เริ่มเปิดรับลงทะเบียนอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับมาตรการชิมช้อปใช้ เฟส 2 หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 ระยะที่ 2 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ต่อเนื่องจากการดำเนินมาตรการในระยะแรกที่ผ่านมา โดยมาตรการชิมช้อปใช้ เฟส 2 นี้ ได้เปิดให้ประชาชนที่สนใจเริ่มลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.นี้ จำกัดจำนวนที่ 3 ล้านคน
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังยังได้ปรับเวลาการลงทะเบียนให้มีความยืดหยุ่น เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนมากขึ้น โดยยังคงจำกัดจำนวนที่ 1 ล้านคนต่อวันเหมือนเดิม แต่ปรับเวลาการลงทะเบียนใหม่ โดยแบ่งเป็น 2 รอบ คือ รอบแรกเริ่มลงทะเบียนในเวลา 06.00 น. จำกัดจำนวน 5 แสนคน และรอบที่ 2 เริ่มลงทะเบียนเวลา 18.00 น. จำนวน 5 แสนคนเช่นกัน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกกับประชาชน โดยมาตรการชิมช้อปใช้ เฟส 2 นี้ ประชาชนสามารถใช้ได้ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2562 ส่วนร้านค้าที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมมาตรการได้จนถึง 31 ธ.ค.เช่นเดียวกัน
สำหรับมาตรการชิมช้อปใช้ เฟส 2 จะมอบสิทธิ์เงิน 1,000 บาท สำหรับการใช้จ่ายผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (g-wallet) 1 ให้กับผู้ลงทะเบียนจำนวน 3 ล้านคน เหมือนกับในเฟสแรก ไม่เพียงเท่านี้ ขั้นตอนและวิธีการใช้จ่ายเงินในส่วนนี้ก็ยังเหมือนกับเฟสแรกด้วย นั่นคือ ผู้ลงทะเบียนจะต้องเลือกจังหวัดที่จะใช้จ่ายเงินดังกล่าว โดยไม่ให้ซ้ำกับจังหวัดที่ระบุไว้ตามบัตรประชาชน และต้องใช้เงินตามระยะเวลาที่กำหนดด้วย
แต่สิ่งที่พิเศษกว่ามาตรการชิมช้อปใช้เฟสแรกคือ การรับสิทธิ์เงินชดเชย ในส่วนของเงินชดเชย 15% ของยอดใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 30,000 บาท จากวงเงินที่ประชาชนเติมเองผ่าน g-wallet 2 หรือชดเชยไม่เกิน 4,500 บาท ตรงนี้ยังเหมือนเดิม แต่! ที่ไม่เหมือนเดิมคือ ยอดใช้จ่ายตั้งแต่ 30,001 จนถึงไม่เกิน 50,000 บาท ของยอดใช้จ่าย จะได้รับเงินชดเชยเพิ่มขึ้นเป็น 20% หรือคิดเป็นเงินชดเชยไม่เกิน 4,000 บาท โดยสิทธิ์ในส่วนเงินชดเชยนี้จะครอบคลุมถึงผู้ที่ลงทะเบียน 10 ล้านคน ในเฟสแรกด้วย นั่นหมายถึงผู้ที่อยู่ในมาตรการนี้มีโอกาสได้รับเงินชดเชยคืนสูงถึง 8,500 บาท
กระทรวงการคลังแจ้งว่า ชิมช้อปใช้ เฟส 2 นี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศผ่าน g-wallet โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการเดินทางและใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้มีการกระจายการใช้จ่ายไปยังเศรษฐกิจฐานราก ให้ชุมชนได้รับประโยชน์มากขึ้น โดยมีการปรับปรุงเงื่อนไขเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนด้วย
ขณะที่กรมสรรพากรเองก็ยังคงออกมายืนยันหนักแน่นว่า ไม่มีนโยบายมุ่งตรวจสอบกลุ่มผู้ใช้งานอีเปย์เมนต์ทั้งในทางตรงและทางอ้อม และกรมสรรพากรเห็นว่าผู้ใช้งานอีเปย์เมนต์จะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการที่ดี ซึ่งจะไม่ถูกตรวจสอบและได้รับการบริการที่ดี เช่น การคืนภาษีเร็วจากกรมสรรพากรด้วย
แม้ว่ามาตรการชิมช้อปใช้ในเฟสแรก จะมีผู้ใช้งานผ่าน g-wallet 2 เพียง 200 ล้านบาทเท่านั้น แต่กระทรวงการคลังก็ยังมั่นใจว่า มาตรการในระยะที่ 2 จะประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี จาก 4 กุญแจสำคัญ คือ สิทธิประโยชน์ที่มากขึ้น จากเงินชดเชยที่เพิ่มขึ้นเป็น 20% การเติมเงินเข้าประเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ง่ายขึ้น ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการมีมากและเปิดกว้างขึ้น รวมทั้งยังสามารถจัดโปรโมชั่นร่วมได้ และร้านค้าในโครงการจะไม่ถูกตรวจสอบภาษี
ด้านนักวิชาการเองต่างก็จับตาดูมาตรการชิมช้อปใช้ เฟส 2 ว่าน่าจะให้ผลดีกับเศรษฐกิจมากกว่ามาตรการในระยะแรกที่ดำเนินการมา ส่วนหนึ่งเพราะสิทธิประโยชน์ในเฟสแรกยังไม่จูงใจมากเพียงพอ จากเงินชดเชยเพียง 15% และประชาชนส่วนใหญ่ต่างลงทะเบียนเพียงหวังรับเงิน 1,000 บาท ซึ่งกลุ่มนี้อาจไม่ใช่เป้าหมายแท้จริงของรัฐบาล เนื่องจากส่วนใหญ่รับเงิน 1,000 บาท ใช้จ่ายแล้วก็จบ แต่ในเฟส 2 เชื่อว่าประชาชนที่ลงทะเบียนส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่มีการวางแผนท่องเที่ยวจริงอยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยทำให้มีเม็ดเงินหมุนลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้ 2-3 หมื่นล้านบาท และช่วยสนับสนุนให้จีดีพีโตได้ 0.1-0.2%
ขณะที่นักวิชาการบางส่วนก็มองว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ดำเนินการมานั้น จะส่งผลดีกับเศรษฐกิจในระยะสั้น และมีผลกับตัวเลขจีดีพีทั้งปีน้อยมาก ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาในการประเมินความสำเร็จของมาตรการที่ได้ดำเนินการมาเสียก่อนจะมีการดำเนินมาตรการหรือโครงการใดๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป.
ครองขวัญ รอดหมวน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |