ผ่านฉลุย! ส.ว.ไม่มีเสียงแตก 223 เสียงเห็นชอบพ.ร.ก.โอนกำลังพล "ชัชวาลย์" แจงรักษาความปลอดภัยเป็นเรื่องเร่งด่วน ปล่อยเนิ่นนานไม่ได้ "สมชาย" ชี้หากเป็น พ.ร.บ.ก๊วน 70 ส.ส.ที่โหวตสวนอาจแปรญัตติทำให้เนื้อหาผิดเพี้ยน ซัด "อนาคตใหม่" แอนตี้รอยัลลิสต์ เชื่อมีแผนหวังปลุกม็อบลงถนนเหมือนฮ่องกง หวั่นซ้ำรอยตุลาเลือด ที่ประชุม ส.ว.ตั้ง กมธ.วิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันฯ 30 คน "เทพไท" ดักทาง "บิ๊กแดง" จะเป็นนายกฯ ต้องมาตามกลไก รธน. โฆษก พท.เตือนดู "บิ๊กตู่" เป็นตัวอย่าง ต้องถูกตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์
ที่อาคารรัฐสภา ย่านเกียกกาย เวลา 09.00 น. วันที่ 20 ตุลาคม มีการประชุมวุฒิสภา วาระพิเศษ ซึ่งมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน เพื่อพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) โอนอัตรากำลังและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยงานบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ ชี้แจงว่า หลังจาก กมธ.พิจารณา พ.ร.ก.ฉบับนี้ พบว่าในการออกเป็น พ.ร.ก.ต้องอาศัยเหตุผลและความจำเป็นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยปกติการโอนอัตรากำลังหรืองบประมาณต้องทำเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แต่การที่รัฐบาลเลือกออกเป็น พ.ร.ก. ด้วยเหตุผลความจำเป็นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 ที่บัญญัติว่า กรณีเพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์ทรงตรา พ.ร.ก.ให้ใช้บังคับดังเช่น พ.ร.บ.ได้
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ชี้แจงอีกว่า ประเทศไทยมี 3 สถาบันหลัก ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สถาบันที่พวกเราต้องเทิดทูน ถวายความปลอดภัยคือสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องเร่งรัดดำเนินการ เพื่อให้การถวายความปลอดภัยและการเทิดพระเกียรติเป็นไปตามความมุ่งหมาย จะปล่อยให้เนิ่นนานไปคงไม่ได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ หรือประชาชนทั่วไป ต้องเห็นเรื่องการถวายความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง และเป็นเรื่องที่ไม่อาจจะรอได้ เพราะบางเรื่องหากรออาจเกิดผลเสียหาย
"อย่างไรก็ตาม หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยเป็นส่วนราชการอยู่ในพระองค์ มีความจำเป็นที่จะต้องพูดถึงการเพิ่มอัตรากำลังและงบประมาณ จำเป็นต้องโอนอัตราหรืองบบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย และกระทรวงกลาโหมไปอยู่ในหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัย จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ กมธ.จึงเห็นว่ามีความจำเป็นจริงๆ ที่ต้องตราเป็น พ.ร.ก.โดยไม่อาจรอเป็น พ.ร.บ. แล้วไปเข้าตามช่องทางปกติ ซึ่งต้องใช้เวลานาน อาจไม่ทันการณ์เรื่องการถวายความปลอดภัย จึงเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการที่รัฐบาลได้เสนอออกเป็น พ.ร.ก." พล.ต.อ.ชัชวาลย์กล่าว
นายสมชาย แสวงการ ส.ว. และประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค อภิปราย ว่า พระราชกำหนดเป็นกฎหมายที่พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจตราขึ้นตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี โดยอาศัยอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญูวางไว้ เหตุที่ต้องขึ้นมาอภิปรายครั้งนี้ ตนไม่จำเป็นต้องอธิบายให้ ส.ว.ได้ฟัง เพราะเชื่อในวุฒิสภาในการที่จะเห็นชอบพระราชกำหนด แต่ที่ต้องพูดเพราะเกิดเหตุการณ์ จึงอยากใช้เวทีนี้อธิบายไปยังประชาชนที่รักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เพราะมีข้อมูลที่บิดเบือนในการอภิปรายฉวัดเฉวียนจากสภาผู้แทนราษฎร
"เรื่องนี้เป็นเรื่องความมั่นคงและความปลอดภัยของพระมหากษัตริย์ ถ้าทำเป็นพระราชบัญญัติต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร จริงอยู่อาจผ่านสามวาระรวดได้ แต่เมื่อผ่านวาระหนึ่งได้ จะมีผลให้ส.ส.ทุกคนกลายเป็นกรรมาธิการเต็มสภา สิ่งที่เกิดขึ้นคือการแปรญัตติในสภา ส.ส. 70 คนที่โหวตสวนพระราชกำหนด ท่านอาจแปรญัตติอย่างหนึ่งอย่างใด และอาจเกิดผลกระทบ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ตั้งมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ถ้ามี ส.ส.ไปแปรญัตติบางประการ และตัดออกบางกรม หรือแก้ไขบางส่วนและหากที่ประชุมสภาเกิดข้อผิดพลาดขึ้น ถามว่าใครรับผิดชอบ รัฐสภาทั้งสภาและวุฒิสภาก็ต้องรับผิดชอบ เมื่อผ่านสภาก็ต้องมาเข้าวุฒิสภาอีก" นายสมชายกล่าว
อยากนำม็อบลงถนน
นายสมชายกล่าวอีกว่า คิดว่าคนไทยทั้งประเทศเห็นด้วยกับถวายการอารักขาความปลอดภัย เป็นเรื่องที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาแต่โบราณ และกรมทหารฯ ทั้งสองกรมก็ถูกตั้งเพื่อภารกิจนี้ตั้งแต่ต้น จึงไม่มีเหตุสงสัยอีก ที่ต้องอธิบายเช่นนี้เพราะการอภิปรายของเลขาธิการพรรคบางคน ขัดต่อธรรมเนียมของรัฐสภาในการโหวตมติไม่รับพระราชกำหนดเป็นอันตรายอย่างยิ่ง โดยเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า เป็นการประกาศจุดยืนของพรรค ขอร้อง ส.ส.เลยครับว่าที่ไปโหวตสวนในเรื่องนี้ว่าสิ่งที่ท่านทำไม่งดงามเลย ไปสร้างความแคลงใจให้กับประชาชน อย่าไปอ้างเลยว่าเป็นเพราะนายกฯ อยากได้มาตรา 44 ผมว่าตะแบงครับ
"ถามพรรคฝ่ายค้านสิว่าทำไมพรรคเพื่อไทยที่อยู่สภามานานแล้วเขาลงมติเห็นชอบกับพระราชกำหนด ทำไมพรรคอนาคตใหม่ต้องสร้างความแปลกประหลาด ถ้ารัฐสภาไม่มั่นคงและสร้างความแตกแยกในที่สุดประเทศ นำไปสู่ความขัดแย้งอีก นี่เดือนตุลาคมผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 มานานมากแล้ว ไม่อาจย้อยกลับไปอีก แต่กลุ่มการเมืองบางกลุ่มเรียกว่ากลุ่มแอนตี้รอยัลลิสต์ หรือปฏิกษัตริย์นิยมและแนวคิดนิติราษฎร์ยังเคลื่อนไหวอยู่ อยากนำมวลชนในโซเชียลลงท้องถนนแบบฮ่องกง อยากฝากไปยังประชาชนทั่วประเทศว่า การอนุมัติพระราชกำหนดเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง คนไทยทุกคนควรพร้อมใจกัน และสร้างความเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว และมีความจำเป็นเร่งด่วน"
"อย่าแสดงสัญลักษณ์แบบนี้เลยครับ ฝากขอร้อง ท่านเป็นอนาคตของรุ่นใหม่ หลายคนเป็น ส.ส.ที่อภิปรายงบประมาณได้น่าสนใจ สังคมต้องอยู่ด้วยกันของคนหลายรุ่น อย่าแยกตัวเอง เมื่อท่านเข้าสู่สภาแล้วก็ควรเดินบทบาทในสภาอันเหมาะควรเพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าไป แต่ถ้าท่านเดินหน้าชนกับสังคมไทยวันนั้นจะกลับมาเกิดวิกฤติกันอีกรอบ ผมคิดว่าเราเจอวิกฤติมากพอแล้ว ขอวิงวอนสภาด้วยว่าเรื่องนี้ทำเป็นครั้งสุดท้าย แล้วอย่าทำอีก" นายสมชายกล่าว
นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน อภิปรายว่า การตราพระราชกำหนดเป็นการกระทำตามรัฐธรรมนูญ ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศเป็นความมั่นคงของชาติ เมื่อพระราชกำหนดมีการระบุเหตุผลไว้เหตุผลท้ายพระราชกำหนดชัดเจนแล้วก็ควรเป็นไปตามพระราชกำหนด และเป็นความมั่นคง สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาติ การถวายการรักษาความปลอดภัยจึงเป็นกรณีฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นส่วนตัวจึงเห็นควรให้อนุมัติพระราชกำหนด
ขณะที่ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงว่า การดำเนินการต่อไปคือออกประกาศกระทรวงกลาโหมและพิจารณาชี้แจงปรับโครงสร้างภายในกองทัพเพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.ก.ต่อไป
ตั้ง กมธ.พิทักษ์สถาบัน
จากนั้นนายพรเพชรซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมได้ตรวจสอบองค์ประชุมและให้ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติ ผลปรากฏว่า อนุมัติพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 223 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมวุฒิสภาได้เห็นชอบตั้งกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ จำนวน 30 คน อาทิ นางกอบกุล อาภากร ณ อยุธยา ส.ว., พล.อ.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ ส.ว., ม.ล.สกุล มาลากุล ส.ว., ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ส.ว. เป็นต้น โดยได้นัดประชุมนัดแรกวันที่ 20 ตุลาคม เวลา 13.30 น.
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ระบุจะเป็นการดีหาก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ว่าคิดว่าน่าจะเป็นการพูดแบบทีเล่นทีจริงของ พล.อ.ประวิตรมากกว่า แต่สังคมก็คาดเดาอยู่แล้วว่าบุคลิกของ พล.อ.อภิรัชต์ก็น่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่เมื่อมีการโยนหินถามทางอย่างนี้ ก็น่าจะคาดการณ์ได้ว่าคงจะเป็นจริงตามนั้น
"ไม่ว่าใครก็ตามถ้าจะมาเป็นนายกฯ ต้องมาตามกลไก และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และต้องได้รับการโหวตเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา อีกทั้งต้องเข้าใจว่าตัวเองเป็นนักการเมืองแล้วต้องทนต่อแรงเสียดทาน เสียงวิพากษ์วิจารณ์ การตรวจสอบของสังคม และต้องปรับเปลี่ยนบุคลิกให้เข้ากับบทบาทของการเป็นนักการเมือง ใครก็ตามที่ยอมรับตรงนี้ได้ และเข้าใจบทบาทตามรัฐธรรมนูญนี้ผมก็เชื่อว่าสังคมก็ยอมรับและรับได้" นายเทพไทกล่าว
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า พล.อ.อภิรัชต์ประกาศจุดยืนทางการเมืองชัดเจนหลายครั้ง จนสังคมมีคำถามว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม พล.อ.ประวิตร ยังจะพยายามโยนหินถามทาง เพื่อให้คนอนุมานว่า พล.อ.อภิรัชต์ หนุนหลัง พล.อ.ประยุทธ์อย่างเต็มที่ในทุกๆ กรณี ทั้งที่ทราบดีว่ากองทัพไม่ควรเลือกข้างทางการเมืองชัดเจนขนาดนั้น กองทัพหรือทหารอาชีพทั่วโลกต้องมีมารยาท ไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง พล.อ.อภิรัชต์จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจาก พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ อยู่ที่ประชาชน ไม่ใช่ พล.อ.ประวิตร ยุคนี้ไม่ใช่ยุค คสช. ไม่มีใครสามารถแต่งตั้งใครได้ตามอำเภอใจ ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ต้องมีการเสนอชื่อให้สมาชิกรัฐสภาโหวต กว่าจะได้เป็นนายกฯ มีขั้นมีตอน ไม่ใช่มาตามความต้องการของพล.อ.ประวิตร
"การออกมาพูดเรื่องนี้อาจเข้าใจว่ารัฐบาลได้ประโยชน์จากสถานการณ์ความเชื่อมั่นลด เศรษฐกิจมีปัญหา การจัดทำงบประมาณไม่สามารถตอบโจทย์เสริมศักยภาพการแข่งขันของประเทศได้ ก่อนตัดสินใจมาเป็นนายกฯ ต่อจาก พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.อภิรัชต์ต้องดูสภาพ พล.อ.ประยุทธ์ในวันนี้ให้ดีว่ามีความสุขหรือไม่ 5 ปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากการบ่นเหนื่อย เครียด ท้อ พล.อ.ประยุทธ์มีผลงานอะไรเป็นที่ประจักษ์ พล.อ.อภิรัชต์รับได้หรือไม่กับการถูกตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ ที่สำคัญต้องเป็นนายกรัฐมนตรีของคนไทยทุกคน ไม่ใช่แค่เพียงของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่ พล.อ.อภิรัชต์ประกาศจุดยืนเลือกข้างชัดมาตลอด" นายอนุสรณ์กล่าว
ที่ร้านกาแฟพีซคอฟฟี่แอนด์ไลบรารี่ อิมพีเรียล ลาดพร้าว ชั้น 5 มีการจัดกิจกรรมต่อลมหายใจพีซทีวี เวทีทัศน์ โดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวในหัวข้อ "แผ่นดินของเรา ในมุมมองของจตุพร พรหมพันธุ์" ตอนหนึ่งว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การแก้รัฐธรรมนูญไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายในบรรยากาศอย่างปัจจุบัน เราต้องรู้จักแสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่างกันให้มากกว่านี้ เพื่อหยุดความบอบช้ำของประเทศไทย พาประเทศไทยให้รอด แนะรัฐบาลคิดถึงคนรุ่นหลังมากกว่าตัวเอง ระดมความคิดเห็นจากผู้รู้ แก้ปัญหาชาติ เปิดกว้างไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอีก
นายจตุพรกล่าวว่า การบรรยายพิเศษของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ในหัวข้อแผ่นดินของเรา ในมุมมองด้านความมั่นคง ถ้าเป้าประสงค์แค่สองข้อ คือเรื่องสถาบันกษัตริย์และประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียวจะแบ่งแยกมิได้ จะได้แนวร่วมจากคนทั้งชาติ และหลีกเลี่ยงข้อขัดแย้ง แต่เรื่องปลีกย่อยอื่นๆ ก่อให้เกิดเป็นปัญหากระทบถ้าจะเปิดทอล์กโชว์อีกครั้งหนึ่ง ขอให้พูดให้คนไทยรักกัน จะเป็นประโยชน์กับท่านมากกว่า ส่วนเรื่องอื่นๆ สถานการณ์ในปัจจุบัน คอมมิวนิสต์ มาร์กซิสต์ เต็มรูปแบบไม่มีอีกต่อไป จีนก็เหลือแค่รูปแบบการปกครอง แต่ทางเศรษฐกิจ จีนเป็นทุนนิยมที่ยิ่งใหญ่
"ทันทีที่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า พล.อ.อภิรัชต์จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อนั้น ท่านจะเริ่มโชคร้าย เป็นการชี้เป้า ในประเทศไทย ใครถูกชี้ว่าจะเป็นนายกฯ สังคมก็จะไปโฟกัส เป็นทุกขลาภมากกว่าความสุข เมื่อใครถูกพูดถึงว่าจะได้เป็นนายกฯ คนนั้นมักจะชิบหายเสมอ" นายจตุพรกล่าว
นางสาวณัฏฐา มหัทธนา หรือ “โบว์” แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง โพสต์ข่าวและภาพ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.พร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า “ถ้าคนแบบนี้มาเป็นนายกคนต่อไป เราจะหาประเทศใหม่ให้ลูกอยู่จริงๆ ตัวเราเองพอทนนะ แต่ต้องให้เด็กมาอยู่ในประเทศแบบนี้ มันรู้สึกผิดทุกวัน”
โพลเมินภาพ"ทอน-หว่อง"
นพ.เหวง โตจิราการ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า เพื่อนๆ ลองอ่านบทความ "นักประวัติศาสตร์ชี้ 'ฮิตเลอร์' ผู้ขึ้นสู่อำนาจได้ด้วยการใส่ร้ายป้ายสีคนอื่น" จากประชาไทดูนะครับ มีอะไรบางอย่างคล้ายกับที่เกิดในการเมืองไทยปัจจุบันนี้หรือไม่ครับ?
"วิธีการพูดของฮิตเลอร์มีแต่เทคนิคการจูงใจ โดยสร้างเรื่องแต่งแบบกุขึ้นมาเอง แล้วปล่อยให้ผู้คนในประเทศวิ่งไล่ตามผีที่ไม่มีอยู่จริง โดยอาศัยคำพูดที่ดูแรงๆ อย่างเช่นกล่าวหาว่า ยิวเป็น "ศัตรูของประชาชน" ฮิตเลอร์เคยเขียนในหนังสือตัวเองว่า การเขียนโฆษณาชวนเชื่อนั้น แค่ตั้งกรอบความคิดเห็นไว้สองสามอย่าง แล้วก็พูดถึงมันซ้ำๆ"
"สำหรับการเมืองไทยในปัจจุบัน "ปลุกผีคอมมิวนิสต์ซ้ำๆ ปลุกผี "ฮ่องเต้ซินโดรม" ปลุกผี "การปลุกปั่นเยาวชน" ตอกย้ำเฟกนิวส์ "การเปลี่ยนระบอบ" ฯลฯ" พอถึงจุดหนึ่ง เมื่อดำเนินการซ้ำจนสุกงอมพอก็ดำเนินการ "เข่นฆ่าประชาชนด้วยข้อกล่าวหาเท็จดังที่เคยเกิดใน 6 ตุลา 19 เมษา-พฤษภา35" นพ.เหวงระบุ
วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง “ภาพธนาธร-โจชัว หว่อง” สำรวจระหว่างวันที่ 15-17 ตุลาคม 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,270 หน่วย โดยเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อภาพของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่คู่กับนายโจชัว หว่อง แกนนำผู้ชุมนุมประท้วงในฮ่องกง พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 29.84 ระบุว่าเป็นแค่รูปภาพธรรมดารูปหนึ่งเท่านั้น รองลงมา ร้อยละ 25.04 ระบุว่าไม่มีความเห็น เพราะไม่รู้จักนายโจชัว หว่อง, ร้อยละ 18.11 ระบุว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล และจะไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-จีน, ร้อยละ 17.01 ระบุว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมของนายธนาธร, ร้อยละ 12.99 ระบุว่าเป็นเรื่องของคนมีอุดมการณ์เดียวกันถ่ายรูปด้วยกัน, ร้อยละ 6.61 ระบุว่าอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-จีน, ร้อยละ 2.83 ระบุว่าเป็นการสมรู้ร่วมคิดกันต่อต้านรัฐบาล (ชาติใดชาติหนึ่ง หรือทั้งสองชาติ), ร้อยละ 1.73 ระบุว่าภาพถ่ายนี้จะทำให้นักท่องเที่ยวจีนมาไทยลดลง, ร้อยละ 1.65 ระบุว่าภาพถ่ายนี้จะไม่ส่งผลกระทบทำให้นักท่องเที่ยวจีนมาไทยลดลง และร้อยละ 4.49 ระบุว่าไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อถามถึงความกังวลของประชาชนต่อการแถลงของสถานทูตจีน กรณีมีนักการเมืองไทยแสดงท่าทีสนับสนุนผู้ประท้วงในฮ่องกง พบว่า ร้อยละ 4.65 ระบุว่ามีความกังวลมาก เพราะอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับจีน และยังเป็นสาเหตุทำให้นักท่องเที่ยวจีนมาไทยลดลง, ร้อยละ 19.76 ระบุว่าค่อนข้างกังวล เพราะอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากประเทศจีนเป็นตลาดคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทย ขณะที่บางส่วนระบุว่าอาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนมาไทยน้อยลง, ร้อยละ 14.72 ระบุว่าไม่ค่อยกังวล เพราะเป็นการเกาะกระแสของนักการเมืองไทยคนหนึ่งเท่านั้น, ร้อยละ 51.81 ระบุว่าไม่กังวลเลย เพราะไทยกับจีนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมานานแล้ว และร้อยละ 9.06 ระบุว่าไม่ตอบ/ไม่สนใจ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |