ควายไทยสู่ควายมรดกโลก!


เพิ่มเพื่อน    

 

      สัปดาห์ก่อนผมท่องไปภาคใต้หลายจังหวัด ได้ความรู้จาก "คนเลี้ยงควายน้ำทะเลน้อยแห่งพัทลุง"  จากคนเลี้ยงควายมืออาชีพ คือ คุณสมใจ เอ่งเซ่ง (คนซ้าย) และคุณสมนึก คงเรืองแห่ง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง

                อีกทั้งมีแผนการขอขึ้นทะเบียนควายน้ำแห่งทะเลน้อยเป็น "มรดกโลกการเกษตร" ของ FAO  (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ) ที่จะทำให้ควายน้ำไทยเป็นควายระดับโลก!

                นักวิชาการคณะหนึ่งกำลังทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างขะมักเขม้น ท้ายที่สุดจะสามารถขึ้นทะเบียนเป็น "มรดกโลกทางการเกษตร" ได้หรือไม่ อาจไม่สำคัญเท่ากับการได้เรียนรู้มาตรฐานระดับโลกที่สามารถทำให้เราปรับตัวให้เข้ากับความเป็นสากล

                ได้รับการบอกเล่าจากทั้งสองมือเลี้ยงควายว่า "ควายน้ำทะเลน้อย" อยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำ เมื่อถึงฤดูน้ำหลากน้ำในทะเลน้อยมีปริมาณสูง ควายจะมีการปรับตัวสามารถดำน้ำลงไปกินหญ้าใต้น้ำและพืชน้ำอย่างสายบัว ใบบัว หรือสาหร่ายแทน ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศในการกำจัดวัชพืช วันนี้ ควายน้ำทะเลน้อยกลายเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยว แต่ละปีสร้างรายได้ไม่น้อย

                ในบริเวณป่าชุ่มน้ำทะเลน้อยมีควายน้ำประมาณ 6,000 ตัว มีคนเลี้ยง 19 กลุ่ม ขายให้คนไปกินเนื้อเป็นอาหาร โดยเฉพาะในงานเทศกาล, งานแต่งงาน, งานศพ งานละไม่ต่ำกว่า 2-3 ตัว สนนราคาวันนี้ตกตัวละ 10,000-20,000 บาท แต่พ่อพันธุ์แม่พันธุ์จะแพงกว่านั้น

                แต่ก่อนนี้คนจัดงานเลี้ยงในหมู่บ้านทางใต้บางแห่งต้องมีการไป "ปล้น" วัวหรือควายมาเท่านั้นจึงจะถือว่าเป็นคนมีบารมีจริง

                เพียงแค่ไปซื้อมาฆ่าเลี้ยงถือว่า "ธรรมดา" เกินไป ไม่เท่ ไม่สะท้อนถึงความเป็นผู้มีอิทธิพลเพียงพอ  แม้จะมีเงินก็ไม่ซื้อ จะต้องได้มาด้วยวิธีการที่สำแดงความเป็นนักเลงของตนจึงจะเหมาะสมกับฐานะของคนมีฝีไม้ลายมือแห่งหมู่บ้านนั้นๆ

                ค่านิยมอย่างนั้นหมดไปแล้ว คนเลี้ยงควายแห่งทะเลน้อยบอกผม

                "ผมเคยขายแม่พันธุ์ไปตัวหนึ่ง 60,000 บาท คนซื้อไปขายต่อประเทศจีน" คุณสมนึกเล่า

                แกบอกว่ามีพ่อพันธุ์ตัวหนึ่งในย่านนี้ โด่งดังมากเพราะแข็งแรงและบึกบึนเป็นพิเศษ ตั้งราคาไว้ 1  ล้าน!

                ทะเลน้อยเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่ายิ่ง เป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตอนบนสุดของทะเลสาบสงขลา กินพื้นที่อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง มีพืชน้ำทั้งบัวสาย บัวหลวง ผักตบชวา กระจูด  และสาหร่าย หลากหลายสายพันธุ์อาหารและแหล่งทำรังวางไข่ของนกนานาชนิด

                ที่นี่เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก จนได้รับการประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ชุ่มน้ำโลก หรือ "แรมซาร์ไซต์" (Ramsar Site) แห่งแรกในเมืองไทยเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2541

                คนที่นี่บอกเราว่าตั้งแต่เดือนมกราคมไปจนถึงเดือนกรกฎาคมของทุกปี เป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว "เทศกาลล่องเรือแลนกทะเลน้อย"

                นั่งเรือชมทะเลน้อย ตื่นตาตื่นใจไปกับบัวแดงกว่า 2 พันไร่ที่ชูช่อดอกรับแสงตะวันของเช้าวันใหม่

                นักท่องเที่ยวตื่นเต้นกับฝูงนกนานาชนิดที่โบยบินออกจากรังหาแหล่งอาหาร บ้างก็จิกกินแมลงและเกสรดอกบัว ส่งเสียงเซ็งแซ่ไปทั่วท้องทะเลเสมือนเชื้อเชิญให้เหล่าบรรดาเพื่อนฝูงออกหาอาหารด้วยกัน

                ทุกปีตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนกรกฎาคม จังหวัดพัทลุงจะเปิดฤดูกาลท่องเที่ยว เทศกาล "ล่องเรือแลนกทะเลน้อย" เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมธรรมชาติและสัมผัสความงดงามของทะเลน้อย

                ตลอดเส้นทางการล่องเรือ นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับความงดงามของดงบัวแดงกว่า 2,000 ไร่

                ชาวบ้านเรียกที่นี่วา "ทะเลล้านบัว"

                อีกทั้งยังมีนกน้ำนานาชนิดที่ออกหากินในยามเช้า

                คนพื้นถิ่นบอกเราว่านี่คือ "หนึ่งเดียวในประเทศไทย"

                อีกปรากฏการณ์หนึ่งของความน่าตื่นตาตื่นใจ คือการได้เห็น "การยกยอยักษ์" ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน 

                ผมขอเชิญชวนติดตามในรายการ "ฟังเสียงประเทศไทย คำตอบอยู่ในหมู่บ้าน" ทาง ThaiPBS ทุกวันเสาร์ 17.30 น.!

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"