ถ้าทำให้องค์กรศาลอ่อนแอความวิบัติจะเกิดกับประชาชน
หลังเกิดเหตุการณ์ คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงตัวเองในห้องพิจารณาคดี ที่ศาลจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 4 ต.ค.62 อันทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายในสังคมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับวงการตุลาการ หนึ่งในสถาบันหลักของประเทศไทย
จนต่อมาที่ประชุม ก.ต. เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม มีมติให้ตั้งอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมวิสามัญสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าว ที่ประกอบด้วย ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 คน เป็นอนุกรรมการ โดยมี นางวาสนา หงส์เจริญ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา เป็นประธานอนุกรรมการวิสามัญฯ โดยให้เวลาในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นเป็นเวลา 15 วัน ที่จะครบกำหนดในสัปดาห์หน้า อันต้องรอดูว่า อนุกรรมการจะมีการขอขยายเวลาการตรวจสอบออกไปหรือไม่ หรือจะสรุปผลเลย และผลสอบข้อเท็จจริงที่จะนำเข้าที่ประชุม ก.ต. ผลจะเป็นอย่างไร
ศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ ย้ำว่า สิ่งที่เกิดขึ้นที่ศาลจังหวัดยะลา อนุกรรมการที่ทางที่ประชุม ก.ต.ตั้งขึ้นมาสอบข้อเท็จจริง ต้องแถลงข้อเท็จจริงทั้งหมดที่ตรวจสอบมา แม้ว่าสิ่งนั้นอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อปัจเจกชนก็ต้องแถลง
“เพราะมันเป็นความจริง อะไรที่เป็นความจริงก็ต้องเป็นความจริง จะเก็บไว้ทำไม ศาลไม่มีคำว่าปิดบัง เพราะศาลต้องตีแผ่หมดทุกอย่าง”
...การพิจารณาคดีของศาล open court บุคคลอื่นเข้าไปฟังได้ คุณเคยเห็นไหมในหน่วยงานไหน ที่ให้ประชาชนไปดูการทำงานของเขา ศาลไทยและศาลต่างประเทศเหมือนกันหมดคือ open court เปิดศาลให้ดู ศาลก็จะมีที่นั่งของประชาชน ก็เหมือนกับรัฐสภา ที่เปิดให้ประชาชนเข้าไปนั่งฟัง ต้องเปิดเผยยิ่งกว่าฝ่ายบริหารที่ต้องมีธรรมาภิบาล ซึ่งธรรมาภิบาลเป็นเรื่องของบุคคลที่เขาจะทำ แต่จะมีหรือไม่ ก็ไม่รู้ แต่อันนี้ประชาชนจะมองเห็น เพราะฉะนั้นเหนือกว่าสภาและศาล มีธรรมาภิบาลสูงกว่าฝ่ายบริหารร้อยเท่า ผมบอกเลย
"ผมเชื่อแน่ว่าข้อเท็จจริงที่เขากำลังสอบกันอยู่จะต้องปรากฏออกมาอย่างแน่ชัด และเราก็ไม่ได้มีความลับ แบบเป็นเรื่องความมั่นคงเปิดเผยไม่ได้ ศาลเราไม่มี ความลับเกี่ยวกับความมั่นคงมันไม่มี ศาลต้องเปิด ส่วนใครจะเห็นอย่างไรก็เป็นเรื่องทางวิชาการ เราไม่ว่า แต่อย่าฉวยโอกาสเอาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาไปเป็นประโยชน์ หรือเป็นช่องทางที่ตัวเองอยากจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสถาบันผู้ใช้อำนาจอธิปไตย แล้วมันเกิดความอ่อนแอความเสียหายขึ้น จนศาลไม่สามารถปกป้องหรือไม่สามารถที่จะดูแลคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน นั่นคือผลร้ายที่จะเกิดกับประชาชนและประเทศชาติ ต้องระวัง"
เมื่อถามถึงว่า สิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวจนถึงขณะนี้มองว่าส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ศรัทธาของประชาชนที่มีต่อศาลยุติธรรมหรือไม่ ศรีอัมพร ให้ทัศนะว่า ในความเห็นของผมและภาพรวม ผมว่าไม่มีผล ถ้ายอมเปิดใจและรับความจริงที่เกิดขึ้น แต่ถ้าคุณมีความไม่เป็นกลาง มี bias เราก็ไม่สามารถชี้แจงให้เขาเข้าใจได้ เราก็ต้องปล่อยเขาไป แต่ก็ต้องนำความจริงมาตรวจสอบแล้วแถลงไปตามความจริงว่าเป็นอย่างไร
...อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อสังเกตว่าการกล่าวอ้างว่าอธิบดีผู้พิพากษาศาลแทรกแซงแล้วก็ถ้าไม่ทำตามอธิบดีจะถูกไล่ออก ไม่จริงเลย เหตุผลนี้คงรับฟังไม่ได้ เพราะการตั้งกรรมการสอบสวนเพื่อให้ออกหรือไล่ออกอยู่ที่คณะกรรมการตุลาการ ไม่ใช่อยู่ที่ผู้บังคับบัญชา แล้วหากผู้บังคับบัญชารายงานเท็จก็โดนเรื่องวินัยอีก อย่างไรก็ตามผมคงไม่ขอกล่าวในเรื่องนี้ เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ระหว่างการตรวจสอบอนุกรรมการ ก.ต. ซึ่ง ก.ต.เขาตั้งมาโดยทั้ง 3 คนเป็น ก.ต.ด้วย จึงเป็นอิสระ แล้วแต่ละคนก็ได้รับเลือกมาจากผู้พิพากษาทั่วประเทศ ไม่ใช่อธิบดีเป็นคนเลือก เขาก็ต้องทำตรงไปตรงมา หากคุณเหลวไหล ผู้พิพากษาก็ไม่เลือกกลับมาเป็น ก.ต.อีก มันมีการตรวจสอบและถ่วงดุลทุกทางเลย แล้วก็คนที่ได้รับเลือกเป็น ก.ต.ก็ต้องระวังตัว ทำอะไรก็ต้องตรงไปตรงมา หากไม่ตรงไปตรงมาก็โดนอีก ถูกพิพากษาถอดถอนได้ มันมีกลไกอยู่
-หลังเกิดกรณีที่จังหวัดยะลา ก็มีนักวิชาการ นักการเมือง บางกลุ่มออกมาพูดเรื่องการปฏิรูปศาล มองเรื่องนี้อย่างไร?
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เขาไม่มีความรู้ เขาไม่มีความรู้จริงๆ รู้แต่เปลือก รู้แต่ทฤษฎี แต่ไม่ได้ลงลึก เขาไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในระบบการเมืองการปกครอง หรือกฎหมายรัฐธรรมนูญ มันคนละระบบ
“การที่คุณคิดจะปฏิรูป ต้องคิดก่อนว่ามันเกิดจุดอ่อนจริงหรือไม่ ถ้าจุดอ่อนนั้นเป็นความจริง คุณก็ปฏิรูปไป ก็มีเหตุผลในการปฏิรูป ด้วยการออกกฎหมาย แต่ว่าหากระบบเขาดีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าคนบางคนมีการตีความผิด ไม่ว่าจะโดยวุฒิภาวะหรือจิตใจที่ปกติหรือไม่ปกติก็ตาม คุณจะเอามาเป็นตัวอย่างหรือเป็นกรณีที่จะไปรื้อกติกาของเขา เท่ากับว่าคุณไปทำลายความเข้มแข็งของผู้ใช้อำนาจตุลาการ ผลเสียไม่ได้เกิดกับผู้พิพากษา แต่ผลเสียมันเกิดกับคู่ความ ประชาชน ประเทศชาติ ถ้าเราทำให้องค์กรศาลยุติธรรมอ่อนแอลง ความสับสน วิบัติจะเกิดกับใคร ก็เกิดแก่ประชาชน ประเทศชาติ”
...แล้วผลคดีที่ออกมาจะมีมาตรฐานหรือไม่ก็ไม่รู้ ตรวจสำนวนก็ตรวจไม่ได้ องค์คณะก็ห้ามยุ่งไปหมด อะไรแบบนี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องกลั่นกรอง เป็นเรื่องคิวซี ไม่ใช่การแทรกแซงการใช้อำนาจหรือเป็นการกดดัน หรือไปบีบบังคับดุลยพินิจ อันนี้ไปพูดกันคนละภาษา คนละเรื่อง ถ้าเขาเข้าใจเขาจะตกใจและจะไม่มีความคิดแผลงๆ แบบนี้
...ระบบศาลในด้านต่างๆ ดีอยู่แล้ว และกำลังพัฒนาให้ดีขึ้น เพราะเราไม่ได้ดูอย่างเดียวว่าศาลระบบเราดีอยู่แล้ว แต่เรายังพัฒนาศาล จากศาลธรรมดา Analog มาเป็น Electronic Court และต่อไปเราจะต้องมี Smart court ศาลอัจฉริยะ โดยเราจะมีการใช้ไอทีต่างๆ เข้ามา อย่าง AI ต่อไป ก็ต้องใช้แน่ ใช้ AI เพื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆ เป็น Big Data ที่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริง นำมารวม แล้วนำมาช่วยผู้พิพากษาในการตัดสินคดี 5จี มาแล้ว 6จี กำลังจะตามมาทีหลัง
...เทคโนโลยีเหล่านี้ทำให้เราต้องพัฒนาขึ้น และเมื่อเราพัฒนาไปมากเท่าใด เราก็จะได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ ได้บิ๊กดาต้าที่ดีๆ ก็จะทำให้การใช้ดุลยพินิจของผู้พิพากษา ความคลาดเคลื่อนก็จะน้อย ก็ควรต้องสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่มาบอกว่าต่อไปห้ามตรวจสอบ เท่ากับว่าแบบนั้นคุณตัดเรื่องคุณภาพออกไปเลย ซึ่งเรื่องความผิดพลาด หรือ human error คุณไม่กลัวหรือ หากวันหนึ่งคุณมาเป็นคู่ความในคดี จะมาเป็นโจทก์หรือจำเลย แล้วคุณก็ต้องมานั่งกลัวว่าสิ่งนั้นจะตกกับใคร เขาจะให้ใครแพ้ใครชนะ ก็ตายสิ ระบบนี้มันใช้ไม่ได้ มันต้องมาตรฐานเดียวกัน การตรวจสอบความถูกต้องต้องมี คิวซีมันต้องมี ต้อง defect zero ก็เหมือนกัน คำพิพากษาต้อง defect zero ต้องไม่ผิดพลาด แล้วคุณจะเชื่อคนหนึ่งคน หรือจะเชื่อองค์คณะที่มีสามคน
-คนที่จะมาพูดเรื่องปฏิรูปศาลก็ต้องมีความเข้าใจระบบงานต่างๆ ของศาลก่อน?
ก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจ ถ้าพูดเป็นประสาชาวบ้านก็คือ ไม่ใช่ว่าฟังไม่ได้ศัพท์จับมากระเดียด บอกว่าอยากจะปฏิรูป แล้วมันรู้หรือเปล่าว่าปฏิรูปแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เด็กคนหนึ่งดูทีวีแล้วเลียนแบบในทีวี เช่นนำปืนไปยิงคน แล้วคุณจะไปสั่งปิดทีวีเขาหรือ โดยบอกว่าเป็นสื่อที่ทำให้เด็กกระทำความผิด แบบนี้มันก็วิกลจริตแล้ว มันก็ต้องดูสิว่าเด็กคนนี้มันผิดปกติหรือเปล่า ไม่ใช่หาผล ไปหาเหตุ แบบนี้ใช้ไม่ได้ มันไม่มีการวิเคราะห์สังเคราะห์เลย พวกที่ออกมาพูดแบบนี้ ผมว่าไม่ใช่นักวิชาการแท้ เพราะนักวิชาการแท้เขาจะไม่พูดจนกว่าเขาจะรู้เรื่องนั้นดี
-ศาลยุติธรรมที่ตั้งมาหนึ่งร้อยกว่าปี สิ่งที่ทำให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชนมาตลอด จุดแข็งของศาลยุติธรรมคืออะไร?
จุดแข็งของเราก็คือความเป็นอิสระและคิวซีที่ถูกต้อง คือการตรวจสอบความถูกต้อง ไม่อย่างนั้นเราไม่มีการตรวจสำนวนหรอก การที่เรามีการตรวจสำนวน มีการทักท้วง และใช้การลงมติเสียงข้างมาก ก็เป็นแนวปฏิบัติและทฤษฎีที่ดี และเรายังมีระบบตรวจสอบความถูกต้องโดยให้องค์คณะอีกคณะหนึ่งเขาพิจารณา โดยหากผลออกมาอย่างไรก็ต้องเป็นแบบนั้น รวมถึงการให้ผู้พิพากษาทั้งศาลตัดสิน
ต่อข้อถามที่ว่าเท่าที่ได้เจอผู้พิพากษาด้วยกัน เขาหนักใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่จังหวัดยะลาหรือไม่ ศรีอัมพร-ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ เปิดเผยว่า เขาก็ไม่หนักใจกัน ก็คุยกันปกติ ก็คุยกันว่าก็รอให้สำนักงานศาลตรวจสอบ แล้วก็เชื่อว่ามติมหาชนจะรู้และเข้าใจ ยกเว้นคนที่มีอคติ มันก็ไม่จำเป็นต้องอธิบายให้เขาฟัง เพราะอธิบายอย่างไรเขาก็ไม่รับฟัง ก็อยากให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พวกเราก็ไม่อยากให้เกิด แต่เมื่อเกิดขึ้นมาก็ต้องหาข้อเท็จจริงต่อไป แต่แนวปฏิบัติและกฎหมายของศาลเป็นแนวปฏิบัติที่เหมาะสมและมีการพัฒนา เพื่อให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมสูงสุดอยู่แล้ว การที่บุคคลบางคนคิดเองเออเองว่าไม่ดี ควรจะอย่างนั้นควรจะอย่างนี้ ต้องระวัง ไม่ว่าคนในองค์กรหรือนอกองค์กรก็ตาม เพราะว่าความคิดของเขาเป็นแค่มโนคติ หรือคติข้างเดียว ข้างน้อย แล้วอยู่ดีๆ ก็เห็นขัดหูขัดตา บอกกฎหมายก็ไม่ดี วิธีการก็ไม่ดี อะไรก็ไม่ดี ก็ถามว่าแล้วคุณไม่ถามคนอื่นเขาหรือ หรือว่าตัดสินใจด้วยตัวเองคนเดียว อันตราย ก็ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับข่าวนี้
ลงลึกระบบตัดสินคดี
ศาลชั้นต้น-อุทธรณ์-ฎีกา
เพื่อให้เข้าใจถึงระบบการตัดสินคดีและการทำงานของผู้พิพากษาและอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น รวมถึงระบบการตรวจสอบสำนวนในชั้นศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา ศรีอัมพร-ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ กล่าวลงรายละเอียดถึงกระบวนการขั้นตอนการทำงานดังกล่าว โดยเริ่มต้นอธิบายว่า ระบบการทำงานของผู้พิพากษาจะแตกต่างจากฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ เพราะงานของผู้พิพากษาจะมีฐานะอยู่สองฐานะ
1.ฐานะข้าราชการตุลาการ อยู่ในระเบียบวินัย ไม่ทำผิดวินัยข้าราชการ เช่น การลากิจ ลาป่วย ต้องอยู่ในระเบียบวินัย จะหยุดก็ต้องลา จะหยุด หนีราชการไม่ได้
2.คือการทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษา ตุลาการ เป็นหน้าที่ซึ่งแตกต่างจากข้าราชการพลเรือน ก็คือเราไม่ได้ทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา แต่เขาจะให้คดี โดยเฉพาะในศาลชั้นต้น เมื่อมีคู่ความมาฟ้องคดี ไม่ว่าจะแพ่งหรืออาญา ทางผู้บังคับบัญชาของศาลชั้นต้นก็คือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลหรืออธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ก็จะสั่งจ่ายสำนวนมา ให้มีองค์คณะพิจารณาคดี โดยองค์คณะในศาลชั้นต้นจะมีสองคน ซึ่งองค์คณะทั้งสองคนก็จะสืบพยานไปจนกระทั่งจบ และมีความเห็นในฐานะองค์คณะ เช่น จะยกฟ้อง หรือจะลงโทษในคดีอาญา หรือจะตัดสินให้ใครแพ้ ใครชนะในคดีแพ่ง ต้องใช้หนี้ระหว่างกัน
“ดุลพินิจในการตัดสินคดี กฎหมายบังคับเลยว่า ต้องเป็นดุลพินิจโดยอิสระ ผู้บังคับบัญชาจะสั่งไม่ได้”
...ส่วนเหตุที่ในศาลชั้นต้น เมื่อองค์คณะมีความเห็นในคดีแล้วต้องส่งไปให้อธิบดีศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาคตรวจ ก็เพราะว่าคดีที่สำคัญที่ประธานศาลฎีกาเป็นผู้กำหนด ยกตัวอย่างเช่น คดีอาญาที่มีโทษจำคุก 10 ปีขึ้นไป อันที่สอง คดีความมั่นคง, คดีค้ามนุษย์, คดีองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พวกนี้เป็นคดีความผิดพิเศษที่มีความสำคัญ ดังนั้นประธานศาลฎีกาจึงอยากให้มีความถูกต้อง มีความรอบคอบในการเขียนคำพิพากษา ก็มีการกำหนดไว้
ศรีอัมพร-ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาก็มีว่าการตรวจสำนวนคืออะไร การตรวจสำนวนก็คือว่า การพิพากษาต้องเป็นไปตามองค์คณะ ก็คือจะมีผู้พิพากษาอยู่สองคน คนหนึ่งเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน อีกคนเป็นองค์คณะ ถ้าคดีสำคัญก็ต้องส่งสำนวนไปตรวจ โดยผู้ที่จะตรวจสำนวนได้ก็คืออธิบดีผู้พิพากษา หรือรองอธิบดีผู้พิพากษาที่ได้รับมอบหมาย หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักงานอธิบดีภาค ที่เป็นผู้อาวุโสที่เคยเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมาแล้ว
...การตรวจสอบ ถามว่าตรวจสอบเพื่ออะไร ก็เพื่อดูว่าคำพิพากษามีจุดขาดตกบกพร่องอะไร และเพื่อดูว่า ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายถูกต้องหรือไม่ โดยอธิบดีศาลหรือรองอธิบดีศาลก็ดี มีสิทธิ์เทียบเท่ากับผู้พิพากษาหนึ่งท่าน ก็อาจทำความเห็น เช่นให้ทบทวนว่าข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้ ข้อกฎหมายเป็นแบบนี้ หรือแบบที่เขียนคำพิพากษาได้เขียนตามรูปแบบหรือไม่ เพราะคำพิพากษาตามรูปแบบที่กำหนดโดยศาลยุติธรรมเป็นรูปแบบที่ใช้กันอยู่ การที่ผู้พิพากษาเขียนนอกรูปแบบก็ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะแบบที่ใช้เป็นแบบสากล ใช้กันทั่วประเทศ ถ้อยคำสำนวนก็ต้องใช้ตามรูปแบบเหมือนกัน เพราะเราจะมีคู่มือตุลาการ และยังมีเอกสารแนะนำจากประธานศาลฎีกา
...เรื่องนี้ถ้าจะเรียกกันจริงๆ ก็ต้องเรียกว่า คิวซี หรือ Quality Control ถ้าเทียบกับการผลิตสินค้าหรืออุตสาหกรรม คือ Quality Control เพื่อให้มีข้อบกพร่องน้อยที่สุด อย่างสินค้าญี่ปุ่น เขาจะเขียนเลยว่า Zero Defect คือไม่มีความชำรุดบกพร่อง ของหนึ่งร้อยชิ้นต้องสมบูรณ์ทั้งหนึ่งร้อยชิ้น ฉันใด คำพิพากษาในศาลชั้นต้น ผู้ใหญ่ก็อยากให้มันสมบูรณ์ แต่ว่าดุลยพินิจแตะไม่ได้ ใครจะคิดอย่างไรแล้วแต่ เนื่องจากปรัชญาที่เรามีความเชื่อที่ว่า เราไม่เชื่อว่าบุคคลคนเดียวจะมีดุลยพินิจที่ถูกต้อง เราต้องช่วยดูกันหลายตา
ศรีอัมพร ให้ข้อมูลเรื่องกระบวนการใช้ดุลยพินิจตัดสินคดีของศาลยุติธรรมต่อไปว่า จากที่กล่าวข้างต้นขอยกตัวอย่างเช่น องค์คณะผู้พิพากษาที่มีสองคน และในคดีสำคัญ ซึ่งถ้าเกิดความเสียหาย ประชาชนและคู่ความเขาเสียหายมาก ก็ต้องมีการ QC ที่ไม่ใช่การไปบังคับดุลยพินิจ QC ดังกล่าว คือหมายถึง รูปแบบถูก ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายถูก ส่วนดุลยพินิจ จะตัดสินไปซ้ายหรือขวา ถูกหรือผิด ยกฟ้องหรือลงโทษในคดีอาญา หรือใครแพ้ ใครชนะในคดีแพ่ง ใครต้องชำระเงินหรือชำระหนี้ระหว่างคู่ความ ก็เป็นลักษณะนี้
นิติประเพณี กับระบบตัดสินคดี
ศรีอัมพร-ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ เล่าให้ฟังถึงพัฒนาการของกระบวนการตรวจสำนวนของศาลชั้นต้น ตั้งแต่อดีตจนถึงที่ใช้ในปัจจุบันว่า เดิมระบบตรวจสำนวน มีมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2500 แต่ส่วนใหญ่จะมีในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา เพราะว่าเนื่องจากคำพิพากษาในศาลสูงเรามีมอตโต หรือเข็ม-นโยบายของศาลยุติธรรมว่าจะให้ผิดไม่ได้ เพราะมันจะถึงที่สุดแล้ว ซึ่งศาลชั้นต้นเดิมตอนแรกๆ ไม่มีการตรวจ แต่ต่อมาก็มีการตรวจ เนื่องจากการแต่งตั้งอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค แต่งตั้งมาจากผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ หรือผู้พิพากษาศาลฎีกา ที่จะมีความเชี่ยวชาญในเรื่องคำพิพากษา ที่ก็จะมาดูว่ามันไปได้หรือไปไม่ได้ ถ้าเห็นว่าผิดปกติเขาก็ทักท้วง
…คำว่าทักท้วงก็คือการเขียนข้อสังเกตไว้ เช่นควรจะอย่างนี้ แต่องค์คณะเขาจะว่าอย่างไรก็ต้องแล้วแต่ หากองค์คณะมาเข้ากับอธิบดีศาล เจ้าของสำนวนก็แพ้ หรือเจ้าของสำนวนกับอธิบดีเห็นตรงกัน แต่องค์คณะไม่เห็นด้วย ก็ต้องถือว่าสองเสียงชนะ หรือถ้าเจ้าของสำนวนกับองค์คณะที่รวมกันได้สองเสียง เขาเห็นแตกต่างกับอธิบดี อธิบดีก็มีอำนาจในการเขียนความเห็นแย้ง แต่ไม่มีอำนาจในการที่จะสั่งให้ผู้พิพากษาใช้ดุลยพินิจมาทางตัวเองได้ สิ่งนี้เราถือเป็นหลักสำคัญ
…เรื่องนี้เป็นนิติประเพณี และตัวกฎหมายด้วย ในทางกลับกันหากผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดี หรือองค์คณะไปยอมอธิบดีโดยไม่มีเหตุผล โดยอ้างว่ากลัวก็เลยยอม แบบนี้ถือว่าทั้งอธิบดีและผู้พิพากษาที่ยอมผิดวินัย เพราะไม่ยอมใช้ดุลยพินิจที่เป็นอิสระ คือไปยอม เช่นสมมุติอธิบดีต้องการให้ลงโทษ เจ้าของสำนวนบอกไม่เห็นด้วยต้องยกฟ้อง หากเป็นจริง เช่นอธิบดีไปขู่ว่าจะให้คุณให้โทษได้ แบบนี้ตัวผู้พิพากษากลับไปยอมเพราะกลัว อย่างนี้ผู้พิพากษาและอธิบดีต้องถูกลงโทษ เพราะเท่ากับไม่ทำตามกฎหมายที่กำหนดไว้
...ต่อมาก็มีคนกลุ่มหนึ่งไปมองว่า การตรวจสำนวนคือการแทรกแซง อย่างเช่นพูดว่าเป็นการแทรกแซงหรือไม่ ทำให้ผู้พิพากษากลัวเลยต้องตัดสินตามผู้บังคับบัญชา ในการทำกฎหมายหลังรัฐธรรมนูญปี 50 ก็เปลี่ยนระบบใหม่ ไม่ให้ตรวจ อธิบดีศาลก็ดูแลเรื่องวินัย ส่วนสำนวนห้ามตรวจ จนมีการยุบตำแหน่งรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาคไม่ให้เข้ามาตรวจ เลิกไป หัวหน้าศาลก็ตรวจสำนวนไม่ได้ องค์คณะมีสองคน ตัดสินอย่างไรก็ตัดสินอย่างนั้น
“ผลปรากฏว่าคิวซีไม่ดี คดีมีความผิดพลาดเยอะ ผลก็ปรากฏว่าการไม่ตรวจสำนวนกลับเป็นผลร้ายต่อประชาชน ต้องมีการไปแก้ไขในชั้นศาลอุทธรณ์ คดีอาญาที่ควรลงโทษกลับยกฟ้อง หรือควรยกฟ้องแต่กลับไปลงโทษ ก็ทำให้คู่ความก็ลำบาก
ผลสุดท้ายก็มีการแก้กลับมาให้มีการตรวจสำนวนและให้มีความเข้มข้นขึ้น โดยศาลชั้นต้น ให้มีผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ประจำสำนักงานอธิบดีภาค ที่ก็คือผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมาแล้ว ที่ผ่านการเป็นผู้บริหารและผ่านการพิจารณาคดีมาร่วมยี่สิบปี และยังมีรองอธิบดีที่ตั้งมาจากศาลอุทธรณ์ที่อาวุโสมาเขียนคำพิพากษา ก็ช่วยกันกลั่นกรอง และคดีที่จะส่งให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคตรวจ ต้องเป็นคดีที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา อธิบดีศาลไม่ได้มีอำนาจในการที่จะกำหนดเอง เพราะฉะนั้นหลักการตรวจสำนวน เราถือมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้วว่าเป็นการสร้างความถูกต้องให้แก่คดี"
...ปัญหาก็มีคนพูดกันว่า ทำไมการตรวจสำนวนต้องไปตรวจถ้อยคำด้วย ตรวจการใช้การให้เหตุให้ผลด้วย ถามว่าแบบนี้เป็นการแทรกแซงหรือกดดันการใช้ดุลยพินิจหรือไม่ ก็ต้องยืนยันว่าไม่ใช่ เป็นเรื่องของรูปแบบคำพิพากษาที่มีการกำหนดแบบแผนไว้ แบบแผนนี้ใช้กันเป็นมาตรฐานทั่วไป ต่างประเทศก็ใช้ เช่นที่อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และในประเทศของทวีปยุโรป ไม่มีแบบประเภทผู้พิพากษาอยากจะเขียนตามอำเภอใจ อยากจะเขียนแบบไหนก็ได้
...ก็เหมือนสื่อมวลชน เวลาเขียนข่าวหากไม่มีแบบแผนก็ไม่ดี เขาก็ตักเตือนให้แก้ แบบนี้ไม่ถือว่าแทรกแซง คำว่าแทรกแซงก็คือ "คุณว่าผิดหรือไม่ผิด" หรือ "ข้อเท็จจริงแบบนี้ คุณว่าจะไปทางไหน หากผิดจะผิดอย่างไรหรือไม่ผิด แล้วไม่ผิดเพราะอะไร" หรือหากเป็นคดีแพ่งก็เช่น "ฝ่ายไหนควรแพ้หรือฝ่ายไหนควรชนะ" หรือ "ทรัพย์สินที่มีการซื้อขายควรเป็นของใคร มรดกควรเป็นของใคร" แบบนี้จะไม่บังคับดุลยพินิจเลย แต่ว่ารูปแบบเขาบังคับได้เพราะเป็นนิติประเพณี เป็นรูปแบบที่เขาก็ใช้กันทั้งโลก จะไปบอกว่าอธิบดีผู้พิพากษาศาลมาทักท้วงให้เขียนให้ถูกตามแบบไม่ได้ แบบนี้ก็คงไม่ใช่
"เรื่องนี้เราก็ไม่ถือว่าเป็นการแทรกแซงหรือกดดัน แต่เป็นเรื่องของการรักษาคุณภาพของคำพิพากษาให้ได้เทียบเท่ามาตรฐานสากล แต่ว่าดุลยพินิจที่ก็คือคำตัดสินว่าถูกหรือผิด แตะไม่ได้ แต่รูปแบบแตะได้ อันนี้คือหลักที่ใช้กันมาตลอดตั้งแต่โบราณ สมัยปี 2500 ก็ใช้"
ศรีอัมพร-ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ กล่าวถึงหลักการเขียนคำพิพากษาของผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมว่า รูปแบบการเขียนคำพิพากษา การให้เหตุผลต่างๆ ก็ดี มันเป็นรูปแบบที่เราใช้กันเป็น สแตนดาร์ด เป็นมาตรฐาน ผู้พิพากษาจะใช้แบบไม่มาตรฐานไม่ได้ เช่น พิพากษาลงโทษหรือพิพากษาให้ยกฟ้อง จะไปเขียนอย่างอื่นไม่ได้ หรือพิพากษาให้ใครรับผิดอย่างไร จะมีรูปแบบ รวมถึงการเขียนคำพิพากษาก็จะมีรูปแบบการเขียนถ้อยคำที่เป็นภาษาราชการ จะไม่ใช้ภาษาพูด
...ยกตัวอย่าง พยานได้เบิกความว่า "ข้าพเจ้าได้แว้นรถมอเตอร์ไซค์ แล้วไปแซวหญิงสาวที่เป็นแฟนจำเลย โดยเอาขวานมาจามหัวผม ล่อซะเละ" อะไรแบบนี้ แต่เมื่อนำมาเขียนเป็นคำพิพากษาจะเขียนว่าข้าพเจ้าขับแว้นก็ไม่ได้ ขี่มอเตอร์ไซค์ก็ไม่ได้ ต้องขับรถจักรยานยนต์ จนไปพบผู้หญิงคนดังกล่าว โดยได้พูดหยอกล้อหรือพูดในทางไม่เหมาะสม จนทำให้จำเลยมีความโกรธ จะใช้คำว่าแฟนก็ไม่ได้ ก็ต้องเขียนลักษณะแบบนี้
เรื่องเหล่านี้ผู้พิพากษาจะมีการฝึกอบรมเรื่องรูปแบบการเขียนคำพิพากษามาอยู่ก่อนแล้ว แต่หากจะมีผู้พิพากษาคนใดบอกว่าต่อไปนี้ไม่เอาแล้ว จะใช้ถ้อยคำเขียนในคำพิพากษาโดยใช้ภาษาพูด แบบนี้ก็ไม่ได้ อีกทั้งการให้เหตุผลก็จะมีหลักวิชาที่เรียกกันว่า ตรรกะวิทยาทางกฎหมาย คือการให้เหตุให้ผล จะมีรูปแบบไว้เลย ไม่ใช่ให้กันตามอำเภอใจ ไม่เช่นนั้นแล้วการเขียนตามอำเภอใจจะเป็นอิสระ คงทำไม่ได้เพราะทุกกระทรวงกรมก็จะมีรูปแบบการทำงาน รูปแบบการเขียนในหนังสือราชการ จะไปบอกว่าไม่เอาแล้วไม่ทำตามรูปแบบ ทำตามใจ แบบนี้เรียกทำตามอำเภอใจ ไม่ใช่การใช้ดุลยพินิจที่เป็นเรื่องผิดถูก เช่น ยกฟ้อง ลงโทษ
-ยืนยันได้ว่าศาลยุติธรรมและตุลาการมีความเป็นอิสระในการตัดสินคดีร้อยเปอร์เซ็นต์?
หลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาคือ มีความเป็นอิสระในการที่จะใช้ความคิดและตัดสินว่าผิดหรือถูก ยกฟ้องหรือลงโทษ ให้ใช้หนี้หรือไม่ต้องใช้หนี้ ที่ดินควรตกเป็นของใคร ก็มีลักษณะอย่างนี้ แต่รูปแบบการเขียนคำพิพากษาก็มี formal ที่กำหนดไว้เป็นมาตรฐาน ก็มีอยู่ การให้เหตุผลก็มีรูปแบบอยู่ คนที่ไปกล่าวกันว่าคำพิพากษาก็ถูกแก้กันเละเทะ ไม่ใช่คำพิพากษาของคนเขียน พูดไม่ได้
"เพราะคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ไม่ใช่คำพิพากษาของตัวคนเขียนเอง และไม่ใช่วรรณกรรมที่มีลิขสิทธิ์ที่ใครจะมาแตะต้องสำนวนของตัวเองไม่ได้-ไม่ใช่ เพราะคำพิพากษาเป็นของศาล เขาจะเขียนไว้เลยว่าคำพิพากษาเป็นของศาล และใครเป็นคนตัดสินเท่านั้น ความรับผิดชอบของผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษาที่เป็นองค์คณะ ก็คือการใช้ดุลยพินิจในการตัดสิน แต่รูปแบบจะทำตามอำเภอใจไม่ได้ ต้องมีรูปแบบ"
บทบาทอธิบดีศาล-ผู้บังคับบัญชา
กับความเป็นอิสระขององค์คณะ
เมื่อถามถึงบทบาทในการตัดสินคดีของผู้บังคับบัญชาของผู้พิพากษา ตุลาการเป็นอย่างไร เช่นอธิบดีผู้พิพากษาศาลต่างๆ ศรีอัมพร-ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ กล่าวตอบว่า บทบาทของอธิบดีผู้พิพากษาศาลก็คือ การเป็นองค์คณะคนหนึ่งในคดีสำคัญเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าอธิบดีจะใช้ อำนาจ ซึ่งจะอ้างว่าตัวเองมีอำนาจไปบังคับให้ผู้พิพากษาตัดสินคดีโดยผู้พิพากษาต้องยอมตาม คือตัดสินว่าให้ ถูกหรือผิด แบบนั้นไม่ได้ หนึ่งคนหนึ่งเสียง อธิบดีก็หนึ่งเสียง
...ที่เป็นนิติประเพณี เป็นธรรมเนียมปฏิบัติและเป็นกฎหมายด้วย รวมสามอย่างเลยก็คือว่า หนึ่งคนหนึ่งเสียง หากหนึ่งคน แต่มีเสียงมากกว่าสองคน อย่างนี้ก็ไม่ใช่ศาล ต้องเป็นฝ่ายบริหารแล้ว เพราะฝ่ายบริหารการบังคับบัญชาต้องทำตามลำดับชั้น คือ ปลัดกระทรวง อธิบดี ไล่มาเรื่อยๆ มาเป็น กอง แผนก ฝ่ายบริหาร เขามีนโยบายมีเป้าหมาย ก็ต้องทำตามนั้น คือผู้บังคับบัญชาจะสั่งงานตามลำดับชั้นลงมา แล้วทุกคนก็ต้องอยู่ในกรอบ หากใครอยู่นอกกรอบก็ผิดวินัย เหมือนอย่างทหารก็จะมีกองพล ก็จะมีสายงาน มีผู้บัญชาการกองพล ที่ตัวผู้บัญชาการกองพัน เมื่อมีการสั่งอะไรลงมาก็ต้องทำอย่างนั้น เป็นการบังคับบัญชาตามลำดับชั้น แต่ศาลจะไม่ใช่ เพราะศาลต้องให้อิสระกับผู้พิพากษาในการชี้ผิดชี้ถูก นอกจากนี้อธิบดีภาคก็จะมีหน้าที่ในการคุมวินัย คือคุมวินัยการเป็นข้าราชการ
...คำถามก็อาจมีต่อมาว่า แล้วหากว่าเกิดอธิบดีศาลเกิดบ้าอำนาจ เกิดต้องการให้ตัดสินคดีไปอย่างหนึ่งอย่างใด โดยผู้พิพากษาและองค์คณะเขาไม่ยอม โดยอธิบดีแพ้ แล้วจะไปขู่เขาว่าต่อไปนี้จะรายงานคุณให้ไม่ดี จะได้ไม่ต้องเลื่อนตำแหน่ง หรือตำหนิว่าทำงานไม่ดี เขียนไปในรายงานความดีความชอบ ถามว่าผู้พิพากษาจะโต้แย้งอย่างไร เรื่องนี้ก็จะมีแบบในความดีความชอบว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย
...ยกตัวอย่าง สมมุติว่าตัวผมเองโดนผู้บังคับบัญชาเขม่น ผมก็สามารถโต้แย้งได้ว่า ผมไม่เห็นด้วย เพราะผมมีผลงาน มีคดีออกไปตั้งเยอะแยะ ตัดสินคดีไปแล้ว ศาลอุทธรณ์ไม่เคยกลับคำตัดสิน การที่ผู้บังคับบัญชาให้คะแนนประเมินผมต่ำ เห็นได้ว่าเป็นการให้คะแนนเป็นอคติ ก็ทำเรื่องขึ้นไป
ถามว่าการรายงานของอธิบดี จะทำให้ผู้พิพากษาที่ไม่ยอมตามที่อธิบดีต้องการเกิดผลร้ายหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าเราก็มีหลักประกัน เพราะมีคณะกรรมการข้าราชการตุลาการ (ก.ต.) โดย ก.ต.ไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง ก็มีบางคนพูดไปว่า ก.ต.ต้องฟังอธิบดี ก็ยืนยันว่าไม่ใช่ เพราะเมื่อ ก.ต.ได้รับเลือกจากผู้พิพากษาทุกชั้นศาล เขาก็ต้องดูแล เขามีหน้าที่ดูแล และต้องค้นหาข้อเท็จจริง
หากอธิบดีศาลรายงานเรื่องขึ้นมาไม่ดีก็โดน อธิบดีก็จะโดนโต้แย้งได้ ทุกขั้นตอนไม่มีทางที่ผู้บังคับบัญชาจะกลั่นแกล้ง คืออาจกลั่นแกล้งได้แต่จะไม่มีผลเลย เพราะว่าการที่จะให้คุณให้โทษ เลื่อนชั้นเพิ่มเงินเดือน ได้ตำแหน่งดีๆ อยู่ที่ ก.ต. ไม่ใช่อยู่ที่ผู้บังคับบัญชา สิ่งเหล่านี้เขาเรียก หลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษา มันเป็นแบบนี้จริงๆ อย่างการเลื่อนขั้น เพิ่มเงินเดือน เขาดูกันที่ผลงาน คำพิพากษา ไม่ได้ดูที่คุณจะไปประจบประแจงอธิบดีหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแล้วคุณจะได้ดี ไม่มีทาง มันเป็นเรื่องที่เราทำกันมาก่อน ก่อนข้าราชการอื่น ก.ต.มีมาก่อนและมีมานานแล้ว เราไปนำแบบมาจากต่างประเทศ ในต่างประเทศเขาคิดมานานแล้วว่าผู้พิพากษาจะต้องไม่มีนาย แต่ว่าเป็นการไม่มีนายในการใช้ดุลยพินิจในการทำงาน แต่ว่ารูปแบบการเป็นข้าราชการเช่นการแต่งกาย สามารถคุมได้ หรือมาทำงานสาย ขึ้นบังลังก์พิจารณาคดีสาย แบบนี้ก็ถูกเล่นงานได้ เพราะเท่ากับเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบราชการที่ต้องมาทำงานไม่เกิน 08.30 และเลิกงานกลับเวลา 16.30 น. ซึ่งหากทำงานแค่ครึ่งวัน แล้วเอาเวลาราชการไปตีกอล์ฟ แบบนี้ก็สามารถถูกเล่นงานได้ แบบนี้ถามว่าเป็นเรื่องดุลยพินิจหรือไม่-ก็ไม่ใช่ แต่คุณมันเลวเอง ก็เหมือนกันหากข้าราชการอื่นๆ โดดงานไปตีกอล์ฟ ก็ถูกเล่นงานหมด เพียงแต่จะถูกจับได้หรือไม่
-เมื่อคดีตัดสินในศาลชั้นต้นแล้ว แล้วคู่ความ โจทก์หรือจำเลยมีการยื่นอุทธรณ์หรือยื่นฎีกา แล้วองค์คณะพิจารณาสำนวนคดีในชั้นศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา หากมีความเห็นแตกต่างกัน หาข้อสรุปไม่ได้ จนต้องเอาเข้าที่ประชุมใหญ่ศาลอุทธรณ์และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จะมีลักษณะการพิจารณาคดีกันอย่างไรในที่ประชุมใหญ่ของศาลสูง?
ทางศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจะมีระบบ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคดีส่งไปที่ศาลอุทธรณ์แล้วมีการตั้งองค์คณะที่จะมีสามคน ตัดสินอย่างไรก็ต้องเป็นไปแบบนั้น ประธานศาลอุทธรณ์หรือประธานศาลฎีกาก็แทรกแซงไม่ได้ แต่ทำความเห็นคล้ายๆ กับขอให้ทบทวน ส่วนหากสมมุติไม่มีการทบทวน ก็มีข้อกฎหมายอยู่ข้อหนึ่งที่ว่า หากสำนวนนี้ออกไปอาจกระทบกระเทือนความยุติธรรมของประชาชน ประธานศาลอุทธรณ์ก็ดี ประธานศาลฎีกาก็ดี สามารถทำได้สองอย่างคือ หนึ่งส่งเรื่องให้รองประธานศาลอุทธรณ์คนที่หนึ่ง หรือรองประธานศาลฎีกาทำความเห็นมา จะโอนสำนวนก็ได้ ก็หมายความว่านำสำนวนไปให้องค์คณะใหม่เขาทำ แต่ประธานศาลฎีกาก็ไม่มีอำนาจที่จะไปบังคับองค์คณะใหม่ให้เขาตัดสินไปทางใด ถ้าองค์คณะใหม่ตัดสินไปในทางใดต้องตีออก เขาเรียกว่าคำพิพากษานั้นต้องสำเร็จ ต้องเสร็จสิ้น ทำอะไรอีกไม่ได้แล้ว
ประการที่สอง หากปัญหานี้สำคัญจริงๆ ก็จะใช้องค์คณะทั้งศาล คือนำปัญหานี้ไปเข้าที่ประชุมใหญ่ คือนำผู้พิพากษาในศาลทั้งหมดเป็นคนตัดสิน ถามว่าเคยเห็นหน่วยงานที่ไหนทำกันแบบนี้-ไม่มี ไม่ใช่จะไประดมอธิบดีกรมต่างๆ มาตัดสิน-ไม่ใช่ แต่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงเขาตัดสินเองเลย ยกตัวอย่างเช่นเรื่องการแบนสารพิษ หากคุณอยู่ในระดับกรมจะโต้แย้งได้ไหม ก็สู้เขาไม่ได้ แต่งานตุลาการไม่มีทางเลย งานตุลาการคุณจะไปแตะเขาไม่ได้หากเขาจะตัดสินอย่างไร เหตุผลก็เพราะเชื่อว่าเสียงส่วนใหญ่ของผู้พิพากษาที่ตัดสินถูกต้อง เขาไม่เชื่อว่าบุคคลคนเดียวจะถูกต้อง แต่เขาเชื่อเสียงส่วนใหญ่
..ยกตัวอย่างเช่นองค์คณะมีสามคน หากสองคนเห็นตรงกันให้ตัดสินอย่างไร อีกหนึ่งคนก็เท่ากับแพ้ ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นเจ้าของสำนวนหรือไม่ เรามีกลไกที่ว่านำสำนวนไปให้อีกองค์คณะหนึ่งทำ แต่แตะดุลยพินิจไม่ได้ องค์คณะที่จะทำไม่ว่าจะตรงกับความเห็นของเจ้าของสำนวนเดิม หรือแก้ไขใหม่ไม่ตรงกัน คดีก็ต้องออกมาเลย ท้วงไม่ได้แล้ว ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลฎีกาท้วงไม่ได้ และอีกอย่างหนึ่งเพื่อเป็นบรรทัดฐานหรือแนว ก็นำเรื่องไปให้ผู้พิพากษาทั้งศาลได้ร่วมประชุมอภิปรายกัน
..ก่อนให้สัมภาษณ์ ผมก็เพิ่งออกมาจากการประชุมใหญ่ผู้พิพากษาทั้งหมดของศาลอุทธรณ์ ประชุมกันหมดทั้งศาลเลย จากจำนวนผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ที่มีประมาณสองร้อยคน ไปประชุมถกเถียงกัน ถ้าเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเจ้าของสำนวน เจ้าของสำนวนก็ชนะไป แต่ถ้าไม่เห็นด้วย เจ้าของสำนวนต้องแก้ตามคำตัดสินของที่ประชุมใหญ่ คำว่าคำตัดสินก็คือ ดุลยพินิจของที่ประชุมใหญ่ทุกคน
..สิ่งเหล่านี้คือกลไกที่เราพยายามหาความถูกต้องให้ได้มากที่สุด โดยผู้บังคับบัญชาไม่ได้มีอำนาจเหนือการใช้ดุลยพินิจ และยังเถียงได้ด้วย หากว่าประธานพูดไม่ถูก เช่นบอกพูดนอกเรื่องแล้ว หากหน่วยงานอื่นทำแบบนี้เขาไล่ออกนอกห้องประชุมเลย เช่น หากมีการประชุมหน่วยงาน แล้วผู้ใต้บังคับบัญชาไปพูดว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้เพราะออกมาแล้วทำให้ประชาชนเดือดร้อน หากทำแบบนี้ โดนวินัยเลย กระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา แต่ศาลยุติธรรมไม่ใช่ เพราะด้วยนิติประเพณีและวิธีปฏิบัติทางกฎหมาย-ไม่มี ที่การสั่งจากจากระดับบนลงมา top-down ให้คนข้างล่างทำ-ไม่ได้ แต่หากเป็นแบบนี้ทำได้เช่น บอกคดีนี้ต้องเสร็จภายในสามเดือน แบบนี้ได้ เพราะเป็นการบริการประชาชน จะมาถามว่าแบบนี้ก็แทรกแซงดุลยพินิจ ก็ไม่ใช่การแทรกแซงดุลยพินิจเพราะเป็นเรื่องที่คุณต้องทำ ขี้เกียจไม่ได้ต้องขยันทำงาน แบบนี้ได้
...อย่างศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา เขาจะบอกเลยคดีค้างเกินสามเดือน ท่านต้องทำให้เสร็จ เพราะประชาชนเขาเดือดร้อน แล้วเป้าหมายอันนี้เป็นยุทธศาสตร์ของศาลยุติธรรม เราก็ต้องทำเพื่อสนองนโยบายบริการประชาชน แบบนี้ต้องทำ ไม่อย่างนั้นเขาก็จะมาโจมตีศาลว่า คดีขึ้นสู่ศาลไปสิบปีแล้ว ยี่สิบปีก็ยังไม่ออกมา พอดี โจทก์-จำเลยตายไปหมดแล้ว สมัยก่อนมีคำกล่าวหา ตอนนี้เราก็เร่งรัด เพราะความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความไม่ยุติธรรม เราก็ถือคตินี้
คดีแบบไหน เข้าที่ประชุมใหญ่ศาลอุทธรณ์-ฎีกา ลงมติตัดสิน
-มีคดีที่หาข้อยุติไม่ได้ ต้องนำเข้าที่ประชุมใหญ่ศาลอุทธรณ์ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ให้พิจารณาแต่ละปี มีจำนวนมากน้อยแค่ไหน?
เยอะครับ อย่างศาลอุทธรณ์ก็เรียกประชุมกันเดือนละสองครั้ง ซึ่งการประชุมแต่ละครั้งบางทีก็พิจารณากันหลายคดี เพื่อดูว่าข้อกฎหมายจะไปทางไหน
-หากประธานศาลอุทธรณ์และประธานศาลฎีกา ไม่เห็นด้วยกับการตัดสิน แล้วโอนสำนวนไปให้องค์คณะใหม่ จะทำอย่างไร ถือว่าเป็นการแทรกแซงหรือไม่ ?
ไม่เป็นการแทรกแซง โดยองค์คณะใหม่ก็มีอิสระในการทำเหมือนเดิม เหมือนแจกสำนวนใหม่มา ไม่ใช่การแทรกแซงแต่เป็นการรีวิว ซึ่งรีวิวก็คือตรวจสอบ แล้วอย่าลืมว่าเมื่อผลออกมาอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามนั้น สมมุติว่าประธานบอกว่าแบบนี้ต้องยกฟ้อง แต่องค์คณะเขาเห็นว่าต้องลงโทษ ก็มีการโอนสำนวนไปให้องค์คณะใหม่ ต่อมาองค์คณะใหม่พิจารณาแล้วเขาบอกว่าอย่างนี้ลงโทษได้ ประธานก็ต้องตีออกเลย ต้องให้คำพิพากษานั้นผ่านออกไป จะท้วงอีกเป็นครั้งที่สองไม่ได้แล้ว ก็คือทำได้สองอย่าง หนึ่ง-โอนสำนวนให้องค์คณะใหม่ สอง-ให้ผู้พิพากษาทั้งศาลตัดสิน โดยต้องมีการลงมติ หนึ่งคนหนึ่งเสียง โดยการยกมือหรือลงมติแบบการออกเสียงในที่ประชุมรัฐสภา โดยใช้เสียงข้างมากเช่นประชุมกันสองร้อยคน ผลการออกเสียงออกมาข้างใดได้เสียงหนึ่งร้อยหนึ่งเสียงก็ชนะ โดยจะมีการขานเพื่อให้ออกเสียงว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างคำพิพากษาที่เขียนออกมาหรือไม่ ก่อนจะลงมติในที่ประชุมก็จะถกเถียงกัน หลายคนก็ยกมือแสดงความเห็น
"แล้วถามว่าขนาดประธานศาลฎีกายังคอนโทรลไม่ได้เลย แล้วอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค เป็นใคร ก็ต่ำกว่าประธานศาลฎีกา แล้วจะไปคอนโทรลได้อย่างไร"
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
.............................
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |