ทอนนั่งที่ปรึกษากมธ.งบฯ


เพิ่มเพื่อน    

 "กมธ.วิสามัญฯ งบ 63" ถกนัดแรก ตั้ง "อุตตม" นั่งประธาน "ธนาธร" เป็นที่ปรึกษา "รัฐบาล-ฝ่ายค้าน" เดือด! แย่งเก้าอี้ "เลขาฯ กมธ." หลัง ผอ.สำนักงบฯ ไม่รับตำแหน่ง สุดท้ายต้องมีเลขาฯ 13 คน "หน.อนค." แจงเป็น กมธ.โควตาคนนอก ปัดมาวางยารัฐบาลทำร่าง กม.งบประมาณ อ้างอยากเข้ามาเรียนรู้เผื่อเป็น รบ.ครั้งหน้า "วิษณุ" บอก "ปธ.สภาฯ" จะเป็นผู้ชี้ขาดคุณสมบัติ "สิระ" ยื่นศาล รธน.ตีความสถานภาพ "เสี่ยเอก"

    ที่รัฐสภา วันที่ 24 ต.ค. มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เป็นนัดแรก โดยมีวาระพิจารณาเลือกตำแหน่งต่างๆ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง เป็นประธาน กมธ. ส่วนรองประธาน กมธ. มีทั้งสิ้น 19 คน อาทิ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รองประธานคนที่ 1, นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รองประธานคนที่ 2, นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นรองประธานคนที่ 3, นายวราเทพ รัตนากร รองประธานคนที่ 4 และนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ รองประธานคนที่ 5  
    ส่วนตำแหนงเลขานุการ กมธ. มีจำนวน 13 คน เช่น นายสันติ กีระนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ, นายอัฏฐพล โพธิพิพิธ ส.ส.กาญจนบุรี พรรคพลังประชารัฐ, นางศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์, นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย เป็นต้น
     สำหรับโฆษก กมธ.มีจำนวน 14 คน อาทิ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ, นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์, นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย, นายธารา ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่นายธราธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นที่ปรึกษากรรมาธิการ
    ทั้งนี้ ที่ประชุมกำหนดวันแปรญัตติเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค.-13 ธ.ค.62 และจะมีการประชุมวันจันทร์ถึงวันศุกร์ โดยในวันจันทร์ และวันอังคารจะเริ่มประชุมตั้งแต่เวลา 13.00-22.00 น. ส่วนวันพุธและวันพฤหัสบดีจะเริ่มเวลา 09.00-18.00 น. ขณะที่วันศุกร์จะเริ่มประชุมเวลา 09.00-17.00 น.
    รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากการเลือกตำแหน่งประธานเสร็จเสร็จแล้ว ได้มีการพิจารณาตำแหน่งเลขานุการ กมธ. โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ในฐานะ กมธ. ได้เสนอชื่อนายเดชา ภิวัฒน์ ณ สงขลา ผอ.สำนักงบประมาณ เป็นเลขานุการ แต่นายเดชาขอถอนตัว และขอเป็น กมธ.เพียงอย่างเดียว ทำให้ฝ่ายรัฐบาลเสนอชื่อนายสันติ กีระนันทน์ แต่กลับถูกโต้แย้งว่าเป็นการให้ฝ่ายการเมืองมายุ่งเกี่ยว ที่ผ่านมาเป็นหน้าที่ของข้าราชการประจำ ซึ่งอาจทำให้ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 ว่าด้วยเรื่องห้ามไม่ให้ ส.ส.มีส่วนในการใช้งบประมาณรายจ่ายไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ดังนั้น นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ตัวแทนพรรคเพื่อไทย จึงเสนอให้มีตำแหน่งเลขานุการเท่าเทียมกัน โดยไม่ต้องมีตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการอีก และต้องมีฝ่ายค้านด้วย แต่ที่ประชุมก็ยังถกเถียงต่อเนื่อง ทำให้นายวีระกรไกล่เกลี่ยว่าถ้าเช่นนั้นก็ขอให้มีตัวแทนจากทุกพรรคเป็นเลขานุการ แต่หากมีเอกสารอะไรขอให้นายสันติ กีระนันทน์ เป็นคนเซ็นชื่อเพียงคนเดียว
    "ในประเด็นเลขานุการที่ประชุมถกเถียงกันถึง 1.30 ชั่วโมง ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ จึงพักการประชุมเพื่อรับประทานอาหารก่อน เมื่อกลับมาประชุมอีกครั้ง ผลออกมาให้มีเลขานุการทั้งหมด 13 คน โดยไม่ได้มีเหตุผลประกอบ" แหล่งข่าวกล่าว
ธนาธรชี้มาโควตาคนนอก
    ด้านนายธนาธรชี้แจงการเข้ามาเป็น กมธ.ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ปี 2563 ว่า รายชื่อของตนเข้ามาเป็น กมธ.ในส่วนของบุคคลภายนอกในนามพรรคอนาคตใหม่ และได้รับการเสนอชื่อเข้าสู่ที่ประชุมสภา รวมทั้งได้รับการรับรองแล้ว ถ้าใครสงสัยก็คงต้องปล่อยให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป 
    ถามว่ามีข้อโต้แย้งว่ายังมีสถานะเป็น ส.ส. แม้ยังปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ จะสามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ในฐานะคนนอกได้อย่างไร นายธนาธรกล่าวว่า ที่ผ่านมาเคยมีคนถูกตัดสินแล้วเข้าไปเป็น กมธ. และรายชื่อของตนได้รับการรับรองจากที่ประชุมสภาไปแล้ว หากใครที่คิดว่าตนยังมีปัญหา ก็ต้องยื่นเรื่องมาที่ฝ่ายกฎหมายของสภา ถ้าสภาว่าอย่างไรพร้อมเคารพคำตัดสิน
    "หากผลวินิจฉัยออกมาในทางลบ ก็ไม่มีอะไร เดินออกมาก็จบเท่านั้นเอง ไม่ได้ซีเรียส" นายธนาธรกล่าว
    ซักว่า ขณะนี้มีการตั้งข้อสังเกตถึงขั้นว่าฝ่ายค้านวางยารัฐบาลที่ตั้งเข้ามาเป็น กมธ.งบฯ เพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เป็นโมฆะ หัวหน้าพรรค อนค.หัวเราะพร้อมระบุว่า พรรค อนค.เป็นพรรคที่เพิ่งตั้งขึ้นมา ประสบการณ์การทำงานในสภาหรือประสบการณ์ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ มีน้อย แต่ทางพรรคมีความตั้งใจที่อยากจะส่งเสริมตนให้มีความรู้และประสบการณ์ในการทำงานด้านงบประมาณมากขึ้น จึงมีความคิดเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ตนจะได้เข้าไปอยู่เพื่อเรียนรู้ในกระบวนการต่างๆ เผื่อวันหน้าวันหลังจะได้มีโอกาสเป็นรัฐบาล จะได้เข้าใจเกี่ยวกับกลไกด้านงบประมาณ นั่นคือวัตถุประสงค์ของเรา
    "เรื่องของสถานะ ส.ส.ของผมยังอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยจะมีการพิจารณาเรื่องนี้ในวันที่ 20 พ.ย. จึงไม่มีอะไรน่าห่วงในเรื่องดังกล่าว" หัวหน้าพรรค อนค.กล่าว
    นายธนาธรกล่าวว่า การเข้ามาเป็น กมธ.ครั้งนี้ ต้องการมาดูเรื่องกระบวนการมากกว่า เพราะพรรคเป็นพรรคที่เพิ่งก่อตั้ง เลยต้องสะสมประสบการณ์ และต้องเข้าใจกระบวนการการทำงบประมาณ ดังนั้นพรรคจึงเห็นว่าแกนนำพรรคต้องสะสมประสบการณ์ในครั้งนี้ ส่วน ส.ส.ของพรรคคนอื่นที่เป็น กมธ.งบประมาณฯ ด้วย ก็คงต้องปกป้องผลประโยชน์ตามที่ถนัด  
    ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการถกเถียงคุณสมบัติของนายธนาธรที่ร่วมเป็น กมธ.ว่า จะไม่ตอบตรงๆในเรื่องนี้ แต่การเป็น กมธ.วิสามัญคือคณะบุคคลที่ตั้งโดยสภา ให้ไปทำหน้าที่แทน จึงเป็นคนของสภา และตามข้อบังคับของสภา กมธ.วิสามัญต่างจาก กมธ.สามัญที่ต้องเป็น ส.ส.เท่านั้น แต่ กมธ.วิสามัญเป็นได้ทั้งบุคคลภายนอกและ ส.ส. เช่น นายวราเทพ รัตนากร กมธ.วิสามัญในโควตาคณะรัฐมนตรี เป็นเรื่องที่สภาจะแต่งตั้งมอบหมายสภาต้องไปว่ากันเอง 
    "ประธานสภาฯ จะต้องชี้ขาด หากชี้ขาดไปแล้วไม่เป็นที่ยุติ จะไปกระบวนการอื่นก็สุดแล้วแต่ แม้ทุกเรื่องจะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะไม่สามารถจบในขั้นต้นได้ แต่ไม่อยากไปย้ำมัน เพราะจะถูกมองว่าไปศาลอีก ซึ่งเรื่องนี้ผมอยู่ในซีกรัฐบาล คงไม่สามารถออกความเห็นได้ จะเป็นการเสียมารยาท" นายวิษณุกล่าว
    ถามว่าในอดีตเคยมีลักษณะนี้เกิดขึ้นหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ในอดีตเคยมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว ที่มีผู้ถูกสั่งให้พักการปฏิบัติหน้าที่ แล้วมาเป็น กมธ.วิสามัญฯ รวมถึงเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องมารยาท เพราะในอดีตเคยมีบางพรรคโควตาเต็ม แล้วไปฝากโควตากับพรรคอื่น ดังนั้นอย่าเอาการตั้งบุคคลภายนอกมาเทียบ เพราะข้อบังคับ กมธ.วิสามัญ ประกอบด้วยผู้ที่ได้เป็นและไม่ได้เป็นสมาชิกสภา ก็ต้องให้ชัดว่าคนที่มาเป็นคืออะไร
    "นายธนาธรหากเข้าในโควตาคนนอกก็เป็นได้ เหมือนนายวราเทพและอีกหลายคน ส่วนคนที่เป็น ส.ส. ก็ชัดว่าเป็นคนใน กรณีนี้คนจึงสงสัยว่าคนนอกหรือคนใน หากให้ผมตอบกลางๆ ก็ไม่ต้องไปสงสัย เมื่อสภาเป็นคนตั้ง จะเป็นคนนอกหรือคนในได้ จึงไม่มีเหตุที่ให้สงสัย ปัญหาอยู่ที่คนสงสัยที่ต้องไปหาทางออกโดยกลไกสภา" รองนายกฯ กล่าว
สิระยื่นศาล รธน.ตีความ
    ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า เรื่องนายธนาธร ถ้าจะเทียบก็ต้องเทียบนายวราเทพด้วย เดี๋ยวก็ไม่จบ มีคนคอยตีความอยู่แล้ว ก็ต้องตามนั้น เราอย่าไปตีความแทนเลย ถ้าเขามาทำอะไรเพื่อบ้านเมือง ทำแล้วเกิดประโยชน์ก็เข้ามาเถอะ มาช่วยกัน
    ถามว่ามองนายธนาธรเข้ามาเป็นกรรมาธิการวิสามัญได้หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ไม่มอง เพราะไม่เกี่ยวกับตน อย่าเอาเรื่องคนอื่นมาใส่ตนอีก เพราะของตนก็เยอะแล้ว อย่าไปคิดเรื่องของคนอื่นมากมาย โดยเฉพาะเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์
    เช่นเดียวกับนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวว่า หลักการที่สำคัญต้องดูว่า กมธ.วิสามัญฯ คือบทบาทที่ระบุให้ทำเฉพาะบุคคลที่เป็นส.ส.หรือไม่ ซึ่งปรากฎชัดว่า คณะกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร มี 2 ประเภท คือคณะ กมธ.สามัญ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญระบุชัดว่า กมธ.ต้องเป็น ส.ส.เท่านั้น ส่วนคณะ กมธ.วิสามัญฯ นั้น ตามรัฐธรรมนูญชัดเจนว่าสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจเลือกบุคคลที่เป็น ส.ส.หรือไม่เป็น ส.ส. เพื่อเป็นกมธ.วิสามัญก็ได้
    “เมื่อหลักการเช่นนี้ เราก็จะวินิจฉัยถูก คือเมื่อนายธนาธรมาดำรงตำแหน่งในสัดส่วนของพรรคอนาคตใหม่ ตำแหน่งกรรมาธิการวิสามัญที่หลักการรัฐธรรมนูญได้ระบุไว้ชัดว่าบุคคลที่ไม่ได้เป็น ส.ส.ก็สามารถดำรงตำแหน่งได้ นายธนาธรก็สามารถดำรงตำแหน่งได้ เจตนารมณ์ของการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายแต่ละฉบับที่กฎหมายอนุญาตให้หลายฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาอย่างรอบคอบนั้น หมายความว่าหน้าที่ในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญก็ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็น ส.ส." นายราเมศกล่าว
    โฆษกพรรค ปชป.กล่าวว่า ขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้มีการยุติการปฏิบัติหน้าที่ไว้ชั่วคราว แต่กรณีนี้เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมาธิการวิสามัญที่รัฐธรรมนูญให้บุคคลภายนอกเป็นได้ก็สามารถดำเนินการได้ ส่วนจะเหมาะสมหรือไม่ ต้องไปถามคุณธนาธรเอง
    อย่างไรก็ตาม วันเดียวกัน เวลา 09.15 น. นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เข้ายื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ที่รัฐสภา เพื่อให้พิจารณาว่านายธนาธรสามารถดำรงตำแหน่งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ได้หรือไม่ เพื่อให้วินิจฉัยถอดถอนออกจากการเป็น กมธ. และยื่นต่อที่ประชุม กมธ.เพื่อให้ลงมติว่าจะสามารถเข้าร่วมประชุมได้หรือไม่ 
    นายสิระกล่าวว่า กรณีนายวราเทพ ซึ่งมีคุณสมบัติต้องห้ามมิให้เป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (10) ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นกรรมาธิการฯ เป็นคนละกรณี เพราะนายวราเทพไม่ได้เป็นส.ส.เข้ามาเป็น กมธ.ในฐานะคนนอก แต่นายธนาธรเป็น ส.ส.อยู่ แต่ขณะนี้ถูกคำสั่งศาลให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งไม่ใช่คนนอก ตามที่พรรคได้มีการชี้แจง 
    ต่อมาเวลา 13.45 น. นายสิระเดินทางไปที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาสถานภาพนายธนาธร ในการที่มาเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 
    นายสิระกล่าวว่า อยากให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความสถานภาพนายธนาธรว่าสามารถเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ ได้หรือไม่ รวมทั้งขอให้ศาลลงโทษนายธนาธรที่ฝ่าฝืนคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งยุติปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ไม่มีใครเหมาะสมเท่ากับนายธนาธรเลยหรือ.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"