24ต.ค.62- “รมว.อว.” มอบ ส.ค.ศ.ท. ทำแผนการผลิตครูทั้งระบบ ให้ตรงตามต้องการ“ด้านรักษาการเลขาฯ คุรุสภา” เผยมหาวิทยาลัยยังผลิตครูล้น ทั้งที่อัตราการเกิดของเด็กต่ำลงเรื่อยๆ ไม่หันมามองอัตราเกษียณครูแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 2หมื่น ขณะที่ มีคนแห่สมัครสอบเป็นครูผู้ช่วยปีละ 1แสนคน
นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา (รองเลขาฯ สกศ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) ได้มีการหารือกับสภาคณบดีคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) ซึ่งที่ประชุมได้มีการเสนอ เรื่องแผนการผลิตครูที่ทาง ส.ค.ศ.ท. ต้องการให้มีนโยบายที่ชัดเจนระหว่าง อว.และ ศธ. รวมถึงเสนอให้ผลิตครูระบบปิด ควรจะให้สถาบันไหนผลิตสาขาอะไรจำนวนเท่าไร และอาจจะไม่สามารถผลิตครูระบบปิดได้ทั้งหมด หรือเริ่มที่ร้อยละ 50 ของจำนวนสถาบันการผลิตครูทั้งหมดก่อน และเมื่อจบมาแล้วก็ควรมีอัตรารองรับทันที ซึ่ง รมว.อว.ก็มอบให้ ส.ค.ศ.ท.กลับไปทำแผนการผลิตครูทั้งระบบและนำมาเสนออีกครั้ง ซึ่งตนมองว่า อว.ควรที่จะมีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องนี้ ว่า ทำอย่างไรจำนวนการผลิตครูจึงจะสมดุลกับการใช้ และทำอย่างไรการผลิตครูจึงจะมีคุณภาพ เพราะที่ผ่านมามีผู้สมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. มากถึง 100,000 คน ขณะที่จำนวนอัตราเกษียณมีเพียงประมาณ 20,000 อัตรา แต่จำนวนผู้ที่ผ่านการสอบทุกครั้งก็มีไม่ถึง 10,000 คน ซึ่งเราก็คงต้องมาพิจารณาในแง่ของปริมาณและคุณภาพด้วย
ปฎิบัติหน้าที่เลขา คุรุสภากล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันจำนวนเด็กลดลงตามอัตราการเกิดของประชาชน แต่ข้อมูลการผลิตครูยังถือว่าค่อนข้างที่จะสูง ขณะที่ความต้องการใช้ครูมีจำนวนไม่มาก ซึ่งในเรื่องของแผนการผลิตครูนั้น คุรุสภาจะดูแล 2 เรื่องหลัก คือ มาตรฐานหลักสูตรการผลิตครู ที่จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพที่คุรุสภากำหนด และมาตรฐานการผลิตครู ที่จะต้องดูแผนการผลิตครูของแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งเราไม่ได้เป็นผู้กำหนดจำนวนผู้เรียน เป็นอำนาจมหาวิทยาลัยที่จะกำหนด ดังนั้น การผลิตครูควรที่จะมีการนำข้อมูลการเกษียณอายุราชการครูของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มาร่วมวิเคราะห์ รวมถึงสถาบันผลิตครูทุกแห่งก็ต้องมาร่วมกันผลิตครูอย่างเป็นระบบ เพราะที่ผ่านมาการผลิตครูทำอย่างอิสระ มหาวิทยาลัยใดคิดว่าตนเองมีศักยภาพก็ผลิตครูได้ ส่งผลจำนวนครูที่ผลิตออกมาไม่สอดคล้องกับจำนวนการใช้ครู และมีปัญหาเรื่องครูเกินทุกปี