เขาบาตูปูเต๊ะมีจุดชมพะยูนและเป็นแหล่งเรียนรู้พะยูน ในภาพ "แม่ส้มของน้องมาเรียม”
สถานการณ์พะยูนปัจจุบันยังน่าเป็นห่วง กรณีพะยูนมาเรียมที่จากไป ทำให้หลายภาคส่วนตื่นตัวที่จะช่วยดูแลชีวิตพะยูนในท้องทะเลไทยกว่า 250 ตัว ซึ่งสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ หน้าที่ของการอนุรักษ์พะยูน ทุกภาคส่วนต้องผนึกกำลังกันไม่ให้พะยูนเหลือเพียงภาพถ่ายภาพเคลื่อนไหวหรือความทรงจำ
ขยะทะเล ของเสีย ที่เกิดจากคนทิ้งลงสู่ทะเล ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติกที่เบาและย่อยสลายยาก ทั้งถุง ขวด หลอด รวมทั้งแห อวน ลอบ เครื่องมือประมงเป็นสาเหตุใหญ่ ทำให้พะยูนลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งแหล่งหญ้าทะเลแหล่งอาหารที่สำคัญของพะยูนถูกทำลาย
บ้านมดตะนอย จ.ตรัง ชุมชนต้นแบบจัดการขยะชายฝั่งทะเล คุ้มครองบ้านพะยูน
เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เปรียบเสมือนบ้านของสัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างพะยูน ซึ่งรวมฝูงใหญ่อาศัยท้องทะเลตรังในการดำรงชีวิต เกาะแห่งนี้มีการรณรงค์และอนุรักษ์พะยูนอย่างจริงจัง ชาวบ้านบนเกาะรวมตัวกันช่วยอนุรักษ์พะยูนร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง
ล่าสุด ชุมชนบ้านมดตะนอย ร่วมกับเอสซีจี กลุ่มอาสาพิทักษ์ดุหยง จัดกิจกรรม "Save Mariam’s Family ฟื้นคืนระบบนิเวศ ลดต้นเหตุขยะทะเล" ขึ้นในพื้นที่เกาะลิบง มีการแลกเปลี่ยนแนวทางบริหารจัดการขยะในชุมชนเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อถิ่นที่อยู่อาศัยของพะยูน การวางอวนดักขยะที่คลองต่างๆ ป้องกันขยะถูกพัดพาลงทะเลตรัง การขยายร้านค้าต้นแบบลด ละ เลิก ถุงพลาสติก ปฏิเสธโฟม รวมทั้งเก็บขยะทะเลร่วมกับเยาวชนเกาะลิบง ปลูกฝังเด็กรุ่นใหม่เพื่อวันข้างหน้าจะได้เป็นกำลังสำคัญในการพิทักษ์ทรัพยากรรมชาติทางทะเลให้อยู่คู่ทะเลไทย โดยมี ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี และนายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวดตรัง ตลอดจนนายศาณิต เกษสุวรรณ ที่ปรึกษาธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างเอสซีจี ลงพื้นที่ร่วมกิจกรรมครั้งนี้
เกษม วัฒนชัย และศาณิต เกษสุวรรณ วางบ้านปลาในคลองลัดเจ้าไหม รักษาระบบนิเวศ
ณ ศาลา ซึ่งตั้งอยู่ติดทะเลหน้าเขาบาตูปูเต๊ะ แหล่งอนุบาลมาเรียม คนเรียกขานว่า “บ้านมาเรียม” ขณะนี้ได้ปรับปรุงเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับพะยูนสัตว์ทะเลหายาก มีป้ายให้ความรู้การกระจายของพะยูนและแหล่งหญ้าทะเลในเกาะลิบงภารกิจการอนุบาลมาเรียม ตลอดจนจัดแสดงเรือแคนูสีส้ม หรือ “แม่ส้ม” ที่เจ้าหน้าที่ใช้พายป้อนนม น้องมาเรียมว่ายน้ำเล่นข้างๆ และนอนกอด เพื่อกระตุ้นเตือนปัญหาทะเลไทยต้องแก้ไข
“ บังจ้อน ” สุวิท สารสิทธิ์ กลุ่มอาสาพิทักษ์ดุหยง กล่าวว่า เกาะลิบงมีความหลากหลายทางชีวภาพมีหน้าทะเล 11 ชนิด จากทั้งหมด 13 ชนิดในประเทศไทย ความอุดมสมบูรณ์ของหญ้าทะเลนี้ ประกอบกับการป้องกันเรือประมงและเรือในชุมชนไม่ให้สัญจรรบกวนถิ่นอาศัยของพะยูน ส่งผลมีฝูงพะยูนกระจายในพื้นที่จำนวนมาก กรณีมาเรียมที่จากไปเพราะกินถุงพลาสติก ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นอีก ที่ผ่านมา มองข้ามการจัดการขยะ ส่วนมากเก็บขยะหน้าหาดและดำน้ำเก็บขยะแนวปะการัง จากนี้จะเพิ่มเก็บขยะแนวหญ้าทะเล เวลานี้เมื่อน้ำลงพบถุงพลาสติกเยอะมาก เป็นภัยคุกคามต่อพะยูน โลมาและเต่า กลุ่มอาสาพิทักษ์ดุหยงจะร่วมกับชุมชนท้องถิ่น 6 หมู่บ้าน โรงเรียนเกาะลิบง โรงเรียนบาตูปูเต๊ะ และกลุ่มเยาวชนเพื่อต่อยอดจัดการขยะที่ถูกต้องตามแนวทางใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก ซึ่งทางเอสซีจีมาส่งเสริมและสนับสนุนความรู้ตั้งแต่ระดับชุมชน
หนึ่งฤทัย สกุลส่องบุญศิริ พยาบาล รพ.สต.บ้านมดตะนอย พาชมจุดคัดแยกขยะริมทะเล
วันนี้ร่องรอยการกินหญ้าทะเลของพะยูนเป็นหลักฐานสำคัญของการมีชีวิตอยู่ เกาะลิบงจึงเดินสู่พื้นที่ต้นแบบจัดการพะยูนและจัดการขยะ นายวิเชียร ขำนุรักษ์ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง กล่าวว่า มีแผนบริหารจัดการในพื้นที่ โดยจัดประชุมร่วมกับผู้นำชุมชนวางทุ่นผูกเรือจุดชมพะยูน ส่วนพื้นที่ไข่แดงมีแนวหญ้าทะเลอ่าวทุ่งจีน หน้าแหลมจูโหย หน้าเขาปาตูปูเต๊ะ ซึ่งมีประชากรพะยูนมากที่สุดในประเทศไทยบินสำรวจปี 61 เจอพะยูน 210 ปี แต่ปีนี้มีพะยูนตายมากกว่า 10 ตัว ประชากรจึงลดลง ในแผนกำหนดห้ามใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย ห้ามเรือใช้ความเร็วสูงสุดเข้าพื้นที่ มีการวางทุ่นแนวเขตห้ามเรือทุกชนิดสัญจรเด็ดขาดในพื้นที่กว่า 100 ไร่ ไม่เพียงอนุรักษ์พะยูน แต่รวมปลิงทะเล หอยชักตีน เต่า โลมา และมีแผนวางทุ่นทะเลเพิ่มปีหน้าอีก 10 ลูกในแหล่งหญ้าทะเลและแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ โดยเลือกพื้นที่สุดขอบแนวหญ้าทะเล เป็นจุดที่พบพะยูนชุกชุมที่สุด เพื่อวางทุ่นผูกเรือรับชมพะยูนโดยมีกฎกติกาชัดเจน
“ ความเสี่ยงที่น่ากลัวที่สุด คือเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย เช่น เบ็ดราไว อวนสามชั้น อันตรายมาก พะยูนตายจากเครื่องมือเหล่านี้ ขยะทะเลก็กระทบมาก ส่วนใหญ่ขยะมาจากบนบก ขณะนี้บนเกาะลิบงมีความตื่นตัวเรื่องขยะ มาเรียมตายจากขยะ ทุกคนเสียใจ เราพบกรณีเต่า โลมากินขยะตาย ส่วนพะยูนเสียชีวิตเมื่อผ่าพิสูจน์พบขยะในท้อง 20-30% ปะปนกับหญ้าทะเล ขยะเป็นปัญหาทั้งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน เกาะลิบงมีแผนจัดการขยะที่ครัวเรือน มีการคัดแยกนำไปแปรรูปใช้ประโยชน์ต่างๆ ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้จากทุกภาคส่วนเข้มแข็งช่วยลดขยะ ลดใช้พลาสติก ดูแลทรัพยากรทั้งสัตว์น้ำหายากและแหล่งหญ้าทะเล” วิเชียรย้ำต้องช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
จากบ้านมาเรียมเดินทางต่อโดยเรือสู่ชุมชนบ้านมดตะนอย ต.เกาะลิบง เป็นชุมชนติดกับทะเล คลองบ้านมดตะนอยและคลองลัดเจ้าไหมประสบปัญหาขยะและช่วยกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เริ่มจากจัดการขยะในบ้านก่อนขยายผลไปทั้งหมู่บ้าน มีการคัดแยกขยะนำมารีไซเคิล อีกทั้งเมื่อพบคนในชุมชนเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น สันนิษฐานว่ามาจากใช้โฟมบรรจุอาหารเป็นเวลานาน จึงมีการรณรงค์และเลิกใช้โฟมในหมู่บ้าน นับเป็นเวลา 3 ปีแล้ว ที่หมู่บ้านแห่งนี้ปลอดโฟมรับรองจากกรมอนามัย
1 ใน 30 ร้านค้าต้นแบบเลิกถุงพลาสติก ปฏิเสธโฟม ลดขยะลงทะเล
ปัญหาโฟมในชุมชนหมดไป แต่ภารกิจจัดการขยะทะเลยังรออยู่ โดยเฉพาะมหันตภัยถุงพลาสติก หนึ่งฤทัย สกุลส่องบุญศิริ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านมดตะนอย (รพ.สต.บ้านมดตะนอย) กล่าวว่า ชุมชนบ้านมดตะนอยมี 4 โซน แต่ละพื้นที่วิธีการจัดการขยะแตกต่างกันไป ชุมชนริมชายฝั่งจะประสบปัญหาขยะริมทะเลเยอะในช่วงมรสุม เดิมเก็บขยะไปทิ้ง สุดท้ายขยะก็กลับลงทะเลอีกเพราะขาดความรู้ แต่ปี 2561 เอสซีจีเข้ามาให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะแบบองค์รวม ได้จัดทำจุดคัดแยกขยะริมทะเลขยะที่พบมาก เช่น ไฟแช็ก 2 กิโลกรัมต่อวัน รองเท้า 13 กก. ขวดพลาสติก 2 กก. และโฟม 3 กก. ชาวบ้านเก็บแล้วทำอย่างไรต่อ
“ ขยะมีที่ไปใช้ประโยชน์ต่อได้บ้านมดตะนอยได้รู้จักกับกลุ่ม TRASH HERO และทะเลจร ซึ่งทำรองเท้ารีไซเคิลจากขยะทะเล เราส่งรองเท้าขยะไปให้ รวมถึงขยะพลาสติกที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ก็นำใส่ขวดน้ำเพื่อทำ Eco-Brick สำหรับขยะอันตรายจะนำไปส่งให้ อบต.เกาะลิบงกำจัดอย่างถูกวิธี ขยะทะเลยังนำมาสร้างสรรค์เป็นจุดเช็กอินให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเกาะลิบงด้วย ช่วยสร้างจิตสำนึกเปลี่ยนโลกด้วยตัวเอง" หนึ่งฤทัย กล่าว
ขยะรองเท้าแตะรวบรวมส่ง Trash Hero ทำรองเท้าแตะรีไซเคิล
ไม่ใช่แค่นั้น รพ.สต.ได้ประสานกับร้านค้าในชุมชน 30 ร้าน ลด ละ เลิก ถุงพลาสติก ปฏิเสธโฟม กิจกรรมครั้งนี้หนึ่งฤทัยพาไปเยี่ยมชมร้านค้าต่างๆ เด็กในหมู่บ้านนำถ้วย แก้วน้ำหรือถุงผ้ามาใส่อาหารและเครื่องดื่ม จะมีการสะสมดาวไปแลกรางวัล กล่องใส่ข้าว ถุงผ้า จนกระทั่งหม้อหุงข้าว ที่ รพ.สต.
หนึ่งฤทัยบอกอีกว่า ตามร้านยังมีจุดทิ้งหลอดพลาสติก จากนั้นจะรวบรวมให้กลุ่มขยะ รพ.สต. มีเยาวชนและผู้สูงวัยนำไปทำไส้หมอนให้ผู้ป่วยติดเตียง การจัดการขยะรูปแบบต่างๆ จะช่วยลดขยะทะเล เพราะขยะทะเลไม่ได้มาจากทะเลจริงๆ มาจากบนฝั่ง ปีนี้เราประกาศเป็นชุมชนต้นแบบการจัดการขยะทะเลชายฝั่งในพื้นที่ชุมชนบ้านมดตะนอย
ด้าน ณัฐวัฒน์ ทะเลลึก ผู้ใหญ่บ้านมดตะนอย กล่าวว่า เราเป็นชุมชนชายฝั่งทำให้ตระหนักในการแก้ปัญหาขยะจากชุมชน ขยะบริเวณท่าเรือและการท่องเที่ยวชายหาดขยะจากประมง ก็วางแผนและมีข้อตกลงจัดการขยะในชุมชน ล่าสุด ชุมชนได้ต่อยอดการพัฒนาอวนดักขยะจากภูมิปัญญาชุมชนเพื่อป้องกันขยะไม่ให้ไหลลงคลองต้นทางก่อนไหลออกสู่ทะเล จะใช้สำหรับตักเก็บขยะช่วงน้ำขึ้นและเก็บกวาดขยะใต้ถุนช่วงน้ำลง
วางอวนดักขยะในคลองต้นทาง ป้องกันขยะไหลลงทะเล กระทบพะยูน
“ กรณีมาเรียมตายในท้องพบพลาสติกและเต่าอีกหลายตัว ชาวบ้านจึงรวมตัวกันคิดค้นอวนดักขยะ ทำจากอวนลอบหมึก จะวางทุกจุดของชุมชน เวลานี้มี 5 จุดในคลอง พบขยะพลาสติกมากกว่า 30% ที่เหลือเป็นเศษไม้ชายเลนโดยหน้ามรสุมจะวางอวนดักขยะให้มากขึ้น เป็นอีกแนวทางจะส่งผลดีต่อพะยูนและสิ่งมีชีวิตในทะเล อย่างไรก็ตาม ชุมชนตั้งเป้าภายในปี 2565 บ้านมดตะนอยจะปลอดขยะ 100% และพร้อมเป็นพื้นที่ตัวอย่างแบ่งปันความรู้และแนวทางปฏิบัติพิชิตขยะให้ชุมชนที่สนใจ" ผู้ใหญ่บ้านมดตะนอย กล่าวทิ้งท้ายเป้าหมายที่เรียกว่าการรักษาทรัพยากรรมชาติให้ยั่งยืน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |