"อนุทิน" ควง "มนัญญา" นำทีม สธ.ประท้วงใช้ 3 สารเคมีอันตราย บี้ คกก.วัตถุอันตรายโหวตยกเลิก ลั่นถ้าพลิกล็อกคนที่เหนือกว่า รมต.ต้องจัดการ "สุริยะ" ยัน 3 เสียงกระทรวงอุตฯ แบนแน่นอน เครือข่ายไทย-แพนรวม 686 องค์กรขู่ไม่ปกป้องสุขภาพ ปชช. ปลุกบอยคอตผู้ประกอบการและพรรคที่หนุนสารพิษ
ที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ., อธิบดีทุกกรม และผู้บริหาร สธ.ต่างสวมเสื้อสีขาวเพื่อแสดงจุดยืนยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีอันตรายทางการเกษตร คือ พาราควอต, คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ในงาน Kick Off การยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีทางการเกษตร "หยุดใช้ หยุดขาย หยุดตาย"
นายอนุทินกล่าวว่า วันนี้เราพร้อมใจกันมาประท้วงการใช้สารเคมีและสนับสนุนให้มีการยกเลิก ซึ่งไม่ใช่แค่ 3 สารเคมี ไม่ว่าจะกี่พันหมื่นสารเคมีหากอันตรายต้องแบน โดยพร้อมใจกันใส่เสื้อขาวมาด้วยความเต็มใจ และมาให้กำลังใจคณะกรรมการวัตถุอันตรายในสัดส่วนของ สธ.ทั้ง 3 คน คือ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์, นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ที่จะไปร่วมการประชุมด้วยตนเอง และจะเข้าไปโหวตแบบเปิดเผยให้มีการแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด รวมทั้งเป็นการมาให้กำลังใจ น.ส.มนัญญา ทั้งนี้คนที่คิดเอาสารเคมีมาขาย กำไรที่หามาน่าจะพอยังชีพแล้ว ขอให้หยุด สมองขนาดนี้ไปทำอะไรดีๆ บ้าง น่าจะทำมาหากินอย่างอื่น ถ้าไม่หยุดตอนนี้เวรกรรมตามทันแน่นอน
"การโหวตแบนสารเคมี 3 เสียงจาก สธ. 2 เสียงจากกระทรวงเกษตรฯ และ 2 เสียงจากกระทรวงคมนาคม รู้อยู่แล้วว่าจะแบนเพื่อประชาชน จึงอยากขอให้ข้าราชการกระทรวงอื่นสนับสนุนเรื่องการแบนด้วย ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีเองก็สนับสนุนการแบน แต่ท่านเป็นผู้หลักผู้ใหญ่จึงไม่ได้พูดตรงๆ จึงพูดแค่ว่าต้องลดละเลิกการใช้ อย่างไรก็ตามหากผลการประชุมเกิดออกมาพลิกล็อก ก็ไม่ใช่ความผิดของผู้ไปโหวตแบน แต่ต้องเป็นหน้าที่ของคนที่เหนือกว่ารัฐมนตรีทุกคนที่จะต้องมาแก้ไขปัญหานี้" นายอนุทิน ระบุ
ส่วนเรื่องการนำเงินส่วนอื่นมาชดเชยทดแทนให้แก่เกษตรกรที่เลิกใช้สารเคมีนั้น เป็นไอเดียรัฐบาลสามารถพิจารณางบจากส่วนอื่นมาชดเชยได้ เช่นได้หารือกับเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็มีแนวคิดจะนำเงินที่ไม่ต้องใช้รักษาจากกลุ่มคนป่วยนี้ก็เป็นไปได้ แต่ขึ้นกับคณะรัฐมนตรีพิจารณาด้วย
น.ส.มนัญญากล่าวว่า ตอนแรกที่เดินหน้าเรื่องแบนสารเคมีพอมีคนเห็นด้วยก็สบายใจ แต่พอเริ่มดำเนินการไปมีคนเสียผลประโยชน์เกิดอาการขัดแย้งขึ้น รู้สึกว่าตัวเองกำลังสร้างสองฝ่ายขึ้นในประเทศไทย ทำให้คนทะเลาะกันหรือไม่ แต่เมื่อมองย้อนกลับไปสมัยเป็นนายกเทศมนตรี แล้วเห็นคนเจ็บตายจากสารเคมีก็ต้องเดินหน้าต่อ อย่างไรก็ตามมีการพูดกันถึงเรื่องสารทดแทนนั้น หากตอนนี้เราจะปลูกพืชแบบปุ๋ยอินทรีย์ เราต้องระเบิดดินไปฟุตกว่าก่อนนำเมล็ดไปฝังถึงจะได้พืชที่บริสุทธิ์ หากเราไม่เลิกวันนี้ต่อไปเราไม่ต้องขุดถึงดินดานเลยหรือ ถึงจะเลิกสารเคมีที่ไม่สามารถกำจัดออกไปจากพื้นดินได้แล้ว ทั้งนี้อยากเจอเกษตรกรที่เดือดร้อนจากการยกเลิกสารเคมี เพราะไม่เคยเจอเลย มีแต่มาสนับสนุน แม้แต่ชาวไร่อ้อยบอกว่าพร้อมเลิกใช้หากให้หยุดใช้
เมื่อถามว่าจะมีการชวนเกษตรกรไปร่วมกดดันคณะกรรมการหรือไม่ น.ส.มนัญญากล่าวว่าจะมีม็อบไปกดดันหรือไม่ ไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากเราไม่เคยเชิญชวนใครอยู่แล้ว ทุกอย่างเป็นอิสระ ใครมีความคิดเห็นอย่างไรก็แล้วแต่ ไม่ได้มีการล็อบบี้หรือว่าเอาใครมา
3 เสียง 'ก.อุตฯ' โหวตแบนแน่
ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย วันที่ 22 ต.ค.ที่มีนายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รักษาการรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ซึ่งมีตัวแทน 3 คนของกระทรวง คือ นายภานุวัฒน์, นายประกอบ วิวิธจินดา รักษาการอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จะมีการเสนอให้มีการแบนแน่นอน
ที่พรรคเพื่อไทย นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร แถลงจุดยืนของพรรคเพื่อไทย 9 ข้อต่อกรณีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 22 ต.ค.นี้ เพื่อพิจารณายกเลิกการใช้สารเคมีในการเกษตรทั้ง 3 ชนิด อาทิ ต้องระงับการมีไว้ในครอบครองและระงับการใช้สารเคมีทั้งสามนี้ทันที เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการหาทางออกในเรื่องการทดแทนและเยียวยาผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเร็วที่สุด ควรใช้งบประมาณในส่วนของความมั่นคงมาบรรเทาผลกระทบที่จะมีต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการ เพราะการเกษตรเป็นความมั่นคงของชาติทั้งในทางอาหารและสิ่งแวดล้อม พรรคขอให้กำลังใจคณะกรรมการวัตถุอันตรายตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ โดยต้องมองความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ.กล่าวว่า คณะกรรมาธิการขอยืนยันว่าไม่สนับสนุนการหาสารเคมีอื่นมาทดแทน กล่าวคือไม่เตะหมูเข้าปากสัตว์เลี้ยง ไม่เอื้อกลุ่มทุนด้านสารเคมีการเกษตร โดยจะสนับสนุนการเกษตรแบบอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ ทั้งนี้หากคณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่แบน 3 สารเคมี นายกฯ ต้องรับผิดชอบในฐานะผู้รับผิดชอบนโยบายสูงสุด
ขณะที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า คณะกรรมการและสมาพันธ์องค์กรผู้บริโภคได้มีมติร่วมกันสนับสนุนให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายลงมติยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีนี้อย่างเด็ดขาด หากรัฐบาลมีความชัดเจนและมีความจริงใจ เชื่อว่าวันที่ 22 ต.ค.นี้จะสามารถแบนสารพิษ 3 ตัวนี้ได้แน่นอน
เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง (Thai-pan) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่เกิดจากการรวมตัวกันของภาคประชาชนจำนวน 686 องค์กร ออกแถลงการณ์เรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้ดำเนินการดังนี้ 1.ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายแสดงการมีส่วนได้เสียตามมาตรา 12 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 2.ให้คณะกรรมการพิจารณาปรับพาราควอต, ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอสจากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามข้อเสนอของคณะทำงานเพื่อพิจารณาความคิดเห็นของส่วนรัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภคต่อการยกเลิกคลอร์ไพริฟอส, พาราควอต และไกลโฟเซต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหลายหน่วยงานข้างต้น
ไทย-แพนขู่บอยคอตบีบ
3.ให้คณะกรรมการลงมติแบบเปิดเผย พร้อมข้อวินิจฉัยส่วนบุคคล และเผยแพร่ต่อประชาชนและสื่อมวลชนทราบ 4.ให้รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการจัดทำมาตรการสนับสนุนให้เกษตรกร 455,786 ราย ที่แจ้งความจำนงและสอบผ่านเกณฑ์การใช้สารพิษ 3 ชนิด ให้สามารถปรับเปลี่ยนไปสู่การปลูกพืชที่ไม่ต้องพึ่งพาสารพิษร้ายแรง โดยใช้วิธีกล เครื่องจักรกลการเกษตร การปลูกพืชคลุมดิน การปลูกพืชแบบผสมผสาน วิธีชีวภาพอื่นๆ หรือในกรณีจำเป็นก็อาจใช้สารทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า 5.ในระยะยาว ให้รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีมาตรการสนับสนุนเกษตรกรให้ปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ต้นทุนสูง แต่เกษตรกรขายได้ในราคาต่ำ ไปสู่เกษตรกรรมยั่งยืนรูปแบบต่างๆ 6.ให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตามระดับความเป็นอันตราย เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงจากผลกระทบภายนอกที่มีมูลค่าประมาณ 20,0000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งต้องสูญเสียไปกับการรักษาสุขภาพและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
ทั้งนี้ หากผลการพิจารณาตัดสินใจของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเป็นไปอย่างล่าช้า หรือมีการตัดสินใจที่ไม่ยึดหลักการปกป้องสุขภาพของประชาชน เครือข่ายจะยกระดับการเคลื่อนไหวร่วมกับประชาชนในทุกภาคส่วน โดยใช้เครื่องมือตามกฎหมาย การรณรงค์ไม่ซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการ การไม่สนับสนุนพรรคการเมืองที่สนับสนุนการใช้สารพิษร้ายแรง ตลอดจนการเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่เหมาะสมจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายข้างต้น
เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงจังหวัดมหาสารคาม ประกาศร่วมสนับสนุนการแบนสารเคมีอันตรายทางการเกษตร 3 ชนิด และเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายลงมติโดยเปิดเผย รวมทั้งให้รัฐมีมาตรการเยียวยาเกษตรกร พร้อมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี, รมว.เกษตรและสหกรณ์, รมว.สาธารณสุข, รมว.อุตสาหกรรม และคณะกรรมการวัตถุอันตราย ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม
เครือข่ายเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วมจังหวัดสตูล ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ให้พื้นที่การเกษตรจังหวัดเป็นพื้นที่ของเกษตรอินทรีย์ที่ปลอดภัย และต้องปลอดสารเคมีพิษทางการเกษตรทั่วทั้งจังหวัด พร้อมกับขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้ยกเลิกการใช้สารเคมีพิษทั้ง 3 ชนิดนี้อย่างไม่มีเงื่อนไข โดยต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งประเทศเป็นที่ตั้ง มากกว่าการคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |