป็นการทำตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจฯ ที่ยึดผลกระทบด้านสุขภาพเป็นหลัก ซึ่งอยากให้เกษตรกรหรือผู้ที่ยังคัดค้านคิดว่าถ้ามีคนหนึ่งคนใดในครอบครัวของเกษตรกรล้มป่วยลง เป็นมะเร็ง เกษตรกรครอบครัวนั้นก็จะประสบในเรื่องของค่าใช้จ่าย แรงงานในครอบครัวก็ต้องกลัวมาดูแล และครอบครัวนั้นก็จะประสบในเรื่องของความทุกข์ยาก ดังนั้นจึงอยากให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงเรื่องสิทธิและความทุกข์ยาก" พล.อ.วิทวัสกล่าว
พล.อ.วิทวัสยังกล่าวอีกว่า เชื่อว่าประเทศสหรัฐอเมริกาไม่คิดจะตอบโต้ทางการค้าหลังไทยแบน 3 สารเคมีอันตราย แต่เท่าที่ติดตาม ก็เห็นว่าทางการสหรัฐกังวลเรื่องสารไกลโฟเซต ซึ่งสหรัฐใช้อยู่ เมื่อสหรัฐส่งสินค้าโดยเฉพาะองุ่นมาประเทศไทยหรือไม่ประเทศอื่นๆ หากมีสารดังกล่าวที่ตกค้างในองุ่นก็จะเกิดปัญหา ประเทศอื่นๆ ก็จะไม่นำเข้าได้ ซึ่งไทยและสหรัฐเป็นมิตรที่ดีต่อกัน ก็เชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถพูดคุยกันได้ ส่วนเรื่องจีเอสพีเชื่อว่าเป็นเรื่องของแรงงานมากกว่า อย่างไรก็ตาม ทางผู้ตรวจฯ ก็จะติดตามเรื่องของการใช้สารทดแทนและวิธีการอื่นๆและการหาวัตถุทดแทนอื่น ที่จะทำอย่างไรให้เกษตรกรลดต้นทุน รวมถึงทำอย่างไรให้เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้
พล.อ.วิทวัสยังเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการรองรับหลังยกเลิก 3 สาร ด้วยการหาสารชีวพันธุ์ทดแทน หรือวิธีการอื่น ไม่ใช่มาพึ่งอยู่แต่ 3 สารเพียงอย่างเดียวในการกำจัดหญ้าและวัชพืช ส่วนกรมวิชาการเกษตรต้องไปสร้างตัวอย่าง ไปให้คำแนะนำว่ามีเครื่องมือเครื่องจักรกลทางการเกษตรอะไรที่รัฐจะสามารถสนับสนุนได้ โดยเฉพาะเครื่องมือขนาดใหญ่ที่รัฐควรจัดสรรให้เกษตรกร และให้รัฐบาลสนับสนุนเครื่องจักรให้เกษตรกรยืมใช้กันในชุมชนหรือตำบล เพื่อลดต้นทุนทางการเกษตร
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการสั่งยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ชนิดในภาคเกษตรว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีคณะทำงานดูแลเรื่องที่เกี่ยวข้องอยู่นั้น ไปดูข้อมูลผลที่จะเกิดจากการยกเลิกการใช้สารเคมีดังกล่าวให้ครบถ้วน เพราะตอนนี้เรื่องดังกล่าวยังไม่จบ หรือเป็นขั้นสุดท้าย โดยให้ทั้ง 2 กระทรวงนี้ไปดูให้รอบด้าน อาทิ ผลต่อประชาชนและเกษตรกรอย่างไร การศึกษาว่าสารเคมีเหล่านี้เป็นอันตรายจริงหรือไม่ มีสิ่งใดที่มาใช้ทดแทนได้หรือไม่ ซึ่งเท่าที่ทราบในเบื้องต้นยังไม่พบว่ามีสิ่งอื่นมาทดแทนได้
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้มีนโยบาย บูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ ในการขยายช่องทางตลาดสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและปลอดสารเคมีอันตราย กระจายไปสู่ผู้บริโภค โดยจะส่งจำหน่ายให้ทางโรงเรียน โรงพยาบาล หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป ให้มีโอกาสได้เลือกซื้อและบริโภคผักผลไม้ปลอดภัยได้อย่างมั่นใจ และเชื่อมั่นในแหล่งผลิตและที่มาของสินค้าดังกล่าว เบื้องต้นจะใช้จังหวัดอุทัยธานีเป็นพื้นที่นำร่อง ในการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย และหากจังหวัดไหนต้องการ ก็พร้อมที่จะไปสนับสนุนต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |