อินโดนีเซียเปิดเผยผลการสอบสวนสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินโบอิ้ง 737 แมกซ์ ของไลออนแอร์ตกเมื่อเกือบ 1 ปีก่อน คร่าชีวิตทั้งลำ 189 ศพ ระบุมีความผิดพลาดทั่วหน้าตั้งแต่การออกแบบบกพร่อง, นักบินไม่ผ่านการฝึกอย่างเพียงพอ และการบำรุงรักษาเครื่องบินย่ำแย่
นูร์กาห์โย อูโตโม (ซ้าย) เจ้าหน้าที่คณะกรรมการความปลอดภัยด้านการคมนาคมแห่งชาติของอินโดนีเซีย แถลงที่กรุงจาการ์ตาเมื่อวันศุกร์ เกี่ยวกับผลการสอบสวนสาเหตุเครื่องบินโบอิ้งของไลออนแอร์ เที่ยวบิน 610 ตก / AFP
รายงานของเอเอฟพีเมื่อวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2562 กล่าวว่า คณะกรรมการความปลอดภัยด้านการคมนาคมแห่งชาติของอินโดนีเซีย เปิดเผยผลการสอบสวนฉบับสมบูรณ์อย่างเป็นทางการแล้ว โดยได้มีคำชี้แนะถึงบริษัท โบอิ้ง, สายการบินไลออนแอร์, สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ (เอฟเอเอ) และอีกหลายหน่วยงาน
ภายหลังโศกนาฏกรรมที่เกิดกับเครื่องบินโดยสารของไลออนแอร์เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2561 ไม่ถึง 5 เดือนหลังจากนั้นเครื่องบินโบอิ้งรุ่นเดียวกันของเอธโอเปียแอร์ไลน์ ก็ตกภายหลังทะยานขึ้นจากกรุงแอดดิสอาบาบาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม ทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือ 157 คนเสียชีวิตทั้งหมด
อุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้ระบบป้องกันการสูญเสียแรงยก (MCAS) ซึ่งเป็นกลไกป้องกันภาวะร่วงหล่นของเครื่องบิน ได้รับการจับตามองอีกครั้ง โดยพบว่านักบินของเครื่องบินทั้งสองลำต้องพยายามอย่างหนักเพื่อควบคุมเครื่องบินไม่ให้ปักหัวลง
ผลการสอบสวนคณะกรรมการสอบสวนของอินโดนีเซียวิจารณ์การออกแบบระบบ MCAS ที่ว่านี้ของโบอิ้งว่ามีความบกพร่อง ขณะเดียวกันก็วิจารณ์การออกใบรับรองของเอฟเอเอด้วย "การออกแบบและการรับรองระบบนี้ไม่ดีพอ" บทย่อของรายงานกล่าวถึง MCAS
รายงานชี้ว่า MCAS มีจุดอ่อนที่ระบบเซ็นเซอร์ตัวเดียวซึ่งต้องพึ่งพาการป้อนข้อมูล และนักบินเครื่อง 737 แมกซ์ ก็ไม่ได้รับการสรุปอย่างเหมาะสมถึงวิธีการจัดการกับการทำงานผิดปกติของระบบนี้ "คู่มือการบินของเครื่องบินและการฝึกนักบินของเครื่องบินรุ่นนี้ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับ MCAS เลย" รายงานกล่าว
เซ็นเซอร์ในระบบของเครื่องบินไลออนแอร์ลำนี้อ่านค่าผิดพลาด และฝ่ายซ่อมบำรุงของไลออนแอร์ก็ตรวจไม่พบปัญหานี้หลังจากเที่ยวบินก่อนหน้านั้นของเครื่องบินลำนี้ก็ประสบปัญหานักบินไม่สามารถควบคุมเครื่องบินได้เช่นกัน
รายงานก่อนหน้านี้โดยคณะกรรมการนานาชาติกล่าวว่า เอฟเอเอขาดบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญที่จะประเมินระบบ MCAS ของ 737 แมกซ์ อย่างครบถ้วนเมื่อเอฟเอเอออกใบรับรองเครื่องบินรุ่นนี้
โบอิ้งซึ่งเพิ่งเปลี่ยนตัวผู้บริหารฝ่ายเครื่องบินพาณิชย์เมื่อต้นสัปดาห์นี้ กำลังถูกตรวจสอบเพิ่มเติมอีกภายหลังมีการเปิดเผยข้อความสั้นเมื่อปี 2559 ที่นักบินทดสอบรายหนึ่งกล่าวถึงการทำงานผิดพลาดอย่างรุนแรงของระบบ MCAS
ภายหลังอินโดนีเซียเปิดเผยรายงานฉบับนี้ เดนนิส มุยเลนเบิร์ก ซีอีโอของโบอิ้งแถลงว่า บริษัทมีความเสียใจอย่างจริงใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต และโบอิ้งได้แก้ไขซอฟต์แวร์ของระบบควบคุมการบินนี้แล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุแบบเดียวกันนี้อีก และได้ปรับปรุงคู่มือและการฝึกนักบิน ให้แน่ใจว่านักบินทุกคนได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วนสำหรับการบิน 737 แมกซ์อย่างปลอดภัย
เจอร์รี โซจัตมาน นักวิเคราะห์ด้านการบินจากจาการ์ตา กล่าวว่า ปัญหาการออกแบบของระบบนี้อยู่เหนือปัจจัยอื่นๆ "นักบินทำผิดพลาดได้ พวกเขาเป็นมนุษย์ แต่รากเหง้าของปัญหาคือการออกแบบ" เขากล่าว โดยอธิบายเพิ่มเติมว่า ประเด็นปัญหาอยู่ตรงที่ MCAS ถูกสร้างมาให้ทำงานโดยอาศัยการป้อนข้อมูลจากแหล่งเดียว ผ่านคอมพิวเตอร์ตัวเดียว จึงไม่มีระบบการตรวจทานซ้ำเพื่อยืนยันว่าข้อมูลที่ป้อนนั้นแม่นยำหรือไม่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |