สหรัฐ2มาตรฐาน พณ.งงใช้แรงงานบีบทั้งที่ตัวเองก็ทำไม่ได้/จ่อถกเวทีอาเซียน


เพิ่มเพื่อน    

 “ประยุทธ์” เผยสหรัฐอเมริกาตัดจีเอสพีตามหลักเกณฑ์และกฎหมาย ยังมีเวลาอีก 6 เดือนเจรจา อย่าโยงให้เป็นปัญหาการเมือง เล็งใช้อาเซียนซัมมิตกล่อม “เสี่ยหนู” ย้ำดึงสารพิษเอี่ยว เชื่อชาวมะกันจะได้รับผลกระทบเอง “หญิงหน่อย” บี้รัฐบาลเร่งถกอย่างมีศักดิ์ศรีอย่าเป็นลูกไล่ พ่วงแขวะให้อเมริกามองเป็นธรรมอย่าลงดาบเพราะความผิดพลาดของลุงตู่ “พาณิชย์” แจงยิบเชื่อผู้ประกอบการปรับตัวได้เพราะรู้มาระยะหนึ่งแล้ว มึนใช้เรื่องแรงงานต่างด้าวบีบทั้งที่ประเทศตัวเองก็ทำไม่ได้ “กรมส่งเสริมการค้าฯ” วาง 7 มาตรการรองรับเบื้องต้น

เมื่อวันจันทร์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่ายังคงมีความต่อเนื่องกรณีประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สินค้าไทย 573 รายการชั่วคราวในอีก 6 เดือนข้างหน้า โดย  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องดังกล่าวว่า เป็นเรื่องของสหรัฐฯ กฎหมายใครก็กฎหมายเขา ของเราก็มีของเรา จึงไม่อยากให้ไปคาดเดาว่าตัดตรงนี้เพราะอะไรอย่างไร โดยรัฐบาลทราบมาอยู่แล้วว่าจะมีปัญหาตรงนี้ ที่ผ่านมาก็แก้ปัญหามาโดยตลอด กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ก็ได้เจรจาต่อรองเยอะแยะ 
“ข้อสำคัญเราเจรจาอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องแก้ไขปัญหาภายในของเราด้วย โดยเฉพาะเรื่องของปัญหาแรงงาน เราก็ต้องไปดูว่าเราทำได้มากน้อยแค่ไหน บางอย่างมันมีปัจจัยหลายอย่างด้วยกันที่เกี่ยวข้องกับในประเทศของเรา ทั้งคนของเรา แรงงานของเรา แรงงานต่างด้าวในประเทศของเรา ซึ่งเราพยายามเดินหน้าเรื่องนี้ให้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นวันนี้ผมคิดว่าจะคาดเดาไม่ได้ เหมือนเขาก็คาดเดาเราไม่ได้เหมือนกัน ว่าเราจะทำอะไรต่อไป จึงขึ้นอยู่กับกติกามันอยู่ตรงไหน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า กติกาของเรา เราก็ทราบอยู่แล้วในหลายเรื่องด้วยกัน วันนี้อยากบอกว่าคงไม่ใช่เรื่องที่เราต้องตื่นตระหนก หรือว่ากล่าวให้ร้ายกันไปมา มันไม่เกิดประโยชน์ และเท่าที่ พณ.ชี้แจงมาคิดว่าครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว จะเห็นว่ารัฐบาลได้ทำมาโดยตลอด เพียงแต่เวลาที่ดำเนินการมาได้ทำหลายอย่างด้วยกัน โดยเฉพาะกฎหมายแรงงานคือปัญหาหลักของเรา และเป็นกฎหมายของเรา ในประเทศของเรา ถ้าเราทำตามเขามากๆ เราจะมีปัญหาอะไรหรือเปล่ากับเราเอง เพราะฉะนั้นเราต้องลดทั้งปัญหาภายในและภายนอกไปด้วยกัน
    นายกฯ ยืนยันว่า เท่าที่ได้ฟังตัวเลขต่างๆ เป็นจำนวนไม่มากนัก ทั้งหมดกว่า 500 รายการ เราใช้ไปประมาณกว่า 300 รายการ อีกกว่า 100 รายการเราก็ไม่ได้ใช้ของเขา สิ่งสำคัญที่สุดวันนี้เราต้องตื่นตัว ซึ่งรัฐบาลตื่นอยู่แล้ว ภาคเอกชนก็ต้องตื่นตัวไปด้วยในการพัฒนาเรื่องเหล่านี้ รวมถึงการดูแลแรงงานในประเทศด้วย เพราะถือเป็นสถานประกอบการ รัฐบาลไม่ได้ลงไปข้างล่าง แต่ก็จะใช้กฎหมายตรวจตรา บังคับจับกุม เป็นเรื่องของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ ในส่วนของ พณ., กระทรวงแรงงาน, กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงที่เกี่ยวข้องก็เดินหน้าปรึกษากันในเรื่องนี้ ทุกคนต้องมาแก้ปัญหาร่วมกัน ถ้าเราไปว่าคนโน้น เดี๋ยวคนโน้นก็ว่ากลับมา ก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา เราต้องแก้สิ และมีการส่งผู้แทนไปเจรจามาโดยตลอดในทุกเรื่อง
    "ช่วงที่ผ่านมาเราเจรจามากในหลายเรื่องที่เป็นปัญหาในอดีต เขาคุยกันหมดแล้ว แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าประเทศเขาจะยินยอมแค่ไหน ซึ่งเรื่องนี้มีเวลาอีก 6 เดือน เราก็ต้องหาวิธีพูดคุยกันต่อไป ถ้าไม่ได้ก็คือไม่ได้เพราะเป็นกฎหมายของเขา กฎหมายใครก็ต้องกฎหมายใคร แล้วอย่าไปคาดเดาว่าเกี่ยวกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ มันคนละเรื่อง เข้าใจไหม อย่าให้เป็นปัญหาทางการเมืองอีกแล้วกัน และอย่าพูดให้ทุกอย่างมันเลวร้ายไปกว่าเดิม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ต้องมีอยู่ คู่ค้าสำคัญของเราเหมือนกัน  จะบอกว่าอย่างโน้นอย่างนี้ไม่ได้ เพราะเป็นนโยบายของเขา นโยบายของเราก็คนละอันกัน แต่จะทำอย่างไรให้ร่วมมือกันได้ หยุดเถอะเรื่องพวกนี้ ไม่เกิดประโยชน์หรอก มันจะเสียหายมากกว่าเดิม” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    เมื่อถามว่ามีเวลาอีก 6 เดือนที่จะมีผล การเจรจาจะเป็นไปได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า ขึ้นอยู่กับเราทำได้มากน้อยแค่ไหน บางอย่างเราทำได้หรือไม่ได้ ก็ต้องศึกษาดู มีหลายเรื่องก็ต้องไปดูว่าทำไมเราถึงทำตรงนี้ไม่ได้ ก็ไปว่ากันต่อไป
ลั่นถกเวทีอาเซียนแน่
    เมื่อถามต่อว่าเราก็จะยึดกฎหมายเรา ไม่โอนอ่อนผ่อนตามใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ย้ำว่า กฎหมายเราโอนอ่อนผ่อนตามใคร ตรงนั้นเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ หรือกฎหมายกับประเทศมหาอำนาจ เราก็ต้องดีลกันว่าจะทำอย่างไร เรื่องนั้นเรื่องนี้ บางอันเป็นกฎหมายพหุภาคีเกี่ยวข้องกับหลายประเทศด้วยกัน บางอันเป็นกฎหมายทวิภาคี กฎหมายเขา กฎหมายเรา จะเชื่อมโยงกันได้อย่างไร แต่ถ้าเขาตั้งกฎเกณฑ์ไว้สูง เราก็ลำบากหน่อย เพราะเรากำลังพัฒนาเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งเรื่องนี้โดนกันหลายประเทศ อย่างอินโดนีเซีย ก็ต้องดูว่าเราเสียประโยชน์เท่าไหร่ เราเสียภาษีเพิ่มขึ้นมาประมาณ 50 ล้านเหรียญ
