"เสรีพิศุทธ์" พลิ้วเรียก "บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม" แจงไม่เกี่ยวกับปัญหาการถวายสัตย์ฯ เป็นเรื่องงบฯ ล้วนๆ สั่งต้องมาเองเพราะไม่ได้เชิญผู้แทน ลั่นไม่เข้าชี้แจงก็เข้าทาง จะได้สรุปข้างเดียวไปเลยว่าการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ต่อสภาไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดรัฐธรรมนูญ และส่งฟ้องไปเลย อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาเตือน กมธ. ระวังคุก 10 ปี
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีจะเรียก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เข้าชี้แจงกรณียื่นร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ไม่ถูกต้อง เพราะรัฐบาลถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน
โดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าวช่วงหนึ่งว่า เป็นไปตามหน้าที่ของประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นมติของที่ประชุม เพื่อต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตรมาแถลงข้อเท็จจริง และแสดงความคิดเห็นเรื่องการนำร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 63 มาเสนอต่อที่ประชุมสภาได้อย่างไร ซึ่งไม่เกี่ยวกับปัญหาการถวายสัตย์ฯ ตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมากล่าวอ้างแต่อย่างใด
ประธาน กมธ.กล่าวว่า เพิ่งเซ็นหนังสือเพื่อเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตรให้มาชี้แจงเรื่องนี้ในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ การที่นายวิษณุออกมาระบุว่าทั้งสองคนมีสิทธิ์ที่จะมาหรือไม่มา หรือส่งตัวแทนมาชี้แจงก็ได้นั้น อยากจะบอกว่า ตนไม่ได้เชิญผู้แแทน แต่ระบุชื่อตัวตนชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตร เนื่องจากตนอยากทราบข้อเท็จจริง จะส่งนายหมูนายหมามาตอบแทนได้อย่างไร
"การทำหนังสือเชิญดังกล่าว เป็นการทำตามอำนาจของประธาน กมธ. ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ติดราชการเพราะมีภารกิจมากก็ไม่มีปัญหา สามารถแจ้งมาเพื่อขอเลื่อนได้ แต่ถ้าไม่ตอบเลย ผมก็จะมีหนังสือเรียกครั้งที่สอง โดยจะให้โอกาสแค่สองครั้งเท่านั้น ถ้าไม่มีอีก ครั้งต่อไปผมจะทำเป็นหนังสือคำสั่งของประธาน กมธ. เพื่อเรียกบุคคลนั้น หรือเรียกเอกสารให้มาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมาธิการฯ ตามมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ถ้าฝ่าฝืนไม่มาตามคำสั่งเรียกดังกล่าว ถือว่ามีความผิดตามมาตรา 13 ต้องระวางโทษไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
มีแผนล่อให้เข้าทาง
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าวว่า นี่คือการทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายรัฐบาล เพราะการดำเนินการทุกขั้นตอนของ กมธ.ต้องออกเป็นมติ ไม่ใช่ผมมาคิดเองเออเอง หรือเป็นคู่กรณี แต่เป็นการทำหน้าที่ของตน แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์หรือ พล.อ.ประวิตรไม่มาเอง ก็ถือว่าเข้าทางตน จะได้สรุปข้างเดียวไปเลยว่าการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ต่อสภาไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดรัฐธรรมนูญ และส่งฟ้องไปเลย ดังนั้นก็ไปตัดสินใจเอาเองว่าจะมาหรือไม่มา
นายนิรันดร์ นาเมืองรักษ์ ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธาน กมธ. ยืนยันต่อการทำหน้าที่ของ กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่สามารถทำได้ โดยไม่สามารถเอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ตามที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐระบุ หลังจากที่ กมธ.ส่งหนังสือเชิญ พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตรชี้แจงต่อ กมธ. วันที่ 30 ตุลาคมนี้
ทั้งนี้ ในกรณีไม่มีอำนาจเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท เพราะนายกฯ กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน เนื่องจากการทำหน้าที่ของ กมธ. คือการเชิญบุคคลให้ชี้แจงข้อเท็จจริง ตามอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่แยกจากฝ่ายบริหาร
ส่วนกรณีที่ระบุว่าประเด็นถวายสัตย์ปฏิญาณศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานด้วยนั้น การทำงานของ กมธ.ไม่ผูกโยงกับมติศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี การทำงานของ กมธ.นั้นได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย
"กมธ.ส่งหนังสือเชิญนายกฯ และรองนายกฯ ไปแล้ว ส่วนจะมาเองหรือส่งตัวแทนมาได้ แต่หาก กมธ.เชิญ พล.อ.ประยุทธ์มา แต่ไม่มาจนครบ 3 ครั้งตามกฎหมายเรียก ให้ กมธ.ส่งเรื่องไปยังผู้บังคับบัญชาให้พิจารณาลงโทษ แต่กรณีนี้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดแล้ว ถ้าไม่มาชี้แจงจริง ผมยังไม่รู้จะส่งเรื่องไปให้ใครพิจารณา" นายนิรันดร์กล่าว
นายนคร มาฉิม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า "การไม่ให้เกียรติต่อประชาชนของพลเอกประยุทธ์ และพลเอกประวิตร การร่วมกันทำรัฐประหารยึดอำนาจประชาชน ในนาม คสช. ซึ่งเป็นสิ่งเลวร้ายที่สุด ทั่วโลกไม่ยอมรับ ไม่คบค้าสมาคมและรังเกียจ ซึ่งถือเป็นการเหยียบหัวประชาชนมาแล้ว และเมื่อยึดอำนาจเสร็จ พฤติกรรมการแสดงออกของทั้งสองนายพล คือพลเอกประยุทธ์ ที่ใส่หัวโขนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนลูกพี่ใหญ่พลเอกประวิตร ใส่หัวโขนเป็นรองนายกรัฐมนตรี ภาษากาย แววตา กิริยาท่าทาง คนหนึ่งชอบขู่ ตะคอก ตวาด ประชาชน สื่อมวลชน แสดงตนมีอำนาจบาตรใหญ่ อวดอ้างว่ามีอำนาจเหนือกว่าฟ้า มีอำนาจพิเศษหนุนหลัง ส่วนอีกคน แสยะยิ้มภาษากายดูแคลนประชาชนในประเทศนี้ เพราะคิดว่าตัวข้าและพรรคพวกของข้ายิ่งใหญ่สุด ทำอะไรก็ไม่ผิด เกียรติยศ ชื่อเสียง แก้วแหวน เงินทองมากมายมหาศาล ไม่มีใครมาต่อกรได้ ไร้เทียมทาน
สืบทอดอำนาจเผด็จการ
เมื่อมีสภาผู้แทนราษฎร แม้พวกเขาจะแพ้การเลือกตั้งในสภาผู้แทนฯ แต่ด้วยพวกเขามีสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่พวกเขาแต่งตั้งมาเป็นฐานกลับไปโหวตเลือกพวกเขามาเป็นรัฐบาลเผด็จการ ในเสื้อคลุมประชาธิปไตย สืบทอดอำนาจเผด็จการสำเร็จตามแผนที่วางไว้ นายพลพวกนี้ก็ยังมีพฤติกรรมเดิมๆ และแสดงความกร่าง ยิ่งใหญ่คับฟ้ามากยิ่งขึ้น ดังที่ปรากฏต่อสายตาประชาชน
คณะกรรมาธิการซึ่งเป็นหน่วยย่อยของสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนของประชาชน ต้องการเชิญนายกฯ และรองนายกฯ มาชี้แจง เกี่ยวกับเรื่องการทุจริต เรื่องการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย รวมถึงเรื่องการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน ที่ไม่เป็นไปตามที่หาเสียง และแถลงต่อรัฐสภา นายพลทั้งสองคนนี้จึงไม่สนใจ และมีเหล่าเนติบริกรที่ได้ดิบได้ดี มีตำแหน่งใหญ่โต ร่ำรวยเงินทอง จากการที่คอยรับใช้ เอาใจนายเผด็จการคอยแก้ต่าง ตีความกฎหมายเพื่อพวกเผด็จการ คอยช่วยเหลืออย่างไร้ยางอาย ไร้หลักการ อย่างไม่มีศักดิ์ศรีเหลืออยู่ เหล่าเนติบริกรพวกนี้คือปีศาจ ปลิง ทาก พยาธิ ที่คอยอาศัยอำนาจจากระบอบเผด็จการ ใช้ความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญทางกฎหมาย แอบอิงเผด็จการดูดเลือดดูดเนื้อของประชาชน ทำให้ประชาชนชาวไทย และประเทศไทยของเราต้องตกอยู่ในหลุมดำของระบอบเผด็จการมายาวนาน หากวันหนึ่งประชาชนและประชาธิปไตยชนะพวกเขาต้องร่วมรับโทษร่วมกับเผด็จการด้วย
การทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ แทนประชาชน แทนสภา จึงไม่ได้รับการตอบรับ จากนายพลผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสองคนประเทศชาติ และประชาชนจึงเสียประโยชน์ เสียหาย และประชาชนไม่มีโอกาสรับทราบความจริง
"ขอเป็นกำลังใจให้คณะกรรมาธิการทุกคณะ ทุกท่าน อย่าสยบยอมต่อนายพลพวกนี้นะครับ เพราะพวกท่านคือผู้แทนปวงชนชาวไทย" นายนครระบุ
เตือนระวังคุก 10 ปี
ด้านนายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ให้ความเห็นว่า พระราชบัญญัติคําสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554 ได้บัญญัติไว้ดังนี้ มาตรา 5 คณะกรรมาธิการมีอำนาจออกคำสั่งเรียกบุคคลมาแถลงข้อเท็จจริงในกิจการที่คณะกรรมาธิการกระทำอยู่ หรือในเรื่องคณะกรรมาธิการสอบสวนหรือศึกษาอยู่ ไม่ได้มีอำนาจที่จะเรียกมาสอบถามเรื่องใดก็ได้
ตามบทบัญญัติของกฎหมายคณะกรรมาธิการน่าจะไม่มีอำนาจออกคำสั่งเรียกบุคคลใดมาให้แถลงข้อเท็จจริงในเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมาธิการ หรือในเรื่องที่คณะกรรมาธิการไม่ได้ทำการสอบสวนหรือศึกษาอยู่
อดีตผู้พิพากษาศาลฎีการะบุว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ของคณะรัฐมนตรี หรือเรื่องอื่นใดที่ไม่ได้เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ คณะกรรมาธิการชุดนี้จึงน่าจะไม่มีอำนาจออกคำสั่งเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวได้
มาตรา 8 คณะกรรมาธิการใช้มติที่ประชุมของคณะกรรมาธิการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนกรรมาธิการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ออกคำสั่งเรียกให้บุคคลที่ไม่ยอมมาแถลงข้อเท็จจริงให้มาแถลงข้อเท็จจริง และหากบุคคลนั้นฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 13 คือต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 พันบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
มาตรา 12 กรรมาธิการผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 พันบาทถึง 2หมื่นบาท หรือทั้งจําท้ังปรับ
"พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์และคณะกรรมาธิการจะกล้าเสี่ยงที่อาจมีความผิดตามมาตรา 12 โดยใช้มติที่ประชุมมีคำสั่งพลเอกประยุทธ์ให้ไปแถลงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ของคณะรัฐมนตรี หรือเรื่องอื่นใดที่ไม่เกี่ยวกับการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบหรือไม่ คอยดูกันต่อไป" นายชูชาติระบุ
เสียชื่อวีรบุรุษนาแก
นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ทางกรรมาธิการไม่น่าจะมีอำนาจที่จะเรียกตรวจสอบเรื่องนี้เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยจบแล้ว ด้วยความเคารพผู้อาวุโสอย่าง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ อยากจะให้ทำการเมืองอย่างสร้างสรรค์ อย่าใช้ตำแหน่งประธานกรรมาธิการฯ มุ่งทำลายล้างทางการเมืองเพียงอย่างเดียว อย่าลุแก่อำนาจ ท่านเป็นนายตำรวจเก่า น่าจะทราบกฎหมายดีว่า การเป็นกรรมาธิการมีหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริต ประพฤติมิชอบต่างๆ ไม่ใช่มาตรวจสอบปมถวายสัตย์ฯของท่านนายกรัฐมนตรีซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริต
"ทางที่ดี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ต้องทำหน้าที่แทนประชาชนในการตรวจสอบการทุจริต ไม่ใช่มาตะบี้ตะบันมุ่งโจมตี พล.อ.ประยุทธ์เพียงอย่างเดียว เสียชื่อวีรบุรุษนาแกหมด ขอให้ประชาชนจดจำความดีในอดีตดีกว่า ในวัยเด็กผมเคยชื่มชม พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ แต่มาตอนหลังรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมาก"
รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐกล่าวว่า คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนฯ มีบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายชัดเจน อย่าใช้อำนาจในทางที่ไม่ถูกต้อง ขอให้ดูการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ ส่วนใหญ่ทำงานได้ดี เข้าใจบทบาทหน้าที่ ตรวจสอบตรงไปตรงมา ไม่ได้มุ่งเน้นทำลายฝ่ายการเมืองตรงข้าม เช่น นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานคณะกรรมาธิการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและกองทุน สภาผู้แทนฯ หรือนายไชยา พรหมมา ประธานคณะกรรมาธิการศึกษา การจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนฯ ต่างทำหน้าที่ได้ดี
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้ facebook live จากสภาแฟบ้านปากตน ม.7 ต.ท้ายสำเภา อ.พระพรหม กรณีดังกล่าวว่า ในกรณีดังกล่าวมีประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ
1.คณะ กมธ.ป.ป.ช.มีสิทธิ์จะเชิญนายกรัฐมนตรีเข้าชี้แจงต่อที่ประชุม กมธ.ได้หรือไม่ แม้จะเป็นสิทธิ์ที่สามารถทำได้ เพราะ กมธ.มีอำนาจที่จะเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน เข้าชี้แจงปัญหาใดๆ ต่อที่ประชุม กมธ.ก็ได้
2.การเชิญ พล.อ.ประยุทธ์เข้าชี้แจงกรณีถวายสัตย์ฯ และการจัดทำงบประมาณ มีความเหมาะสมหรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่า บทบาทหน้าที่ของ กมธ.ป.ป.ช.ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่ในเรื่องการตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบเท่านั้น แต่การถวายสัตย์ปฏิญาณ และการจัดทำงบประมาณ ไม่เข้าข่ายการกระทำทุจริตและประพฤติมิชอบแต่ประการใด จึงไม่เห็นด้วยในการเชิญ พล.อ.ประยุทธ์มาชี้แจงใน กมธ.ป.ป.ช.ของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ในครั้งนี้
เหน็บ"เสรีพิศุทธ์"อ่อนหัด
3.การตรวจสอบกรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน และการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณที่ไม่ถูกต้องนั้น สามารถตรวจสอบได้ด้วยการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ถ้าใช้ช่องทางนี้ จะมีความเหมาะสมกว่าการตรวจสอบผ่านที่ประชุมของคณะ กมธ.ป.ป.ช.
4.การตรวจสอบเรื่องการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณที่ไม่ถูกต้อง ควรใช้บทบาทของคณะ กมธ.การเงินการคลัง ตรวจสอบความถูกต้อง จะเหมาะสมกว่าการใช้ กมธ.คณะอื่นดำเนินการ
"พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์เป็น ส.ส.สมัยแรก อาจจะทำให้ไม่เข้าใจบทบาทการทำหน้าที่ ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรดีเท่าที่ควร จึงอยากให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ได้ใช้บทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบการทำหน้าที่ของฝ่ายบริหารให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ไม่ควรเอาความรู้สึกส่วนตัวมาเกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ ส.ส. ซึ่งอาจจะทำให้ขาดความชอบธรรมและความน่าเชื่อถือในสายตาประชาชนได้" นายเทพไท กล่าว
นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 กล่าวถึงกรณีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุหาก กมธ.งบประมาณฯ มีข้อสงสัยว่านายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จะเป็น กมธ.งบประมาณฯ ได้หรือไม่ ให้ทำหนังสือสอบถามมาที่ประธานสภาฯ ว่า ที่ประชุม กมธ.ไม่มีการตั้งข้อสงสัยเรื่องสถานะของนายธนาธรในการทำหน้าที่ กมธ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 เพราะเห็นว่า ขณะนี้มีผู้ยื่นเรื่องต่อประธานสภาฯ และส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว คงไม่ทำหนังสือถึงนายชวนให้วินิจฉัยเรื่องดังกล่าว ปล่อยให้เป็นเรื่องของกระบวนการที่มีผู้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่า ในหลักการของกฎหมายแล้ว การให้คนนอกดำรงตำแหน่ง กมธ.วิสามัญฯ ได้นั้น มีความมุ่งหมายอยากให้เป็นคนนอกจริงๆ ที่ไม่มีตำแหน่งเป็น ส.ส. เพื่อให้ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของคนนอกมาช่วยงานของ กมธ.วิสามัญฯ ไม่ได้หมายถึงการเป็น ส.ส. แต่ถูกพักงาน แล้วใช้โควตาคนนอกมาเป็น กมธ. ถือเป็นคนละกรณีกัน ยืนยันว่าไม่ได้ตั้งแง่กีดกันนายธนาธรเป็น กมธ.วิสามัญฯ แต่แค่สงสัยว่าจะดำรงตำแหน่งได้หรือไม่ ซึ่งคงต้องรอกระบวนการวินิจฉัยชี้ขาด
เสียดายภาษีประชาชน
ด้านนายบุญยอด สุขถิ่นไทย สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุถึงนายธนาธรว่า ถ้าคุณยังรับเงินเดือน ส.ส.อยู่ ยังมีผู้ช่วย ส.ส. คุณจะเป็นคนนอกได้อย่างไร เข้าใจยากตรงไหน เสียดายภาษีประชาชน
นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กโดยมีรายละเอียดดังนี้ ในความผิดหวัง และคำขอโทษ ถึง “พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล”
1.ในสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่แล้ว (2554-2556) ผมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ และมีโอกาสเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2 ครั้งติดต่อกัน กรรมาธิการวิสามัญงบประมาณเป็นกรรมาธิการที่มีความสำคัญมาก เพราะมีหน้าที่พิจารณารายละเอียดคำของบประมาณของทุกกระทรวง และทุกกรม รวมถึงกองทุน และรัฐวิสาหกิจต่างๆ
กรรมาธิการจะต้องตั้งคำถามสำคัญต่อการขอใช้งบประมาณในเรื่องต่างๆ ว่าแผนงานโครงการเหล่านั้นมีความถูกต้องตามหลักวิชา มีความสอดคล้องกับปัญหาของประชาชน จนถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องการนั้นตั้งบน “เกณฑ์” มาตรฐานของอะไร เป็นต้น ดังนั้น กรรมาธิการจะต้องมีความรู้ทั้งหลักวิชาและปัญหาของประชาชน ตลอดจนการบริหารจัดการแผนงานของโครงการของทุกกระทรวง ทบวง กรม
การทำงานของกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณจึงต้องวิเคราะห์คำของบประมาณ เพื่อให้สอดรับไปกับปัญหาของประชาชนและของประเทศตามลำดับความสำคัญที่ถูกควร และกรรมาธิการยังมีหน้าที่ต้องให้ความเห็นและข้อเสนอแนะกับส่วนราชการต่างๆ (แบบรายกรม หรือรายหน่วยงาน) เพื่อให้เกิดการปรับแก้งบประมาณที่เหมาะสม ผ่านการแปรญัตติปรับลดงบประมาณลง และสำหรับงบประมาณในส่วนที่ลดไปนั้น รัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดว่า ควรจะนำไปปรับเพิ่มให้แก่แผนงานโครงการของส่วนราชการใด ซึ่งในหลักการแล้วรัฐบาลควรจะรับฟังความคิดเห็นจากสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณ และนำไปปรับเพิ่มงบประมาณตามคำแนะนำนั้นๆ ต่อไป
2.ที่สำคัญ คำแนะนำและข้อสังเกตที่กรรมาธิการวิสามัญงบประมาณได้ให้แก่ส่วนราชการต่างๆ ไปนั้น จะมีส่วนช่วยให้ส่วนราชการเหล่านั้น สามารถนำไปปรับปรุงคำของบประมาณในปีต่อๆ ไปได้อย่างเหมาะสม แต่กระนั้นความไม่แน่นอนของข้าราชการในการปรับย้ายในแต่ละปี และในแต่ละวาระของตำแหน่งต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับระบบในการจัดทำคำของบประมาณนั้น ก็ทำให้ข้อสังเกตหรือข้อแนะนำที่สภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณได้รายงานเพื่อเป็นเกณฑ์ในการจัดทำงบประมาณอย่างมีมาตรฐานทางด้านประสิทธิภาพต่อปัญหาของประชาชนเอาไว้ ไม่มีความต่อเนื่องในการนำมาปฏิบัติตามที่ควรจะเป็น
งบฯ ไม่ตอบโจทย์
ในทางกลับกัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เข้าเป็นไปกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณของแต่ละพรคการเมือง ก็มักจะเปลี่ยนทุกปีเช่นเดียวกัน เพราะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมากที่ต้องการเป็นกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณ แต่ระบบงานภายในของแต่ละพรรคการเมืองส่วนใหญ่ก็ไม่มีกลไกสนับสนุนภายในที่จะบอกว่า กรรมาธิการวิสามัญงบประมาณของพรรคในปีที่ผ่านมา ได้ให้ข้อสังเกตและคำแนะนำอะไรไว้กับส่วนราชการต่างๆ บ้าง ดังนั้น จากการเปลี่ยนตัวบุคคลของหัวหน้าส่วนราชการและกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณของพรรคการเมืองในทุกๆ ปีแบบนี้ จึงเป็นการยากมากที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีจะได้รับการพัฒนาให้ตอบโจทย์ปัญหาของประชาชน และประเทศชาติได้ตรงจุด และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับการใช้งบประมาณ เพราะขาดการสะสมข้อมูลและประสบการณ์ของทั้งฝ่ายข้าราชการประจำและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
3.ในการทำงานของกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณนั้น มีเวลา 2 เดือนเศษที่จะพิจารณารายละเอียดต่างๆ ของคำของบประมาณทั้งหมด จากนั้นจะนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่ผ่านกรรมาธิการวิสามัญแล้ว ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ต่อไป ซึ่งการทำงานของกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณจะมีทั้ง “มิติวิชาการ” และ “มิติทางการเมือง”
มิติทางวิชาการ คือมิติที่ต้องใช้ความรู้ที่กว้างขวางตั้งแต่เศรษฐกิจ การเงินการคลัง จนถึงความรู้ทางวิชาการที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานของแต่ละกระทรวง เช่น เกษตร, สาธารณสุข, คมนาคม, การศึกษา เป็นต้น มิติทางวิชาการนี้ ต้องอาศัยความรู้ของกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณจากพรรคการเมืองต่างๆ มาช่วยในการตั้งคำถาม และให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์
ในมิติทางการเมือง คือ มิติของการต่อรองทางนโยบายเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนคำของบประมาณและการให้ความสำคัญกันทางนโยบายที่มากขึ้น มิติทางการเมืองนี้ต้องอาศัยกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณที่มีประสบการณ์สูง และสามารถวิเคราะห์การเมืองขาด รวมไปถึงการถอดรหัสนโยบายที่สลับซับซ้อนได้อย่างชำนาญ
พี่เชษฐครับ ผมขอโทษ
ประเด็นของมิติการเมืองที่สำคัญ คือ การต่อรองระหว่างพรรคฝ่ายค้านกับพรรคฝ่ายรัฐบาลในเรื่องการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายต่างๆ เพราะลำดับความสำคัญของนโยบาย หมายถึง จำนวนงบประมาณของนโยบายเหล่านั้นต้องปรับเปลี่ยนไป ดังนั้น กระบวนการต่อรองของพรรคการเมืองทั้งสองฝ่ายจึงสำคัญมาก กรรมาธิการวิสามัญงบประมาณของฝ่ายค้านและรัฐบาลจึงต้องมีกลยุทธ์ของการต่อสู้กันในกระบวนการการของการพิจารณางบประมาณในแต่ละกระทรวง กรรมาธิการวิสามัญงบประมาณของแต่ละพรรคจึงต้องมีการวางยุทธศาสตร์และกลวิธีของทีมตัวเองทุกวัน และกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณแต่ละท่าน โดยเฉพาะท่านที่มีบทบาทนำนั้น จะต้องทำงานหนักมากๆ
4.2 ปีในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสเป็นกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ และได้ทำงานร่วมกับ “ท่านพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและอดีตรัฐมนตรีอาวุโสของพรรคทั้ง 2 ปี
ท่านพิเชษฐ ในฐานะหัวหน้าทีมกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณพรรคประชาธิปัตย์ ได้มอบหมายให้ผมเป็นคนอภิปรายหลักด้วยการซักถาม และให้ความเห็นแก่ทุกกระทรวง และทุกกรม ส่วนท่านพิเชษฐเป็นคนคอยคุมเกมการเมืองตลอดกระบวนการพิจารณางบประมาณ 2 เดือนเศษ ทุกเช้าท่านจะบอกผมว่าวันนี้ให้ผมเดินเกมอย่างไร เช่น ดึงเวลาการพิจารณางบประมาณของกระทรวงนี้ออกไป หรือกระทรวงนี้จะต้องตั้งคำถามในเรื่องอะไรบ้าง เพื่อให้กระทรวงปรับนโยบายตามแนวทางที่พรรคเห็นว่าควรจะเป็นเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์ หรืองบประมาณของกรมนี้ขอให้แขวนไว้ก่อน เพราะอธิบดีไม่รับฟังข้อคิดเห็นของกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณ ไปจนถึงเรื่องของกรมที่ไม่สามารถตอบคำถามที่ทางพรรคเคยได้ถามเอาไว้ตั้งแต่เมื่อปีที่ผ่านมา แสดงว่ากรมไม่รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณเลย
5.ผมปฏิบัติหน้าที่กรรมาธิการวิสามัญงบประมาณในนามพรรคประชาธิปัตย์ด้วยความตั้งใจ และทุ่มเท ไม่เคยขาดประชุมแม้แต่วันเดียว อภิปราย ตั้งคำถาม และให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์กับทุกกรม จนผู้บริหารกรมหลายแห่งสะท้อนคำขอบคุณให้แก่ผู้ใหญ่ของพรรค ว่าได้รับประโยชน์จากข้อเสนอแนะของผมในกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณมากมาย
เมื่อจบภารกิจของกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณในปีงบประมาณ 2556 ท่านพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล เดินมาตบไหล่แล้วพูดกับผมว่า
“อาจารย์กนก คุณทำหน้าที่ของคุณได้ดีมาก ผมขอฝากให้คุณช่วยเป็นหลักให้กับพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องงบประมาณด้วยนะ เพราะผมอายุมากแล้ว และสุขภาพไม่ค่อยดี จึงขอฝากงานนี้ไว้กับอาจารย์ด้วยนะ”
แล้วท่านก็ยิ้มกับผม จากนั้นเราก็เดินออกจากห้องกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณ แล้วแยกย้ายกันไป โดยที่ผมได้เก็บความรู้สึกภาคภูมิใจ จากกำลังใจที่ท่านพิเชษฐได้มอบให้ในตอนนั้นเอาไว้มาจนถึงตอนนี้
ผมคิดเสมอว่า ภารกิจที่ท่านพิเชษฐฝากไว้ ผมจะต้องทำมันให้ดีที่สุด แต่วันนี้ผมทำให้ท่านผิดหวัง ผมไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณในนามพรรคประชาธิปัตย์ได้ ครับ ผมทำได้เท่านี้จริงๆ “พี่เชษฐครับ ผมขอโทษ”
จองงบฯ ความมั่นคง
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธาน กมธ.งบฯ กล่าวว่า การพิจารณางบประมาณในปีนี้ กมธ.จะพิจารณาคำขอการใช้งบประมาณอย่างเข้มงวด ในทุกๆ หน่วยงานที่มีคำขอมาว่ามีการใช้งบประมาณคุ้มค่าหรือไม่ เพราะงบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท ถือเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก ดังนั้น ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย และเงินที่นำมาจัดทำงบประมาณเป็นภาษีพี่น้องประชาชน จึงต้องพิจารณาอย่างละเอียดทุกขั้นตอน ทุกโครงการ นอกจากนี้ ในส่วนของการประชุมนั้น รัฐบาลให้เวลาในการพิจารณาเพียง 226 ชั่วโมงเท่านั้น ถือว่าน้อยมากหากเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ รัฐบาลอ้างว่าเวลามีจำกัด ต้องเร่งพิจารณา แต่ กมธ.ในซีกของพรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมขอขยายเวลาในการพิจารณางบประมาณ จึงหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากฝ่ายรัฐบาล
นพ.ชลน่านกล่าวอีกว่า การพิจารณาจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับงบประมาณของฝ่ายความมั่นคง กระทรวงกลาโหม และงบกลาง หากผู้ชี้แจงไม่สามารถชี้แจงได้ว่าของบไปทำอะไร หรือทำไมต้องเร่งดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นงบก่อสร้าง งบซื้ออาวุธ หรืองบก่อหนี้ผูกพัน กมธ.คงไม่ยอม
อย่างไรก็ตาม คาดว่าในการพิจารณาของ กมธ. จะมีการปรับลดงบประมาณลงไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน สำหรับงบกลางที่มีการกันงบประมาณไว้กว่า 96,000 ล้านบาท เป็นอำนาจนายกรัฐมนตรีในการอนุมัติงบนั้น หากมีการกันงบประมาณไว้จ่ายค่าเสียหายกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์มีคำสั่งใช้มาตรา 44 ประกาศคำสั่ง คสช. ระงับการสำรวจและประกอบกิจการทำเหมืองแร่ทองคำชาตรี ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งหากไทยแพ้ ต้องจ่ายค่าปรับไม่น้อยกว่า 36,000 ล้านบาทนั้น กมธ.คงไม่ยอมให้เอาเงินภาษีประชาชนไปจ่ายค่าปรับ ถือเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่เหมาะสม เพราะเมื่อหัวหน้า คสช.สั่งปิด หัวหน้า คสช.จะต้องรับผิดชอบ จะให้ประชาชนมาร่วมรับผิดชอบไม่ได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |