"สมาพันธ์เกษตรฯ" จับมือ "สมาคมเกษตรกรฯ ปลูกพืช ศก. 6 ชนิด" บุก ก.เกษตรฯ 21 ต.ค.นี้ ยืนขอรัฐชะลอเลิก 3 สารเคมี อ้างรอแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรก่อน ส่วน "เครือข่ายหนุนแบนสารเคมี" ร่วมกับ สธ.เตรียมแถลงจุดยืนให้ กก.วัตถุอันตรายเลิกใช้สารพิษเด็ดขาดวันจันทร์นี้ "มนัญญา" รอลุ้น ลั่นทำดีที่สุดแล้ว "นักวิชาการ" แนะฝ่าย "หนุน-แบน" สู้กันด้วยข้อมูลให้ความรู้ ปชช.
เมื่อวันที่ 20 ต.ค. นายสุกรรณ์ สังขวรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวถึงกรณีการส่งเรื่องยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีทางการเกษตร ทั้งคลอร์ไพริฟอส, พาราควอต และไกลโฟเซต เข้าที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาว่า ในวันจันทร์ที่ 21 ต.ค.นี้ ช่วงเช้าสมาพันธ์ฯ จะร่วมกับผู้แทนสมาคมเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด คือ อ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด และไม้ผล แถลงจุดยืนที่โรงแรมเอเชีย เพื่อให้รัฐชะลอการพิจารณายกเลิกสาร 3 ชนิดออกไป โดยหานวัตกรรมและแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้ก่อน
"เราเห็นว่าการยกเลิกสารเคมีทั้ง 3 ชนิด จะทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบทั้งต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ปริมาณและคุณภาพผลผลิตต่ำลง จากงานวิจัยของ รศ.พูนพิภพ เกษมทรัพย์ ภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุแปลงมันสำปะหลังนั้น หากควบคุมวัชพืชไม่ได้ ภายใน 2 เดือน ผลผลิตจะเสียหายถึงร้อยละ 80 ส่วนตนเองนั้นปลูกอ้อยกว่า 400 ไร่ หากไม่ป้องกันกำจัดหญ้า ผลผลิตจะลดน้อยลงเช่นกัน" นายสุกรรณ์กล่าว
เลขาฯ สมาพันธ์เกษตรปลอดภัยกล่าวว่า ในช่วงบ่ายจะไปพบกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้บริหารสูงสุด ให้รับทราบถึงความเดือดร้อนของเกษตรกร อีกทั้งจะเสนอทางออกจากปัญหาที่สังคมสับสนว่าข้อมูลฝ่ายใดจริง ฝ่ายใดเท็จ รัฐสามารถให้มีการนำเสนอข้อมูลทางวิชาการและข้อมูลเชิงประจักษ์ให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง หากยังมีประเด็นใดไม่ชัดเจน สามารถวิจัยใหม่ได้ จากนั้นจึงค่อยพิจารณาแก้ปัญหาให้ตรงจุด เนื่องจากการเลิกใช้สารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่งแล้วให้ใช้สารเคมีชนิดใหม่ทดแทนไม่ได้ทำให้ผู้บริโภคปลอดภัยขึ้น ผู้ได้ประโยชน์คือผู้ค้าสารเคมี ซึ่งไม่ว่าจะใช้สารใดก็ขายได้ทั้งนั้น
"การยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดไม่ใช่ทางออก เพราะมีความสุ่มเสี่ยงที่เกษตรกรบางส่วนที่จำเป็นต้องใช้ เนื่องจากยังไม่มีนวัตกรรมใดที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมมาทดแทน จะแอบซื้อแอบใช้ ตลอดจนหาสารเคมีชนิดอื่นมาใช้ แต่มาตรการจำกัดการใช้ที่สอนให้เกษตรกรรู้วิธีป้องกันตัวเองขณะฉีดพ่น ใช้ในปริมาณที่เหมาะสม เก็บเกี่ยวผลผลิตหลังฉีดพ่นสารเคมีตามข้อกำหนด จะทำให้ทุกฝ่ายปลอดภัย ส่วนที่รัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยระบุว่าหากยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดไม่ได้จะลาออกทั้งหมดนั้น กลุ่มเกษตรกรต้องการให้ลาออกเสียก่อนที่จะมีการพิจารณา" เลขาฯ สมาพันธ์เกษตรปลอดภัยกล่าว
ลุ้นมติ กก.วัตถุอันตราย
ขณะที่ น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารเคมีการเกษตรอันตราย 3 ชนิด กล่าวว่า พาราควอต, ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส มีพิษร้ายแรงเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนเกินกว่าที่จะยอมรับได้ ในช่วงเช้าวันที่ 21 ต.ค.นี้ จะร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ประกาศจุดยืนให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายยกเลิกการใช้
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ยืนยันว่า กระทรวงเกษตรฯ ต้องดำเนินมาตรการจำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิด ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส, พาราควอต และไกลโฟเซต ตามประกาศกระทรวงเกษตรฯ 5 ฉบับ ที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 14 ก.พ. โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. จนกว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติอื่นใด
นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ไม่ทราบในการประชุมวันที่ 22 ต.ค. จะมีวาระพิจารณาเรื่องสารเคมีดังกล่าวหรือไม่ หากมีต้องรอดูว่าจะมีมติให้จำกัดการใช้ต่อไปหรือยกเลิก ซึ่งการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่ได้แจ้งมาที่ รมว.เกษตรฯ แต่จะแจ้งไปที่กรรมการโดยตรง ซึ่งผู้แทนของกระทรวงเกษตรฯ เป็นกรรมการ 5 คน จากทั้งหมด 29 คน ได้แก่ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร อธิบดีกรมปศุสัตว์ อธิบดีกรมประมง และเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)
“ไม่ว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติอย่างไร กระทรวงเกษตรฯ ในฐานะหน่วยงานปฏิบัติต้องทำตาม แต่ขณะนี้ยังคงต้องดำเนินมาตรการจำกัดการใช้ตามมติเดิม ไม่เช่นนั้นกระทรวงเกษตรฯ จะผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรด้านต่างๆ ไว้แล้ว” รมว.เกษตรฯกล่าว
น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วันที่ 22 ต.ค. จะมีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งได้บรรจุวาระพิจารณาเกี่ยวกับสารเคมีวัตถุอันตราย 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต, ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งตรงกับวันประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล หลังจากเสร็จสิ้นประชุม ครม.อาจจะไปติดตามผลมติจากที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย หากคณะกรรมการฯ ยังพิจารณาวาระนี้ไม่เสร็จสิ้น
“ลุ้นระทึกนาทีต่อนาที เพราะทุกเรื่องที่ทำไปนั้นสุดมือแล้ว ขณะนี้รอดูคณะกรรมการวัตถุอันตรายรับไม้ต่อไป ซึ่งทางนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ทำสุดตัวเช่นกัน โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขนั้น กรมต่างๆ เดินหน้าแบน 3 สารตลอดทุกนาที แต่เมื่อทำมาถึงขนาดนี้มีความหวัง 90% ที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติยกเลิก ซึ่งขอความกรุณาปรานีจากคณะกรรมการฯ ให้เห็นใจคนเจ็บ คนป่วย และอย่าให้คนไทยต้องมาเจ็บป่วยมากกว่านี้เลย” น.ส.มนัญญากล่าว
รมว.เกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า จากนี้จะสั่งให้กรมวิชาการเกษตรนำบัญชีพืชสมุนไพรไทยมาผสมทำสูตรกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชแมลงโรค รวมทั้งสูตรทำปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพที่มีจำนวนมากให้เข้าสู่ขั้นตอนการขึ้นทะเบียน เพื่อสามารถจำหน่ายได้ ซึ่งที่ผ่านมาการขึ้นทะเบียนปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพในไทยยังขึ้นทะเบียนยาก นอกจากนี้สั่งกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตรระงับการอบรมเกษตรกรที่ใช้สารเคมีไว้ก่อน แม้ประกาศกระทรวงเกษตรฯ 5 ฉบับเกี่ยวกับการจำกัดการใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด จะมีผลวันที่ 20 ต.ค. โดยให้รอมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายอีก 2 วัน
ถามว่ากลุ่มเกษตรกรที่ต้องการใช้สารเคมี 3 ชนิดต่อไป ระบุมีความพยายามยกเลิกครั้งนี้เป็นทฤษฎีสมคบคิด เพราะมีผู้ผลิต/ค้าสาร นักการเมือง และเอ็นจีโอได้ผลประโยชน์จากนำเข้าสารเคมีชนิดใหม่ น.ส.มนัญญากล่าวว่า ไม่ใช่อาชีพของตน และไม่เคยมีผลประโยชน์ มาดูได้ทั้งปูมหน้าปูมหลัง ถ้ามีเรื่องผลประโยชน์ การยกเลิกสารเคมีก็เงียบไปนานแล้ว
"การหาสารทดแทนเป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งสารเคมียังมีอีกเป็นร้อยชนิดในท้องตลาดที่เกษตรกรเลือกใช้ได้ ต้นทุนไม่สูงอย่างที่พูดกัน อีกทั้งได้ปรับตัวมาทำเกษตรปลอดภัยกันก่อนหน้านี้จำนวนมาก" น.ส.มนัญญากล่าว
นักวิชาการชี้สู้ด้วยข้อมูล
ด้านนายเชิดชัย จิณะแสน กรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการจำกัดการใช้สารเคมีทางการเกษตร และประธานคณะกรรมการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ระดับประเทศ กระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ได้ทำหนังสือแจ้งประธาน ศพก. 882 อำเภอทั่วประเทศ ระบุเกษตรกรที่มีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีให้ใช้ต่อไปได้ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎการใช้และข้อห้ามอย่างเคร่งครัดตามประกาศ 5 ฉบับของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งภาคการเกษตรของไทยมี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเกษตรเคมี, กลุ่มเกษตรปลอดภัย และกลุ่มเกษตรอินทรีย์ แต่ละกลุ่มเลือกวิถีเกษตรกรรมตามสภาพพื้นที่ ทุนดำเนินการ และปัจจัยแวดล้อม แต่ขอให้สมาชิก ศพก.อย่าเปรียบเทียบว่าสินค้าเกษตรของกลุ่มใดดีกว่ากัน จะทำให้เกิดความขัดแย้งและนำไปสู่การแบ่งข้างตามกระแสโซเชียลมีเดีย
"อีก 2 วันข้างหน้าจะมีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย หากมีมติยกเลิกสารเคมีทั้ง 3 ชนิด อาจสร้างความเสียหายให้แก่กลุ่มเกษตรไร่อ้อย ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพด และไม้ผล รวมถึงอื่นๆ เกษตรกรเกรงว่าการช่วยเหลือของภาครัฐจะล่าช้าจนนำไปสู่การขาดความเชื่อมั่นรัฐบาล จึงขอให้ทุกภาคส่วนโปรดพิจารณาข้อมูลทางวิชาการอย่างรอบด้าน และหันมาพูดคุยกัน เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกษตรกรต้องขาดเครื่องมือในการประกอบอาชีพ และยังสร้างความแตกแยกทางความคิดในสังคมอีกด้วย" ประธาน ศพก.กล่าว
วันเดียวกัน รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง กล่าวถึงกลุ่มหนุนและกลุ่มแบน 3 สารเคมีเกษตรว่า เรื่องแบนสารเคมีน่าจะแบนได้ วิเคราะห์จากการให้ข่าวของทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งบอกว่ามีอันตรายต่อชีวิต ทำให้เกิดโรค ทำให้เกิดผลกระทบต่างๆ ต่อสุขภาพของผู้ใช้และผู้บริโภค ขณะที่อีกฝ่ายมาพูดเรื่องราคาถูก แต่ไม่ได้ประกันเรื่องสุขภาพให้กับประชาชนเลย
"จะเห็นว่าข้อมูลของฝ่ายแบนมีเหตุผลดีกว่า เรื่องสุขภาพมันไม่สมควรจะเอาอะไรมาต่อรองทั้งสิ้น ของบางอย่างต้องกลบฝังดินเลย ไม่ใช่ว่าเหลือแล้วต้องใช้ให้หมด เรื่องนี้ถ้าภาครัฐไปโอนอ่อนผ่อนตาม กลับไปบอกว่าให้แบนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ยิ่งจะโดนสังคมวิพากษ์วิจารณ์ โดนตั้งคำถามว่าเห็นชีวิตคนเป็นอะไร" รศ.สุขุมกล่าว
ส่วน รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า ตอนนี้สังคมได้เดินมาไกลแล้ว คนที่กลัวสารเคมี เป็นสิทธิ์ของเขา อย่าไปปรามาสว่ารู้น้อย ไม่หาข้อมูล เพราะหากจะเปลี่ยนใจ ก็ต้องให้ข้อมูลแก่อีกฝ่าย ซึ่งขอให้สู้กันด้วยข้อมูล.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |