"30ปี ชัยชนะแห่งการพัฒนา" จัดแสดงของส่วนพระองค์ ร.9


เพิ่มเพื่อน    

 

กล้องถ่ายภาพและปากกาทรงงานในกรมสมเด็จพระเทพฯ องค์ประธานมูลนิธิชัยพัฒนา เชิญมาจัดแสดง 
 

 

 

    น้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระผู้ทรงก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา เมื่อปี พ.ศ.2531 โดยทรงมีวัตถุประสงค์เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และทรงมุ่งหวังให้การช่วยเหลือพสกนิกรเป็นไปอย่างรวดเร็ว
    การดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนาตลอดระยะเวลา 30 ปี ส่งผลดีแก่คนไทยทุกภูมิภาค และประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเมืองร่วมกับมูลนิธิ เหตุนี้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดแถลงข่าว “30 ปี ชัยชนะแห่งการพัฒนา” ณ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อบอกเล่าถึงงานใหญ่ “30 ปี ชัยชนะแห่งการพัฒนา” ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 28 ต.ค.-3 พ.ย.นี้ ณ ลานอีเดน ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ภายในงานมีนิทรรศการประวัติศาสตร์การพัฒนาผ่านของส่วนพระองค์ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

 

พระมาลาทรงงานกรมสมเด็จพระเทพฯ ของใช้ส่วนพระองค์ 


    งานนี้ ประชาชนจะได้ร่วมรำลึกความทรงจำผ่านนิทรรศการจำลองงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 “จากนภาผ่านภูผาสู่มหานที” นำเสนอด้วยเทคโนโลยีที่นำภาพเสมือนรูปแบบ 3 มิติ จำลองสู่โลกจริงผ่านกล้อง ตลอดจนถ่ายทอดงานพัฒนาด้านต่างๆ ของมูลนิธิชัยพัฒนา และพสกนิกรที่เคยได้รับพระราชทานความช่วยเหลือสร้างชีวิตใหม่ใต้ร่มพระบารมี
    โอกาสนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์ และองค์ประธานมูลนิธิชัยพัฒนา เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดงานด้วยพระองค์เอง

 


    ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า บรรยากาศในวันนี้ทำให้ตนนึกย้อนไปถึงบ่ายวันหนึ่งของเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2530 ในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่งให้ตนเข้าเฝ้าฯ บนพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร วันนั้นทรงบ่นถึงความล่าช้าของระบบราชการในการช่วยเหลือประชาชนต่อปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น รับสั่งต้องดำเนินการทันที ความทุกข์รอไม่ได้ เมื่อระบบราชการไม่สามารถตอบสนองให้ไปจัดตั้งมูลนิธิ พร้อมพระราชทานชื่อ “มูลนิธิชัยพัฒนา” มอบอำนาจและพระราชทานเงิน 3 ล้านบาทเพื่อจดทะเบียนก่อตั้งมูลนิธิ พระองค์​ได้ทรงออกแบบตรามูลนิธิด้วยพระองค์เอง ทรงประทับเป็นองค์นายกมูลนิธิ รับสั่ง ฉันสั่งงานเอง โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธาน และตนเป็นเลขาธิการฯ
    “ ตรามูลนิธิชัยพัฒนา พระองค์ได้ทรงออกแบบ มีเครื่องหมายสำคัญ 4 ชนิดประกอบเข้าด้วยกัน พระราชทานความหมายสะท้อนหน้าที่ของมูลนิธิชัยพัฒนาลึกซึ้ง งานของมูล นิธิล้วนแล้วแต่เข้าไปแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับประชาชนและประเทศชาติ พระองค์ท่านอุปมาอุปไมยว่า การเข้าไปแก้ปัญหาเหมือนสู้รบ เมื่อแก้ได้แล้วเหมือนได้รับชัยชนะ ประโยชน์สุขประชาชนกลับคืนมา ศึกครั้งนี้พระองค์เป็นจอมทัพนำทัพเอง” ดร.สุเมธ กล่าว

 

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา บอกเล่า 30 ปี ชัยชนะแห่งการพัฒนา 
 


    สำหรับตรามูลนิธินั้น เลขาธิการฯ กล่าวว่า ประกอบด้วยพระแสงขรรค์ชัยศรี คือ กระบี่ คล้ายเป็นจอมทัพนำไป จะออกรบคนเดียวไม่ได้ ถัดมาธงกระบี่ธุช นัยอย่าปล่อยให้พระองค์รบแต่ผู้เดียว ต้องมีกองทัพช่วยรบ เป็นสัญลักษณ์ชัยชนะแห่งการต่อสู้ ตลอด 30 ปี ผู้ที่ร่วมปฏิบัติงานเสมือนเป็นทหารเอกของพระองค์ท่าน นำสู่ชัยชนะในการพัฒนา ถัดมา พระมหาสังข์หลั่งน้ำสู่แผ่นดิน เปรียบได้กับแผ่นดินเจริญงอกงามอุดมสมบูรณ์ ร่ำรวย มั่งคั่ง ตรายังมีดอกบัวเป็นตัวแทนคุณธรรมและความดีกำกับ ดั่งพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
    ดร.สุเมธ กล่าวว่า ทุกคนคิดว่ามูลนิธิต้องมีกิจกรรมระดมทุน แต่มูลนิธิชัยพัฒนาไม่เรี่ยไร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเคยรับสั่ง “เพราะฉันไม่มั่นใจเขาให้ด้วยความเต็มใจหรือไม่ อาจจะให้ด้วยความเกรงใจ” พระองค์ท่านทรงคิดลึกซึ้งมาก เมื่อกราบบังคมทูลถามจะเอาเงินมาจากไหน รับสั่งมูลนิธิทำอะไรก็เล่าให้เขาฟังและเผยแพร่ผ่านวารสารชัยพัฒนา เมื่อล่วงรู้ถึงสาธารณะ ประชาชนรับรู้การดำเนินงานของมูลนิธิ การสนับสนุนก็หลั่งไหลมา เมื่อมูลนิธิก่อตั้งแล้วและมีผู้มีจิตศรัทธาถวายเงิน จำนวนเงินไม่เท่ากันตามความพร้อม แต่เป็นความศรัทธา คณะกรรมการมูลนิธิฯ ชุดแรกพระองค์ทรงคัดเลือกด้วยพระองค์เองและเริ่มดำเนินงาน

 

ผลผลิตคุณภาพจาก "ภัทรพัฒน์" สร้างป่า สร้างชีวิต
 


    30 ปีที่ผ่านมา ดร.สุเมธกล่าวว่า มูลนิธิทำงานพัฒนาสารพัด เริ่มต้นโจทย์คือ ปัญหาของคน และปัญหาของประเทศ ตั้งแต่การทำกิน อุทกภัย สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติเหนือจรดใต้ มีผู้บริจาคที่ดินจำนวน 550 แปลง พื้นที่กว่าหมื่นไร่ กระจาย 55 จังหวัด ต้องสร้างประโยชน์กลับคืนสู่แผ่นดิน จะขายหรือทำธุรกิจไม่ได้ บางแห่งติดป่าช้าก็ใช้ประโยชน์ได้ เรามีความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชน ไม่เฉพาะชาวไทย โดยเฉพาะวิกฤติด้านธรรมชาติ เพราะประเทศไทยเสี่ยงแผ่นดินไหว น้ำท่วมทวีความรุนแรงขึ้นทุกที
    “ พระองค์ท่านรู้เหมือนกับว่ามองเห็นเหตุการณ์หมด จึงตั้งองค์กรขึ้นมาทำงานให้สอดคล้องกับปัญหาของประชาชนอย่างบูรณาการ หลายท่านคงจะเห็นแล้วว่าเมื่อเกิดเหตุจะเห็นมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ไปแจกถุงตรึงสถานการณ์ บรรเทาทุกข์ชั่วคราว เมื่อผ่านพ้นเหตุการณ์มูลนิธิชัยพัฒนาจะเข้าไปดำเนินงานเพื่อบูรณะฟื้นฟู แก้ปัญหา เช่น เหตุการณ์สึนามิ มูลนิธิเข้าไปช่วยเหลือสร้างบ้านและถนน ช่วยให้คนยืนอยู่บนขาตัวเองได้ ส่วนภาคใต้ดูแลเรื่องสุขภาพอนามัยและการศึกษา เน้นการสร้างคน หมอและพยาบาล มีเงื่อนไขจบแล้วให้กลับไปพัฒนาบ้านเกิด” ดร.สุเมธ กล่าว

 

หนังสือ "30 ปี มูลนิธิชัยพัฒนาชัยชนะแห่งการพัฒนา"



    โครงการใหญ่ที่ดำเนินการขณะนี้ เลขาธิการมูลนิธิฯ กล่าวว่า จัดอบรมทหารเกณฑ์ นอกจากฝึกทหารให้มีระเบียบวินัย ภายในค่ายทหารฝึกอาชีพเลี้ยงไก่ หมู แพะ เพื่อให้มีความรู้ ซึ่งเป็นสมบัติมหาศาล เมื่อจบแล้วกลับไปแนะนำอาชีพในหมู่บ้าน เราบูรณาการเพื่อเอาชนะสงครามทุกด้าน
    ดร.สุเมธ กล่าวว่า สำหรับการจัดงาน“ 30 ปี ชัยชนะแห่งการพัฒนา” ผมกราบบังคมทูลสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี วัตถุประสงค์จัดงานตามรับสั่งรัชกาลที่ 9 ทำงานอะไร เล่าให้เขาฟัง การจัดงานครั้งนี้เล่าผ่านหนังสือ “30 ปี มูลนิธิชัยพัฒนา ชัยชนะแห่งการพัฒนา” ที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษ มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ภาพยนตร์สื่อต่างๆ แต่ละวันมีงานและกิจกรรมต่างๆ ตนจะร่วมเสวนาพิเศษ “ทำไมในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงทรงก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา” ที่สำคัญงานจะเป็นการสรุปช่วง 30 ปี มูลนิธิชัยพัฒนาให้สาธารณชนได้รับรู้ และยังไม่จบ งานยังอยู่ และไม่ลืม ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเน้นย้ำ การดำเนินงานพัฒนาของมูลนิธิชัยพัฒนาจะไม่สำเร็จถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย

 

เรียนรู้เส้นทางการพัฒนาชนะปัญหา 30 ปี ของมูลนิธิชัยพัฒนา 


    “ 30 ปีชนะปัญหา จะหยุดตรงไหน คงไม่มีวันหยุด ไม่มีก้าวข้างหน้าของชัยพัฒนา เพราะเราเดินไม่เคยหยุด ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ผมขอพระราชทานพรวันเกิดจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงรับสั่ง สุเมธงานยังไม่เสร็จ ก็ถือเป็นภารกิจ ตราบใดที่ปัญหาประเทศชาติไม่แก้ไข ต้องดำเนินการต่อไป พระองค์ท่านสั่งผ่านตัวผมอย่าหยุดดำเนินงานเพื่อประเทศชาติ เพื่อลูกหลานของคนไทย” ดร.สุเมธ กล่าวในท้าย

 

การดำเนินพัฒนาบ้านเมือง มูลนิธิชัยพัฒนาได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ มาโดยตลอด

      ตลอดการจัดงานร่วมเรียนรู้ประวัติศาสตร์มูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมรับชมสารคดีสั้น “ชัยชนะแห่งการพัฒนา” ที่สร้างจากเรื่องจริง ถ่ายทอดผ่านคนจริงที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน และร่วมชมผลงานศิลปะที่ได้แรงบันดาลใจจากโครงการพระราชดำริในหลวง ร.9 และการพัฒนาของมูลนิธิชัยพัฒนาผ่านมุมมองของเหล่าศิลปินนักวาดภาพประกอบชื่อดัง ประกอบด้วย ศศิพรรณ ศิริพร, ธนวัต ศักดาวิษรัดษ์, พิชามญช์ วรรณสาร, ปราชญา มหาเปารยะ และกวิน เทียนวุฒิชัย, กษิษฐรินทร์ ไทยแหลมทอง, สิรินาฏ สายประสาท, พนิตตา วชิรนพวิภา และวีระชัย ดวงพลา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นำมาจัดแสดง นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยสนับสนุนการจัดส่งโปสต์การ์ดที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบ 30 ปี มูลนิธิชัยพัฒนา จำนวน 8,000 ใบ และจำหน่ายแสตมป์ที่ระลึกชุดพิเศษของในหลวงรัชกาลที่ 9

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"