รถโดยสารเส้นทางน่าน-หลวงพระบาง ให้บริการวันละเที่ยวเท่านั้น เช่นเดียวกับขาออกจากหลวงพระบางมายังน่าน ใช้รถไทยและรถลาวสลับกัน หากรถออกจากน่านเป็นรถไทย รถที่ออกจากหลวงพระบางก็เป็นรถลาว มีคนบอกให้จำง่ายๆ ว่ารถที่ออกจากน่านในวันคู่คือรถไทย ส่วนวันคี่คือรถลาว มินิบัสของ บขส.ไทยนั้นมี 21 ที่นั่ง ส่วนของลาวเป็นรถตู้ใหญ่ จุได้ 15 คน เท่ากับว่ามีการเคลื่อนย้ายคนระหว่างประเทศด้วยรถโดยสารผ่านเส้นทางนี้ไม่เกินวันละ 36 ราย (รวมคนขับแล้ว)
ขบวนเรือไฟในงานลอยกระทงเมืองหลวงพระบาง บนถนนศรีสว่างวงศ์ มุ่งหน้าแม่น้ำโขง
เอกสารแผ่นพับเขียนไว้ว่า ระยะทาง 373 กิโลเมตร รถวิ่ง 8 ชั่วโมง 30 นาที แต่ความจริงนั้นใช้เวลาวิ่งประมาณ 10 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ของไทยที่ผมพูดคุยด้วยเมื่อวานก็ให้ข้อมูลแบบไม่โอ้อวดว่า 10 ชั่วโมง เป็นที่น่าเสียดายว่าเส้นทางใหม่ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จและเปิดใช้งานแล้ว จากเมืองหงสา แขวงไชยบุรี ถึงเมืองจอมเพ็ด แขวงหลวงพระบาง ยังไม่เปิดให้สัมปทานเส้นทางรถโดยสาร ไม่เช่นนั้นจะย่นระยะเวลาเดินทางลงไปได้อีกราว 3 ชั่วโมง
ตอนที่มินิบัสของ บขส. ออกจากน่านและมาถึงสถานีขนส่งอำเภอทุ่งช้างนั้นมีผู้โดยสารมาประมาณครึ่งคัน เพิ่มผมเข้าไปอีกคนก็ยังถือว่าโล่งมาก โดยเฉพาะด้านหลังไม่ค่อยมีคนนั่ง จึงไม่เกรงใจวางกระเป๋าเดินทางบนเบาะเสียเลย ผมยิ่งดีใจที่กระจกรถโล่งกว้างและใส เพราะการได้มองออกไปเห็นวิวแบบสบายๆ จะทำให้เมารถได้ยากขึ้น
ด่านพรมแดนห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน
รถค่อยๆ ไต่ขึ้นเขาจากอำเภอทุ่งช้างไปยังอำเภอเฉลิมพระเกียรติ บนภูเขาหลายลูกเต็มไปด้วยไร่ข้าวโพด ทำให้นึกถึงศิลปินแห่งชาติของเราท่านหนึ่งขึ้นมาอย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งที่ข้าวโพดเหล่านั้นอาจไม่ใช่พันธุ์ตองแปดที่น้าแกร้องเพลงโฆษณาก็เป็นได้ ส่วนยาฆ่าวัชพืชที่ใช้ก็อาจจะไม่ใช่สารพิษ 3 ชนิดที่น้าแกแต่งเพลงร้องอ้อนวอนไปยังนายกฯ ว่า “...เอาไงดีล่ะพี่ตู่”