    เมื่อถามว่า ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนหากพบกับผู้นำสหรัฐฯ หรือผู้แทนจะหยิบยกเรื่องนี้มาพูดคุยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าต้องคุยกันอยู่แล้ว อาจในเวที เมื่อถามต่อว่ารัฐบาลรู้อยู่แล้วว่าสหรัฐฯ จะมีท่าทีเช่นนี้ออกมา ได้เตรียมมาตรการไว้แล้วใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าเรื่องนี้มัน 9  ปีมาแล้ว ซึ่งสิทธิประโยชน์ทุกอย่างเราก็ต้องมาดู เอามาทบทวนหมด เพราะทุกอย่างเรากำลังโตขึ้น เมื่อโตขึ้นก็มีตัดสิทธิพิเศษเหล่านี้ เช่น ประเทศกำลังพัฒนา ประเทศที่ยังไม่ได้พัฒนา เขาให้สิทธิตรงนั้นมา 9 ปีแล้ว ถ้าเขาตัดสิทธิอย่างนี้ เราโตเกินไปหรือไม่ โตเร็วแล้วใช่ไหม รายได้ต่อหัวของประชากรสูงขึ้นใช่หรือไม่ และต้องดูจีดีพีของเราด้วย เพราะเขาดูตรงนี้
    “ผมคิดว่าเราคุยกันได้ อะไรที่เป็นสิทธิประโยชน์ วันนี้เขาคืนมา 7 อย่างไม่ใช่หรือ ของเก่ามีตั้ง  500 กว่ารายการ เราใช้ไปแค่ 300 กว่ารายการ ส่วนที่เหลือไม่ได้ใช้ แล้วมูลค่าเหล่านี้ก็ไม่มากนัก แต่ข้อสำคัญต้องไปดูว่าสินค้ามีความเสี่ยงสูง เสี่ยงปานกลาง เสี่ยงน้อยจะไปแก้กันอย่างไร จะดีลกันอย่างไร ขณะเดียวกันยังไงเราก็ต้องคบค้าสมาคมกันต่อไป บางทีการเมืองกับเศรษฐกิจมันก็เกี่ยวข้องกันหมด  เราก็อย่าให้มันแย่ลงไปก็แล้วกัน อย่าไปยึดโยงกับอย่างอื่นแล้วกัน อย่าไปคาดเดานี้โน้น พอดีมีเรื่องนี้อยู่ก็กลายไปตรงโน้น มันเป็นห้วงระยะเวลาที่ออกมาตามกำหนดของเขา” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กล่าวเรื่องนี้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับการแบน 3 สารเคมีทางการเกษตร ซึ่ง รมว.พาณิชย์และ รมว.แรงงานชี้แจงไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่สหรัฐฯ ใช้เหตุผลจากปัญหาแรงงาน ทั้งที่ผ่านมารัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พยายามแก้ไขมาตลอดนั้น เราก็จะทำต่อไป แต่การตัดสิทธิ์ครั้งนี้ยังไม่มีผลบังคับใช้ อีก 6 เดือนคือช่วง เม.ย.63 ส่วนจะต้องประชุมหารือเพื่อเตรียมรับมือหรือไม่ก็ว่ากันไป
    เมื่อถามถึงกรณีฝ่ายค้านโจมตีว่ารัฐบาลคุยโวว่าแก้ปัญหาแรงงานได้สำเร็จ แต่กลับสวนทางกับการระงับสิทธิจีเอสพีครั้งนี้ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "เห็นชัดๆ ว่าไทยได้เลื่อนขั้นขึ้นมาเป็นเทียร์ 2 ซึ่งสำเร็จทั้งภาคประมงและแรงงาน ส่วนจะมีการใช้เวทีประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้หรือไม่นั้น ก็เป็นหน้าที่ของนายกฯ" 
    ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุขกล่าวเช่นกันว่า มันเป็นสิทธิ์ของเขา ซึ่งในคำสั่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขียนชัดเจนว่ายังไม่พอใจในเรื่องแรงงานของไทยที่ยังไม่มีมาตรฐาน ต้องไปดูว่าจริงหรือไม่ หากไม่จริงต้องโต้แย้งไป ส่วนผลกระทบต้องมาดูว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน อย่าเพิ่งไปตื่นเต้นตกใจว่าตายแล้วประเทศไทยตายแน่ แต่ต้องมีความเชื่อมั่นในสินค้าไทย เชื่อมั่นในความต้องการของตลาดโลก ขณะเดียวกันหากกลัวว่าจะขาดดุลการค้า เราก็ลดการนำเข้าสินค้าจากประเทศนั้นๆ จะทำให้ไม่ขาดดุลการค้า
เสี่ยหนูชี้มะกันซวยด้วย
     เมื่อถามว่า มีการบิดเบือนว่าสาเหตุที่สหรัฐฯ ระงับจีเอสพีเพราะไทยยกเลิกสารพิษ 3 ชนิด นายอนุทินกล่าวว่า "แน่นอน คนที่เสียหายจะบิดเบือนทุกเรื่อง โกหกทุกเรื่อง พาลทุกเรื่อง เรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกันก็เอามารวมกัน แต่เราต้องนิ่ง และต้องมั่นใจว่าสิ่งที่ทำถูกต้องแล้ว ต้องเดินไปบนถนนของเรา ให้รู้ไปสิว่าสินค้าไทยไม่ดี"
    “จริงๆ การระงับสิทธิจีเอสพีนี้ สุดท้ายคนที่ได้รับผลกระทบตัวคนตัดเองก็ไม่พ้น เพราะเขาต้องซื้อของเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากภาษีเพิ่มขึ้น เดี๋ยวเขาคงโวยวายกันเองในบ้านของเขานั่นแหละ เราส่งของดีไปให้เขา ถ้าเขาจะตัดสิทธิ์ก็เท่ากับว่าการบริโภคอาหาร หรือต้นทุนของสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ์ไปมันจะเพิ่มมากขึ้นด้วย ของเราดีหรือเปล่าล่ะ ถ้าของดีก็ไม่ต้องไปกลัว” นายอนุทินกล่าว
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่องนี้ว่า "ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งเจรจาหาสาเหตุของการถูกตัดสิทธิ์ครั้งนี้โดยเร็ว และต้องเจรจาเพื่อให้มิตรประเทศเปลี่ยนใจให้ได้ก่อน 6 เดือนนี้ ไม่ต้องรอเวทีอาเซียนซัมมิต โดยหวังว่าในเร็วๆ นี้จะได้เห็นการเคลื่อนไหวของรัฐบาลอย่างจริงจังในเรื่องนี้ และการเจรจาต้องทำในฐานะคู่ค้าอย่างมีศักดิ์ศรี ทัดเทียมกันเป็นมิตร ไม่ใช่เป็นลูกไล่ของมหาอำนาจฝ่ายใด
ดิฉันขอเรียกร้องไปยังสหรัฐฯ ในฐานะมิตรประเทศ และคู่ค้าทางเศรษฐกิจมานาน ว่าควรพิจารณาบนพื้นฐานข้อมูลที่เป็นธรรมต่อไทย อย่าให้ผู้คนที่เป็นมิตรต่อท่านจำนวนมากต้องเจ็บตัวจากความผิดพลาดของคณะรัฐบาลคณะเดียว” คุณหญิงสุดารัตน์ระบุ
    ส่วนนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ตั้งแต่มีการประกาศตัดจีเอสพี  พล.อ.ประยุทธ์ก็หายไป จึงอยากออกประกาศตามหา ซึ่งถ้า พล.อ.ประยุทธ์รู้แล้วแปลว่าไม่ใส่ใจ แต่ถ้าบอกว่าไม่รู้แปลว่าไม่มีคุณสมบัติที่จะมาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเลย ประเทศไม่ใช่ที่ฝึกงานของใคร เราอยากฟังว่า พล.อ.ประยุทธ์จะแก้ปัญหานี้อย่างไร และจะนำความเชื่อมันกลับคืนมาอย่างไร เราอยากเห็นการแสดงท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม
    ด้านนายกีรติ รัชโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้แถลงชี้แจงเรื่องนี้ว่า พณ.จะเร่งเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อขอคืนสิทธิ์โดยเร็วที่สุด โดยจะไม่ใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าแน่นอน คาดว่าจะหารือกับสหรัฐฯ ในระหว่างประชุมอาเซียนซัมมิตที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือน พ.ย.นี้ เพราะสหรัฐฯ จะเดินทางมาเข้าร่วมประชุมอาเซียนกับคู่เจรจาด้วย รวมทั้งจะเจรจาภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐอเมริกา (ทิฟา) ด้วย
    "เราจะไม่ตอบโต้ทางการค้า ต้องคุยกันด้วยเหตุด้วยผล เพื่อให้ได้มาซึ่งผลบวกของประเทศ ซึ่งสำนักงานพาณิชย์ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.แจ้งมาแล้วว่า จะให้เราจัดคณะไปคุยกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) ก็ได้ หรือจะให้เขามาคุยที่ไทยก็ได้ กระทรวงจะเจรจาทำความเข้าใจให้ดีที่สุด  เรื่องนี้มีหลายมิติที่ต้องดู ไม่ใช่เรื่องการค้าอย่างเดียวเพราะมีประเด็นแรงงานด้วย" นายกีรติกล่าว
    นายกีรติกล่าวต่อว่า ขอย้ำว่าการให้สิทธิจีเอสพีเป็นการให้เพียงฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ ที่ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาที่เข้าตามเงื่อนไข และมีหลักทบทวนการให้สิทธิอยู่แล้ว เช่น ระดับการพัฒนาประเทศ, การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา, การคุ้มครองสิทธิแรงงาน, การกำหนดนโยบายลงทุนที่ชัดเจน รวมถึงการสนับสนุนสหรัฐอเมริกาในการต่อต้านการก่อการร้าย เป็นต้น หากประเทศที่ได้รับสิทธิรวมถึงไทยไม่เข้าตามเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่ง หรือมีความสามารถในการส่งออกสินค้าจนเกินมูลค่าเพดานที่กำหนด เขาก็อาจไม่ให้สิทธิ อย่างก่อนหน้านี้ก็ได้ตัดสิทธิอินเดียไปแล้ว และต่อมาเป็นไทย
    “ที่ผ่านมาสหรัฐฯ มีทั้งตัดและคืนสิทธิสินค้าให้ไทยมาต่อเนื่อง ในปี 2561 ได้ตัดสิทธิสินค้าไทย  และปี 2562 ก็เพิ่งคืนสิทธิให้ 7 รายการ สำหรับการตัดสิทธิสินค้าไทยครั้งนี้รวม 573 รายการนั้น ไม่ได้หมายความว่าไทยจะส่งออกสินค้าดังกล่าวไปสหรัฐฯ ไม่ได้อีก หรือไทยจะสูญเสียมูลค่าการได้รับสิทธิไปทั้งหมด 40,000 ล้านบาท ยืนยันว่าไทยยังส่งออกไปได้เหมือนเดิม เพียงแต่สินค้าจากไทยต้องเสียภาษีนำเข้าอัตราปกติเฉลี่ย 4.5% คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 1,800 ล้านบาท จากเดิมที่ไม่เสียภาษีเลย” นายกีรติกล่าว
ข้องใจอเมริกาเองยังทำไม่ได้
นายกีรติยืนยันว่า การตัดจีเอสพีไทยครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ไทยประกาศห้ามใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด เพราะสหรัฐฯ ได้ส่งสัญญาณมาระยะหนึ่งแล้วว่าจะประกาศการตัดสิทธิในช่วงปลายเดือน ต.ค.หรือต้นเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งเราได้หารือกับภาคเอกชนให้เตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวได้ เพราะก่อนหน้านี้ทั้งสหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่นก็ตัดสิทธิจีเอสพีไทยมาแล้ว และผู้ส่งออกไทยก็หาตลาดอื่นรองรับได้
รายงานข่าวแจ้งว่า การตัดจีเอสพีครั้งนี้เป็นเรื่องของสิทธิแรงงานเพียงอย่างเดียว ซึ่งที่ผ่านมาในช่วงที่ไทยแก้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ยูเอสทีอาร์ได้พยายามกดดันให้ไทยแก้ไขกฎหมายตามประเด็นที่สหรัฐฯ เรียกร้อง 7 ข้อ แต่ไทยดำเนินการตามได้ 5 ข้อเท่านั้น ส่วนข้อที่เสนอให้แรงงานต่างด้าวในไทยตั้งสหภาพแรงงานนั้น ไทยไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เพราะหากประท้วงจะส่งผลกระทบต่อนายจ้าง และเศรษฐกิจ โดย พณ.ได้ชี้แจงให้ยูเอสทีอาร์ทราบอย่างต่อเนื่องว่าไทยดำเนินการไม่ได้ เพราะสหรัฐอเมริกาเองก็ดำเนินการไม่ได้เช่นกัน แล้วเหตุใดจึงกดดันไทยเพื่อแลกกับจีเอสพี
    ส่วนนายสมเด็จ สุสมบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่าการตัดสิทธิจีเอสพียังคงไม่กระทบต่อเป้าส่งออกสินค้าไทยที่ส่งไปสหรัฐฯ ในปี 2562 ที่วางไว้ขยายตัว 4% เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่มีคำสั่งซื้อไว้ล่วงหน้าและทยอยส่งมอบไปแล้ว  แต่กรมส่งเสริมฯ ก็ได้มี 7 มาตรการรองรับเบื้องต้นไว้แล้ว คือ 1.เร่งขยายการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ช่วงปลายปีนี้จนถึงก่อนมาตรการมีผลบังคับใช้ รวมทั้งจะเร่งขยายตลาดในสินค้า 7 รายการที่ได้คืนจีเอสพี 2.เร่งกระจายความเสี่ยงโดยหาตลาดส่งออกให้หลากหลาย และแสวงหาตลาดใหม่ให้สินค้าที่ได้รับผลกระทบ 3.ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการเกษตร และอาหารแปรรูป โดยใช้โอกาสจากภาวะเงินบาทแข็งค่าไปลงทุนในสหรัฐฯ ในรูปแบบของสำนักงานขาย  หรือการแสวงหาเทคโนโลยีทันสมัยเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน 4.กระชับความสัมพันธ์กับผู้นำเข้าพันธมิตร และเพิ่มความร่วมมือกับผู้นำเข้าขนาดกลาง และเอสเอ็มอีในประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมต่างๆ 
5.สร้างความต้องการสินค้าไทยในตลาดต่างประเทศ เช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมในห้างสรรพสินค้า, ซูเปอร์มาร์เก็ต, ร้านอาหารไทย และกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยในหลายตลาด 6.เน้นการให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพและมาตรฐานสินค้า พัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรม สอดคล้องกับแนวโน้มของตลาด อีกทั้งการสร้างความเข้มแข็งให้แบรนด์สินค้าและทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้า เพื่อสร้างจุดเด่นและความได้เปรียบของสินค้าไทย และ 7.ผลักดันการค้าผ่าน thaitrade.com ซึ่งเป็นช่องทางการค้าออนไลน์ที่สามารถส่งออกสินค้าไทยคู่ขนานไปกับการค้ารูปแบบเดิม พร้อมกับการร่วมมือกับแพลตฟอร์มของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ โดยจะเปิด TopThai Flagship Store ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มขายสินค้าของไทยในแพลตฟอร์มต่างประเทศ และในเดือน พ.ย.นี้จะเปิดตัวร่วมกับ TMall Global ในจีน  และขยายสู่ประเทศสำคัญอื่นๆ ต่อไป.
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"