หวังใช้งบ63กลางม.ค. สภาสูงตั้งกมธ.คู่ขนาน


เพิ่มเพื่อน    


    ปธ.วิปรัฐบาลยัน กมธ.วิสามัญร่าง พ.ร.บ.งบฯ 63 เร่งถกให้เสร็จก่อนสิ้นปี คาดสภาถกวาระ 2-3 สัปดาห์ที่สอง ม.ค.ปีหน้า วุฒิสภาตั้ง กมธ.พิจารณาคู่ขนาน พท.โต้ พปชร.เล่นการเมืองน้ำเน่าโทษรัฐบาลปู ซัด 6 ปี รบ.ตู่บริหารล้มเหลวเองก่อหนี้ 2.2 ล้านล้าน โพลชี้คนกรุงเทคะแนนให้ฝ่ายค้านชนะรัฐบาล
    ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ที่ประชุมวุฒิสภาได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 40 คน แบ่งเป็น ส.ว.จำนวน 37 คน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก 3 คน ดังนี้ 1.นายกำพล เลิศเกียรติดำรงค์ 2.นายคำนูณ สิทธิสมาน 3.พล.ต.ท.จิตติ รอดบางยาง 4.นายเจน นำชัยศิริ 5.นางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร 6.นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน 7.พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ 8.นายณรงค์ สหเมธาพัฒน์ 9.น.ส.ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ 10.นายดุสิต เขมะศักดิ์ชัย 11.พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง 12.พล.อ.ไตรโรจน์ ครุธเวโช 13.ศาสตราจารย์นิสดารก์ เวชยานนท์ 14.พล.อ.บุญธรรม โอริส 15.นายปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์ 16.นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ 17.พล.อ.ไพชยนต์ ค้าทันเจริญ 18.นายยุทธนา ทัพเจริญ 
    19.นางสาวเรณู ตังคจิวางกูร 20.นายวิทยา ผิวผ่อง 21.น.ส. วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ 22.น.ส. วิไลลักษณ์ อริมทมะพงษ์ 23.นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ 24.พล.อ.วีรัณ ฉันทศาสตร์โกศล 25.นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ 26.นายศรีศักดิ์ วัฒนพรมงคล 27.พล.อ.สนธยา ศรีเจริญ 28.นายสมชาย ชาญณรงค์กุล 29.นายสมชาย หาญหิรัญ 30.นายสมพล เกียรติไพบูลย์ 31.นายสมศักดิ์  โชติรัตนะศิริ 32.พล.อ.อ.สุจินต์ แช่มช้อย 33.นายสุชัย บุตรสาระ 34.นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ 35.นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ 36.นายอับดุลฮาลิม มินซาร์ 37.นายอำพล จินดาวัฒนะ 38.นายประยงค์ ตั้งเจริญ ผู้แทนสำนักงบประมาณ 39.นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้แทนกระทรวงการคลัง และ 40.น.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ 
    ทั้งนี้ ที่ประชุมวุฒิสภาระยะเวลาการดำเนินงาน 10 วัน นับตั้งแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบและส่งร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ มาให้วุฒิสภา โดย กมธ.จะเริ่มประชุมนัดแรกวันที่ 28 ต.ค. เวลา 13.30 น. 
    พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 กล่าวว่า การตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 เป็นเพียงการทำงานคู่ขนานของสภาผู้แทนราษฎร โดยจะไม่มีการอภิปรายหรือพิจารณาเนื่องจากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ วุฒิสภายังไม่ได้รับเรื่อง เพราะต้องรอให้สภาลงมติในวาระสามให้แล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่ต้องตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อศึกษา เนื่องจาก ส.ว.มีเวลาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ​เพียง 20 วัน จึงจำเป็นต้องตั้ง กมธ.ศึกษาเพื่อพิจารณาคู่ขนาน 
    นายสมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวว่า คาดว่า ส.ว.จะรับร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ พ.ศ.2563 จากสภาผู้แทนราษฎร ช่วง ม.ค. 2563 เพราะขณะนี้สภาต้องพิจารณารายละเอียดเพื่อปรับลดตัวเลขที่เสนอของบประมาณ ทั้งนี้ ส.ว.ไม่มีอำนาจปรับลดรายการของงบประมาณที่สภาพิจารณาแล้วได้ มีเพียงหน้าที่กลั่นกรองเนื้อหาเท่านั้น
กมธ.งบ 63 เร่งถกเสร็จสิ้นปี
    ทางด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ในวันที่ 24 ต.ค.นี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 จะนัดประชุมกันในช่วงเช้า เพื่อเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ ให้เสร็จสิ้นโดยเร็วก่อนสิ้นปีนี้ จากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2-3 คาดว่าจะเป็นสัปดาห์ที่ 2 หรือ 3 ของเดือน ม.ค.2563 
    ทางด้านนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เเละรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า จากนี้ไปรัฐบาลจะเร่งทำงานต่อ เพราะภารกิจยังมีต่อเนื่อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเเละ รมว.กลาโหม ย้ำเสมอว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องติดตามงานในหน้าที่ เเละอย่าให้มีเรื่องทุจริต เชื่อว่า ครม.จะทำงานตามที่นายกฯ ระบุไว้เเน่นอน 
    “ข้อสังเกตจากการอภิปรายครั้งนี้จาก ส.ส. จะเป็นข้อมูลที่ กมธ.วิสามัญนำไปพิจารณาประกอบในการเเปรญัตติ เเละเสียงสะท้อนเกี่ยวกับงบที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับมานั้น ผมน้อมรับฟังเเละจะเสนอความเห็นประกอบไปให้ กมธ.วิสามัญพิจารณาเช่นกัน ขอบคุณที่ทุกฝ่ายใส่ใจเเละให้ความสำคัญต่อการศึกษาของเยาวชนไทย ผมจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เเละหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย” รมว.ศึกษาธิการกล่าว เเละว่า เสียงสะท้อนเรื่องงบประมาณอาหารเช้าเเละอาหารกลางวันของนักเรียนที่มีหลายมุมมองในการประชุมครั้งนี้ คือสิ่งที่ดีที่ ส.ส.ฝ่ายค้านเเละรัฐบาลเเสดงความห่วงใยร่วมกัน 
    น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ชี้แจงที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กรณีการอภิปรายเรื่องจำนำข้าว ในวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 63 ว่า เพิ่งทราบว่าเนื้อหาในช่วงต้นของการอภิปรายไม่ได้มีการเผยแพร่ เพราะมีการถ่ายทอดสดพระราชพิธีฯ จึงทำให้การรับข้อมูลเพียงบางส่วนเกิดความเข้าใจในเนื้อหาที่ไม่ถูกต้อง จึงขออธิบายเพิ่มเติม 2 ข้อ ดังนี้
    1.การอภิปรายพรรคฝ่ายค้านมีการนำเสนอถึงข้อมูลหนี้สาธารณะของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจำนวนสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ จึงนำเสนอข้อเท็จจริงในรายละเอียดเพิ่มเติมว่าเราต้องกลับไปดูค่าเฉลี่ยการกู้เงินในแต่ละปีร่วมด้วย เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง 2.รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กู้เงินทั้งสิ้นรวม 2 ล้านล้านบาท จากที่ได้มีการตั้งวงเงินไว้ 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งหนึ่งในจำนวนของฐานวงเงินกู้จำนวน 1.5 แสนล้านบาทนั้น มาจากการที่รัฐบาลต้องจ่ายชดใช้คืนเงินให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จากกรณีจำนำข้าว ซึ่งไม่ได้เป็นหนี้ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ก่อไว้เอง ทั้งนี้ ทุกรัฐบาลย่อมมีผลผูกพันจากการทำงานของรัฐบาลก่อนหน้า ซึ่งไม่ได้ต้องการโจมตีไปที่รัฐบาลใดทั้งสิ้น เพียงแต่การนำเสนอข้อมูลต้องนำรายละเอียดมาพิจารณาให้ครบถ้วน
    น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า การวิพากษ์วิจารณ์การกู้เงินเพื่อชดเชยการจัดทำงบประมาณขาดดุลนั้น จะเห็นได้ว่ารัฐบาลพยายามกู้เท่าที่จำเป็น และคำนึงถึงขีดความสามารถในการชำระคืน อีกทั้งการหารายได้ให้กับประเทศ  และข้อเท็จจริงที่ต้องยอมรับก็คือ รัฐบาลประยุทธ์ต้องแบกภาระความล้มเหลวของการบริหารงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ใช้งบประมาณซึ่งเป็นภาษีของประชาชนไปดำเนินการโครงการรับจำนำข้าว และเกิดความเสียหายกว่า 9 แสนล้านบาท ทั้งที่เป็นโครงการที่ดี แต่มีการทุจริตทุกขั้นตอน ดังนั้น ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐมีสิทธิโดยชอบธรรมในการพูดถึงปัญหาดังกล่าว ซึ่งภาระงบประมาณ อีกทั้งภาระหนี้ก้อนนี้ไม่ได้เป็นวงเงินที่คงที่ ดอกเบี้ยย่อมปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นทุกวันอย่างปฏิเสธไม่ได้
ซัดตู่ก่อหนี้เองกลับโทษปู
     ขณะที่นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังกับการทำงานของทีมโทรโข่งพรรคพลังประชารัฐ ที่มุ่งแต่โจมตีเรื่องอดีต ทั้งที่พรรคตัวเองมักออกมาพูดอยู่เสมอว่าอยากให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า ไม่ควรจมอยู่กับอดีต และควรทำการเมืองแบบสร้างสรรค์ แต่วันนี้รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐยังเป็นพวกแผ่นเสียงตกร่อง อ้างเหตุผลว่าต้องกู้เงินมากในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 เพราะเอามาใช้หนี้จำนำข้าว ทั้งๆ ที่ผ่านมาแล้วเกือบ 6 ปี สะท้อนให้เห็นถึงการด้อยฝีมือของรัฐบาลประยุทธ์ 1 ต่อเนื่องมาจนถึงประยุทธ์ 2 บริหารราชการแผ่นดินมากว่า 6 ปี สร้างหนี้เป็นเงิน 2.2 ล้านล้านบาท แต่กลับทำเป็นตาถั่วมองไม่เห็น พอหาความดีให้ตัวเองไม่ได้ก็หันไปโทษรัฐบาลยิ่งลักษณ์ใช่หรือไม่
    "วันนี้ประชาชนจนจะตายกันหมดแล้ว เศรษฐกิจดิ่งเหว ดัชนีทุกตัวตกต่ำ มีแต่ใช้งบประมาณแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ แต่พลพรรคพลังประชารัฐยังใช้วิธีการเล่นการเมืองแบบน้ำเน่า ขอเรียกร้องให้พรรคพลังประชารัฐหันมาตอบสังคมว่าจะกู้เงินแบบนี้ต่อเนื่องไปอีกกี่ปี แล้วช่วยหารัฐมนตรีฝีมือดีๆ มาโชว์ประชาชนว่าจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่รวยกระจุก จนกระจาย คนฆ่าตัวตายเพราะพิษเศรษฐกิจกันทุกวันได้อย่างไรจะดีกว่า ขืนยังทำพฤติกรรมรำไม่ดีโทษปี่โทษปู ระวังจะเป็นบูมเมอแรง เพราะการกล่าวหาเรื่องเงินใช้หนี้โครงการจำนำข้าว ซึ่งก่อนหน้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ รัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็เป็นหนี้คงค้างนโยบายประกันราคาต่อมาเกือบ 3 ปี โดยมารยาททางการเมือง ถือเป็นเรื่องปกติของการจัดทำนโยบาย" นายจิรายุกล่าว
    อย่างไรก็ตาม จากโพลที่ฝ่ายค้านดำเนินการจัดทำ พบว่าหลังการอภิปรายงบประมาณปี 2563 ประชาชนชื่นชมฝ่ายค้านว่าทำหน้าที่ชำแหละการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลของรัฐบาลได้โดนใจมากถึง 72.5% และไม่มั่นใจในการใช้งบประมาณของฝ่ายรัฐบาล เนื่องจากชี้แจงหลายประเด็นไม่ชัดเจน งบความมั่นคง งบกลาง และงบที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและพัฒนาคน โดยเฉพาะเรื่องการกู้เงินที่มีเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่เป็นรัฐบาลต่อเนื่องมากว่า 6 ปี
     “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่พักอาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เฉพาะผู้ที่สนใจติดตามการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล จำนวนทั้งสิ้น 436 คน สรุปผลได้ดังนี้ 1.ประชาชนคิดอย่างไร ต่อการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ในครั้งนี้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 43.68% ระบุว่าทำให้ได้รู้ว่ารัฐบาลจะนำงบประมาณไปใช้อะไรบ้าง รู้ข้อมูลมากขึ้น รองลงมา 38.70% งบประมาณเป็นเรื่องสำคัญ มีผลต่อการพัฒนาบ้านเมือง, 18.77% ไม่ค่อยมีสีสัน ไม่น่าสนใจ รัฐบาลมีเสียงมากกว่า 
     2.โดยภาพรวม ประชาชนพึงพอใจต่อการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 มากน้อยเพียงใด ส่วนใหญ่ 36.07% ค่อนข้างพึงพอใจ เพราะทั้งสองฝ่ายนำเสนอได้ดี ตรงประเด็น ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณ เกิดกระแสการตื่นตัวทางการเมือง ฯลฯ รองลงมา 33.02% ไม่ค่อยพึงพอใจ เพราะผู้อภิปรายบางท่านยังพูดในรูปแบบเดิมๆ พูดนอกเรื่อง ไม่ตรงประเด็น รัฐบาลตอบข้อซักถามไม่ชัดเจน ฯลฯ, 23.42% ไม่พึงพอใจเลย เพราะประท้วงบ่อย ทำให้เสียเวลา ฟังอภิปรายไม่ต่อเนื่อง เหตุผลของการนำงบประมาณไปใช้ในด้านต่างๆ ฟังไม่ขึ้น ฯลฯ, 7.49% พึงพอใจมาก เพราะเป็นการอภิปรายที่ตรงไปตรงมา ทำให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลมากขึ้น ฝ่ายค้านทำหน้าที่ได้ดี ฯลฯ
     3.สิ่งที่ประชาชน "สมหวัง/พอใจ” กับการอภิปรายครั้งนี้ ส่วนใหญ่ 52.10% ฝ่ายค้านทำหน้าที่ได้ดี นำเสนอข้อมูลชัดเจน รองลงมา 32.93% การจัดสรรเวลา เป็นระเบียบมากขึ้น 23.35% ได้รู้และเข้าใจเรื่องงบประมาณมากขึ้น ส่วนสิ่ง “ผิดหวัง/ไม่พอใจ” ส่วนใหญ่ 43.40% รัฐบาลตอบคำถามไม่ชัดเจน ไม่ตรงประเด็น รองลงมา 37.26% การจัดสรรงบประมาณไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้อง 21.70% พูดนอกเรื่อง ประท้วงบ่อย ไม่สำรวม 
เทคะแนนฝ่ายค้านชนะ รบ.
     4.ถ้าคะแนนเต็ม 10 คะแนน ประชาชนให้คะแนนการอภิปรายทั้งของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลกี่คะแนน พบว่า ให้ฝ่ายค้าน 6.94 คะแนน และฝ่ายรัฐบาล 5.11 คะแนน 5.ข้อเสนอแนะ หากมีการอภิปรายในครั้งต่อไป ส่วนใหญ่ 48.94% ระบุว่าควรมีตัวเลขแสดงงบประมาณที่ชัดเจน มีภาพประกอบที่เข้าใจง่าย, 34.04% จัดสรรเวลาและเนื้อหาให้กระชับ ไม่เยิ่นเย้อ ไม่พูดซ้ำซ้อนกัน, 27.66% มีภาพเก็บตก บรรยากาศเบื้องหลัง ภาพการทำงานของ ส.ส. 
    นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจภาคสนามเรื่อง "งบปี 63 ประชาชนหนุนใคร" กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,069 ตัวอย่าง โดยเมื่อถามถึงความต้องการให้รัฐใช้จ่ายงบประมาณปี 2563 ช่วยเหลือประชาชนด้านต่างๆ พบว่า อันดับแรก หรือร้อยละ 65.9 ระบุด้านสุขภาพ เช่น รักษาฟรี หมอดี ยาดี บริการดี สร้างเสริมสุขภาพ รองลงมาคือร้อยละ 64.9 ระบุด้านการศึกษา เช่น เรียนฟรี เรียนสูง โรงเรียนดี ครูดี ช่วยเด็กยากจน, ร้อยละ 59.8 สร้างงาน เช่น คนไทยมีงานทำ ทักษะดี เงินดี มีหลักประกัน มีสุขพอเพียง, ร้อยละ 54.3 ด้านความมั่นคง กองทัพ ตำรวจ ฝ่ายปกครอง เช่น ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน แก้ปัญหาภัยพิบัติ สาธารณภัย ช่วยเหลือฟื้นฟูทั่วถึงไม่ตกหล่น 
    ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงฝ่ายที่ประชาชนสนับสนุนในตอนนี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.2 ขออยู่ตรงกลางไม่เลือกข้าง เพราะแย่ทั้งสองฝ่าย รอดูผลงาน ในขณะที่ร้อยละ 16.9 สนับสนุนฝ่ายรัฐบาล และร้อยละ 15.9 สนับสนุนฝ่ายค้าน
    "ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจคือ เสียงสนับสนุนของประชาชนต่อรัฐบาลสูงกว่าฝ่ายค้านอยู่ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ส่วนใหญ่ยังขออยู่ตรงกลาง เพราะเห็นว่าแย่ด้วยกันทั้งสองฝ่าย รอดูผลงาน แต่ที่น่าพิจารณาคือการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานความมั่นคง กองทัพ ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ติด 1 ใน 5 ที่ประชาชนให้การสนับสนุนด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน แก้ปัญหาภัยพิบัติ สาธารณภัย ช่วยเหลือฟื้นฟูทั่วถึงไม่ตกหล่น ในขณะที่ประชาชนยังคงให้ความสำคัญต่อสุขภาพที่ได้รับการรักษาฟรี หมอดี ยาดี บริการดี รองลงมาคือการศึกษาที่ต้องการให้เด็กเยาวชนเรียนฟรี เรียนสูง โรงเรียนดี ช่วยเหลือเด็กยากจน มีโอกาสยกระดับชีวิตความเป็นอยู่และอนาคตที่ดีกว่า ในขณะที่การมีงานทำ ทักษะดี เงินดี มีหลักประกันมั่นคง และด้านคมนาคมที่ประชาชนต้องการความปลอดภัยทางถนนมากขึ้น" ผอ.ซูเปอร์โพลระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"