อลังการเบื้องหลังสร้างฉาก"โขน" ตอน" สืบมรรคา "


เพิ่มเพื่อน    


 

    การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ปี 2562 ที่เป็นการแสดงในตอนชื่อว่า "สืบมรรภา"  กำลังตระเตรียมงาน ก่อนที่จะมีการแสดงจริง ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 6 พฤศจิกายน ถึง 5 ธันวาคม 2562 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ท้องพระโรงกรุงลงกา


     วันนี้จะพาไปชม"เบื้องหลัง"การเตรียมงานแสดง  ซึ่งประกอบด้วย  ดนตรี เครื่องแต่งกาย ที่สำคัญก็คือฉาก ส่วนสำคัญที่จะทำให้การแสดงออกมาสมบูรณ์  และความสวยงามของประติมากรรมในฉาก ซึ่งมีความปราณีตงดงามไม่แพ้เครื่องแต่งกายของนักแสด    ณ อาคารเรียน-รู้-เรื่องโขน ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา

 


    อาจารย์สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบและสร้างฉาก การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน สืบมรรคา บอกเล่า เกี่ยวกับฉากในเรื่องว่า การนำเสนอโขนในปีนี้เป็นเรื่องราวที่มีความน่าสนใจ ทั้งการดำเนินเรื่อง การแสดง ดนตรีประกอบ เครื่องแต่งกาย และฉากที่นับว่ามีความสำคัญมาก ซึ่งได้มีการนำเทคนิคพิเศษต่างๆเข้ามาใช้  เพื่อให้ฉากออกมาสมจริง  เหมือนจินตนาการในวรรณคดี  ซึ่งตนได้ออกแบบ และปั้นองค์ประกอบในฉากเอง  และยังมีครูช่างศิลป์ ทีมช่างจากศูนย์ศิลปาชีพฯ นักศึกษา สาขาจิตรกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ อีกกว่า 90 คน มาร่วมรังสรรค์สร้างฉาก

ตัวหนุมานแปลงกายพาดเป็นสะพาน

ช่างลงสีบริเวณใบหน้าหนุมาน


     "ในด้านของงานประติมากรรม ในฉากที่หนุมาน เนรมิตกายให้ใหญ่โตเพื่อข้ามแม่น้ำ เอาหางพาดเป็นสะพาน เพื่อให้กองทัพวานรไต่ข้ามแม่น้ำไปได้ หนุมานจะมีขนาดตัวใหญ่ถึง 15 เมตร ขาแขน เคลื่อนไหว ยืดหด กลอกตาได้ "

ฉากพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพยนต์.

ช่างลงมือทำในส่วนของฉากพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพยนต์


    อาจารย์สุดสาครบอกว่า ความสวยงามของเรื่อง ยังจะอยู่ที่การสร้างเครื่องแต่งกาย ให้เป็นลวดลาย ชัดเจน มีความนูนในลวดลาย ให้ความรู้สึกมีมิติ  และการใช้คู่สีตัดกันแบบโบราณดั้งเดิม  อย่างม่วงเขียว แดงเหลือง หรือในฉากที่หนุมานพบพญานกสัมพาที ได้พากันออกไปทะเลหลวงก่อนถึงกรุงลงกา เจอนางผีเสื้อสมุทรรูปร่างสูงใหญ่ และมีการต่อสู้กัน จึงทำให้ความพิเศษของฉากนี้อยู่ที่ นางผีเสื้อสมุทร ที่มีความสูงถึง 6 เมตร และมีกลไกในการเคลื่อนไหวให้สมจริงทั้งในขณะอ้าปากให้สามารถนำหุ่นหนุมานเข้าไปได้ และท้องที่สามารถเปิดให้หนุมานที่เป็นคนออกมาได้ ซึ่งในฉากนี้จะมี ทั้งหุ่นหลวง หุ่นกระบอกมาใช้ เรียกได้ว่าเป็นมหกรรมหุ่นเลยทีเดียว

ลวดลายในการปักชุดโขนส่วนต่างๆ ในห้องจัดแสดง

ชุดสังวาล จัดแสดงในห้องพัสตราภรณ์

 

สไบนางอังกาศตไล

     ผู้ออกแบบและสร้างฉาก กล่าวเสริมอีกว่า ยังมีฉากพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพยนต์ ประหารหนุมาน โดยตัวปราสาท ได้จำลองขึ้นตามข้อมูลสันนิษฐานในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ได้เมืองเขมรเป็นประเทศราช  ซึ่งตัวปราสาทเป็นพระปรางค์ 5 ยอด มีหน้าบรรณ ยอดนภศูล นาคสะดุ้งที่ถูกต้อง โดยไม่มีกำแพง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมขอม  


    ความอลังการ ตื่นตาตื่นใจยังอยู่ที่  การออกแบบฉาก"สวนขวัญ" ซึ่งเป็นฉากทศกัณฐ์ต้องลงไปเกี้ยวนางสีดา  ซึ่งได้ภาพชั้นครูของเจ้ากรมอ่อน ศิลปินรุ่นเก่าที่วาดไว้ในรัชกาลที่ 3  เขียนไว้ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ นำมาเป็นแหล่งอ้างอิงมาวาดเป็นฉากขนาดใหญ่ สูง 10 เมตรยาว 20 เมตร พร้อมทั้งมีต้นอโศกที่สีดาใช้ผูกพระศอ ที่ต้องแข็งแรง เพราะหนุมานจะต้องปีนขึ้นไปแก้เชือกออกจากพระศอนางสีดา จึงไม่ใช่แค่ศิลปกรรมอย่างเดียว แต่รวมไปถึงความเป็นธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ภูเขา หินผา สัตว์ ต้องใช้ความรู้ผสานเข้ากับจินตนาการอย่างมาก หรือฉากท้อง พระโรงในกรุงลงกา มีทั้งคชสีห์ ราชสีห์ ช้างเอราวัณสามเศียรตัวใหญ่มาก 

 

    "ผมได้ลงมือปั้นเอง ร่วมกับช่างฝีมือด้วย ซึ่งในปีนี้ก็จะมีการใช้ฉากจากปีแล้วด้วย แต่ต้องมีการแก้ไขเพื่อให้สมบูรณ์ขึ้น และในการทำฉากที่ใช้โฟมเป็นตัวสำคัญเพราะมีน้ำหนักเบาและเคลื่อนย้าย แต่ในส่วนที่เหลือหรือไม่ใช้ก็นำส่งให้กับบริษัทไปรีไซเคิลเพื่อไม่ให้เป็นขยะ"อาจารย์สุดสาครบอกเล่าความตั้งใจ

อาจารย์สุดสาคร ชายเสม


    หนึ่งในทีมงานสร้างฉาก  นพณัฐ ศรีวิชัย เจ้าหน้าที่ฝ่ายเขียนฉาก บอกว่า ในปีนี้มีฉากที่ทำขึ้นมาใหม่ 5 ฉาก คือ ทะเล 2 ฉาก เขาแห้งแร้ง สวนขวัญ และเมืองร้าง และจะมีฉากเก่าอย่าง ตอนรำเบิกโรง ที่นำมาปรับแก้ไขให้สมบูรณ์มากขึ้น และฉากที่ยากที่สุด  เป็นการวาดประติมากรรม ที่ต้องละเอียดทุกเส้น ทุกองศา ซึ่งในทีมฉากก็จะมีประมาณ 10 คน ที่ลงแรงทำอย่างตั้งใจทุกขั้นตอน เพราะถือว่าเป็นฉากที่มีขนาดใหญ่ถึง 21x11 เมตร  แต่ตนและทีมก็จะทำสุดความสามารถเพราะทำมาตั้งแต่ตอนนางลอย  ในตอนนั้นก็ยังเป็นนักศึกษาอยู่ แต่ด้วยใจที่รักและผูกพันก็ทำมากว่า 10 ปี และคิดว่าจะทำไปเรื่อยๆ เพราะได้เป็นการตอบแทนสมเด็จพระบรมราชินีนาถด้วย


    นายริค่า สถิรสกุลพงศ์ นักเรียนศิลปาชีพ ชาวปกากะญอ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในการส่งเสริมด้านงานศิลป์ ตั้งแต่ปี 2547 บอกว่า นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตในที่ได้มีโอกาสมาทำงานในศูนย์ศิลปาชีพฯ ตั้งแต่อายุ12 ปี   จนตอนนี้อายุ 28 ปี การได้มาอยู่ที่นี่ทำให้มีรายได้และได้เรียนรู้ทุกอย่างตั้งแต่พื้นฐาน การวาด การเขียนลาย การปั้น การแกะสลัก ไปจนลงมือทำ ซึ่งก็ได้มีส่วนในการทำฉากตอนนางลอย และปั้นราวบันได องค์เทพต่างๆในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งในปีนี้ตนก็รับหน้าในการแกะสลักที่ใช้โฟม ซึ่งเป็นส่วนลวดลายผ้าและเครื่องประดับของหนุมาน ที่มีขนาดใหญ่จึงต้องมีความละเอียด ซึ่งในวันแสดงจริงทีมช่างทุกคนก็จะได้เข้าไปชมเพื่อหาจุดที่ผิดพลาดและนำกลับมาแก้ไข และทุกครั้งที่ได้ทำงานตนรู้สึกดีใจ เพราะเหมือนกับได้ตอบแทนพระองค์ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณกับตนและพี่น้องชาวอมก๋อย

ริค่า สถิรสกุลพงศ์ กำลังบรรจงแกะสลัก


     เครื่องแต่งกายของตัวละครอีกหนึ่งไฮไลต์ของการแสดง ปีนี้จะแปลกตากว่าตอนที่ผ่านมา แต่ยังคงความวิจิตรงดงาม  อย่าง ทศกัณฐ์สวมศีรษะโขนหน้าทอง ที่ทำจากศิลปวัตถุชิ้นเยี่ยม แสดงให้เห็นถึงทศกัณฐ์ที่อารมณ์ดี หน้าตาผ่องใส พร้อมแต่งองค์ทรงเครื่องให้สะดุดตา เพื่อเตรียมตัวไปเกี้ยวพาราสีนางสีดาโดยเฉพาะ หรือผ้าสไบนางอังกาศตไล ซึ่งผ้าผืนนี้ได้จัดทำขึ้นมาใหม่ ร่วมระดมฝีมือจากสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง จ.อ่างทอง และสมาชิกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา ปักเป็นลวดลายสำหรับนางยักษ์ คือลายพุ่มหน้ากาลก้านแย่ง ออกแบบโดยอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย รวมถึงเครื่องแต่งกายของ นกสัมพาที ที่ออกแบบเป็นสองชุดด้วยกัน ได้แก่ ชุดที่นกสัมพาทีถูกสาบให้หัวโล้นและขนร่วงหมดทั้งตัว และอีกชุดต้องปักดิ้นปักเลื่อมขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพราะหลังจากพบหนุมานแล้ว นกสัมพาทีก็กลับมีขนงดงามดังเดิม


     ส่วนการชมภายในอาคารเรียน-รู้-เรื่องโขน สถานที่เก็บฉากและเครื่องพัสตราภรณ์ที่ใช้ในการแสดงปีที่ผ่าน อาทิ เรือสำเภาหลวงลงกา ในส่วนห้องจัดแสดงเครื่องพัสตราภรณ์ ที่จะมีเครื่องประดับ ทับทรวง ปั้นเหน่ง ชุดสังวาล เครื่องประดับข้อเท้า  ส่วนเครื่องแต่งกาย ก็จะมีลายผ้า อย่างสไบนาง หรือลายผ้ายกเนินธัมมัง ซึ่งจะมีหุ่นตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์และลิง ขนาดเท่าคนจริง ส่วมเครื่องแต่งกายที่ใช้แสดงจริง และมีช่างปักจากศูนย์ศิลปาชีพบางไทร มาสาธิตการปักชุดโขน ห้องถัดมาจะเป็นในส่วนของอาวุธ และหัวโขน ยังมีห้องโถงขนาดใหญ่ ที่ใช้เก็บฉากสำคัญ อย่าง  โรงพิธีลับหอกโมกขศักดิ์ริมน้ำ ซึ่งพลับพลาพระราม และท้องพระโรงกรุงลงกา จะได้นำกลับไปแสดงในปีนี้ด้วย  และยังได้รับชมฉากหนุมานอ้าปากพลับพลาของพระรามและพระลักษมณ์ไว้ ตอนหนึ่งในศึกไมยราพ และยังมีองค์ประกอบฉากสำคัญต่างๆอีกมากมาย ที่จะทำให้เราเข้าใจปติมากรรม ลวดลายไทย และโขนได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น


     ผู้ที่สนใจชมการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน “สืบมรรคา” จะเปิดการแสดงระหว่างวันที่ 6 พฤศจิกายน ถึง 5 ธันวาคม 2562 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา หรือ www.thaiticketmajor.com หรือสามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวทั้งหมดได้ทางเว็บไซต์ www.khonperformance.com และ เฟซบุ๊ก Khon Performance โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"