ช่องว่างระหว่างขั้วการเมือง มีแนวโน้มจะถูกจุดให้มีความรุนแรง
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี-อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่หลังจากพรรคประชาธิปัตย์มีมติร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ เขาก็ได้ลาออกจาก ส.ส.ทันทีในวันรุ่งขึ้น เพื่อรักษาจุดยืนการไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตามที่เคยประกาศไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้ง ในวันนี้ มาร์ค-อภิสิทธิ์ ที่โลดแล่นอยู่บนถนนการเมืองมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 จนถึงปัจจุบัน รวมเวลาร่วม 27 ปี โดยปัจจุบันแม้จะถอยฉากจากการเป็นนักการเมืองในรัฐสภามาเป็นผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองอยู่ข้างนอก แต่คนในสังคมจำนวนมากก็ยังให้ความสนใจติดตามกันมาตลอดว่า อภิสิทธิ์-อดีตนายกฯ จะมีแนวคิดทางการเมืองในเรื่องต่างๆ อย่างไร และจะกลับเข้าสู่เวทีการเมืองอีกครั้งในจังหวะไหน จะกลับมาเมื่อมีการเลือกตั้งครั้งหน้า หรือว่าจะปิดเทอมการเมือง หยุดพักยาว อภิสิทธิ์ แสดงท่าทีผ่านการสัมภาษณ์ในครั้งนี้
ลำดับแรก อภิสิทธิ์ บอกเล่าชีวิตในปัจจุบันช่วงนี้ว่า เมื่อได้ลาออกจาก ส.ส.ประชาธิปัตย์แล้ว ก็ไม่ได้มีบทบาทอะไรในพรรค แต่ก็ยังเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อยู่ ที่ผ่านมาก็มีไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคในบางโอกาส เช่น การไปช่วยหาเสียงตอนเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดนครปฐม เรื่องเหล่านี้อยู่ที่ทางคณะผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ หากมีการขอให้ไปช่วยเรื่องอะไร ในฐานะสมาชิกพรรค ก็พร้อมจะไปและทำเท่าที่ทำได้ แต่โดยทั่วๆ ไปก็ไม่ได้มีอะไร เพราะเขาก็บริหารจัดการอะไรต่างๆ ผมไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไร
ส่วนภารกิจหลักๆ ช่วงนี้ ส่วนใหญ่ก็จะไปบรรยายตามที่ต่างๆ เพราะก็จะได้รับเชิญอยู่เรื่อยๆ ที่ก็มีมาทุกหัวข้อ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ กฎหมาย แต่ขณะนี้ยังไม่อยากจะรับเป็นอาจารย์ประจำ เพราะยังอยากจะมีความคล่องตัวอยู่ อย่างปัจจุบัน 1 สัปดาห์ก็จะมีไปบรรยายประมาณ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ที่ก็สามารถรับไปบรรยายตามที่ต่างๆ ได้ แต่หากไปเป็นอาจารย์ประจำก็จะมีงานประจำเยอะขึ้นมาอีก
-การเลือกตั้ง ส.ส.รอบหน้า จะได้เห็นชื่ออภิสิทธิ์ลงเลือกตั้งในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์?
ไม่ทราบ ด้วยความสัตย์จริง ยังไม่ทราบเลย ไม่ได้คิดเรื่องตัวเองสักเท่าไหร่ ผมยังไม่ได้มีความคิดในทางหนึ่งทางใดเลย ณ ขณะนี้ไม่ได้คิดว่าไม่กลับมาแล้ว หรือไม่ได้คิดว่า ต้องกลับมา ต้องเข้าสู่การเมือง ไม่ได้คิด ผมถอยออกมา เพราะผมต้องรักษาคำพูด ผมต้องการแสดงให้เห็นว่า มาตรฐานความรับผิดชอบทางการเมืองควรจะเป็นอย่างไร
ผมถอยออกมา เพราะว่าสิ่งที่ผมพยายามนำเสนอต่อสังคม เป็นสิ่งที่สังคมบอกว่าเขายังไม่ต้องการ เพราะฉะนั้นผมก็ออกมาดู แต่ผมก็อยู่กับการเมือง ผมสนใจเรื่องบ้านเมืองมาตลอดชีวิตเลยก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นผมก็ติดตามดูอยู่ แต่ผมไม่ได้มองว่าผมจะต้องไปมีบทบาทตรงนั้นตรงนี้ หรือว่าอย่างไร เพราะว่าหากทุกอย่างไปของมันได้ ผมก็ไม่ได้คิดอะไร ถามว่า มีคนมาพยายามชวนหรือไม่ ก็มีเป็นธรรมดา ซึ่งผมก็เข้าใจดี เพราะผมอาจจะอายุน้อยเกินกว่าที่เขาจะคิดว่าผมจะเลิก หรือยังไงไม่ทราบ ก็จะมีคนมาพูดอยู่เรื่อย แต่ผมก็บอกไปอยู่แล้วว่า ผมไม่ได้คิดอะไร ทุกวันนี้ผมก็สบายดี ไปไหนก็มีแต่คนบอกว่าหน้าตาสดใสขึ้น
-ไม่คิดไปตั้งพรรคการเมืองใหม่?
ไม่ ไม่มีความคิดอะไรเลย เรื่องตั้งพรรค เรื่องอะไร ไม่มี ผมก็ยังเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ก็ให้ความร่วมมือกับพรรค เวลาเขาบอกอะไร
-ปัจจัยที่จะทำให้กลับมาการเมืองอีกครั้ง?
ไม่ทราบ ไม่ได้คิด ไม่ได้คิดเลยว่าเลือกตั้งครั้งหน้าจะไปทำอะไร ไม่ได้คิดเลย เพราะผมถือว่าผมต้องถอยออกมาก่อน แล้วผมก็ดู เพราะผมสนใจ ผมก็ติดตามดู ผมห่วงใย ผมก็ให้ความเห็นเท่าที่คิดว่าจะไม่เป็นปัญหากับใคร ไม่ได้ไปเจาะจงเรื่องของใคร
ผมอยากให้สังคมคิดเรื่องส่วนรวมแล้วถอดเรื่องคนออกให้หมด เพราะผมคิดว่าที่ทุกอย่างมันจมอยู่อย่างนี้ เพราะมองกันเรื่องคนกันหมด ชอบ-ไม่ชอบ เช่น ชอบ-ไม่ชอบ พลเอกประยุทธ์ ชอบ-ไม่ชอบธนาธร ชอบ-ไม่ชอบทักษิณ มันไม่ได้แต่อยากชวนให้คนคิดกันว่า เรื่องเศรษฐกิจ-สังคม-การเมืองไทย ควรจะเป็นแบบนั้น ควรจะเป็นแบบนี้ มันเลยกลายเป็นบางที เราต่อต้านพฤติกรรมของฝ่ายที่เราไม่ชอบ แต่หากคนของฝ่ายเราทำเอง เรากลับบอกไม่เป็นไร ผมว่าถ้าบ้านเมืองไปแบบนี้เรื่อยๆ ก็ลำบาก
อภิสิทธิ์-อดีตนายกฯ กล่าวว่า ปัจจุบันก็ยังติดตามการเมืองอยู่ตลอด ซึ่งก็เป็นห่วงเหมือนกัน เป็นห่วงว่า ช่องว่างระหว่างรุ่น ช่องว่างระหว่างขั้วการเมือง ดูจะไม่ได้ลดลง และยังมีแนวโน้มที่จะถูกปลุก ถูกจุดให้มีความรุนแรงมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา ตรงที่บอกว่า ระหว่างรุ่น ผมก็มีความรู้สึกว่า ความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ การมองการเมืองของเขากับคนอีกรุ่นหนึ่ง ดูมันจะแตกต่างกันมาก จนบางทีต้องบอกว่า แทบจะไปถึงจุดที่แทบจะสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง และการพยายามแบ่งขั้วทางการเมือง โดยการเอาความเกลียดกับความกลัวโยนใส่กัน ก็ยังไม่หยุด ทั้งจากฝ่ายอนุรักษนิยม และฝ่ายที่อ้างว่าต้องเรียกร้องประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่สิ่งที่ควรต้องช่วยกันทำก็คือ การสร้างพื้นที่ให้เกิดการหาจุดร่วม เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญออกแบบมาไม่ให้เป็นพรรคใหญ่ 2 พรรค แต่จริงๆ ก็ยังกลายเป็นการเมืองที่แบ่งเป็น 2 ขั้วแบบนี้อยู่ตลอดเวลา อีกทั้งบทบาทของสื่อและโซเชียลมีเดียก็ยิ่งทำให้ช่องว่างตรงนี้มันรุนแรงขึ้น เราก็จะเห็นอยู่ในปรากฏการณ์โซเชียลมีเดีย ที่แทบจะพูดกันคนละภาษาแล้ว
-ช่องว่างที่พูดถึงจะมีปัจจัยหรืออะไรที่จะยิ่งทำให้ถ่างขยายมากขึ้น?
ผมมองว่าคนที่เป็นผู้เล่นหลักในทางการเมือง ก็ดูเหมือนจะบอกว่าพึงพอใจก็ไม่เชิง แต่ดูเหมือนกับยังพร้อมจะให้เป็นแบบนี้อยู่อีกต่อไป เพราะอาจจะยังเป็นประโยชน์ในทางการเมืองกับทั้ง 2 ฝ่าย คือฝ่ายอนุรักษ์ ก็ต้องการตอกย้ำว่าอีกฝ่ายเป็นภัยกับความมั่นคง ส่วนฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตย อะไรก็จะโยนว่าเป็นเรื่องเผด็จการหรืออะไรก็แล้วแต่ เป็นเรื่องของโครงสร้างคนกลุ่มหนึ่งลักษณะแบบนี้ตลอดเวลา ผมก็เข้าใจว่าทั้ง 2 ฝ่ายก็มองว่าการตอกย้ำก็เพื่อรักษาและกระตุ้นฐานเสียงของตัวเองไว้แบบนี้อยู่ตลอดเวลา โดยที่การหาพื้นที่ตรงกลางของทั้ง 2 ฝ่ายก็ยังไม่ค่อยเห็น
อภิสิทธิ์-อดีตหัวหน้าพรรค ปชป. ยังวิเคราะห์สถานการณ์เรื่อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งประเด็นดังกล่าวหลายฝ่ายเชื่อว่าจะถูกพูดถึงมากขึ้น หลังเปิดประชุมสภาฯ ตั้งแต่ 1 พ.ย.นี้ เพราะสภาฯ จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไข รธน. ในทัศนะ อภิสิทธิ์ เขามองทิศทางเรื่องนี้ไว้ว่า เรื่องรัฐธรรมนูญจริงๆ คือโอกาส แต่หากปล่อยไว้แบบนี้ก็จะกลายเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งของความขัดแย้ง ทั้งที่ควรเป็นโอกาสที่จะมาพูดกันให้ชัดเจนไปเลย
...ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ฝ่ายอนุรักษ์ยอมรับได้หรือไม่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้เป็นมาตรฐานของประชาธิปไตยที่จะทำให้ประชาชนเขามีความรู้สึกว่าเขาคือเจ้าของอำนาจ มันก็ต้องแก้บางอย่าง ส่วนอีกฝ่ายหนึ่ง ทำไมไม่พูดออกมาให้ชัดว่า อะไรที่มันเกี่ยวข้องกับความมั่นคง ประเด็นอะไรที่มันละเอียดอ่อนภายในสังคมที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมก็ไม่ต้องไปแตะ โดยหากทั้ง 2 ฝ่ายมีทัศนคติแบบนี้ ก็จะทำให้มีพื้นที่ซึ่งรวมคนทุกฝ่ายให้สามารถมาทำงานร่วมกันได้ แต่ขณะนี้เราก็เห็น เพราะขนาดรัฐบาลแถลงนโยบายว่า สนับสนุนให้มีการศึกษา แต่พรรคแกนนำรัฐบาลกลับไปรณรงค์ว่าไม่ต้องแก้ไข แล้วก็พยายามกล่าวหาว่าคนที่คิดแก้ จะทำอย่างนั้นอย่างนี้ ส่วนอีกฝ่ายมาถึงก็บอกว่า ต้องรื้อทั้งฉบับ
เมื่อถามว่า ในสมัยประชุมของสภาฯ เดือนหน้า มีแนวโน้มที่สภาฯ จะเห็นชอบให้มีการตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาการแก้ไข รธน. มองว่าการมี กมธ.ชุดดังกล่าวจะเป็นบันไดและทางออกไปสู่การแก้ไข รธน.ได้หรือไม่ อภิสิทธิ์ มองบริบทนี้ไว้ว่าก็เป็นโอกาส แต่โอกาสนี้จะถูกใช้ไปในทางที่เราอยากเห็นหรือไม่ ก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะหากทั้ง 2 ฝ่ายยังคงคิดว่าการรักษาฐาน การสร้างเงื่อนไขให้เกิดความกลัวหรือเกลียดกับอีกฝ่ายหนึ่ง จะเป็นประโยชน์กับฝ่ายตัวเอง เขาก็อาจปล่อยให้ขัดแย้งไปอีกเรื่องหนึ่ง แล้วเรื่องรัฐธรรมนูญก็จะทะเลาะกันอีก
-คาดหวังกับผลการศึกษาพิจารณาของ กมธ.ของสภาที่จะตั้งขึ้นแค่ไหน?
ก็อยู่ที่ทัศนคติของทุกฝ่ายก่อนว่า เปิดใจกันแค่ไหน ฝ่ายหนึ่งเปิดใจไหมว่ารัฐธรรมนูญต้องแก้ได้ และอีกฝ่ายหนึ่งเปิดใจได้หรือไม่ว่า มันไม่ใช่ต้องไปรื้อทุกอย่าง หากเปิดใจกันแบบนี้ก็เป็นโอกาส แต่หากตั้งป้อมกัน โดยฝ่ายหนึ่งบอกว่าต้องไม่แก้ แต่อีกฝ่ายบอกว่าต้องรื้ออย่างเดียว ก็คงพูดกันยาก
-ฝ่ายพรรครัฐบาลอย่างพลังประชารัฐก็เสนอญัตติประกบเข้าไปในสภาให้มีการตั้ง กมธ.ด้วย มองว่ามีความจริงใจหรือไม่ในการแก้ไข รธน.?
ก็ยังเห็นเขาไปรณรงค์อยู่ว่าไม่ต้องแก้ ผมก็ยังแปลกใจอยู่ เพราะเป็นแกนนำพรรครัฐบาล แต่ไม่ยึดถือสิ่งที่แถลงต่อรัฐสภา ที่ไปรณรงค์ไม่ต้องแก้ (เวทีประชาธิไตยไทยอิ่ม ไม่ต้องแก้ก็กินได้)
ถามถึงบทบาทของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และแกนนำรัฐบาลที่มาจาก คสช.เดิมอย่าง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่มาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐด้วย ควรวางบทบาทเรื่องการแก้ไข รธน.อย่างไร อภิสิทธิ์ ตอบคำถามนี้ว่า ผมก็มองว่าทุกฝ่าย โดยไม่ต้องไปเจาะจงใคร ก็คือมองว่าตรงนี้จะเป็นโอกาสได้หรือไม่ ที่จะให้สังคมมามองอนาคตร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างมองว่า ฉันจะต้องไปทางนี้ แล้วคนที่ไม่มองไปทางนี้ จะต้องถูกกำจัดออกไป ซึ่งหากทุกฝ่ายคิดกันแบบนี้ มันก็จะอยู่ในสภาพแบบนี้ไปเรื่อยๆ
-คาดหวังกับบทบาทของ ส.ว.ในการแก้ไข รธน.มากน้อยแค่ไหน เพราะ ส.ว.เองก็อาจเกรงว่าหากมีการแก้ไข รธน.แล้วจะนำไปสู่การเขียนบทเฉพาะกาล ไปเซตซีโร ส.ว.ทั้งหมด หรือตัดอำนาจการโหวตเลือกนายกฯ ของ ส.ว.?
ก็เป็นเรื่องที่จะเป็นบทพิสูจน์ว่าเขาพร้อมหรือไม่ที่จะมองเห็นว่า การจะเดินไปข้างหน้า ทุกคนก็ต้องมองประโยชน์ของส่วนรวมและอนาคตเป็นหลัก ถ้าคนคิดว่ากติกาตอนนี้ทำให้ฝ่ายตัวเองได้เปรียบ แล้วจะให้เป็นแบบนี้ต่อไป ก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่จะไปปลดล็อกความขัดแย้งได้ และขณะเดียวกันฝ่ายที่รื้อ หากไม่ยอมรับบทเรียนในอดีต ว่าการเมืองก่อนหน้านี้ ที่ก็มีความล้มเหลวเหมือนกัน มันก็จะทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้กันไปมาอยู่ตลอดเวลา
-การแก้ไขปรับปรุง รธน.ควรทำแบบไหน แก้รายมาตรา หรือว่าใช้แนวทางการให้มีสภาฯ ร่าง รธน.มาทำการยกร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับ?
ผมว่าไม่ควรมาจำกัดตัวเองว่าจะมีแค่ทางเลือกที่ 1 กับทางเลือกที่ 2 หากให้พูด ซึ่งผมก็ไม่สามารถไปพูดแทนทุกคนได้ แต่หลายคนที่เขาพูดกันว่า มันแก้รายมาตรายาก เขาก็ไม่ได้หมายถึงว่าจะต้องไปรื้อทั้งฉบับ ทุกมาตรา แต่มันยากตรงที่จะทำให้โครงสร้างมันสอดคล้องต้องกัน ถ้าไปคิดว่า แก้มาตรานี้ฉบับหนึ่ง ไปแก้อีกมาตราหนึ่งในอีกหนึ่งฉบับ แล้วบางฉบับผ่าน แต่อีกบางฉบับไม่ผ่านออกมา เพราะตัวโครงสร้างอำนาจต้องมีความสมดุลและสอดคล้องกัน เพราะฉะนั้นคนที่มองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาในเชิงโครงสร้าง เขาถึงไม่ค่อยแน่ใจที่จะไปบอกว่า แก้รายมาตราแล้วจะแก้ได้ แต่เขาก็ไม่ได้หมายถึง จะต้องไปรื้อทุกหมวด ทุกมาตรา ต้องทำความเข้าใจแบบนี้เสียก่อน ไม่เช่นนั้นก็จะโยนใส่กัน ว่าคนนี้จ้องล้ม กลายเป็นจ้องล้มรัฐธรรมนูญไปเลย อีกฝ่ายก็จะบอกว่า ที่จะแก้ ไม่ได้แก้อะไรจริงจัง แก้แค่ผิวเผิน ซึ่งหากรีบกระโดดลง เช่น แก้รายมาตรา ก็จะยิ่งเชื้อเชิญให้มีความเห็นต่างๆ พลั่งพรูออกมา เพราะทุกประเด็น ทุกคนมีความเห็นได้ทั้งสิ้น เพราะอย่างแค่เรื่องระบบเลือกตั้ง ก็จะมีความเห็นออกมา คนนี้บอกว่าจะเอาแบบแบ่งเขต แต่อีกฝ่ายบอกว่าจะเอาแบบรวมเขต หรือคนหนึ่งเสนอให้ใช้วิธีการนับคะแนนแบบหนึ่ง แต่อีกคนก็เสนออีกแบบ
จริงๆ ต้องเอาภาพใหญ่มาวางดูก่อนว่า ที่เป็นแบบนี้ ที่เราเห็นว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหา ปัญหามีอะไรบ้าง ควรเริ่มจากประเด็นที่เราคิดว่าคือปัญหา เหมือนกับการหาวิสัยทัศน์ร่วมกันก่อนว่ารัฐธรรมนูญควรไปอย่างไร เช่น จะให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น รัฐธรรมนูญจะต้องตรวจสอบถ่วงดุลนักการเมือง ควรเอาเรื่องพวกนี้มาพูดกันก่อน เพื่อให้ไปด้วยกันได้
ถามย้ำว่า มองว่าจุดอ่อนและข้อเสียของรัฐธรรมนูญที่เห็นว่ามีปัญหามากที่สุด ต้องแก้ไขโดยเร่งด่วนคือเรื่องอะไรกันแน่ อภิสิทธิ์-อดีตหัวหน้าพรรค ปชป. ตอบว่า เร่งด่วนที่สุดก็คือ แก้ยาก ตัวมาตราที่เป็นบทบัญญัติในการแก้ไข รธน. ทำให้การแก้ไข รธน.ทำได้ยากมากเกินไป
-ต้องปลดล็อกอันนี้ก่อน?
ก็ต้องปลด แต่จะปลดแค่นั้นก็คงไม่พอ ก็ต้องมาพูดกัน เช่น เรื่องความเป็นประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงการตรวจสอบถ่วงดุลในปัจจุบัน มาดูว่าระบบองค์กรอิสระในปัจจุบันทำงานได้ดีแค่ไหน ถ้าถามความเห็นผม ผมก็มองว่ามีหลายเรื่องไม่ควรไปอยู่ในรัฐธรรมนูญ คือในส่วนที่เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินหรือการปฏิรูป เพราะในที่สุดมันไม่ได้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงตามความตั้งใจของคนที่เขียน แต่มันจะกลายเป็นอุปสรรคในเชิงการทำงานเสียมากกว่า อย่างเช่น ปัจจุบันรัฐบาลก็ถูกต่อว่าในเรื่องที่ไม่สามารถแถลงนโยบายรัฐบาลโดยแสดงรายละเอียดให้เห็นอย่างที่รัฐธรรมนูญต้องการให้ทำ โดยทุกวันนี้เอกสารราชการต้องอ้างอิงถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งพละกำลังที่ต้องเสียไปกับตรงนี้ ไปอยู่ในรัฐธรรมนูญเสียด้วย สิ่งนี้ขนาดว่าเพิ่งจะเริ่มใช้แผนยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ยิ่งสถานการณ์โลกเปลี่ยน จะไม่ยิ่งเป็นปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ ไปหรือ
-ความเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การแก้ไข รธน.จะนำไปสู่ความขัดแย้ง การเผชิญหน้ารอบใหม่ได้หรือไม่ หากจะมีบางกลุ่มไม่เห็นด้วย เช่น บอกว่า รธน.ไม่ควรแก้ไข เพราะผ่านประชามติมามีคนโหวตรับร่าง รธน.ถึง 16 ล้านเสียง?
16 ล้านเสียง เขาไม่ได้โหวตว่าไม่ให้แก้ จะอ้างอะไร ผมไม่เข้าใจ เพราะ 16 ล้านเสียง ผมก็เข้าใจว่าก็มีคนตั้งมาก ที่อยากจะให้เลือกตั้งไปก่อนแล้วมีอะไรก็ค่อยมาแก้ทีหลัง ก็มีเยอะแยะ ไม่ได้แปลว่าเมื่อโหวตรับร่าง รธน.แล้วห้ามแก้ไข
-หากจะมีการแก้ไข รธน.เกิดขึ้น แล้วควรทำอย่างไร เพื่อให้เป็นแนวทางที่ทุกฝ่ายยอมรับ ไม่เกิดปัญหา ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม?
ในที่สุดกระบวนการต่างๆ ผมดูแล้ว ก็ต้องไปสู่การทำประชามติอยู่ดี เพราะแค่ประเด็นเรื่องแก้ไข ก็ต้องไปประชามติ แล้วหากไปแก้ไขในตัวหลักๆ ที่เป็นสาระ รัฐธรรมนูญก็บัญญัติว่าต้องทำประชามติอยู่แล้ว
-มองบทบาทผู้นำกองทัพตอนนี้เป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมาผู้นำกองทัพจะไม่ค่อยออกมา take action ทางการเมืองมากมายนัก?
ก็ห่วงอยู่ เพราะผมไม่อยากให้กองทัพมาเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง ผมอยากให้สถาบันหลักๆ ของชาติ และผู้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทั้งหมด แยกตัวเองออกมาจากความขัดแย้งทางการเมืองให้ได้ ที่สิ่งนี้จะทำให้ประเทศมั่นคงที่สุด
ถามถึงการเมืองไทยหลังจากนี้ โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่ใกล้จะมาถึง ประเด็นหลักๆ ที่ต้องติดตาม ก็คงจะมี เช่น ความเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การแก้ไข รธน. และการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ อภิสิทธิ์ กล่าวเสริมว่า ก็ยังมีเรื่องของคดีความทั้งหลายอีก ความเห็นของผม มองว่าทั้งการเมืองและเศรษฐกิจตอนนี้ต้องการโครงสร้างใหม่ ต้องการวิสัยทัศน์ใหม่ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่กว่าเยอะ ใหญ่กว่าที่จะบอกว่า เราจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 3-4 เปอร์เซ็นต์ได้หรือไม่ หรือว่ารัฐบาลจะอยู่ได้นานแค่ไหน แต่ปัญหาตอนนี้คือโครงสร้างทางเศรษฐกิจ-การเมือง ต้องการโครงสร้างใหม่ วิสัยทัศน์ใหม่ ถึงจะทำให้คนมีความเชื่อมั่นและอยากจะขับเคลื่อนประเทศไปด้วยกัน
...ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ มันอยู่ที่ว่า ในที่สุดสังคมไทยจะสามารถตกผลึกได้แค่ไหน ว่าเราคงจำเป็นต้องมาเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่าง เพื่อให้คนของเรามีชีวิตดีขึ้นและอาศัยประโยชน์จากสิ่งที่เป็นจุดแข็งของสังคมเรา เพราะจริงๆ พื้นฐานของเรา ทั้งภาคการเกษตร ภาคบริการ แม้กระทั่งฐานอุตสาหกรรมของเรา สามารถถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น อัธยาศัย ค่านิยม วัฒนธรรมไทย หลายอย่าง ก็ควรถูกนำมาใช้ประโยชน์ในทางการเมืองได้ ทำไมเวลาเราพูดถึงคนไทย เราจะบอกว่านิสัยคนไทยโอบอ้อมอารี ดูมีไมตรี มีน้ำใจ อ่อนโยน แต่ทำไมการเมืองของเรากลับกลายเป็นการเมืองที่เป็นเรื่องของความกลัว ความเกลียด
...ถ้าพูดด้วยความเป็นธรรม ก็อาจไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะกับสังคมเรา เพราะมองไปรอบๆ โลก การเมืองหลายแห่งก็มีปัญหาเกือบทั้งนั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะเหมือนกับการเมืองมันถูกถอยห่างออกมาจากหลักการมาก การเมืองกลายเป็นเรื่องของคนกับอารมณ์มากขึ้นเรื่อยๆ ก็เลยกลายเป็นปัญหา ซึ่งประชาธิปไตยหลักการสำคัญที่สุดคือความเสมอภาคในการมีสิทธิ์ที่จะมีส่วนร่วมและการกำหนดอนาคตของส่วนรวม แต่ว่าอารมณ์ที่เราใส่กันในขณะนี้ มันขาดจิตวิญญาณของประชาธิปไตย เพราะไม่แม้แต่อยากจะฟังเขาพูด บางคนพูดอะไรก็ผิดหมด แต่ฝ่ายตัวเองพูดอะไรก็ถูกหมด ซึ่งถ้าจิตวิญญาณประชาธิปไตยมีมากกว่านี้ ก็จะไม่เป็นแบบนี้ ผมเป็นคนหนึ่งที่เถียงและพูดมาตลอดว่าปัญหาที่ผ่านมาไม่ใช่เพราะประชาธิปไตยมากไป แต่ประชาธิปไตยมันน้อยไป แต่ก็ต้องเข้าใจว่าจิตวิญญาณประชาธิปไตยมันคืออะไร.
ชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.
ปชป.จะส่งหรือไม่ และส่งใคร?
อภิสิทธิ์-อดีตหัวหน้าพรรค ปชป. ซึ่งสมัยเขาเป็นหัวหน้าพรรค ปชป.ได้นำพาพรรคชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ถึงสี่สมัยติดต่อกัน คือ อภิรักษ์ โกษะโยธิน สองสมัย และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อีกสองสมัย
เมื่อเราถามความเห็นเรื่องการส่งคนลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ของพรรค ปชป. หลังมีกระแสข่าวพรรคพลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์จะจับมือกันในลักษณะหลีกทางให้กัน แล้วในฐานะอดีตหัวหน้าพรรคคิดว่า ปชป.ควรส่งคนลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.หรือไม่ อภิสิทธิ์ สงวนท่าทีที่จะแสดงความเห็นเรื่องนี้ โดยบอกแค่ว่าต้องให้ผู้บริหารพรรคเขาตอบ แต่โดยปกติพรรคก็คงพยายามจะส่ง แต่ผมไม่ทราบว่าเขาจะมีเงื่อนไข ข้อตกลง สภาพทางการเมืองจะเป็นอย่างไร เพราะอย่างนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็แสดงตัวชัดว่าจะขอแยกออกมา แต่คนก็จับตาดูอยู่ว่าพรรคเพื่อไทยจะส่งคนลงหรือไม่ส่งคนลง ฝ่ายค้านเขาคุยหรือไม่ ก็ยังไม่มีใครทราบ และผมก็ไม่ค่อยแน่ใจจะได้เลือกตั้งเร็วๆ นี้หรือไม่ เพราะยังไม่เห็นตารางเวลาของการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะมีทุกประเภทที่ค้างอยู่ เช่น กทม., อบจ., เทศบาล, อบต. จะเป็นเมื่อใด ซึ่งก็คิดว่าเขาคงไม่ให้เลือกพร้อมกันหมดเพราะจะเป็นภาระค่อนข้างเยอะ สำหรับคนที่พรรค ปชป.ควรจะส่งลงสมัครก็ต้องเป็นผู้ว่าฯ ที่ดี ในพรรคก็มีคนที่เหมาะสมซึ่งก็มีหลายคน แต่จะเป็นใครผมไม่ทราบ
-ก็มีข่าวบางพรรคการเมืองมีแกนนำไปคุยกันที่ต่างประเทศ ในเรื่องการจะส่งคนลงหรือไม่ส่งคนลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.?
ก็เป็นเรื่องของรายงานข่าว ไม่รู้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่สภาพความเป็นพรรคการเมืองของแต่ละพรรคในสภาพปัจจุบัน ไม่ได้มีพรรคไหนมีความได้เปรียบอย่างชัดเจน ก็อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ นายชัชชาติบอกว่าไปลงอิสระดีกว่า และปัญหาที่ว่าตกลงรัฐบาลจะคุยกันหรือไม่ และฝ่ายค้านจะคุยกันหรือไม่ ก็ไม่มีใครทราบ เพราะอย่างการเลือกตั้งซ่อมที่นครปฐมที่ผ่านไป ทั้งพรรครัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านก็ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะฝ่ายรัฐบาล ชาติไทยพัฒนากับประชาธิปัตย์ก็ส่งคนลงสมัคร เช่นเดียวกับฝ่ายค้าน พรรคอนาคตใหม่ก็ส่ง พรรคเสรีรวมไทยก็ส่ง
....................................................
เศรษฐกิจไทยน่าเป็นห่วง ยังไม่ตอบโจทย์เชิงโครงสร้าง
อภิสิทธิ์-อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นนักการเมืองคนหนึ่งที่ให้ความสนใจและติดตามเรื่องเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศมาต่อเนื่องยาวนาน โดยมุมมองของอภิสิทธิ์ เขาได้วิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงสองเดือนสุดท้ายก่อนสิ้นปีนี้ ไปจนถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีหน้า 2563 โดยระบุว่าก็น่าเป็นห่วง เพราะเศรษฐกิจของประเทศไทยเราเป็นระบบเศรษฐกิจเปิด ภาวะความไม่แน่นอน ความไม่มั่นใจค่อนข้างสูง สหรัฐฯ กับจีนก็ดูจะยังไม่ค่อยลดราวาศอกกันเท่าไหร่ และสิ่งที่ผมมองก็คือว่าสิ่งที่ลึกกว่าสงครามการค้า ก็คือความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจ และรวมไปถึงยังมีประเด็นความขัดแย้งที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอน ความสับสนเยอะ โดยภายในเดือนนี้หรืออีกไม่เกิน 2-3 เดือนข้างหน้า เรื่อง Brexit ก็ต้องจบทางใดทางหนึ่ง คงไม่น่าจะยืดเยื้อไปกว่านี้มากนัก แต่ไม่ว่าจะจบอย่างไรก็คงมีผลกระทบ และหลายสถานการณ์หลายพื้นที่ อย่างเช่นในตะวันออกกลางก็ยังมีปัญหาอยู่ ทำให้บรรยากาศของเศรษฐกิจโลกก็ไม่เอื้อให้เราโตจากการส่งออก แล้วก็กรณีค่าเงินบาทก็ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวพอสมควร เพราะตอนนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาเที่ยวเมืองไทยก็ต้องจ่ายแพงขึ้นจากเรื่องค่าเงิน ก็ทำให้ปัจจัยภายนอกไม่ค่อยเอื้อ
อภิสิทธิ์ มองภาพรวมเศรษฐกิจไทยต่อไปว่า สิ่งที่เคยคาดหวังจากการมีรัฐบาลเลือกตั้งก็อาจได้ไม่เต็มที่ เพราะสภาพการเมืองก็ถูกมองว่ายังไม่ถึงกับมั่นคงมากนัก แล้วมันก็ยังมีความคุกรุ่นอยู่ในเรื่องความขัดแย้งต่างๆ กำลังซื้อของคนในประเทศก็มีปัญหามาโดยตลอด รัฐบาลปัจจุบันก็คงเหมือนกับรัฐบาลชุดที่แล้ว คือหาวิธีการกระตุ้นออกมาเป็นระยะๆ ระลอกๆ แต่ก็จะพบว่ารัฐบาลก็ทำมาเยอะมาก มันก็มีความรู้สึกว่าเป็นมาตรการชั่วคราว แต่รอบนี้ก็อาจมีมาตรการประกันรายได้ให้เกษตรกร ที่อาจมาช่วยพยุงกำลังซื้อ แต่มันปฏิเสธไม่ได้ว่าโครงสร้างของเศรษฐกิจมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น และที่เราสัมผัสมาหลายปีต่อเนื่องก็คือ คนที่มีกำลังซื้อจริงๆ คือคนจำนวนไม่มาก ถ้าเราคุยกับคนที่ทำธุรกิจ กลุ่มคนที่จะไม่บ่นก็คือคนที่ทำธุรกิจ ขายของให้คนที่มีเงินกำลังซื้อ แต่หากเป็นคนที่ทำธุรกิจทั่วๆ ไปก็ยังเป็นปัญหาใหญ่อยู่ เพราะฉะนั้นอันนี้ก็น่าเป็นห่วง
ภาพรวมเศรษฐกิจโลกก็จะมีผลกระทบกับไทย และกำลังซื้อที่เราได้รับผลกระทบมาต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ หนี้ครัวเรือน ก็ค่อนข้างกดทับ ซึ่งนอกจากปัจจัยเฉพาะหน้าแล้ว ต้องยอมรับว่าปัญหาในเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยมันไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาอย่างจริงจังพอสมควร เพราะฉะนั้นการที่จะปรับให้ระบบเศรษฐกิจมีโอกาสในการสร้างรายได้มากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำลง สามารถใช้เทคโนโลยีหรือการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มาสร้างมูลค่า ตรงนี้ยังเกิดขึ้นค่อนข้างน้อย มีแต่ภาคเอกชนที่เขาก็จะดิ้นรนแสวงหาทางออกต่างๆ กันเอง แม้แต่คนรุ่นใหม่ๆ คนที่เข้ามาทำธุรกิจใหม่ๆ บางทีก็หนีไปจดทะเบียนในต่างประเทศด้วยซ้ำ ตรงนี้คือสิ่งที่นอกจากจะเป็นปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว ยังควรได้รับการดูแลเอาใจใส่
...ตอนที่รัฐบาลชุดที่แล้วพูดเรื่อง Thailand 4.0 ซึ่งจากวันนั้นมาจนถึงวันนี้ ก็เป็นเรื่องที่แปลกที่คนจำนวนมากก็ยังพูดกันว่าไม่เข้าใจกัน ว่ามันคืออะไร และมาตรการที่รัฐบาลพูดเต็มปากเต็มคำ ว่าจะมีการปรับประเทศไทยไปสู่ 4.0 ก็มีค่อนข้างน้อย กลับกลายเป็นว่าตัวชูโรงของรัฐบาลกลับกลายเป็น EEC และการลงทุนในโครงสร้างระบบพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งหากถามว่าจำเป็นหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า โครงสร้างพื้นฐานเป็นเรื่องจำเป็น และการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษก็เป็นหนทางหนึ่ง แต่มันไม่ใช่ 4.0 แต่เป็นมาตรการและวิธีการที่ไม่ได้แตกต่างจากสมัยที่มีการทำโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก จะเห็นได้ว่ามาตรการที่ใช้ในการดึงดูดนักลงทุน ก็ยังใช้มาตรการอย่างเรื่องการยกเว้นภาษี การออกมาตรการยกเว้นกฎระเบียบต่างๆ จนมีคำถามที่เริ่มมีมากขึ้นว่า นอกจากตัวเลขเงินลงทุนที่ได้ แล้ว ระบบเศรษฐกิจไทยจะได้จากส่วนนี้มากน้อยแค่ไหน เพราะสมัยก่อนเมื่อมีการทำโครงการลักษณะดังกล่าว สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดเมื่อมีการใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุน ก็คือการสร้างงาน ซึ่งปัจจุบัน การลงทุนใหม่ๆ ก็จะพบว่ามีการจ้างงานน้อย อีกทั้งยังไปจ้างแรงงานต่างด้าว เพราะคนไทยไม่ทำหรือหาคนไทยมาทำไม่ได้ ทำให้โจทย์มันเปลี่ยน
อภิสิทธิ์-อดีตนายกฯ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามสิ่งที่มันควรเกิดขึ้นเพื่อรองรับ 4.0 จริงๆ คือเรื่องการรื้อกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ บวกกับการหาสร้างทักษะให้กับคน ซึ่งในเรื่องแรกนอกจากว่าแทบจะไม่เกิดขึ้นแล้ว ยังพบว่ามีการทำแบบสวนทางด้วยซ้ำ เพราะกรอบความคิดในลักษณะรวมศูนย์ โดยใช้ระบบราชการเป็นตัวนำ ยังค่อนข้างจะครอบงำแนวคิดของผู้บริหารในปัจจุบัน ก็เลยทำให้นอกจากกฎระเบียบล้าสมัยจะไม่ถูกยกเลิกแล้ว ยังมีการออกกฎระเบียบต่างๆ ที่ทำให้แม้แต่คนต่างประเทศที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยก็ยังเดือดร้อนจนถึงปัจจุบัน เพราะไปสร้างภาระให้กับเขา และยิ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีการออกกฎหมายใหม่ออกมาร่วม 200 กว่าฉบับ ที่ไปเพิ่มอำนาจให้แก่ฝ่ายราชการมากขึ้นไปอีก และทำให้โครงสร้างหลายอย่างมีการรวมศูนย์มากขึ้น ส่วนการเพิ่มพูนทักษะต่างๆ (Up-Skill) ก็ยังไม่มีแนวทางที่จะไปตอบสนองความต้องการเพิ่มทักษะของคนที่อยู่ในวัยทำงาน การตอบโจทย์ตรงนี้ จะไปใช้การฝึกอบรมที่อิงกับระบบภาครัฐไม่ได้ เพราะอย่างในต่างประเทศก็จะทำในรูปแบบการให้คูปอง และให้ภาคเอกชนทำในส่วนนี้มากกว่า ที่ผ่านมาเราจะไม่ค่อยเห็นการขยับตรงนี้เท่าที่ควร
...สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง โดยในเรื่องของปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่จะเห็นได้ว่ามี ส.ส.อภิปรายเรื่องนี้กันมากตอนประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 อันเป็นเรื่องของปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่แสดงให้เห็นว่าการตอบโจทย์ในเชิงโครงสร้างยังมีน้อยมาก และถึงเวลาที่ต้องหาตัวชี้วัดอย่างอื่นด้วย ไม่ใช่ดูแต่ตัวเลขจีดีพีหรือกรอบเดิมๆ อย่างการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ทำมา โดยในรอบล่าสุดคนที่เป็นคนใช้เงินก็ไม่มีการจำกัดแม้แต่เรื่องรายได้ ซึ่งการที่จะเข้าถึงและใช้สิทธิ์ได้ก็ไม่น่าจะใช่คนที่ยากลำบากที่สุดอยู่แล้ว เพราะก็ต้องมีสมาร์ตโฟน ต้องใช้เทคโนโลยีเป็น อย่างร้านค้าที่ร่วมโครงการก็ยังอยู่ในวงจำกัด คำนวณออกมาก็อยู่ที่ตำบลละ 10 ร้าน และยังมีห้างร้านที่เป็นธุรกิจเครือข่ายจากส่วนกลางไป ก็ยิ่งทำให้เงินไม่หมุนเวียน มันกลายเป็นว่าเราก็ยังไม่ยอมประเมินตั้งแต่ต้นว่าวิธีการที่ใช้ เช่นหากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องการให้มีการลงทุน เราก็ยังไม่มีการประเมินผลกระทบต่อการกระจายรายได้ หรือผลประโยชน์ที่แต่ละกลุ่มได้รับเป็นอย่างไร อย่างโครงการอีอีซีเมื่อเดินไปข้างหน้า ก็อาจจะเกิดปัญหาอีกอย่างที่มี ส.ส.อภิปรายในที่ประชุมสภา เช่น สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ปชป. ที่อภิปรายว่าอาจจะมีคนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย อาจจะเป็นหลักหมื่นก็ได้ อย่างนี้เป็นต้น
อัดฉีดเงินแบบ ชิม ช้อป ใช้ จะทำกันอีกกี่รอบ?
-มาตรการที่รัฐบาลผลักดันออกมาเพื่อจะกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ชิม ช้อป ใช้ ตอนนี้มีเฟสสองแล้ว มองเรื่องนี้อย่างไร?
ผมว่าไม่มีใครมองว่ามันจะเป็นวิธีการที่จะยั่งยืน อย่างหลักเกณฑ์ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไป จนในที่สุดก็ต้องตั้งคำถามว่าแล้วตอบโจทย์พื้นฐานและคนส่วนใหญ่ได้มากน้อยแค่ไหน แล้วจะทำแบบนี้ไปได้อีกกี่รอบ
ที่ผมเป็นห่วงเพราะว่าสภาพที่เป็นอยู่ ประเทศไทยในเรื่องการเติบโต หากดูจากตัวเลขจีดีพี ก็ไม่ได้สะท้อนความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ แม้แต่ตัวจีดีพีเอง ประเทศไทยก็โตต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกันนี้มาสักระยะหนึ่งแล้ว และยิ่งหากเราไปดูรายได้ครัวเรือน หนี้สินครัวเรือน จะยิ่งเห็นได้ชัดโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทจะพบว่าเราไม่ได้โตช้า แต่รายได้มันลดลง ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องตอบโจทย์ให้มันตรง แล้วการสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันของเราก็จะยิ่งทำให้มีโอกาสที่จะทำให้เรายิ่งล้าหลัง เว้นแต่เราจะมีความจริงจังในเรื่องการทำงานเชิงโครงสร้างขึ้นบ้าง
สำหรับข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในเรื่องเศรษฐกิจ อภิสิทธิ์-อดีตนายกฯ ให้ทัศนะว่า ต่อไปนี้การจะทำโครงการ การออกมาตรการ หรือทำนโยบายอะไรก็ตาม ควรจะประเมินก่อนการทำจะดีกว่าหรือไม่ โดยเฉพาะการประเมินผลกระทบที่จะเกิดกับแต่ละกลุ่ม เอาง่ายๆ แค่นี้ก่อน แล้วก็ไปไล่ดูว่าเรื่องพื้นฐานของแต่ละกลุ่มเช่นภาคเกษตร เมื่อมีการทำโครงการประกันรายได้ แล้วควรจะมีการเพิ่มขีดความสามารถพืชผลเกษตรกรรมแต่ละชนิดควรเป็นอย่างไร หรืออย่างภาคอุตสาหกรรมใหม่ๆ, ธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ผมก็ยืนยันว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องเร่งสังคายนากฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค
-แต่ก็มีเสียงสะท้อนเช่นฝ่ายค้าน ที่อภิปรายไว้ตอนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ ว่าโครงการประกันรายได้ก็เปิดช่องให้พ่อค้ากดราคาสินค้าเกษตรได้?
จริงๆ แล้วในส่วนของโครงการประกันรายได้ให้เกษตรกร ในส่วนของข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด เคยมีการทำมาแล้ว และอันหนึ่งที่จำเป็นต้องทำเพิ่มให้ได้ก็คือ ปัญหาที่ว่าพ่อค้า หากเข้ามากดราคาก็ต้องมีมาตรการตรงนั้น ซึ่งความจริงการประกันรายได้ให้ยางพาราและปาล์ม เคยเป็นหนึ่งในห้านโยบายที่เคยประกาศว่าจะต้องผลักดัน โดยสินค้าเกษตรอีกสี่ชนิดก็ต้องเร่งทำให้มาก แต่ก็ต้องเห็นใจเพราะอย่างเรื่องปาล์มหากจะผลักดันกันจริงจัง กระทรวงพลังงานต้องเข้ามาร่วมสนับสนุนด้วย เช่นการตรวจสอบเรื่องการนำเข้าและส่งออก ก็สำคัญในแง่การบังคับใช้กฎหมายต่างๆ เช่นเดียวกับเรื่องยางพารา เพื่อนำมาทำถนน ก็ต้องจริงจังมากขึ้นไปอีก จากปัจจุบันที่ใช้วิธีโยนให้ท้องถิ่นทำ โดยมีคำถามว่าแล้วเหตุใดหน่วยงานหลักในส่วนกลางไม่ดำเนินการทำ อย่างกระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม เขาอาจจะคิดว่าไม่ใช่ภารกิจหลักของเขา
ปัญหาตอนนี้กลับกลายเป็นว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันทุกคนก็เร่งทำงานของตัวเอง แต่ภาพรวมการขับเคลื่อนงานของรัฐบาลในฐานะรัฐบาลค่อนข้างน้อย ไม่มีภาวะการนำทางความคิดว่าจะไปอย่างไร เพราะว่าทีมเศรษฐกิจหลักของรัฐบาลเดิมชุดที่แล้ว มาวันนี้ดูเหมือนกับพื้นที่เขาแคบลง เพราะก็มีพรรคร่วมรัฐบาลเข้าไปทำงานในด้านต่างๆ ความเป็นทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเลยยิ่งน้อยลงไปกว่าเดิม โดยที่ทีมเก่าก็ยังคิดแบบเดิมๆ เช่นการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบที่ทำอยู่
-สรุปว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายไปจนถึงปีหน้าภาพรวมจะเป็นอย่างไร?
ก็น่าเป็นห่วง คือต้องยอมรับว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็ต้องทำไป ส่วนการแก้ปัญหาหลายอย่างในเชิงโครงสร้างก็อาจไม่เห็นผลในระยะสั้น แต่จำเป็นต้องทำแล้ว เพราะไม่เช่นนั้นจะยิ่งทำให้ในอนาคต จะยิ่งยากลำบากขึ้นไปอีก
เสียงปริ่มน้ำไม่ใช่ปัญหาหลัก แต่อยู่ที่ศรัทธาต่อรัฐบาล
ระหว่างการสนทนาเราถาม อภิสิทธิ์ ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรีว่า การที่เสียง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลมีเกินกว่ากึ่งหนึ่งไม่กี่เสียง เป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ จะมีผลต่อการบริหารประเทศหรือไม่ อดีตนายกฯ ให้มุมมองว่า รัฐบาลก็บริหารจัดการของเขาได้อยู่ ผมไม่คิดว่าจะเป็นปัญหาหลัก แต่ปัญหาหลักอยู่ที่เรื่องศรัทธาในตัวรัฐบาล ความสามารถในการแก้ปัญหา ความโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต แล้วก็เงื่อนไขความขัดแย้งทางการเมืองมากกว่า ที่จะเป็นปัจจัยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผมมองว่าเรื่องเสียง ส.ส.รัฐบาลเขามีวิธีบริหารจัดการของเขาอยู่
-ก็คือมองว่าด้วยเสียง ส.ส.รัฐบาลที่มีอยู่ ก็น่าจะประคองรัฐบาลไปได้ยาว?
แต่อย่าลืมว่าที่เราคุยกันไปก่อนหน้าทั้งหมด มันจะเป็นตัวชี้ว่าเงื่อนไขเหล่านั้นต้องได้รับการจัดการ ถ้าห่วงแต่ว่ารัฐบาลจะมีเสียงข้างมากหรือไม่ แต่ตัวรัฐบาลไม่พยายามจะไปแก้ปมเหล่านั้น สุดท้ายก็จะกลับมาที่ปัญหาการเมือง เพราะเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องความเหลื่อมล้ำ ไปจนถึงความรู้สึกเรื่องความเป็นธรรม แล้วยังมีเรื่องของคดีการเมืองที่ค้างคากันอยู่มาก ร้องกันไปเช้าสายบ่ายเย็น โดยผลที่ออกมามีทั้งฝ่ายที่พอใจและไม่พอใจ สิ่งเหล่านี้ผมว่าเป็นเงื่อนไขมากกว่าเรื่องเสียง ส.ส.ในสภาอีก
-คิดว่ารัฐบาลจะอยู่ได้ยาวแค่ไหน?
ก็ยังอยู่ได้
-คืออย่าให้มีเรื่องปัญหาทุจริต?
จะบอกว่าแค่เรื่องทุจริตเรื่องเดียวคงไม่ได้ แต่สิ่งใดที่บั่นทอนศรัทธา ความเชื่อมั่น มันก็มีผลทั้งนั้น จริงๆ การเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ มันควรเป็นตัวกระตุ้นให้รัฐบาลรู้ตัวเองว่าจะต้องเป็นรัฐบาลที่ดี ถึงจะอยู่ได้.
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
และ รัชดา ชัยบรรเจิด
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |