คุณธีรยุทธ บุญมี พูดถึง “การเมือง” กับ “ความเมือง” ได้น่าสนใจ เพราะเป็นประเด็นที่มีการนำขึ้นวิเคราะห์กันในหลายวงการก่อนหน้านี้เช่นกัน
เพียงแต่คุณธีรยุทธแยก “ความเมือง” จาก “การเมือง” ให้เห็นถึง “กับดักแห่งความขัดแย้ง” ที่ดูเหมือนว่านอกจากจะไม่ได้รับการแก้ไขแล้ว ยังทำท่าจะเสื่อมทรุดลงเพราะความขัดแย้งได้ขยายวงไปกว้างขวางขึ้นอีกหลายมิติ
คุณธีรยุทธบอกว่า ขณะนี้มีกระบวนทัศน์ใหม่ที่เข้ามาครอบงำคนไทยคือ “ความเมือง” เข้ามาแทนที่ระบบคิดแบบ “การเมือง”
วงการรัฐศาสตร์มีความคิดหนึ่งที่ได้รับการพัฒนาขึ้นคือ ความคิดว่าสิ่งที่สะท้อนแก่นแท้ของสังคมมนุษย์มากกว่า “การเมือง” คือสิ่งที่เรียกว่า “ความเมือง”
การเมืองกับความเมืองต่างกันอย่างไร?
คุณธีรยุทธอธิบายว่า “การเมือง” มีนิยามว่าเป็นพื้นที่การแข่งขันของความคิดที่ต่างกัน หรือโกรธกันระหว่างบุคคลก็ได้ แต่สามารถหาข้อสรุปโดยเสียงส่วนใหญ่
แต่ “ความเมือง” เป็นเรื่องการต่อสู้แบบเบ็ดเสร็จของกลุ่มคนซึ่งมองอีกกลุ่มหนึ่งเป็น “พวกเรากับศัตรู” เป็นความสัมพันธ์เชิงสงคราม
กลุ่มบุคคลที่อยู่ด้วยความหวาดระแวง ต้องเอากลุ่มตัวเองให้อยู่รอด กลุ่มอื่นต้องทำลายล้าง ที่น่าเป็นห่วงสำหรับคุณธีรยุทธคือคนไทยส่วนหนึ่งกำลังรับกระบวนทัศน์แบบ “ความเมือง” มาใช้ในภาวะปกติ ทั้งๆ ที่ไม่มีวิกฤติใดๆ เพราะเรามีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลแล้ว ทำให้กระบวนการการเมืองกลายเป็น “นักความเมือง”
นักการเมืองกลายเป็นนักความเมือง
พรรคการเมืองกลายเป็นพรรคความเมือง
จากการเล่นการเมืองกลายเป็นเล่นความเมือง
นักวิชาการกลายเป็นนักโฆษณาความเมือง
ทหารฝ่ายความมั่นคงกลายเป็นทหารฝ่ายความเมือง
สิ่งที่ตามมาในความเห็นของคุณธีรยุทธก็คือระบบคิดแบบความเมืองเช่นนี้ ทำให้ความขัดแข้งขยายตัวน่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ
เริ่มจากความขัดแย้งเหลือง-แดง เป็นเรื่องชนชั้นกลางในชนบทกับชนชั้นกลางชั้นสูงในเมือง ต่อมาเพิ่มประเด็นเป็นภาคเหนือ, ภาคอีสาน, ใต้
กลายเป็นความขัดแย้งระหว่าง “ประชาธิปไตยกับเผด็จการ”
การเลือกตั้งล่าสุดก็เพิ่มประเด็นคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่ ความคิดเก่าความคิดใหม่
การที่ความขัดแย้งขยายตัวมาตลอดบ่งชี้ว่า รัฐบาลกับทหารจัดการวิกฤติผิดพลาด มองปัญหาใจกลางผิด และอาจนำไปสู่ปัญหาใหม่ที่ร้ายแรง
นั่นคือแนวทางวิเคราะห์ของคุณธีรยุทธ ซึ่งสอดคล้องกับการมองการเมืองวันนี้ของคนหลายกลุ่ม
ความน่ากังวลขอคนหลายฝ่ายก็คือความขัดแย้งของสังคมไทยไม่ได้ลดลง แต่แปรสภาพเป็นความตึงเครียดที่แฝงตัวในรูปแบบต่างๆ เพราะการที่ไม่มีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้อย่างเปิดเผย, เสรีและเป็นกลาง
ยิ่งมีโซเชียลมีเดียมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ก็ยิ่งตอกย้ำของความเชื่อแต่ละฝ่ายว่าความเห็นกลุ่มตนเท่านั้นที่ถูกต้อง คนที่ไม่เห็นพ้องด้วยจะกลายเป็น “ฝ่ายตรงกันข้าม” โดยอัตโนมัติ
สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะคนไทยที่ใช้เวลาโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าวันละ 5 ชั่วโมงในโซเชียลมีเดียนั้นกำลังตกเป็นเหยื่อของการปรับ “อัลกอริทึ่ม” ของ apps ต่างๆ ในมือถือที่ป้อนเฉพาะข้อมูลข่าวสารและความเห็นที่สอดคล้องกับแต่ละคนด้วยเหตุผลทางการตลาด
เมื่อคนไทยจำนวนไม่น้อยอ่าน, ฟังและชมเนื้อหาจากมือถือที่ถูก “ปั่น” โดย AI หรือปัญญาประดิษฐ์ให้กลายเป็น “ลูกค้า” ของสินค้าและบริหารทางออนไลน์เป็นหลัก สิ่งที่ได้รับรู้ก็กลายเป็นข้อมูลที่มีการจัด “โปรแกรม” เอาไว้แล้ว
ยิ่งนับวันคนที่เชื่ออะไรบางอย่างก็ยิ่งจะได้รับการตอกย้ำสิ่งที่เขาคิดและทำนั้นถูกต้องแล้ว และสิ่งที่คนอื่นเชื่อหรือเห็นนั้นเป็นคนละฝ่ายกับตน
จนเกิดปรากฏการณ์ echo chamber หรือการได้ยินได้ฟังเสียงสะท้อนที่ก้องมาจากเสียงของตัวเอง เป็นการย้ำความเชื่อของตนเองไปทางเดียว ไม่มีโอกาสได้รับรู้ความเห็นหรือเหตุผลที่อีกฝ่ายหนึ่งแต่อย่างไรเลย
ไปๆ มาๆ คนไทยจำนวนไม่น้อยก็จะเสพข้อมูลเฉพาะที่ตนอยากเสพ และปฏิเสธข่าวสารความเห็นที่ไม่สอดคล้องต้องกับความเชื่อของตน
เป็นสาเหตุของความขัดแย้งในรูปแบบต่างๆ ที่กำลังขยายวงแห่งความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆ
และนี่คือที่มาของการที่เรายังติด “กับดักแห่งความขัดแย้ง” ที่ยืดเยื้อมาสิบกว่าปีโดยที่ไม่มีทีท่าว่าจะสงบหรือผ่อนเบาลงแต่อย่างไร.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |