13มี.ค.-หอสมุดแห่งชาติคึกคักคนแห่ตามอ่าน'จินดามณี-นิยายบุพเพสันนิวาส' จัดพบนักเขียน'รอมแพง' พร้อมโชว์หนังสือเก่า-เอกสารโบราณอยุธยา 22 มี.ค.นี้ เผยตลอดปีมีแผนนำหนังสือหายากแสดงนิทรรศการหมุนเวียนให้ความรู้ประวัติศาสตร์ สร้างความภาคภูมิใจ เดินหน้าสืบค้นคำโบราณ"ออเจ้า" หวังประโยชน์ศึกษาค้นคว้า
นางสาวกนกอร ศักดาเดช ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กล่าวว่า จากละคร'บุพเพสันนิวาส' ที่อยู่ในความสนใจของประชาชนอย่างมาก เพราะเป็นละครสนุกสนานที่สอดแทรกประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิตคนในอดีต และชวนให้คนไปศึกษาค้นคว้าต่อ เช่น ในฉากที่มีการกล่าวถึงวรรณกรรมเรื่อง"จินดามณี" แต่งขึ้นโดยพระโหราธิบดี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นแบบเรียนเล่มแรกของไทย ที่เอ่ยถึงพยัญชนะ วรรณยุกต์ที่สืบทอดกันมาจนปัจจุบัน ทำให้ขณะนี้มีประชาชนเข้ามาที่สำนักหอสมุดแห่งชาติเพิ่มมากขึ้นเพื่อใช้บริการการอ่านวรรณกรรมเรื่อง"จินดามณี" จนหนังสือไม่ว่างจากชั้นวางหนังสือ รวมถึงนวนิยายเรื่อง"บุพเพสันนิวาส"ที่นำมาดัดแปลงเป็นละครฮิตขณะนี้ นอกจากมาที่หอสมุดแห่งชาติด้วยตนเอง ยังพบการสืบค้นผ่านระบบการให้บริการออนไลน์ของหอสมุดแห่งชาติเพิ่มขึ้น อีกทั้งมีหน่วยงานต่างๆ ประสานงานเพื่อขอยืมหนังสือและเอกสารโบราณไปจัดแสดงอีกด้วย
ผอ.สำนักหอสมุดฯ กล่าวว่า ละครมีเรื่องราวจูงใจให้คนอยากรู้ต่อ อยากอ่านหนังสือและเชื่อมโยงมาหาหนังสือเก่า เอกสารโบราณ ทั้งคำที่ใช้ในสมัยนั้น อาหารไทยโบราณ จากกระแสละครดังกล่าวสำนักหอสมุดแห่งชาติจะพัฒนาสู่การจัดนิทรรศการหมุนเวียนนำหนังสือหายากที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์มาร้อยเรียงตลอดปี 2561 นี้ เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชน เริ่มจากกิจกรรม NLT Edutainment ครั้งที่ 4 พูดคุยเรื่องแรงบันดาลใจและเทคนิคการสร้างผลงานกับ"รอมแพง" ผู้เขียนหนังสือ"บุพเพสันนิวาส" วันที่ 22 มี.ค.2561 เวลา 13.00-15.00 น. ณ ห้องเอกสารโบราณ ชั้น 4 อาคาร 2 สำนักหอสมุดแห่งชาติ ภายในงานจะจัดนิทรรศการรวบรวมหนังสือ"จินดามณี" จัดแสดง เป็นฉบับที่ถ่ายทอดจากเอกสารโบราณสู่ตัวพิมพ์เล่มแรกๆ รวมทั้งหนังสือ"จินดามณี" ที่กรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่ ด้านหลังเป็นสมุดไทยโบราณ และเอกสารโบราณเกี่ยวกับอยุธยา แผนที่เก่าอยุธยา คาดว่าจะมีเอกสารจัดแสดงให้ชมกว่า 20 ชิ้น
" อย่างคำว่า "ออเจ้า" ที่ใช้ในบทสนทนาของละคร จนเกิดกระแสคนพูดตาม ดิฉันได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ สืบค้นเอกสารที่มีคำเหล่านี้ปรากฏอยู่ ก่อนจะเผยแพร่ให้ประชาชนได้รู้และหาอ่านเพิ่มเติม หลายกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นจะช่วยเพิ่มกลุ่มผู้ใช้บริการหอสมุดแห่งชาติ ทั้งกลุ่มนักอ่านที่ชื่นชอบนักเขียน ประชาชนที่สนใจละคร และจะกลายเป็นแฟนพันธุ์แท้หอสมุดแห่งชาติในอนาคต ที่สำคัญการได้กลับไปดูประวัติศาสตร์ผ่านหนังสือจะสร้างความภาคภูมิใจ เกิดจิตสำนึกรักษาและหวงแหนวัฒนธรรมชาติ ใครอยากหาหนังสือเก่ามาค้นได้ที่นี่ " นางสาวกนกอร กล่าว
///////////////////////////////