เวลา 10.45 น. มินิบัสของเราก็มาถึงด่านพรมแดนห้วยโก๋น ผู้โดยสารต้องลงจากรถไปให้เจ้าหน้าที่ปั๊มตราออกนอกราชอาณาจักรไทยพร้อมจ่ายเงินคนละ 10 บาท ไม่แน่ใจว่าชาวลาวและฝรั่งคนหนึ่งที่มาด้วยกันต้องจ่ายด้วยหรือไม่ จากนั้นก็ขึ้นรถคันเดิม วิ่งไปได้แค่สอง-สามร้อยเมตรก็ถึงด่านน้ำเงินของ สปป.ลาว ได้ตราอนุญาตให้พำนักได้ 30 วันแล้วก็จ่ายเงินกับเจ้าหน้าที่ซึ่งนั่งแยกโต๊ะออกไปคนละ 25 บาท ในตั๋วเขียนว่า Tourism Fund = 1 USD จะเรียกค่ามาท่องเที่ยวก็ได้
หนุ่มฝรั่งไม่รู้ว่าต้องใช้วีซ่าเข้า สปป.ลาว ที่เรียกว่า Visa on Arrival จึงต้องกรอกเอกสาร ผมเดินเข้าไปถามว่ามีปัญหาอะไรหรือเปล่า เขากำลังหารูปที่พอดีขนาดกับช่องว่างติดรูปมุมขวาบนของแบบฟอร์ม ผมบอกว่ารูปที่มีนั่นแหละ ยื่นให้เจ้าหน้าที่ไปเลย ไม่จำเป็นต้องขนาดเป๊ะๆ หรอกมั้ง แล้วผมก็เดินไปรอที่รถพร้อมผู้โดยสารชาวไทยและชาวลาว สักพักเขาก็เดินตามมาขึ้นรถ บอกว่าเรื่องรูปขนาดใหญ่ไปไม่มีปัญหา ผมถามว่าต้องจ่ายค่าวีซ่าเท่าไหร่ เขาตอบ 35 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,000 บาท
ทุ่งนาปะทะโรงไฟฟ้า บ้างก็ว่าอยู่ร่วมกันได้ดี
ก่อนนี้เขาไม่ทราบว่าชาวอเมริกันต้องใช้วีซ่าเข้า สปป.ลาว คงนึกว่าหนังสือเดินทางของสหรัฐจะพาเขาไปที่ไหนก็ได้ตามศักดิ์และสิทธิ์ของพาสปอร์ตที่อยู่อันดับต้นๆ ของโลก ระหว่างที่รถจอดแวะกินมื้อเที่ยงที่ตัวเมืองหงสา แขวงไชยบุรี ผมเห็นเขานั่งคนเดียวจึงเข้าไปนั่งด้วย สอบถามได้ความว่าเป็นครูสอนภาษาอังกฤษอยู่ที่โรงเรียนในตัวเมืองน่านได้ 2 ปีแล้ว เขากินก๋วยเตี๋ยวหมู ผมกินก๋วยเตี๋ยวไก่ น้ำคนละขวด ผมเดินไปขอจ่ายค่าอาหารเป็นเงินไทย แม่ค้าบอกคนละ 60 บาท ผมจ่ายให้ครูฝรั่งด้วย กลับมาที่โต๊ะเขาแสงอาการงงๆ พูดขึ้นว่า “คุณเพิ่งจ่ายค่าอาหารให้ผมไปนะนั่น” แต่ก็ไม่ได้ยื่นเงินมาให้ ผมบอกว่า “ไม่เป็นไร” รู้สึกดีใจมากที่ได้เลี้ยงข้าวชาวอเมริกัน
หลังกลับไปขึ้นรถ คนขับมือสองที่นั่งมาด้วยกันก็ขึ้นทำหน้าที่หลังพวงมาลัยแทนเพื่อให้คนแรกได้พัก นี่แสดงว่า บขส.ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ตามที่ผมทราบมาโชเฟอร์รถโดยสารจะขับรวดเดียวเกิน 4 ชั่วโมงไม่ได้ ต้องพักครึ่งชั่วโมงถึงจะสามารถขับต่อ หากพักไม่ถึงกำหนดก็ต้องเปลี่ยนคนขับ
ตั้งแต่ออกจากด่านน้ำเงิน ภูมิประเทศของฝั่งลาวก็เป็นภูเขาเช่นเดียวกับฝั่งไทย มีบ้างเหมือนกันที่ปลูกข้าวโพด และหากมีที่ราบแม้เพียงเล็กน้อยก็จะปลูกข้าว ทำให้ภาพสีเหลืองทอง สีเขียวอ่อน ตัดกับฉากหลังที่เป็นภูเขาสีเขียวเข้มมองแล้วสบายตาน่าประทับใจ เสียอย่างเดียวที่ถนนหนทางบางช่วงยังเป็นหลุมเป็นบ่อ อีกทั้งเล็กแคบ ส่วนลาดเอียงที่ถูกถากออกเป็นไหล่เขาให้รถวิ่งมีหลายช่วงเป็นดินแดง ไม่ค่อยจะมีต้นไม้ต้นหญ้าปกคลุม นึกแล้วเสียวไส้อยู่เหมือนกันหากว่าฝนตกหนักแล้วน้ำชะเอาดินโคลนถล่มลงมา ยังดีที่เห็นมีรางน้ำแคบๆ ทำจากปูนซีเมนต์แทรกอยู่บนพื้นที่ลาดชันรองรับน้ำที่ไหลลงมาจากด้านบนสู่ร่องขอบถนน ส่วนฝั่งไทยนั้นอย่างน้อยยังมีหญ้าแฝกช่วยยึดหน้าดินเอาไว้
สามเณรก็คือนักศึกษา ไม่มีปัญหาถ้าต้องปั่นจักรยาน
ตอนรถวิ่งผ่านหุบเขาที่ตั้งของโรงไฟฟ้าหงสานั้น แม้รวมเอาควันที่พวยพุ่งออกมาจากเตาด้วยก็ยังถือว่าเป็นทัศนียภาพค่อนข้างสวยงาม ส่วนที่เป็นพื้นราบมีนาข้าวกว้าง บางแปลงกำลังมีการลงแขกเกี่ยวข้าว ในเขตชุมชนมีการปลูกบ้านทรงทันสมัย ส่วนใหญ่ใช้แปลนแบบเดียวกัน ผู้อยู่อาศัยคงมีหลักมีฐานมั่นคงพอสมควร ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนนี้ (ใช้ถ่านหินลิกไนต์) ผลิตออกมาขายให้กับ กฟผ.ของไทยเป็นหลัก ผู้ลงทุนก็เป็นเอกชนไทย มีรัฐวิสาหกิจของลาวร่วมหุ้นแค่ 20 เปอร์เซ็นต์
รถวิ่งมาถึงเมืองไชยบุรี โชเฟอร์แวะปั๊มเพื่อให้ผู้โดยสารเข้าห้องน้ำ ตอนขึ้นรถและกำลังจะออกเดินทางต่อ ผมต้องตะโกนบอกโชเฟอร์ว่าฝรั่งยังไม่มา รอกันอยู่อีกนานก็ยังไร้วี่แวว เขาอยู่ในห้องน้ำหรือปาร์ตี้งานแต่งที่บ้านฝั่งตรงข้ามกันแน่ ผมอาสาไปสืบบริเวณห้องน้ำ ฝรั่งอยู่ในนั้น แว่วเสียงออกมาว่าท้องมีปัญหา
ผมกลับมาขึ้นรถแล้วบอกโชเฟอร์ว่าให้รออีกหน่อย อีกครู่ฝรั่งก็ออกจากห้องน้ำ ถือกระเป๋าเสื้อผ้าออกมาด้วย และที่สะดุดตาก็คือกางเกงไม่ใช่ตัวเดิม ทำให้ผมรู้ที่มาของกลิ่นไม่พึงประสงค์ในรถก่อนหน้านี้ นึกแล้วว่าทำไมเขาต้องลุกไปนั่งห่างผู้โดยสารคนอื่นๆ ที่ตอนนี้เหลืออยู่เพียง 5 คนเท่านั้น คนลาวทั้งหมดพากันลงที่เมืองหงสา
รถผ่านสะพานท่าเดื่อ ข้ามแม่น้ำโขง สิ้นสุดพื้นที่แขวงไชยบุรีเข้าสู่พื้นที่แขวงหลวงพระบาง เริ่มเห็นสวนยางพาราและสวนกล้วยแซมอยู่กับป่าเต็งรัง ตรงพื้นราบในหุบเขาก็จะเป็นที่นา แบบขั้นบันไดก็มี แต่ไม่ถึงกับอลังการอย่างซาปาของเวียดนาม รถเข้าสู่เมืองหลวงพระบาง ถึงสถานีขนส่งเวลา 17.50 น. หย่อน 10 ชั่วโมงไปแค่ 10 นาที
ข้าวสุกก็เป็นสุขลุกมาเกี่ยวด้วยเคียวคม แดดฝนปนสายลมจึงอุดมเป็นชีวี (ฮั่นแน่!)
จัมโบ้หรือตุ๊กๆ ลาว แต่มีลักษณะคล้ายสกายแล็บในภาคอีสานบ้านเรามากกว่า บรรดาโชเฟอร์รู้ดีว่าจะมีรถโดยสารเข้ามาเวลาใด พวกเขากรูกันมาตั้งแต่มินิบัสจอดยังไม่สนิท คนหนึ่งเข้ามาคุยกับผม เรียกราคาซาวพัน หรือ 20,000 กีบ หากจะจ่ายเป็นเงินไทยก็ 80 บาท สำหรับปลายทางสีสมพอนเกสต์เฮาส์ ห่างออกไป 2.5 กิโลเมตร ผมต่อเหลือ 60 บาท เขาก็ยินดี แต่ขอหาผู้โดยสารเพิ่ม
ฝรั่งอุจจาระแตกจะไปเส้นทางเดียวกับผมจึงขึ้นคันเดียวกัน เขาฟังภาษาไทย-ลาวที่ผมสื่อสารกับโชเฟอร์พอเข้าใจ ควักเงินออกมาจ่าย 120 บาท แล้วพูดว่า “คุณได้จ่ายค่าข้าวให้ผมไปแล้ว” ยังไงชาวอเมริกันก็ไม่ทิ้งสไตล์อเมริกันแชร์
เรารออยู่อีกหลายนาทีจัมโบ้ก็ยังไม่ออก เพราะโชเฟอร์ยังหาผู้โดยสารเพิ่ม ทราบมาว่าต้องได้อย่างน้อย 5 คน สุดท้ายเขาถ่ายเราทั้ง 2 คนให้ไปขึ้นอีกคัน มีครอบครัวพ่อแม่และลูก 2 คนจากจังหวัดน่านอยู่บนนั้น พวกเขาจ่ายค่ารถคนละ 50 บาท รวมถึงเด็กหญิงอายุราวๆ 8-9 ขวบทั้ง 2 ก็ต้องจ่ายเท่าผู้ใหญ่
พี่ผู้หญิงให้ข้อมูลกับผมว่า คืนนี้แรม 1 ค่ำ เดือน 11 หลวงพระบางมีงานลอยกระทง พวกเขาลอยก่อนเมืองไทย 1 เดือน บางแห่งก็ลอยคืนวันออกพรรษา ขณะที่บ้านเรามีประเพณีตักบาตรเทโว
เมื่อยามมินิบัสข้ามแม่น้ำโขงบนสะพานท่าเดื่อ จากแขวงไชยบุรีสู่แขวงหลวงพระบาง
จัมโบ้วิ่งมาได้ไม่เท่าไหร่ ฝ่ายโชเฟอร์บอกว่าถึงแล้ว ผมลงไปอย่างงงๆ เพราะรู้สึกว่าระยะทางยังไม่ถึงครึ่งของ 2.5 กิโลเมตรด้วยซ้ำ พอถามคนแถวนั้นก็พบว่ามีเกสต์เฮาส์อยู่ใกล้ๆ ชื่อสีสมบัด ไม่รู้คนขับมักง่ายหรือจำคลาดเคลื่อนจากสีสมพอนเป็นสีสมบัดกันแน่ ผมต้องโบกจัมโบ้คันใหม่ คราวนี้ก็ยังเรียกซาวพันราคามาตรฐาน ผมต่อเหลือ 40 บาท เขาก็บอกว่าขึ้นโลด
เช็กอินที่สีสมบัดเกสต์เฮาส์ ลักษณะเป็นบ้านไม้ทรงโบราณ แต่ไม้ดูใหม่ ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำคาน ห่างจากจุดที่บรรจบกับแม่น้ำโขงราว 2 กิโลเมตร จากนั้นเดินกลับออกไปยังถนนเจ้าชมพูเพื่อจะตามขบวนชาวหลวงพระบางไปยังริมโขง ส่วนมากมีกระทงในมือ ที่ยังไม่มีก็หาซื้อริมบาทวิถี พ่อค้าแม่ค้าวางขายกันเกลื่อนไม่กี่สิบเมตรต่อ 1 เจ้า ส่วนบนถนนต้องหลีกทางให้กับขบวนมอเตอร์ไซค์ที่มุ่งหน้าริมโขงเช่นกัน
“คนไทยหรือเปล่า” มีเสียงทักออกมาจากร้านอาหารขณะผมกำลังเดินปนไปกับชาวหลวงพระบาง คงดูออกเพราะในมือผมไม่มีกระทงหรือว่าใบหน้าบ่งบอกว่าเป็นไทยแท้แต่โบราณ หันไปทางต้นเสียง ชายคนหนึ่งอายุราวๆ 50 ปี นั่งอยู่ในร้านอาหารบนโต๊ะติดบาทวิถี ดื่มเบียร์ลาวอยู่คนเดียว แต่กับแกล้มหลายอย่าง เป็นไปได้ว่ามีสมาชิกไปเข้าห้องน้ำ ผมไม่ได้สังเกตว่ามีแก้ววางอยู่กี่แก้ว
พี่คนนี้บอกข่าววงคาราบาวจะเล่นคอนเสิร์ตคืนนี้ที่ร้านวัยหวาน หรือบางคนรู้จักในชื่อฮาร์ทบีท แกเป็นคนติดต่อคาราบาวมาด้วยตัวเอง “ร้านนี้ถามใครก็รู้จัก น้องไปดูเขาลอยกระทงก่อนแล้วค่อยตามไปนะ”
ผมขอบคุณแล้วไหว้ลา นึกในใจว่าของเขาแรงจริงๆ แค่คิดถึงอยู่ไม่กี่ชั่วโมงก่อนก็มาอยู่เมืองเดียวกันเสียแล้ว แต่ก็รู้สึกว่าถ้าได้ดูคาราบาวยามอยู่ต่างบ้านต่างเมืองคงเข้าทีไปอีกแบบ
ขบวนโคมไฟบนถนนศรีสว่างวงศ์ เมืองหลวงพระบาง
เมื่อเดินเข้าถนนกิ่งกิสราช ผ่านภูเขาเล็กๆ ชื่อพูสี เลี้ยวขวาไปได้ไม่ไกลนักผมก็เลิกตามขบวน ตัดเข้าซอยที่เชื่อมกับถนนศรีสว่างวงศ์ พอถึงถนนศรีสว่างวงศ์ก็พบกับกลุ่มคนแน่นบาทวิถีทั้ง 2 ฝั่ง บนถนนเว้นไว้ให้กับขบวนแห่เรือไฟรูปพญานาคขนาดใหญ่ แต่ดูแล้วมีน้ำหนักเบา แต่งลวดลายแสงสีให้สว่างไสว กลุ่มนำถือพานดอกไม้ หรือฟ้อนรำตามเสียงดนตรี บางขบวนเล่นดนตรีสด เดินเล่นแบบวงดุริยางค์ บางขบวนเปิดเครื่องเสียง มีคนเข็นลำโพง คนในขบวนที่ตามเรือไฟล้วนถือกระทงใบตองปักธูปเทียนหรือไม่ก็ประทีบโคมไฟ แต่ละขบวนคงจะเป็นตัวแทนหมู่บ้านและโรงเรียน มีจำนวนหลายสิบขบวนหรืออาจจะเกือบร้อย เข้าใจว่ามีการประกวดแข่งขันด้วย
งานบุญไต้โคมไฟและไหลเรือไฟของหลวงพระบางนี้เป็นภาพที่ทำให้ผมนึกถึงประเพณีลากเรือพระ หรือชักพระทางภาคใต้ของไทยที่จัดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ล้วนเป็นสัญลักษณ์รำลึกการรับเสด็จและแห่แหนพระพุทธองค์หลังเสด็จกลับลงมาจากการโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในวันออกพรรษาปีหนึ่ง
หนึ่งในเรือไฟงานลอยกระทงหลวงพระบาง เมื่อคืนแรม 1 ค่ำเดือน 11 ที่ผ่านมา
ผมรู้สึกหิวมาได้สักพักแล้ว เจอซุ้มแลกเงินก็เข้าไปดูอัตราแลกเปลี่ยน เห็นว่ารับได้ก็ใช้ดอลลาร์สหรัฐแลกเป็นเงินกีบ แล้วเดินเข้าร้านอาหารทันที ระหว่างรอเสิร์ฟก็ดูขบวนแห่เรือไฟไปเพลินๆ พร้อมเบียร์ลาวที่ราคาในเมนูขึ้นไปอยู่ที่ 18,000 กีบ แต่ยังถูกกว่าบ้านเราหลายช่วงตัว ถามบริกรหนุ่มว่าร้านวัยหวานอยู่ทิศทางใด เพราะหาในแผนที่กูเกิลไม่เจอ เขาอธิบายว่าต้องนั่งจัมโบ้ออกไปนอกเมือง เลยตัดสินใจง่ายขึ้นว่าขอกลับไปชมคาราบาวที่เมืองไทยจะดีกว่า
กินมื้อค่ำเสร็จผมเดินเข้าซอยลัดไปออกถนนแคมโขงที่อยู่ขนานกับถนนศรีสว่างวงศ์ เห็นกระทงกำลังลอยในแม่น้ำบูชารอยพระพุทธบาทใต้บาดาล บรรดาเรือไฟที่อยู่ในขบวนแห่เมื่อสักครู่ก็เป็นเรือลอยน้ำได้จริง
ทำให้ลำโขงสว่างไสวงดงาม แข่งกับแสงจันทร์แจ่มจ้าที่เพิ่งเต็มดวงเมื่อคืนวาน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |