IMF หั่นเศรษฐกิจไทยปี 62 โตแค่ 2.9% แนะใช้นโยบายการคลังการเงินแบบผ่อนคลาย ลดแรงกระแทก ศก.ขาลง พาณิชย์ขานรับอันดับทำธุรกิจดีขึ้น จ่อปรับปรุงลดขั้นตอน พึ่งเทคโนโลยี AI ช่วยให้เร็วขึ้น
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม นายโจนาธาน ออสทรี รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียและแปซิฟิก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินว่า ในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.9% ซึ่งเป็นการปรับประมาณการลดลงจากเดิมที่เคยประเมินไว้เมื่อเดือน เม.ย.62 ที่ระดับ 3.5% เนื่องจากผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากผลของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมถึงปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ขณะที่ปี 63 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ราว 3%
พร้อมมองว่าไทยยังสามารถใช้นโยบายการคลังและนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และลดแรงกระแทกจากเศรษฐกิจขาลง รวมทั้งควรส่งเสริมนโยบายการออมเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
"ไทยยังมีพื้นที่ทางการคลังที่จะดำเนินนโยบายการคลัง และนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ให้เศรษฐกิจเข้าสู่ขาลงที่รุนแรง การใช้เครื่องมือทางการคลังที่เหมาะสมจะช่วยลดแรงกระแทกเศรษฐกิจขาลงได้" นายโจนาธาน ออสทรี ระบุ
พร้อมกันนี้ ไอเอ็มเอฟยังเปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย พบว่า ในปี 62 เศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มขยายตัว 5% และในปี 63 คาดว่าจะขยายตัว 5.1% (ต่ำกว่าที่เคยประมาณการไว้เมื่อเดือน เม.ย.62) โดยการค้าและการลงทุนชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญจากมาตรการกีดกันทางการค้าและความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการผลิต
สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในประเทศพัฒนาแล้ว และภาวะการเงินโลกที่ผ่อนคลายมากขึ้น แม้จะเป็นปัจจัยที่ช่วยประคับประคองการขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชีย แต่ขณะเดียวกันก็อาจส่งผลกระทบต่อความเปราะบางทางการเงินของประเทศในภูมิภาค
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกภูมิภาค ได้แก่ ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักชะลอตัวกว่าที่คาดไว้ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และความเสี่ยงจากการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (BREXIT) แบบไร้ข้อตกลง ส่วนปัจจัยเสี่ยงภายในภูมิภาค ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ความตึงเครียดภายในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น และความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สูงขึ้น
รอง ผอ.ฝ่ายเอเชียและแปซิฟิก ไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง และความกังวลในอนาคตต่อภาวะการค้าโลก ส่งผลให้การลงทุนในภูมิภาคเอเชียชะลอตัวลง การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรลดลง การส่งออกลดลง แต่การบริโภคยังไปได้ดี เพราะมีนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย การบริโภคจึงไม่ได้ลดลงมากนัก อย่างไรก็ดี การที่เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโตได้ราว 5% นั้น แม้จะเป็นการเติบโตที่ชะลอตัวลง แต่เศรษฐกิจในเอเชียก็ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพยุงให้เศรษฐกิจโลกยังมีการเติบโตได้
ในรายงานของไอเอ็มเอฟยังระบุด้วยว่า ภายใต้แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคควรใช้ขีดความสามารถของนโยบายการคลังและนโยบายการเงินที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ขณะที่การดำเนินนโยบายในภาคการเงิน ควรปรับตัวในเชิงรุกเพื่อป้องกันไม่ให้ภาวะการเงินโลกที่ผ่อนคลายมากขึ้นนั้น เร่งให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน โดยเฉพาะมาตรการลดปัญหาหนี้สินภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนในประเทศที่มีความเสี่ยง
นอกจากนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง ยังเน้นให้เห็นถึงความจำเป็นในการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เพื่อเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม ประกอบกับการเติบโตบนความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม สำหรับนโยบายในการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ได้แก่ การเปิดเสรีทางการค้ามากขึ้น ผ่านการลดมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีให้แก่การค้าบริการระหว่างประเทศ และการผ่อนคลายเงื่อนไขการลงทุน การลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และการปรับปรุงระเบียบกฎเกณฑ์ ตลอดจนมาตรการเพื่อลดปัจจัยที่เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ รวมถึงการสร้างกันชนทางการคลัง เพื่อรับมือต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้น เป็นต้น
ด้านนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้ประกาศผลสำรวจการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ หรือ Doing Business 2020 พบว่า ประเทศไทยมีคะแนน Ease of Doing Business สูงขึ้น ขยับจาก 79.50 เป็น 80.10 คะแนน เพิ่มขึ้น 6 อันดับ จากอันดับที่ 27 (ปี 2019) เป็นอันดับที่ 21 (ปี 2020) และอยู่ในกลุ่ม 25 ประเทศแรกของโลกจาก 190 ประเทศที่มีความง่ายในการประกอบธุรกิจ
สำหรับตัวชี้วัดภายใต้การจัดอันดับดังกล่าว กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลัก คือ ตัวชี้วัดด้านการเริ่มต้นธุรกิจ (Starting a Business) โดยไทยมีคะแนนสูงขึ้น ขยับจาก 92.30 เป็น 92.40 ซึ่งอยู่ในช่วงคะแนนที่สูงมาก แสดงถึงผลสำเร็จของการปฏิบัติงานอย่างดีเยี่ยมของกรม ส่งผลในปีนี้ไทยอยู่ในอันดับที่ 47 (ปี 2019 : อันดับที่ 39) และอยู่ในอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และบรูไน ตามลำดับ
โดยทิศทางการพัฒนาการให้บริการของกรมจะดำเนินการปรับปรุงระบบการจองชื่อนิติบุคคล ให้สามารถตรวจสอบและทราบผลการอนุมัติการจองชื่อได้ทันที โดยใช้เทคโนโลยี AI เพื่อเพิ่มความรวดเร็วมากขึ้น และปรับปรุงการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) พัฒนารูปแบบการกรอกข้อมูลรายการจดทะเบียนในระบบ e-Registration ให้ง่ายมากขึ้น
รวมถึงเพิ่มช่องทางการยืนยันตัวตนผ่านทางเครื่องมือสื่อสารระบบออนไลน์ โดยประชาชนไม่จำเป็นต้องเดินทางมายืนยันตัวตนที่กรม ประกอบกับการสร้างความรู้ความเข้าใจและสนับสนุนให้นักธุรกิจรุ่นใหม่หันมาใช้ระบบ e-Registration เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีธุรกิจจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจผ่านระบบ e-Registration แล้วจำนวน 24,473 ราย (ข้อมูล ณ เดือน ก.ย.2562)
นอกจากนี้ ยังมีแผนการดำเนินงานที่จะรวมขั้นตอนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของกรมสรรพากร และการขึ้นทะเบียนนายจ้าง-ลูกจ้างของสำนักงานประกันสังคมไว้กับการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในเดือน ม.ค.2563 ซึ่งหากเปิดให้บริการแล้วจะทำให้ภาพรวมของการจัดตั้งธุรกิจลดลงจาก 5 ขั้นตอน เหลือ 3 ขั้นตอน และใช้ระยะเวลาลดลงจาก 4.5 วัน เหลือเพียง 2.5 วัน ซึ่งกรมมั่นใจว่าจะส่งผลให้ผลการพิจารณาการจัดอันดับในปีหน้ามีอันดับที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน ก่อให้เกิดแรงจูงใจและดึงดูดให้ผู้ประกอบการชาวต่างชาติมาเริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |