แพทย์ระบุยาดองคางคกคร่า 2 ศพ สาหัสอีก 4 ต้นเหตุมาจากเจ้าของสูตรใช้เมทานอล หรือเมทิลแอลกอฮอล์กินถึงตาย ส่วนสารพิษในคางคกมีผลต่อหัวใจ
เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมนี้ นพ.อภิรัต กตัญญุตานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าอาการผู้ป่วยดื่มยาดองเหล้าผสมคางคก และมีผู้เสียชีวิต 2 คน อาการสาหัส 4 คน ว่า ขณะนี้อาการผู้ป่วยยังทรงตัว ต้องติดตามใกล้ชิดเนื่องจากหายใจไม่สะดวก อีกทั้งบางคนต้องใช้เครื่องฟอกไตร่วมเพื่อกำจัดสารพิษ ส่วนผลการตรวจสอบ ยืนยันชัดเจนแล้วว่า อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยทั้งหมดมาจากผลของเมทานอล ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ที่ใช้ในระดับอุตสาหกรรม ใช้ในการผสมกับทินเนอร์ กาว ไม่ใช่การผสมเป็นเครื่องดื่ม ซึ่งไม่ทราบว่าคนที่ผสมให้ทุกคนดื่มนั้นทราบหรือไม่ ส่วนอันตรายจากฤทธิ์ของคางคกจะมีผลกับหัวใจและทำให้คลื่นไส้ ซึ่งก็ได้รักษาตามอาการ และผู้ป่วยที่ได้รับอันตราย คาดว่าไม่น่าจะเกิดจากคางคก แต่เกิดจากเมทานอลมากกว่า สำหรับการแยกสีและกลิ่นของเมทานอลนั้น ยอมรับว่าทำได้ยากเนื่องจากคล้ายกับแอลกอฮอล์ทั่วไป
ด้าน นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สุราออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อดื่มเข้าสู่ร่างกาย จะถูกดูดซึมและกระจายไปทุกส่วนของร่างกาย เข้าไปทำลายตับ เยื่อบุกระเพาะ และลำไส้อักเสบ เป็นแผลในกระเพาะอาหาร การดื่มสุราปริมาณมากในระยะเวลาสั้นๆ อาจทำให้เกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ และหากมีการนำสุราไปดองกับสัตว์มีพิษต่างๆ เช่น ตะขาบ แมงป่อง คางคก แล้วนำมาดื่ม ตามคำกล่าวอ้างในเรื่องสรรพคุณทางการรักษาโรคหรือเพื่อบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง อันตรายมาก ร่างกายจะได้รับพิษจากสัตว์เหล่านั้น เกิดอาการพิษทางร่างกายอย่างรุนแรงและอาจทำให้เสียชีวิตได้
นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวว่า คางคกมีต่อมขับน้ำเมือก และผิวหนังที่มีพิษขับเมือกพิษออกมาที่ต่อมเล็กๆ ที่ผิวหนัง ใบหน้า ใต้ตา และระบบไหลเวียนเลือด ซึ่งเป็นสารกลุ่มดิจิทาลอยด์ มีลักษณะทางเคมีและการออกฤทธิ์คล้ายกับสารกลุ่มคาร์ดิแอก ไกลโคไซด์ มีผลต่อหัวใจ ซึ่งมีกลไกออกฤทธิ์ทำให้หัวใจบีบตัวมากขึ้น หัวใจเต้นผิดจังหวะ และเกลือแร่ในเลือดผิดปกติ นอกจากนี้ยังมีสารแอลคาลอยด์อื่นและสารระคายเคืองร่วมด้วย
“การบริโภคคางคกทั้งนำมาทำเป็นอาหาร การให้ความร้อนหรือนำไปดองกับสุรา ไม่ทำให้พิษคางคกหายไป เมื่อนำมาบริโภคหรือดื่มจะทำให้ได้รับพิษจากคางคก ช่วงแรกจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง หากบริโภคในปริมาณมากจะทำให้รู้สึกสับสน เพ้อ ง่วงซึม มีอาการทางจิตประสาท ชัก และหมดสติ จำเป็นต้องพาผู้ป่วยมารักษาทันที เนื่องจากผู้ป่วยจะมีหัวใจเต้นช้าลงและหัวใจเต้นผิดจังหวะจนทำให้เสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลวได้ และขณะนี้ในทางการแพทย์ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการยืนยันถึงประโยชน์และสรรพคุณทางยาของคางคก ย้ำเตือนกลุ่มที่กำลังจะทดลองดื่มสุราดองคางคก หรือสัตว์พิษอื่นๆ ให้ตระหนักถึงความอันตรายต่อสุขภาพให้มาก ฤทธิ์รุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้” นพ.สรายุทธ์กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |