"ชวน" ชี้สถานะ "ธนาธร" เป็น กมธ.วิสามัญจากคนนอกได้หาก กมธ.งบฯ ติดใจต้องทำเรื่องมาเพื่อส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวินิจฉัย "วิรัช" ยันเป็นได้ แต่สงวนความเห็นไปอภิปรายในสภาในฐานะ ส.ส.ไม่ได้ โฆษกฯ กมธ.งบฯ ประเดิมเรียก ก.พาณิชย์ ชี้แจงวางไทม์ไลน์ถกวาระ 2-3 ช่วง 10 ม.ค.63 "วิษณุ-สมชัย" ตอก "ธนาธร" เลือกตั้งซ่อมนครปฐมไม่ได้เกิดจากทุจริต ไม่ต้องคำนวณหา ส.ส.ใหม่ "บิ๊กตู่" ลั่นปมถวายสัตย์ฯ จบแล้ว "ไพบูลย์" เตือน "เสรีพิศุทธ์" เรียกนายกฯ ชี้แจงก้าวล่วงพระราชอำนาจ "ส.ว.สมชาย" ขู่ กมธ.ปฏิบัติหน้าที่มิชอบเจอคุก 1-10 ปี
ที่รัฐสภา วันที่ 25 ตุลาคม นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ยื่นเรื่องให้วินิจฉัยสถานะของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 สามารถเป็น กมธ.ได้หรือไม่ ว่า ไม่ได้มีการยื่นเรื่องเข้ามา เพียงแต่เห็นข่าวเท่านั้น ซึ่งการตั้ง กมธ.ไม่ใช่ประธานสภาฯ ตั้ง เป็นเรื่องของสภาลงมติตั้งใครก็ได้ที่เป็นกมธ.วิสามัญฯ ซึ่งเราอนุญาตให้เป็นได้ทั้ง ส.ส.และคนนอก ถ้าสมมติผู้หนึ่งผู้ใดคุณสมบัติไม่ครบ กมธ.หรือประธาน กมธ.น่าจะส่งเรื่องถึงประธานสภาฯ แต่ยังไม่ได้ส่งอะไรมา เพราะถ้าส่งมาก็จะดำเนินการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า บุคคลที่ถูกศาลสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. แต่ไปเป็น กมธ.ในสัดส่วนคนนอก สามารถทำได้หรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ต้องยึดกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นหลัก บทบาทของการเป็นผู้แทนราษฎรทำไม่ได้ แต่บทบาทของ กมธ.วิสามัญฯ เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งต้องแยกให้ออก ซึ่งประเด็นไม่น่าจะมีปัญหามากเพียงแต่อาจมีผู้ติดใจ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นนั้น แต่จริงๆ แล้วทางฝ่ายสภามีความเห็นว่าเขาสามารถทำหน้าที่เป็น กมธ.ได้ แต่ภายในกรอบว่าถ้าอะไรที่เกี่ยวกับบทบาทของความเป็นผู้แทนฯ ก็ทำไม่ได้
เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่ามาในสัดส่วนคนนอกได้ นายชวนกล่าวว่า คนนอกก็มาลงชื่อ แต่ลงมติไม่ได้
ต่อมาช่วงบ่าย นายชวนให้สัมภาษณ์อีกครั้งกรณีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ทำหนังสือให้วินิจฉัยคุณสมบัติของนายธนาธรว่า นายสุชาติสามารถทำหนังสือมายังตนตามสิทธิที่ทุกคนสามารถทำได้ ส่วนนายธนาธรในฐานะกมธ.งบประมาณฯ จะแปรญัตติและใช้สิทธิอภิปรายวาระสองในชั้นประชุมสภาได้หรือไม่ ขณะนี้ยังไม่ปรากฏบทบาทของนายธนาธรว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้าง แต่หากคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญระบุให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. นายธนาธรจะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ได้ ยกเว้นแต่มีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการสงวนความเห็นและอภิปรายทำได้ในฐานะ กมธ.เท่านั้น
ด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ รองประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ กล่าวยืนยันว่า นายธนาธรมีสิทธิร่วมลงมติในการพิจารณาชั้น กมธ.ได้ แต่ไม่มีสิทธิ์สงวนความเห็น เนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ได้ เพราะโดยปกติแล้วหาก กมธ.คนใดไม่เห็นด้วยก็จะสงวนคำแปรญัตติ แล้วไปอภิปรายในที่ประชุมใหญ่ ซึ่งจะเป็นเฉพาะ ส.ส.เท่านั้น ส่วนในที่ประชุมกมธ.จะไม่มีการลงมติ จะใช้เสียงส่วนใหญ่เท่านั้น แต่ปัญหาขณะนี้มีข้อถกเถียงว่า การเป็น กมธ.สัดส่วนคนนอกของนายธนาธร จะต้องลาออกจากความเป็น ส.ส.ก่อนหรือไม่ ซึ่งนายสุชาติจะเข้าหารือกับนายชวนถึงกรณีดังกล่าว เพื่อให้นายชวนวินิจฉัย
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องนี้มีความชัดเจนตามข้อบังคับการประชุมสภาและกฎหมายรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ไม่เห็นว่าจะต้องมีประเด็นใดนำมาโต้เถียงกันอีก และไม่ควรจะนำมาเป็นประเด็นทางการเมืองที่จะดิสเครดิตกันอีก ถ้าจะยึดเอาความถูกต้องมากกว่าความถูกใจ นายธนาธรมีสิทธิ์เป็นกรรมาธิการได้ในสัดส่วนของบุคคลภายนอกโดยปราศจากข้อสงสัย แต่ถ้าจะเอาความถูกใจของใครบางคนหรือจะอ้างเอาความเหมาะสม ก็ไม่มีมาตรฐานใดมาวัดได้ บ้านเมืองของเราต้องใช้หลักกฎหมายในการปกครองประเทศ ต้องยึดหลักการมากกว่าหลักกู บ้านเมืองถึงจะเดินหน้าไปได้
“การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จะเป็นการสร้างคดีให้รกโรงรกศาลหรือไม่ อยากให้ทุกฝ่ายตั้งสติ ทำงานการเมืองอย่างตรงไปตรงมาโดยปราศจากอคติใดๆ ถ้ามัวแต่จะแบ่งฝักแบ่งฝ่าย คอยจับผิดกัน ถ้าไม่ใช่พวกของตัวเองทำอะไรก็ผิดทั้งหมด บ้านเมืองก็จะเดินหน้าไปไม่ได้ ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายทำงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์ ไม่มีอคติใดๆ ต่อกัน ก็จะทำให้การเมืองเดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น” นายเทพไทกล่าว
น.ส.พรรณิการ์ วานิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความลงในทวิตเตอร์ ระบุว่า "ชัดเจนนะคะ จากนี้ไปได้เห็นบทบาทธนาธรในสภาเข้มข้นต่อเนื่องแน่นอนในฐานะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณฯ ภาษีประชาชนทุกบาทจะต้องถูกจัดสรรเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเต็มเม็ดเต็มหน่วยที่สุด"
อัด"สิระ"หวังกลบข่าว
นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ในฐานะ กมธ.งบประมาณฯ กล่าวถึงกรณีของนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญคัดค้านการทำหน้าที่ กมธ.งบประมาณฯ ของนายธนาธรว่า เป็นเพียงการสร้างพื้นที่ข่าวเท่านั้น แต่เป้าประสงค์ที่แท้จริงคือต้องการที่จะกลบข่าวของตนเองที่โดนร้องเรียนเรื่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการไปลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ที่อ้างไปตรวจสอบทุจริต แต่ไปแสดงพฤติกรรมที่กร่าง ระรานข้าราชการท้องถิ่น จนศาลรัฐธรรมนูญรับไว้ไต่สวน หากผิดต้องหลุดจากตำแหน่ง ส.ส. ดังนั้นจึงสร้างข่าวขึ้นมาเพื่อหวังเบี่ยงเบนประเด็นเท่านั้น ไม่ควรให้ราคา
"ในความเป็นจริง การประชุม กมธ.งบประมาณฯ นัดแรกเป็นไปด้วยความราบรื่น ทุกคนให้เกียรติกัน ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ไม่มีใครเอ่ยถึงปัญหาที่มีคนพยายามสร้าง เพราะที่สำคัญนายธนาธรได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมสภาผู้แทนฯ ดังนั้นจึงมีศักดิ์และสิทธิ์ในการทำหน้าที่เพื่อประชาชนตามที่ได้รับมอบหมาย ไม่ควรมีใครไปสร้างข่าวเพื่อทำลายคนอื่นแบบที่มีบางคนพยายามทำอยู่" นายการุณกล่าว
นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ในฐานะโฆษก กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ให้สัมภาษณ์ว่า การพิจารณารายละเอียดของคำเสนอของบประมาณ กมธ.มีข้อสรุปจะเรียงลำดับการพิจารณาเป็นกลุ่มๆ โดยเริ่มจากหน่วยงานกลุ่มเศรษฐกิจ, สังคม, ความมั่นคง ทั้งนี้ วันจันทร์ที่ 28 ต.ค. ได้เชิญ 10 หน่วยงานให้ข้อมูลและคำชี้แจง อาทิ สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์, กรมการค้าต่างประเทศ, กรมการค้าภายใน เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรอบเวลาทำงานของ กมธ.ตามที่มีมติ คือให้ ส.ส.ยื่นคำแปรญัตติจนถึงวันที่ 18 พ.ย. จากนั้นวันที่ 13 ธ.ค. จะนัด ส.ส.ที่เสนอคำแปรญัตติชี้แจงคำแปรญัตติต่อ กมธ., วันที่ 16 ธ.ค. พิจารณารายการแปรญัตติเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณ ของหน่วยงานรับงบประมาณ, วันที่ 17 ธ.ค.พิจารณาข้อสังเกตของ กมธ., วันที่ 27 ธ.ค. ส่งรายงาน กมธ.ต่อประธานสภาฯ เพื่อบรรจุในระเบียบวาระการประชุม ทั้งนี้ ได้วางกรอบการพิจารณาของสภาวาระสองและวาระสาม ช่วงวันที่ 10 ม.ค.2563
ขณะเดียวกัน นายทายาท เกียรติชูศักดิ์ ส.ส.นครสวรรค์ และนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม.พรรคอนาคตใหม่ กมธ.การศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ ร่วมกันแถลงว่า ที่ประชุม กมธ.พิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณี กทม.จัดสรรงบประมาณในการจ้างเอกชนกำจัดขยะมูลฝอย แต่มีเหตุขัดข้องให้กรรมาธิการไม่สามารถพิจารณาได้ เนื่องจากทางผู้ว่าฯ กทม. ส่งคนที่ไม่เกี่ยวข้องมาชี้แจง หลังกรรมาธิการเชิญผู้ว่าฯ กทม.และปลัด กทม.มาชี้แจง ซึ่งแสดงถึงการไม่ให้ความสำคัญในกระบวนการตรวจสอบการใช้งบประมาณแผ่นดิน ที่ประชุมจึงไม่รับคำชี้แจงดังกล่าว เพราะต้องการให้ผู้ว่าฯ กทม.มาชี้แจงด้วยตัวเองว่ามีส่วนเกี่ยงข้องหรือรับผิดชอบอย่างไร จะมาอ้างว่าเรื่องเกิดจากผู้บริหารชุดเก่าไม่ได้ เพราะขนาด พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.ยังเดินทางมาชี้แจงต่อ กมธ.ความมั่นแห่งรัฐฯ ด้วยตัวเอง จึงขอเรียกร้องผู้บริหารระดับสูงของ กทม. ให้ความสำคัญ และให้ความร่วมมือเดินทางมาชี้แจงด้วย
ไม่ต้องคำนวณหา ส.ส.ใหม่
ส่วนนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือครูหยุย สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) กล่าวว่า โดยหลักของงบประมาณ ประเทศทั่วโลกเขาจะไม่ถือเป็นเรื่องนโยบายค้านหรือสนับสนุน เพราะงบประมาณเป็นเรื่องที่ต้องให้ประชาชน ยังไงก็ต้องให้ผ่าน อันนี้เป็นหลักของการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล ต้องให้ผ่าน แต่หลังจากผ่านปุ๊บ ตรงนี้แหละที่ทุกคนเป็นเจ้าของพื้นที่ต้องไปดูรายละเอียด เช่นว่างบประมาณการศึกษาทำไมตัด ทำไมส่วนนี้ไปเพิ่ม ทำไมส่วนนี้น้อย ตรงนี้เป็นหน้าที่เราซึ่งเป็น ส.ส. ส.ว. ที่จะไปดูรายละเอียด
"ส.ว.หรือสมาชิกพรรคฝ่ายค้านจะต้องมีหน้าที่ในการกำกับติดตามดูการใช้จ่ายงบประมาณทุกเม็ด เพราะเป็นเงินภาษีอาการของพวกเราทุกคน ฉะนั้นเรื่องใหญ่ที่สุดคือเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณอย่างตรงไปตรงมาและซื่อสัตย์สุจริต เมื่อมาถึงวุฒิสภาโดยกำหนดทั้งหมดต้องเสร็จภายใน 120 วัน ในส่วนของวุฒิสภามีเวลาแค่ 20 วันเท่านั้น วุฒิฯ มีหน้าที่ในการพิจารณาและเสนอแนะเท่านั้น แต่ถ้าผู้แทนฯ มีอำนาจในการตัด เพิ่ม ซึ่งเราก็รู้ว่าเวลาเราน้อย เราจึงต้องตั้งกรรมาธิการศึกษาคู่ขนานกันไป ตอนนี้ตั้งแล้ว เพื่อให้ทุกอย่างมันรอบคอบสมบูรณ์ที่สุด" นายวัลลภกล่าว
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 5 จ.นครปฐม สรุปแล้วจะต้องมีการนำคะแนนไปคำนวณใหม่หรือไม่ เพราะนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ระบุว่า ส.ส.พึงมีของพรรคอนาคตใหม่ควรมี 81 เท่าเดิม ว่าตนไม่รู้ ยังไม่ได้ดูในประเด็นนี้ ไม่ได้อ่าน ไม่ได้ติดตาม และไม่รู้ว่าเขาหมายถึงเรื่องอะไร จึงขอไม่ตอบ เป็นเรื่องที่เขาต้องไปเถียงกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพราะเรื่องเลือกตั้งเป็นเรื่องของ กกต. ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากไม่คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ ต้องยึดจำนวน ส.ส.พึงมีหลังการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ก็ต้องอย่างนั้น เพราะเมื่อไม่ใช่การเลือกตั้งซ่อมที่เกิดจากการทุจริตเลือกตั้ง เขาก็จะไม่มีการคำนวณใหม่ แต่เรื่องจำนวน ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่นั้น ตนตอบไม่ถูก ไม่รู้ว่าเขาเถียงกันด้วยเรื่องอะไร
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. กล่าวว่า การเลือกตั้งซ่อม จ.นครปฐม ไม่ได้เกิดจากทุจริตการเลือกตั้ง จึงไม่ต้องมีการคำนวณหา ส.ส.ใหม่ ส่วนปมปัญหาที่ว่า ส.ส.พึงมีของพรรคอนาคตใหม่ลดลง และพรรคชาติไทยพัฒนาเพิ่มขึ้นจาก ส.ส.พึงมี 1 คนนั้น ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยังสับสน แต่ตามข้อเท็จจริงหากพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งแล้ว ควรจะได้ ส.ส.เพิ่มขึ้น แต่กลับถูกพรรคที่แพ้เลือกตั้งมาทวงคืนไปเพื่อให้เหลือจำนวนเท่าเดิม ต่อไปคงไม่มีพรรคไหนอยากส่งคนลงสมัครเลือกตั้งซ่อมอีก เพราะสุดท้ายก็จะได้จำนวน ส.ส.เท่าเดิม
นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการประชุม กกต. จึงยังไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นทางสำนักงาน กกต.อยู่ระหว่างการศึกษาข้อกฎหมายอย่างละเอียด
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ฝ่ายค้านเตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจประมาณกลางเดือน ธ.ค.นี้ว่า ต้องรอเปิดสมัยประชุมสภาก่อน ส่วนจะเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อใด ก็เป็นสิทธิของผู้เสนอ แต่ขณะนี้เตรียมวางแผนเรื่องจะทำอย่างไรให้ญัตติที่ค้างอยู่กว่า 100 เรื่อง ซึ่งเป็นญัตติธรรมดา ได้มีการพิจารณา ซึ่งอาจจะต้องหารือภายในกับรองประธานสภาฯ เพื่อประสานว่ามีวันพิเศษใดหรือไม่ เหมือนอย่างที่เคยมีการประชุมมาแล้วที่ผ่านมา ซึ่งได้ผล ทำให้ญัตติสามารถผ่านไปได้ประมาณ 20 ญัตติ
ปมถวายสัตย์ฯ จบแล้ว
เมื่อเวลา 15.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กเพจไทยเผยแพร่รายการ Government Weekly EP.11 ที่เป็นการพบปะพูดคุยระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม กับคนไทยในประเทศญี่ปุ่น ระหว่างการเข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า รัฐบาลที่ผ่านมาและรัฐบาลนี้ที่มาจากการเลือกตั้งมีปัญหาเยอะ เพราะทำเยอะมากเป็นร้อยเรื่อง และมีเรื่องสำคัญๆ นับสิบเรื่อง แน่นอนว่าจุดอ่อนมันก็มี มันอยู่ในชั้นการเปลี่ยนแปลง การทำงานในช่วงเปลี่ยนแปลงมีปัญหาหมดจากโครงสร้าง จากคน จากความรู้ มันต้องพัฒนาไปพร้อมกัน
"สิ่งสำคัญที่สุดคือความเข้าใจประชาชนมีส่วนร่วม เราจะทะเลาะเบาะแว้งกันไม่ได้ การคิดแตกต่างสามารถทำได้ แบ่งเป็นสองข้าง แต่ถ้าจะตีกันอยู่แบบนี้มันไม่ได้ มันต้องลดราวาศอกกัน มาหากันตรงกลาง เดินไปด้วยกัน ประเทศไทยถึงจะไปได้ ถึงจะปฏิรูปหรือทำทุกอย่างได้ ต้องเข้าใจ ยอมรับ และร่วมมือกับเรา ไม่ต้องห่วงมีงานทำแน่ ไม่มีไปหาลุง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ถึงกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร จะใช้อำนาจเรียกนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในวันที่ 30 ต.ค. เพื่อมาให้ข้อมูลถึงการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน โดยนายกฯ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “ให้เป็นไปตามกฎหมาย เรื่องนี้มันจบไปแล้ว” พร้อมกับสะบัดมือส่งสัญญาณไม่พูดแล้ว ก่อนจะเดินขึ้นห้องทำงานตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลทันที
ด้าน พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์จะเชิญไปให้ข้อมูลเรื่องถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน รวมถึงกรณีนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการการทหาร จะเรียก พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ไปชี้แจงเกี่ยวกับงบประมาณกระทรวงกลาโหมว่า จะชี้แจงเรื่องอะไร เรื่องงบประมาณก็เรียบร้อยไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการเชิญมาแล้วจะไปชี้แจงหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ก็ว่ากันไป ส่วนกรณีฝ่ายค้านเตรียมจะเปิดสภาไม่ไว้วางใจรัฐบาลในช่วง ธ.ค.นี้นั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวเพียงว่า ก็ว่ากันไป
นายวิษณุ เครืองาม กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า เป็นอำนาจของ กมธ. แต่เมื่อเรียกแล้วต้องดูว่าเรียกไปเรื่องอะไร โดยทาง กมธ.ต้องบอกว่าเรียกไปด้วยเรื่องอะไร เพื่อที่ผู้ถูกเรียกจะได้เตรียมข้อมูลชี้แจงได้ ส่วนจะไปหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทั้งนี้ มีสิทธิ์จะไม่ไปได้ หรือจะส่งผู้แทนไปก็ได้ แต่เรื่องนี้เห็น กมธ.บอกแล้วว่าหากส่งผู้แทนมาจะไม่รับ ซึ่งเจ้าตัวต้องพิจารณาอีกทีว่าจะทำอย่างไร จะไปเองแบบ ผบ.ทบ. หรือถ้าส่งผู้แทนแล้วเขาไม่รับ ก็ส่งชี้แจงเป็นเอกสาร ส่วนเจ้าตัวจะทำวิธีใดตนตอบแทนไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ตามกฎหมายมีข้อบังคับว่าต้องไปว่าจะต้องไปชี้แจงด้วยตัวเองหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า หากเป็นข้าราชการประจำจะต้องไปชี้แจง เพราะถ้าไม่ไปเขาจะแจ้งผู้บังคับบัญชา แต่กรณีของข้าราชการการเมืองนั้น การตรวจสอบเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่เหมือนข้าราชการประจำ และข้อสำคัญอยู่ที่เรื่องด้วย เพราะเรื่องบางเรื่องอาจจะไม่สะดวกและไม่เหมาะสมที่จะไปพูด เขาก็ไม่ไปกัน
ก้าวล่วงพระราชอำนาจ
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ไม่มีอำนาจที่จะเรียก พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตรมาเพื่อตรวจสอบในเรื่องเกี่ยวข้องกับการถวายสัตย์ปฏิญาณ เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำสั่งศาลเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2462 แล้วว่า “การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด” ซึ่งย่อมหมายรวมสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการของสภาด้วย โดยเหตุที่การถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นเรื่องในขอบเขตพระราชอำนาจ เป็นพระบรมราชวินิจฉัยโดยเฉพาะ ผู้ใดหรือองค์กรใดไม่อาจก้าวล่วงได้
"ดังนั้นคณะกรรมาธิการฯ จึงไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการตรวจสอบ เพราะเป็นการมิบังควรที่จะก้าวล่วงเขตพระราชอำนาจที่ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยแล้ว จึงขอให้ยกเลิกมติที่ประชุมดังกล่าวและยกเลิกหนังสือเรียก พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตรโดยเร็ว เพื่อที่คณะกรรมาธิการฯ จะไม่ถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีอำนาจ ซึ่งมีผลให้เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันอาจเป็นเหตุให้คณะกรรมาธิการฯ ถูกยื่นเอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ไปที่ ป.ป.ช.ได้" นายไพบูลย์กล่าว
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า กรรมาธิการ ส.ส. ส.ว. ใช่ว่าจะใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ ใช้อำนาจผิดมีสิทธิติดคุกเอง มาตรา 12 พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ระบุไว้ชัดเจนเพื่อเป็นหลักประกันความเป็นธรรมให้กับทุกคนที่กรรมาธิการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.คำสั่งเรียกด้วย
"กรรมาธิการผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี....ฯลฯ" นายสมชายระบุ
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. เปิดเผยถึงกรณีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญามีความเห็นสั่งไม่ฟ้องนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่, นายไกลก้อง ไวทยการ นายทะเบียนพรรค และ น.ส.จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ กรรมการบริหารพรรค ในความผิดฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ร่วมกันจัดรายการ “คืนวันศุกร์ให้ประชาชน” ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ในเพจอนาคตใหม่-The Future We Want และเพจ Thanathorn Juangroongruangkit วิจารณ์กระแสข่าวกรณีพลังดูดของ คสช.ว่า ขั้นตอนของ ตร.จะต้องให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาสำนวนดังกล่าวว่าทางตำรวจจะมีความเห็นยืน คือมีความเห็นควรสั่งฟ้องหรือจะมีความเห็นเหมือนที่พนักงานอัยการส่งความเห็นกลับมา ถ้ามีความเห็นออกมาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งจึงจะดำเนินการต่อไปได้
"แต่โดยหลักการแล้ว ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการพิจารณาโดยถี่ถ้วนแล้ว ก็อาจจะยืนยันความเห็นเหมือนเดิม คือมีความเห็นสั่งฟ้อง ซึ่งเมื่อมีความเห็นสั่งฟ้องกลับไปแล้ว คงจะเป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุดที่จะเป็นผู้ชี้ขาด โดยเรื่องนี้เป็นการพิจารณาตามปกติ เป็นกระบวนการที่เอาไว้ใช้ในการตรวจสอบและถ่วงดุลกระบวนการยุติธรรมทางอาญา" พ.ต.อ.กฤษณะกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |