13 มี.ค.61 - นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักคิด นักเขียน และนักวิชาการด้านประวัติศษสตร์เขียนบทความชื่อเรื่อง "การเมืองใหม่ของพรรคเกรียน" เผยแพร่ในหนังสือพิมพิมพ์มติชนรายวัน คอลัมน์ "นิธิ เอียวศรีวงศ์" ฉบับวันที่ 12 มีนาคม 2561
บทความของนายนิธิ ระบุช่วงตอนหนึ่งว่า ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันด้วยว่า ทั้ง นปช.และ กปปส.ต่างมีพรรคการเมืองหนุนหลัง ซึ่งก็ไม่ผิดประหลาดอย่างไร เป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมต่อการเมืองบนเวทีที่เป็นทางการกับไม่เป็นทางการอีกอย่างหนึ่ง แต่ข้อที่น่าเสียดายอยู่ที่ว่า หลังจากบรรลุภารกิจแล้ว พรรคการเมืองก็ถอยออกไป เพียงแต่หวังว่ามวลชนจำนวนมหึมาที่ระดมมาได้จะเป็นคะแนนเสียงของพรรคในการเลือกตั้ง แต่ที่จริงแล้วมวลชนเหล่านี้มีประโยชน์ทางการเมืองมากกว่านั้นมากนัก เช่นในการเสาะหานโยบายที่เกี่ยวกับยางพาราใหม่ของพรรค นโยบายการท่องเที่ยวที่มี "เหยื่อ" น้อยลง ฯลฯ หรือหนทางปรับปรุงโครงการ 30 บาท, โครงการรับจำนำข้าว, โครงการกองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ
น่าเสียดายก็เพราะ แม้ว่าเมืองไทยได้ก้าวเข้าสู่การเมืองมวลชนแล้ว แต่พรรคการเมืองก็ยังปรับตัวเองให้เป็นพรรคมวลชนได้ไม่สำเร็จสักพรรคเดียว นอกจากใช้มวลชนเพื่อเป้าหมายทางการเมืองระยะสั้นๆ เช่นชนะเลือกตั้ง หรือล้มรัฐบาลเลือกตั้ง
ด้วยความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองไทยดังที่ได้กล่าวข้างต้น ผมจึงเห็นว่าพรรคการเมืองที่เสนอแนวทางของการเมืองใหม่อย่างแท้จริงคือพรรคเกรียน ทำไมจึงเป็นแนวทางของการเมืองใหม่ ผมจะพูดข้างหน้า ซึ่งอาจผิดหมดเลย เพราะผมได้แต่เดาความหมายเอาจากคำแถลงของผู้ดำเนินการจัดตั้งพรรคเท่านั้น
บทความของนายนิธิ ถึงพรรคเกรียน ที่อยู่ระหว่างการเตรียมการจัดตั้งพรรคโดย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ "บก.ลายจุด" ว่า "ผมเข้าใจว่า เป้าหมายหลักทางการเมืองของพรรคเกรียน (อย่างน้อยในช่วงนี้) ก็คือ การจัดองค์กรที่อาจเคลื่อนไหวทางการเมืองได้สะดวกแก่กลุ่มต่างๆ ในภาคประชาสังคมซึ่งมีอยู่หลากหลาย ได้ร่วมกันในการเสนอนโยบายสาธารณะ "ร่วมกัน" สำคัญอย่างยิ่ง เพื่อไม่ให้นโยบายเกิดจากการครอบงำหรือข้อมูลด้านเดียวของบุคคล เช่น ปัญหาพลังงาน, ค่าแรงขั้นต่ำ, การศึกษา, การจัดการมลภาวะ, เมืองและบริการของเมือง ฯลฯ ล้วนมีข้อมูลจากหลายแหล่ง และมองได้จากหลายมุม
นอกจากการตรวจสอบและร่วมไตร่ตรองนโยบายสาธารณะจากคนหลากหลายกลุ่มแล้ว ผมเข้าใจว่าพรรคมีแนวโน้มที่ค่อนข้างชัดว่าต้องการข้อเสนอประเภท "แหกคอก" หรือ "คิดนอกกรอบ" ค่อนข้างมาก ดูเหมือนกลุ่มผู้จัดตั้งพรรคออกจะเชื่อว่า ทางแก้ปัญหาที่เราเคยชินมานานแล้ว ส่วนใหญ่ไม่อาจแก้ปัญหาของปัจจุบันได้ เพราะที่จริงทางแก้ปัญหาเหล่านั้นมักเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาของสังคมทุนนิยมอุตสาหกรรมในศตวรรษที่แล้ว หรือก่อนหน้านั้น ไม่ใช่ทุนนิยมที่ครอบงำโลกอยู่ในปัจจุบัน
ขอให้สังเกตว่า พรรคเกรียนคิดถึงนโยบายสาธารณะที่เกิดและพัฒนาขึ้นจากมวลชนข้างล่าง (เวทีที่ไม่เป็นทางการ) ผลักขึ้นมาอย่างมีพลังจนกระทั่งผู้บริหาร (เวทีที่เป็นทางการ) ต้องทำตาม หรืออย่างน้อยพยายามทำตาม พลิกกลับกระบวนการทางการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งผู้บริหารวางนโยบายสาธารณะ และมวลชนได้แต่รับหรือไม่รับนโยบายนั้น ซึ่งโอกาสจะปฏิเสธนั้นเป็นไปได้ยาก อย่าลืมว่าขึ้นชื่อว่ารัฐย่อมมีพลังในการโน้มน้าวไปจนถึงบังคับที่ "เนียน" มากๆ ทั้งนั้น
ถ้าคิดแค่นี้ เหตุใดจึงต้องไปจดทะเบียนเป็นพรรคการเมือง? คำตอบที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือเพื่อผนวกเวทีที่ไม่เป็นทางการเข้าไปในเวทีที่เป็นทางการ
ทำแค่นี้แหละที่จะทำให้ข้อเสนอเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะมีน้ำหนักผิดกันไกล โดยเฉพาะบนพื้นที่สื่อกระแสหลัก เพราะกลายเป็นข้อเสนอทางการเมืองของเวทีที่เป็นทางการ (กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจะเคลื่อนไหวอย่างไร ก็ไม่ "ดัง" เท่า หัวหน้าพรรคเพื่อไทย หรือแม้แต่พรรคของคุณไพบูลย์ นิติตะวัน ให้สัมภาษณ์ว่า พรรคจะสนับสนุนสิทธิเสมอภาคของคนกลุ่มนี้ กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันในสังคมไปทันที)
ฉะนั้น การเชื่อมเวทีทางการเมืองทั้งสองเข้าหากันแบบนี้ จึงช่วยเพิ่มพลังของเวทีที่ไม่เป็นทางการอย่างยิ่ง
หากพรรคเกรียนสามารถทำให้แนวคิดด้านนโยบายสาธารณะ ไม่ว่าจะมาจากพรรคหรือมาจากคนอื่น ถูกนำมาถกเถียงอภิปรายกันก่อนที่จะประกาศเป็นนโยบาย ก็จะเป็นความสำเร็จทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ เพราะในเมืองไทย นโยบายสาธารณะไม่เคยถูกสังคมนำมาพิจารณาถกเถียงกันก่อนประกาศใช้เลย ส่วนใหญ่เมื่อประกาศแล้วจึงฮือฮากันเข้ามาพิจารณาในภายหลัง ฝ่ายหนึ่งก็ต่อต้านคัดค้าน เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองหรือเศรษฐกิจของตน อีกฝ่ายหนึ่งก็สนับสนุนเพื่อเหตุอย่างเดียวกัน ยังแถมทิฐิมานะเข้าไปอีก
การโต้เถียงอภิปรายนโยบายสาธารณะจากคนหลากหลายกลุ่มในสังคมนั่นแหละคือความสำเร็จของพรรคเกรียน ยิ่งโต้แย้งอภิปรายกันก่อนตัดสินใจ ใช้นโยบายนั้นๆ ก็ยิ่งเป็นความสำเร็จมากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว
เพราะนั่นคืออำนาจของประชาชนในการควบคุมนโยบายสาธารณะ (ไม่ใช่คุมแต่ไม่ให้โกงอย่างเดียว) การเมืองในระบอบประชาธิปไตยก็มีเป้าหมายตรงนี้ไม่ใช่หรือ ทั้งนี้ โดยพรรคเกรียนไม่จำเป็นต้องเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ไม่ต้องร่วมรัฐบาล ไม่ต้องแม้แต่เป็น ส.ส.ฝ่ายค้านด้วยซ้ำ (ในความคิดส่วนตัว ถึงได้เป็นก็ไม่ขัดขวางการดำเนินงาน แต่ก็ช่วยการดำเนินงานได้ไม่มากนัก จนบางทีอาจไม่คุ้มกับที่ขึ้นไปอยู่บนเวทีที่เป็นทางการด้วยซ้ำ เพราะถึงอย่างไรเวทีการเมืองที่เป็นทางการก็มีกฎ กติกา ประเพณี และยุทธวิธีทางการเมืองบังคับอยู่มากทีเดียว...ดูพรรคกรีนในยุโรปเป็นตัวอย่าง)
และนี่คือเหตุผลที่พรรคเกรียนโฆษณาว่า พรรคไม่มุ่งหาเสียง แต่มุ่งหาเรื่อง คือหาเรื่องที่มีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน (ไม่จำเป็นต้องเป็นเศรษฐกิจอย่างเดียว) เพื่อชูขึ้นมาให้เกิดการโต้เถียงอภิปรายกัน จนในที่สุดก็อาจลงตัวเป็นนโยบายสาธารณะที่ไม่ติดกรอบ และให้ผลดีแก่ประชาชนในเงื่อนไขเฉพาะของไทยด้วย (หาความเป็นไทยจากเรื่องจริง ไม่ใช่นึกเอาเอง)
นี่คือเหตุผลที่ทำให้ผมเห็นพรรคเกรียนกำลังเล่น "การเมืองใหม่" คือไม่จำเป็นต้องกระโดดขึ้นไปบนเวทีที่เป็นทางการ แต่ใช้ประโยชน์จากเวทีที่ไม่เป็นทางการ และช่องทางการเชื่อมโยงกับเวทีที่เป็นทางการ เพื่อสร้าง "การเมือง" ของพลเมือง ประชาธิปไตยทางตรงที่เรียกร้องกันมาไม่ได้มีรูปแบบเดียว คือหย่อนเปลือกหอยต่างสีลงในภาชนะของที่ประชุม (แบบนครรัฐกรีก) เท่านั้น แต่รู้จักคิดอะไรแบบเกรียนๆ บ้าง ก็จะเห็นหนทางที่จะปรับใช้ได้อีกมาก โดยไม่จำเป็นต้องล้มเลิกประชาธิปไตยตัวแทนลงด้วย
เกรียนเป็นสำนวนสมัยใหม่ที่ใช้กันแพร่หลายจนรู้จักกันดี ความหมายได้คลี่คลายจากเด็กมัธยมหัวเกรียนมาสู่บุคลิกที่มักขัดขวาง, ล้อเลียน, ยั่วยุ, หยอกล้อ กับอะไรที่ลงตัวอยู่แล้ว (the Establisment) หากพรรคมีแนวนโยบายทางการเมืองดังที่กล่าวข้างต้น ก็ไม่มีชื่ออื่นในภาษาไทยจะใช้ได้ดีไปกว่าคำว่า "เกรียน"
พรรคเกรียนจึงไม่ได้เป็นชื่อที่พูดเล่นหรือพูดให้ฮา โดยไม่สัมพันธ์กับความเป็นจริงในเมืองไทยที่พรรคมองเห็น ผมคิดว่าชื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเสียอีก ที่ฟังดูแล้วเหมือนจะเล่นสนุกหรือเรียกเสียงฮาได้มากกว่า เพราะคนที่ก่อความไม่สงบกลับลอยนวล หรือบางคนได้ดิบได้ดีไปกับคณะรักษาความสงบ ซ้ำร้ายหัวหน้าคณะรักษาความสงบยังมีวิธีพูดที่ทำให้ความสงบอันตรธานไปอย่างฉับพลันด้วย ถ้าให้คนไทยส่วนใหญ่นิยามคำว่า "ความสงบ" การยึดอำนาจของกองทัพนั่นแหละทำให้ "ความสงบ" ลดน้อยลง
มีอะไรให้เลือกได้ไม่รู้กี่พันชื่อ ไปเลือกชื่อ "ความสงบ" มาทำไม น่าฮาออกจะตาย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |