การเผชิญหน้าของ "ความคิดสุดโต่ง" ติดกับดักตัวเองบน "ทางสองแพร่ง"


เพิ่มเพื่อน    

      การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ผ่านพ้นไปแล้ว แม้บรรยากาศภาพรวมจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่สังคมไทยในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ยังต้องเผชิญกับความขัดแย้งทางความคิดที่ยังไม่คลี่คลาย และคาดหมายไม่ได้ว่าจะลงเอยอย่างไร

                ภายหลังที่ประชุมสภาฯ พิจารณา พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ยิ่งตอกย้ำและทำให้อุณหภูมิทางการเมืองไทยร้อนระอุขึ้นอีก

                สำหรับเนื้อหา พ.ร.ก.ดังกล่าว ในมาตรา 3 ระบุว่า "ให้โอนบรรดาอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ ๑๑ มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประกาศกำหนด ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการในพระองค์"

                โดย พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม เป็นผู้ชี้แจงเหตุผลในการออก พ.ร.ก.นี้ ว่า เพื่อสนับสนุนภารกิจส่วนราชการในพระองค์ในการปฏิบัติหน้าที่ การถวายพระเกียรติและการรักษาความปลอดภัยขององค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ รวมทั้งให้การปฏิบัติภารกิจทั้งปวงตามพระราชอัธยาศัย และตามพระราชประเพณีให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ และเกิดความปลอดภัยสูงสุด จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงในการที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ก.นี้

                ขณะที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายโต้แย้งและคัดค้านว่า ประเด็นที่มีปัญหาอยู่ที่ว่ากรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งคิดว่าเป็นปัญหาในทางรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์คุ้นชินกับการมีอำนาจพิเศษกับอำนาจมาตรา 44 ที่ใช้มา 5 ปีเศษ ในวันนี้เราเข้าสู่ระบบปกติแล้ว เราใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ท่านไม่มีมาตรา 44 อีกแล้ว หากเราปล่อยผ่านเรื่องนี้ นานวันเข้าการออก พ.ร.ก.จะกลายสภาพเป็นมาตรา 44 จำแลง

                 "คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2562 ในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ เนื้อหาของคำวินิจฉัยของศาลยืนยันว่า มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง ทรงเป็นกลางทางการเมือง และใช้คำว่าปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง หนังสือตำราหลายเล่มของนักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็อยู่ในรัฐมนตรีชุดนี้ด้วย ก็เขียนเรื่องนี้เช่นกันว่าระบอบนี้คือพระมหากษัตริย์ทรงปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ"

                 อย่างไรก็ตาม นายปิยบุตร กล่าวว่า "พรรคอนาคตใหม่และผมยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การอภิปรายในวันนี้เป็นไปเพื่อยืนยันอำนาจของสภาฯ ตามรัฐธรรมนูญตรวจสอบถ่วงดุลกับฝ่ายบริหาร รักษาระบบรัฐสภา ที่สำคัญที่สุดคือ การรักษา ปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การแสดงออกซึ่งความจงรักภักดี มิใช่ชี้หน้าด่าคนอื่นว่าไม่จงรักภักดี การแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีไม่ใช่การใช้อำนาจกระทำการใดเพื่อทำให้คนคิดว่าพระมหากษัตริย์เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจ"

                ขณะที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ชาติและความเป็นมาไม่เหมือนประเทศอื่น ที่เรายืนยาวมาถึงวันนี้ได้เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ หากไม่มีสถาบันนี้ก็คงไม่มีพวกเรามาถึงวันนี้ แต่ด้วยวิวัฒนาการของประเทศและโลกทำให้ระบบสถาบันกษัตริย์มีความเปลี่ยนแปลงไป จนมาเป็นสถาบันระบบประมุขของระบอบประชาธิปไตยของไทย ดังนั้นความเป็นราชอาณาจักรไทยไม่สามารถแบ่งแยกออกได้ระหว่างความมั่นคงของประเทศกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ถือว่าเป็นเรื่องเดียวกัน อะไรที่กระทบสถาบันกษัตริย์ก็เท่ากับกระทบความมั่นคงของประเทศด้วยเช่นกัน

                “ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศที่ไม่เป็นกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน ในเมื่อความปลอดภัยของประเทศถือเป็นเรื่องเร่งด่วน อะไรที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของสถาบันกษัตริย์จึงไม่ต่างกัน” นายพีระพันธุ์ กล่าว

                ภายหลังการอภิปราย ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่มีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 374 ต่อ 70  เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ซึ่งในเสียงที่ไม่เห็นชอบทั้งหมดเป็น ส.ส.จากพรรคอนาคตใหม่ ยกเว้น นายกฤติเดช สันติวชิระกุล ส.ส.แพร่, นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี และ พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี ที่ลงมติเห็นด้วย

                นายปิยบุตร ให้สัมภาษณ์ด้วยว่า มติพรรคที่ออกไปแล้ว 70 เสียงของ ส.ส.ที่โหวตไม่เห็นด้วยนั้น มาจากการประชุมร่วมกันเป็นเวลา 3 วัน ทั้งตอนที่ไปสัมมนาที่ต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ โดยมีการอภิปรายแลกเปลี่ยนกัน และเมื่อเปิดลงมติก็ได้มตินี้มา และนี่คือจุดยืนของอนาคตใหม่

                ที่น่าแปลกใจสำหรับฝ่ายค้านด้วยกันกลับมีเพียงพรรคอนาคตใหม่พรรคเดียวที่ลงมติไม่เห็นชอบ พ.ร.ก.ดังกล่าว นายวัฒนา เมืองสุข สมาชิกพรรคเพื่อไทย ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คสช.และกองทัพมาอย่างดุเดือดต่อเนื่องโพสต์ชี้แจงกรณีพรรคเพื่อไทยลงมติเห็นชอบว่า ผมเห็นว่าภารกิจที่เกี่ยวกับการถวายความปลอดภัยถือเป็นเรื่องของประเทศและเป็นเรื่องสาธารณะ จึงเป็นเงื่อนไขที่จะออกเป็น พ.ร.ก.ได้ แต่จะเป็นกรณีฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่นั้น กฎหมายถือเป็นดุลพินิจและอยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารที่อยู่นอกเหนืออำนาจการตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญ ผมจึงไม่ขอก้าวล่วง

                "ดังนั้นสาระของเรื่องนี้มีเพียง 2 ประเด็น คือ การเปลี่ยนแปลงสายการบังคับบัญชาและวิธีการในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งผมเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสายการบังคับบัญชาของ 2 หน่วยทหารดังกล่าวจะตรงและสั้นลง ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนวิธีการนั้นจะเสนอเป็น พ.ร.ก.หรือ พ.ร.บ.ก็คงไม่มีอะไรแตกต่างกัน นั่นคือเหตุผลที่ผมเห็นด้วยที่พรรคเพื่อไทยยกมือผ่านพระราชกำหนดดังกล่าว เพราะไม่มีอะไรเกี่ยวกับการยืนข้างประชาชนหรือมีความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ คนละเรื่องกันครับ" นายวัฒนาระบุ

                การลงมติขวาง พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลของพรรคอนาคตใหม่ กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงจุดยืนของพรรค โดยเฉพาะแกนนำพรรค นายปิยบุตร นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค ที่มีพฤติกรรมและการแสดงออกทำนองหมิ่นเหม่ต่อการไม่จงรักภักดีมาอย่างต่อเนื่อง

                แม้ช่วงหลังๆ แกนนำพรรคเหล่านี้จะลดโทนพาดพิงสถาบันในทางลบและพยายามยืนยันว่าพวกตน "ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" แต่การลงมติสวนทางกับสมาชิกสภาทั้งหมด เท่ากับประกาศจุดยืน และเผยตัวตนและธาตุแท้ของแกนนำพรรคอนาคตใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

                ขณะที่บรรดาสมาชิกเครือข่ายนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีพฤติการณ์ไม่ยอมรับสถาบันพระมหากษัตริย์ก็แสดงความชื่นชมถึงความกล้าหาญของ นายปิยบุตร และสมาชิกทั้ง 70 คน ในการโหวตลงมติดังกล่าว แต่ประชาชนทุกภาคส่วนที่มีความจงรักภักดี รู้สึกรับไม่ได้กับจุดยืนของพรรอนาคตใหม่และมองว่าเป็นการท้าทาย...

                อาทิเช่น ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ระบุว่า โหวตผ่านหรือไม่ผ่านก็อ้างเป็นโหวตด่วนหรือไม่ด่วน แต่จริงๆ คือลงมติโหวตไม่ให้ผ่านนั่นแหละ ตอนนี้มันกลายเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ไปแล้ว อ่านเจตนาจริงๆ ของหมากนี้กันตรงๆ โดยไม่อ้อมค้อมเลยนะ...เพราะแค่ต้องการท้าทายพระราชอำนาจ เพื่อประกาศ "อำนาจต่อรอง" ของตัวเองในนามของอำนาจจากประชาชนเท่านั้นแหละ มันเป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์และเป็นชัยชนะเชิงสัญลักษณ์สำหรับพวกเขา...ที่สามารถปักธงอันนี้ในสภาฯ ได้อย่างเปิดเผย พวกเขาโหยหา "ชัยชนะ" ทุกรูปแบบใจจะขาดในสภาพที่แนวรบอื่นๆ ส่วนใหญ่แพ้พ่าย จึงขอให้ได้รับชัยชนะบ้างก็ยังดีเพื่อหล่อเลี้ยงพลวัตความคิดอุดมการณ์ของพวกตน หลังจากนี้ก็มีเพียงแต่ "ได้คืบจะเอาศอก" เท่านั้นเอง ถ้ายังอยู่กันได้โดยไม่ลงไปเข่นฆ่ากันบนท้องถนนอีก มันก็มองเป็นการคลี่คลายของประชาธิปไตยในเมืองไทยตามความเป็นจริงได้เหมือนกัน"

                ทั้งนี้ ดร.สุวินัย โพสต์ข้อความเตือนสติหลายครั้งถึงกลุ่มนักวิชาการนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ยังยึดมั่นอุดมการณ์เดิมๆ มีมิจฉาทิฐิและความเกลียดชัง ชักนำคนรุ่นใหม่ไปสู่การเผชิญหน้า และเป็นห่วงจะเกิดความรุนแรงนองเลือดซ้ำรอยประวัติศาสตร์อีกครั้ง

                เช่นเดียวกับ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า บันทึกไว้ให้คนไทยรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ได้รับทราบรายชื่อ 70 ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ที่โหวตสวนไม่รับ พ.ร.ก.โอนย้ายหน่วยทหารไปกองบัญชาการถวายความปลอดภัย เรื่องนี้อะไรควรหรือมิบังควรวิญญูชนย่อมทราบได้ อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่

                "พวกนิติราษฎร์และปฏิกษัตริย์นิยมยังเคลื่อนไหวในรูปแบบใหม่ทางการเมือง และอาจเป็นภัยคุกคามที่นำไปสู่ความแตกแยกอย่างรุนแรงได้ในอนาคตอีกครั้ง แม้ส่วนตัวไม่อยากให้เกิดเหตุเช่นว่าอีก แต่ดูเหมือนเขาเหล่านั้นไม่ไยดีผู้นำขบวน กลับนำพาสมาชิกและมวลชนเข้าสู่สงครามความขัดแย้งรอบใหม่อย่างตั้งใจ และมี hiddenagenda แน่นอน" นายสมชายระบุ

                สอดรับกับเมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.บรรยายในหัวข้อ แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง ระบุว่า มีพวกคอมมิวนิสต์ที่ยังมีความคิดล้มสถาบันเป็น มาสเตอร์มายด์ ใช้สงครามลูกผสม-ไฮบริดวอร์แฟร์ล้างสมองคนรุ่นใหม่ และยังสมคบกับนายโจชัว หว่อง แกนนำม็อบเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงชักศึกเข้าบ้าน พร้อมประกาศตอบโต้ข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ว่าทำไม่ได้ เพราะจะกระทบหมวดพระมหากษัตริย์ และยังย้อนถามว่า เรื่องความมั่นคงจะให้ ซ้ายดัดจริต-กลุ่มนักการเมืองลูกพี่ใหญ่หนีคดี-นักธุรกิจฮ่องเต้ซินโดรม เข้ามาแก้ไขหรือ

                สำหรับ นักธุรกิจฮ่องเต้ซินโดรม ที่เอ่ยถึงก็คือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่นั่นเอง

                และเมื่อวันศุกร์ ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดไต่สวนพยานจำนวน 10 ปาก ในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้พิจารณาว่าความเป็น ส.ส.ของนายธนาธรสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) เนื่องจากถือหุ้นสื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เข้าลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือไม่ และนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 20 พ.ย.นี้

                น่าจับตาว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งตัดสิทธิ์ทางการเมืองและลงโทษนายธนาธร จะมีปฏิกิริยาจากมวลชนที่สนับสนุน นายธนาธร-อนาคตใหม่ แค่ไหน อย่างไร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝ่ายความมั่นคงมีความกังวลและเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิด

                ขณะที่กองเชียร์สองฝ่ายที่มีความคิดสุดโต่ง-สุดขั้ว ก็โจมตีกันอย่างดุเดือด โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย กลายเป็นสงครามย่อยๆ ในโลกไซเบอร์เลยทีเดียว

                ขณะเดียวกัน นายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการและอดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 บรรยายพิเศษเรื่อง ประชาชน พรรคการเมือง ทหารไทย ติดกับดัก ก่อวิกฤติใหม่ประเทศไทย สรุปว่า สังคมไทยไม่มีเป้าหมาย จนกลับมาติดกับดักตัวเองนับจากยุคพัฒนา 2505 จนถึงปัจจุบัน จากกระบวนทัศน์แบบใหม่ที่เข้ามาครอบงำคนไทยที่เรียกว่า ความเมือง ที่มองพวกอื่นเป็นศัตรูที่ต้องล้มล้าง ทำให้ความขัดแย้งกำลังขยายตัวและน่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ

                 เริ่มจากความขัดแย้งเหลือง-แดง ซึ่งเป็นเรื่องชนชั้นล่าง ชั้นกลางในชนบท กับชนชั้นกลาง ชั้นสูงในเมือง ต่อมาเพิ่มประเด็นความเป็น ภาคเหนือ อีสาน ใต้ ความขัดแย้งเผด็จการ-ประชาธิปไตย การเลือกตั้งหลังสุดก็เพิ่มประเด็น คนรุ่นเก่า รุ่นใหม่ ความคิดเก่า ความคิดใหม่ ชาติมหาอำนาจเองก็แสดงจุดยืนชัดเจนคือ ชาติตะวันตก หนุนฝ่ายเสื้อแดง จีนหนุนฝ่ายอนุรักษ์กับทหาร

                ขณะที่ยุคปฏิรูปช่วงปี 2535-2557 ถือว่าล้มเหลว สะท้อนว่าพลังอนุรักษ์ ระบบราชการ และกองทัพ ไม่พร้อมและไม่สามารถทำการปฏิรูปใดๆ และเตือนว่าหากรัฐบาลและกองทัพมองปัญหาใจกลางผิด อาจนำไปสู่วิกฤติรอบใหม่ที่ร้ายแรง
                เสียงเตือนของ นายธีรยุทธ เท่ากับสังคมไทยกำลังเดินอยู่บน ทางสองแพร่ง หากแก้ปัญหาผิดพลาด อาจย้อนรอยเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยอีกครั้ง!

 

รูป

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา         

นายปิยบุตร แสงกนกกุล

ดร.สุวินัย ภรณวลัย

นายธีรยุทธ บุญมี 

 

โค้ด

                "น่าจับตาว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งตัดสิทธิ์ทางการเมืองและลงโทษนายธนาธร จะมีปฏิกิริยาจากมวลชนที่สนับสนุน นายธนาธร-อนาคตใหม่ แค่ไหน อย่างไร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝ่ายความมั่นคง มีความกังวลและเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิด ขณะที่กองเชียร์สองฝ่ายที่มีความคิดสุดโต่ง-สุดขั้ว ก็โจมตีกันอย่างดุเดือด โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย กลายเป็นสงครามย่อยๆ ในโลกไซเบอร์เลยทีเดียว ...เสียงเตือนของนายธีรยุทธ เท่ากับสังคมไทยกำลังเดินอยู่บน "ทางสองแพร่ง" หากแก้ปัญหาผิดพลาด อาจย้อนรอยเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยอีกครั้ง!"

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"