ศาล รธน.นัดฟังคำพิพากษาชี้ชะตา "ธนาธร" 20 พ.ย. หลังไต่สวนพยาน 10 ปากคดีถือหุ้นสื่อวี-ลัคมีเดีย "ทอน" เบิกความยันโอนหุ้น 8 ม.ค.62 โบ้ยเมียบริหารตัวเองไม่ยุ่งเกี่ยวบริษัท พอจนมุมอ้างจำไม่ได้ ของขึ้นย้อนศาล โอดตอบคำถามสื่อผิดครั้งเดียวเรื่องใหญ่ ขู่ฟ้อง กกต.หลัง คสช.หมดอำนาจ ยกตนไม่เหมือน "ทักษิณ" ตั้งใจทำงานการเมืองไร้ผลประโยชน์ทับซ้อน
ที่ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดไต่สวนพยานจำนวน 10 ปาก ในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ขอให้พิจารณาว่า ความเป็น ส.ส.ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) เนื่องจากถือหุ้นสื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เข้าลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.หรือไม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีมติรับคำร้องเมื่อวันที่ 23 พ.ค.62 และสั่งนายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.
โดยตั้งแต่ช่วงเช้า บรรยากาศที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นไปอย่างคึกคัก มีบรรดาผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศมาร่วมทำข่าวการไต่สวนครั้งนี้ ขณะที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญกันพื้นที่โดยรอบสำนักงานให้มีการเข้า-ออกเพียงทางเดียว เพื่อรักษาความปลอดภัย และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจพื้นที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 2 จำนวน 40 นาย มารักษาความปลอดภัยและดูแลความเรียบร้อย
สำหรับพยานทั้ง 10 ปาก ประกอบด้วย 1.นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 2.นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดานายธนาธร 3.นางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยานายธนาธร 4.นายปิติ จรุงสถิตย์พงศ์ หลานชายนางสมพร 5.นายทวี จรุงสถิตย์พงศ์ หลานชายนางสมพร 6.นางลาวัลย์ จันทร์เกษม พนักงานบริษัท วี-ลัคมีเดีย จำกัด 7.นางกานต์ฐิตา อ่วมขำ พนักงานบริษัท วี-ลัคมีเดีย จำกัด 8.นายณัฐนนท์ อภินันท์ ทนายความ 9.นายพิพัฒพงศ์ รุจิตานนท์ ทนายความ และ 10.นายชัยสิทธิ์ กล้าหาญ คนขับรถของนายธนาธร โดยทั้งหมดได้ทยอยเดินทางมาตั้งแต่เช้า ขณะเดียวกันมีกลุ่มผู้สนับสนุนนายธนาธรเดินทางมาให้กำลังใจด้วย
ส่วนนายธนาธรเดินทางมาถึงในเวลา 08.30 น. โดยกล่าวแสดงความมั่นใจว่า เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ในหลักฐานของเรา เพราะหากไปดูเอกสารที่ตนนำมาหักล้างข้อกล่าวหา จนถึงทุกวันนี้ไม่มีใครมีพยานหลักฐานอะไรมาหักล้างสิ่งที่เราแสดงได้ จึงต้องดูว่าศาลจะมีอะไรมาหักล้าง โดยได้ส่งเอกสารหลักฐานต่างๆ ให้ศาลหมดแล้ว ดังนั้นเราจึงยืนยันในความบริสุทธิ์ ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว แม่และภรรยาก็เตรียมตัวพร้อมอย่างดี
ต่อมาเวลา 09.00 น. ตุลาการรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานในคดีดังกล่าว โดยศาลเริ่มต้นอธิบายถึงการไต่สวนพยานทั้ง 10 ปาก ว่าต้องการทราบว่าการโอนหุ้นบริษัท วี-ลัคฯ ของนายธนาธรให้กับนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ (มารดา) เกิดขึ้นในวันที่ 8 ม.ค.62 ตามที่นายธนาธรอ้างเป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังได้หรือไม่ โดยพยานทั้ง 10 ปากเป็นทั้งพยานที่รู้เห็นคือผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ กับพยานที่เกี่ยวข้องคือพยานที่จะไปดำเนินการต่อหลังการโอนหุ้น
จากนั้นศาลได้เบิกตัวนายธนาธรขึ้นเป็นพยานปากแรก โดยได้ซักในเรื่องของการเปลี่ยนชื่อบริษัท การประกอบธุรกิจสื่อของบริษัท วี-ลัคฯ และถ้าจะเลิกบริษัทต้องไปจดแจ้งต่อเจ้าพนักงานหรือไม่ ซึ่งนายธนาธรชี้แจงว่า มีการโอนหุ้น 675,000 หุ้นให้กับนางสมพร วันที่ 8 ม.ค.62 โดยก่อนจะชื่อวี-ลัคฯ เคยใช้ชื่อบริษัท โซอิด ส่วนจะถือว่าบริษัทประกอบกิจการสื่อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตีความ แต่ยืนยันว่าไม่เคยเข้าไปบริหารหรือทำธุรกรรมใดๆ ในบริษัท เป็นเพียงผู้ถือหุ้น และหลังจดทะเบียนตั้งบริษัทแล้ว การดำเนินธุรกิจซึ่งต้องอนุญาตตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ เป็นเรื่องที่กรรมการบริหารจะจัดการ ตนไม่เคยเข้าไปรู้เห็นเกี่ยวข้องเลย เพิ่งเข้ามาในระหว่างทางคือช่วง 4-5 ปีหลัง เนื่องจากหลังแต่งงาน มารดาอยากให้ลูกหลานและสะใภ้มีงานทำ โดยภรรยาของตนซึ่งเคยลาออกจากงานในธนาคารมาเลี้ยงลูก เมื่อลูกเติบโตขึ้นทำให้ภรรยาของตนว่างงาน นางสมพรจึงชวนให้เข้ามาบริหารบริษัท วี-ลัคฯ จึงเป็นที่มาของการซื้อหุ้น ส่วนหลังเลิกกิจการวี-ลัคฯ แล้วต้องไปจดแจ้งต่อเจ้าพนักงานการพิมพ์นั้น ตนไม่ทราบหลักการ และไม่เคยยุ่งกับกิจการบริษัทนี้
ยันโอนหุ้นวี-ลัค 8 ม.ค.
ต่อมาศาลซักถามถึงเหตุผลในการกำหนดให้วันที่ 8 ม.ค.62 เป็นวันโอนหุ้น ทั้งที่ในวันดังกล่าวมีภารกิจหาเสียงใน จ.บุรีรัมย์ นายธนาธรกล่าวว่า วันดังกล่าวไม่ใช่เป็นวันพิเศษอะไร 8ครอบครัวของตนมีบริษัทจำนวนมาก พอสนใจที่จะเข้ามาทำงานการเมือง จึงลาออกจากทุกตำแหน่งในภาคธุรกิจเริ่มต้นตั้งในช่วงครึ่งปีหลังของปี 61 ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าจำไม่ได้จริงๆ ว่ามีตารางนัดลงพื้นที่หาเสียงก่อน หรือนัดเซ็นโอนหุ้นก่อน แต่ตนมีปฏิทินการทำงานว่าช่วงใดจะลงพื้นที่ภาคใด และโดยปกติสามารถทำงาน 2 อย่างได้ภายในวันเดียวกัน ตอนทำงานในภาคธุรกิจทำงานหนักกว่านี้ ดีกว่านี้
สำหรับการเดินทางไปหาเสียงที่ จ.บุรีรัมย์ แล้วต้องกลับมาเซ็นโอนหุ้นที่กรุงเทพฯ เดิมวางแผนจะนั่งเครื่องกลับจาก จ.อุบลราชธานี แต่เวลาที่ใช้ในการเดินทางจาก จ.บุรีรัมย์ไป จ.อุบลราชธานี ต้องใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมง เมื่อรวมกับเวลานั่งเครื่องบิน จึงเห็นว่าไม่ต่างจากการขับรถกลับบ้านโดยตรง อีกทั้งตนเป็นคนที่หลับง่ายในรถยนต์ เมื่อขึ้นรถแล้วหลับเลย หากต้องขึ้นเครื่องบินจะต้องพบเจอและทักทายผู้คน อาจทำให้ไม่ได้พักผ่อน และไม่เป็นส่วนตัว ตนจึงยอมนั่งรถดีกว่า โดยออกจาก จ.บุรีรัมย์ในเวลา 11.00 น. และนั่งรถยนต์มากับนายชัยสิทธิ์ กล้าหาญ คนขับรถเพียง 2 คน ไม่มีพยานอื่นๆ เดินทางกลับมาด้วย โดยหลับมาตลอดทาง ระหว่างการเดินทางไม่ได้โทรศัพท์พูดคุยหรือติดต่อกับใครเลย เพราะได้นัดหมายกับทนายความไว้แล้วในเวลา 17.00 น.
นายธนาธรยอมรับว่า ระหว่างการเดินทางมีข้อเท็จจริง 2 จุด คือรถยนต์ฮุนได หมายเลขทะเบียน 8839 ถูกจับความเร็วที่นางรอง และ อ.คลองหลวง ก่อนจะถึงบ้านพักเลคไซด์วิลล่า ซึ่งเป็นจุดนัดทำสัญญาโอนหุ้นวีลัคมีเดีย ในเวลา 16.00 น. เมื่อกลับถึงบ้านก่อนเวลานัด จึงได้ไปทักทายภรรยาและทนายความ รอจนถึงเวลานัด 17.00 น. เมื่อนางสมพร นางลาวัลย์ จันทร์เกษม นางกานต์ฐิตา อ่วมขำ และนายณัฐนนท์ อภินันท์ ทนายความ เดินทางมาถึงแล้ว จึงเซ็นโอนหุ้นโดยตนรับรู้เฉพาะส่วนของการเซ็นโอนหุ้นเท่านั้น ตัวพยานไม่แน่ใจว่าแม่หรือทนายความเป็นผู้สั่งการให้ดำเนินการ หลังจากการเซ็นโอนหุ้นยืนยันว่าไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องอีกเลยจนสมัครรับเลือกตั้ง
ศาลยังได้ถามถึงเงินที่ได้รับจากการโอนขายหุ้นวี-ลัคฯ ว่ามีการนำเช็คกว่า 6 ล้านบาทไปขึ้นเงินอย่างไร นายธนาธรตอบว่า จำไม่ได้แม้จะเป็นเช็คที่มีมูลค่ากว่า 6 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นเช็คใบไหน เซ็นวันไหน เพราะมอบหมายให้ภรรยาเป็นผู้จัดการเรื่องการเงินของครอบครัวทั้งหมด และไม่แน่ใจว่าแม่และภรรยาของตนจะไปส่งมอบเช็คกันอย่างไร จะเข้าบัญชีวันไหน แม้แต่เช็คที่ตนได้รับจากการไปร่วมสัมมนาก็มอบให้ภรรยาจัดการ ตนไม่เคยจับแม้แต่สมุดบัญชี ส่วนประเด็นที่ถูกซักถามว่าเหตุใดโอนขายหุ้นในเดือนม.ค. แล้วเหตุใดจึงนำเช็คไปขึ้นเงินในเดือน พ.ค.นั้น ตนไม่เคยถามและไม่เคยรู้ อาจเป็นเพราะครอบครัวของตนไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน บางทีเช็คก็ติดเสื้อส่งไปซักแห้งก็ส่งกลับมา เรื่องการนำเช็คไปขึ้นเงินช้า เป็นเรื่องที่ภรรยาจะไปจัดการ
ศาลซักถามว่า ขณะที่ได้รับหุ้นวี-ลัคฯ 675,000 หุ้นในปี 51 ซื้อมาหรือได้มาโดยเสน่หา นายธนาธรกล่าวว่า ซื้อมาในราคาพาร์ แต่จำไม่ได้ว่าซื้อจากใคร อาจจะเป็นการซื้อหุ้นจากนางสมพร และจำไม่ได้ว่าหลังซื้อหุ้นมาแล้วได้ไปจดแจ้งไปที่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหรือไม่ ส่วนการนัดโอนหุ้นในวันที่ 8 ม.ค.62 นั้น มีการนัดหมายล่วงหน้านานเท่าไร ตนจำไม่ได้ โดยเมื่อตัดสินใจเข้าทำงานทางการเมืองในช่วงปลายปี 60 ตนได้ลาออกจากทุกตำแหน่ง ต้นปี 61 ในเดือน ม.ค.62 ยังไม่มีใครรู้ว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นวันไหน โดยพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งประกาศในช่วงปลายเดือน ม.ค. ดังนั้นเวลาที่เหมาะสมวันไหนเราก็นัดวันนั้น เนื่องจากครอบครัวของตนมีกิจการหลายบริษัท ในช่วงครึ่งหลังของปี 61 ต่อเนื่องถึงต้นปี 62 ได้ทยอยก็ทำมาเรื่อยๆ วันที่ 8 ม.ค.62 จึงไม่ใช่วันสำคัญอะไร เพราะทำมาอย่างต่อเนื่อง ธุรกรรมสุดท้ายคือเดือนเม.ย. ตนไม่ได้โอนเฉพาะหุ้นวี-ลัค มีเดีย เพราะมีหุ้นอยู่ 30 บริษัท ตนทำธุรกิจมา 20 ปี ซื้อขายหุ้นไทยและต่างชาติเป็นร้อยๆ ครั้ง ไม่มีครั้งใดที่ตนไปกระทรวงพาณิชย์ด้วยตนเอง เมื่อเซ็นจบคือจบ ที่เหลือเป็นเรื่องของธุรการของบริษัท สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นหลังเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้น ตนก็ไม่เคยดูเพราะเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ธุรการ ไม่เคยแม้แต่ถือกลับบ้าน
จนมุมอ้างจำไม่ได้
จากนั้น ฝ่าย กกต.ผู้ร้องได้ซักถามถึงนางลาวัลย์และนางกานต์ฐิตา ซึ่งร่วมเป็นพยานในเอกสารโอนหุ้น ว่าเป็นพนักงานของบริษัท ไทยซัมมิทฯ มานานกว่า 10 ปีใช่หรือไม่ นายธนาธรกล่าวว่า ทั้ง 2 คนไม่ใช่พนักงานของ บ.วี-ลัคฯ เพราะได้ปิดกิจการไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 61 แต่พยานทั้ง 2 คนดังกล่าวเป็นพนักงานในเครือไทยซัมมิท พร้อมยืนยันว่าไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารงานของ บ.วี-ลัคฯ ส่วนที่ให้บุคคลทั้ง 2 รายนี้มาเซ็นเป็นพยาน คงเป็นเพราะนางสมพรเป็นผู้ดำเนินการจัดการ
นอกจากนี้ นายธนาธรยังยืนยันว่าไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารของ บ.วี-ลัคฯ เพราะตกลงกับภรรยาว่า ชีวิตครอบครัวกับหน้าที่การงานไม่ควรยุ่งเกี่ยวกัน สามีภรรยาที่ทำงานด้วยกันทะเลาะกันจะมีปัญหาครอบครัว ดังนั้นคนที่ไทยซัมมิทจะไม่เคยเห็นภรรยาของตนเข้าไปบริหาร เช่นเดียวกับพนักงาน บ.วี-ลัคฯ ก็จะไม่เคยเห็นตนเข้าไปบริหาร ทั้งนี้ นายธนาธรยังชี้แจงด้วยว่า แม้จะมีการหารือกับผู้ถือหุ้นเตรียมเลิกกิจการและเตรียมเลิกจ้างพนักงานวี-ลัคฯ แต่ยังทำสัญญาแบ่งผลประโยชน์ผลิตนิตยสารจิ๊บจิ๊บ กับสายการบินนกแอร์ เนื่องจากเป็นสัญญาจ้างผลิตที่ทำกันไว้ล่วงหน้า ส่วนประเด็นที่กิจการขาดทุนมีหนี้ค้างชำระ 10 ล้านบาท แต่ยังมีการโอนขายหุ้นไปมานั้น ไม่ทราบ และไม่เคยยุ่งเกี่ยว ภารกิจจบไปตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.62
เมื่อถูกซักถามถึงบัญชีเอกสารที่อ้างส่งศาล ซึ่งไม่มีงบการเงินบริษัท วี-ลัคฯ นายธนาธรตอบอย่างมีอารมณ์ว่า จำไม่ได้ เพราะเอกสารเยอะมาก และไม่เห็นว่าการส่งหรือไม่ส่งจะเป็นสาระสำคัญในคดี เช่นเดียวกับเอกสารโอนหุ้นซึ่งติดอากรแสตมป์ ลงวันที่ 8 ม.ค.62 ก็เป็นเรื่องข้อกฎหมายที่ตนไม่ทราบเช่นกัน และในวันดังกล่าวที่มีการเดินทางไปปราศรัยที่ จ.บุรีรัมย์ ตนจำไม่ได้ว่าเดินทางออกจากจุดใด อาจไปนอนค้างที่ จ.บุรีรัมย์ หากศาลต้องการหลักฐาน ก็สามารถไปตรวจสอบเพื่อนำมายืนยันได้ เหตุที่จำไม่ได้เพราะศาลอาจไม่ได้เดินทางบ่อยเท่าผม เพราะวันหนึ่งปราศรัย 7 เวที บางวันไป 5 จังหวัด ติดกันทุกเดือน 3-4 เดือน จึงจำไม่ได้จริงๆ
เมื่อซักว่า เหตุใดจึงไม่อ้างนายชัยสิทธิ์ คนขับรถเป็นพยานบุคคล ในชั้นการชี้แจงกับ กกต. นายธนาธรกล่าวว่า "ไม่รู้จะตอบคำถามนี้อย่างไร ประเด็นบุรีรัมย์มากรุงเทพฯ เกิดขึ้น เพราะผมตอบคำถามนักข่าวผิดเพียงครั้งเดียว จนกลายเป็นเรื่องใหญ่โต เรามีทั้งใบสั่งและอีซีพาส เวลาสัมพันธ์กันหมดทุกช่วงเวลา แต่คนที่จะจัดการว่าใครควรเป็นพยานคือทนายความ 41 ปีในชีวิตผม นี่เป็นครั้งแรกที่เข้ามานั่งหน้าบัลลังก์ ที่ผ่านมาผมไม่เคยมีคดีเลย" เมื่อถูกถามย้ำถึงการจดแจ้งเลิกกิจการ บ.วี-ลัคฯ อย่างเป็นทางการ นายธนาธรกล่าวอย่างมีอารมณ์อีกครั้งว่า “จะต้องให้ตอบอีกกี่ครั้งว่าจำไม่ได้”
ต่อมาทนายความของนายธนาธรได้ซักถามเพื่อให้ชี้ให้ศาลเห็นว่ากระบวนการไต่สวนของ กกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยนายธนาธรกล่าวว่า กกต.มีเอกสารมาถึงตนและนางสมพร เรียกไปให้ถ้อยคำตอนเช้า แต่หนังสือเรียกส่งมาถึงบ้านในช่วงบ่าย ตนไม่มีไทม์แมชชีน ถ้ากระบวนการสอบสวนไม่ถูกต้องตั้งแต่ต้น ศาลก็ไม่ควรพิจารณาคดีนี้ และอยากให้ศาลพิจารณาว่า ขณะที่ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาล อนุกรรมการไต่สวนของ กกต.ยังสอบสวนไม่เสร็จ สิทธิของตนในเรื่องนี้ควรได้รับการพิทักษ์ และขอสงวนสิทธิ์ถ้าคสช.หมดอำนาจ ตนจะดำเนินคดี กกต.
ยกตัวไม่เหมือนทักษิณ
"ผมตั้งใจอย่างจริงจังที่จะทำงานการเมืองโดยไม่อยากให้มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน อย่างที่นายทักษิณ ชินวัตร โดนมาก่อน ต้องการให้บ้านเป็นประชาธิปไตย หากศาลตัดสินเป็นคุณกับผม ผมจะออกไปทำเรื่องบลายด์ทรัสต์ทันที เพราะต้องการใช้มาตรฐานนักการเมืองตะวันตกในการจัดการผลประโยชน์ทับซ้อน ผมไม่ต้องเข้ามาเพื่อมีผลประโยชน์หรือบริวารห้อมล้อมเหมือนนายทักษิณ เพราะผมอยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ ซึ่งถ้ายังอยู่แบบนี้ก็จะเดินต่อไปไม่ได้" นายธนาธรระบุ
จากนั้น เวลา 11.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนพยานปากที่สองคือ นายณัฐนนท์ อภินันท์ ทนายความ โดยได้ซักถามการทำเอกสารสัญญาโอนหุ้นดังกล่าวทนายจัดเตรียมใช่หรือไม่ ซึ่งนายณัฐนนท์ชี้แจงว่า เป็นคนที่จัดเตรียมการทำสัญญาดังกล่าว โดยมีนายพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายพรรคอนาคตใหม่ เป็นคนมอบหมายว่านายธนาธรประสงค์โอนหุ้น และนายพุฒิพงศ์เป็นคนให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญา แต่เมื่อศาลสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการโอนหุ้นนายณัฐนนท์กลับไม่สามารถชี้แจงได้ว่าจำนวนหุ้นที่จะโอนมีกี่หุ้น และการโอนหุ้นเป็นอย่างไร จนศาลรัฐธรรมนูญตั้งข้อสังเกตว่าหากนายณัฐนนท์ไม่ทราบข้อมูลดังกล่าว แล้วนายณัฐนนท์จะพิมพ์สัญญาฯ ได้อย่างไร จะรู้เห็นการทำสัญญาโอนหุ้นได้อย่างไร
นายณัฐนนท์ชี้แจงว่า การเตรียมการเอกสารการโอนหุ้นเตรียมก่อนล่วงหน้าเป็นอาทิตย์ แต่จำวันไม่ได้ ซึ่งในวันที่ 8 ม.ค.2562 มีการนัดหมายในการทำสัญญาที่บ้านนายธนาธร เวลาประมาณ 6 โมงเย็น โดยไปถึงบ้านนายธนาธรประมาณ 4 โมงเย็น และไม่ทราบว่านายธนาธรมาถึงบ้านตอนกี่โมง แต่เมื่อถึงเวลานัดหมายทำสัญญานายธนาธรก็มาถึงแล้ว ซึ่งหลังจากนายธนาธรและนางสมพรตรวจสอบเอกสารสัญญาและเซ็นสัญญาแล้ว ก็มีการติดอากรแสตมป์ในสัญญาในวันเดียวกัน และเห็นว่ามีการมอบเช็คให้ในวันนั้นด้วย
ส่วนการดำเนินการโอนหุ้นหลังจากเซ็นสัญญาเป็นหน้าที่ของนางลาวัลย์ จันทรเกษม เป็นคนดำเนินการแจ้งนายทะเบียนเรื่องการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น ซึ่งนายณัฐนนท์ไม่ทราบว่ามีการดำเนินการเมื่อใด ขณะที่การโอนหุ้นของนางรวิพรรณ ก็มีการโอนหุ้นให้กับนางสมพรในวันเดียวกันด้วย และได้รับการประสานข้อมูลมาจากผู้อำนวยฝ่ายกฎหมายพรรคอนาคตใหม่เหมือนกัน เป็นพยานชุดเดียวกัน และมีการจ่ายเช็คเป็นค่าตอบแทนในวันดังกล่าวเหมือนกัน
จากนั้นมีการไต่สวนพยานปากที่สาม คือ นายชัยสิทธิ์ กล้าหาญ คนขับรถของนายธนาธร ชี้แจงว่าทำงานขับรถส่วนตัวให้กับนายธนาธรและภรรยามาแล้ว 2 ปีแล้ว โดยยืนยันว่าในวันที่ 8 ม.ค. มีการขับรถออกจากบุรีรัมย์มายัง กทม.จริง ซึ่งมีผู้โดยสารในรถเพียงนายธนาธรคนเดียว โดยออกจาก อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ หลังนายธนาธรขึ้นเวทีปราศรัยเสร็จตอนเช้า ประมาณ 11 โมง ถึง กทม.ประมาณ 4 โมงเย็น
ในช่วงบ่าย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเบิกตัวนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ขึ้นเป็นพยาน โดยนางสมพรยืนยันว่า การโอนหุ้นในวันที่ 8 ม.ค. เกิดขึ้นที่บ้านของนายธนาธร โดยกำหนดเวลาหลังเลิกงานแล้วให้มาเซ็นโอนหุ้นกัน ในส่วนของเอกสารทนายความเป็นคนจัดเตรียมมา โดยรายละเอียดมอบหมายให้นางลาวัลย์ จันทรเกษม พนักงานบริษัทที่ดูงานด้านบัญชี และนางกานต์ฐิตา อ่วมขำ พนักงานที่ดูแลด้านการเงิน เป็นผู้ประสานโดยตรงกับทนายความ ในวันดังกล่าวทราบว่านายธนาธรอยู่ที่บุรีรัมย์แล้วจะนั่งรถกลับบ้าน เมื่อตนเดินทางไปถึงบ้านของนายธนาธร พบว่า นายธนาธรและนายณัฐนนท์ไปถึงก่อนแล้ว เพราะนัดไว้ในเวลา 18.00 น. ก่อนที่ตนจะเซ็นเอกสารได้อ่านดูคร่าวๆ ว่าถูกต้องแล้วจึงเซ็นซื่อ ในวันดังกล่าวตนได้เตรียมเช็คมา 2 ใบ เพื่อชำระค่าหุ้น สั่งจ่ายนายธนาธร 6,750,000 บาท โดยเช็คลงวันที่ 8 ม.ค.62 ซึ่งตนไม่รู้ว่าเช็คจะนำไปขึ้นเงินเมื่อไร
ศาลนัดชี้ชะตา 20 พ.ย.
ต่อมาศาลได้พยายามซักถามกรณีหุ้นดังกล่าว ซึ่งมีปัญหาจากการไปจดแจ้งหลังวันที่นายธนาธรสมัครรับเลือกตั้ง นางสมพร กล่าวว่า ตนบริหารบริษัทกว่า 40 แห่ง ปกติการยื่นสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) จะเคลียร์ให้เรียบร้อยก่อนยื่นงบดุล หลังการโอนหุ้นไม่ได้หมายความว่าเอกสารต้องทำเรียบร้อยในทันที ปกติก่อนการโอนหุ้นบริษัทอื่นๆ จะมีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น แต่การโอนวี-ลัคฯ ดำเนินก่อนช่วงก่อนสิ้นปี ทุกคนงานยุ่ง นายธนาธรก็เตรียมตัวมาเล่นการเมือง เขาต้องถอนหุ้นออกจากเครือไทยซัมมิททั้งหมด ในส่วนของ บ.วี-ลัคฯ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมานาน และเป็นการโอนหุ้นภายในกันเอง จึงไม่มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ส่วนการโอนหุ้นให้หลานชายทั้ง 2 คน เป็นการโอนให้ไปบริหารฟรีๆ มีการชำระค่าหุ้นในราคาพาร์ 10 บาท
ด้านนางรวิพรรณชี้แจงต่อศาลว่า การโอนหุ้นบริษัท วี-ลัคฯ ในวันที่ 8 ม.ค.62 มีการนัดหมายกันที่บ้าน คือก่อน 6 โมง หลังเซ็นเสร็จนางสมพรก็มีการเซ็นเช็คจ่ายค่าตอบแทนการโอนหุ้นให้นายธนาธรและตนคนละฉบับ ซึ่งเช็คทั้งสองใบตนเองเป็นคนเก็บ และนำไปขึ้นเดือน พ.ค.62 ด้วยตนเอง เหตุที่เว้นหลายเดือน เป็นเรื่องปกติ เพราะที่ผ่านมาจะรวบรวมหลายฉบับแล้วนำไปขึ้นพร้อมกันทีเดียว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเสร็จสิ้นการไต่สวนพยานบุคคลทั้ง 10 ปาก ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดฟังคำวินิจฉัยคดีดังกล่าวในวันที่ 20 พ.ย.นี้ เวลา 14.00 น. โดยให้คู่ความส่งคำแถลงปิดคดีภายใน 15 วัน
วันเดียวกัน ร.ท.หญิงสุณิสา ทิวากรดำรง รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ออกมาตอบโต้กรณีนายธนาธรพาดพิงถึงนายทักษิณว่า ไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใดนายธนาธรจึงต้องกล่าวพาดพิงถึงนายทักษิณให้ได้รับความเสียหาย ทั้งที่ในการชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ นายธนาธรควรต้องเอาพยานหลักฐานไปแสดงต่อศาลเรื่องการถือหุ้นสื่อ แต่ก็แปลก เพราะพอเป็นเรื่องของตัวเอง นายธนาธรกลับอ้างว่าจำเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ได้เลย
"แม้แต่เรื่องง่ายๆ ที่คนมีสติสัมปชัญญะ คนที่คิดการใหญ่ถึงขั้นเสนอตัวเป็นแคนดิเดตนายกฯ ควรต้องจดจำ เพราะเป็นเรื่องกติกาในการลงสมัครรับเลือกตั้ง เช่น ตัวเองโอนหุ้นก่อนหรือหลังกำหนดวันหาเสียง นายธนาธรกลับอ้างว่าจำไม่ได้ว่าตัวเองทำอะไรก่อนหลัง แต่นายธนาธรกลับรู้ดีว่าอดีตนายกฯ ทักษิณคิดอะไรหรือทำอะไร ที่สำคัญนายธนาธรย่อมต้องเล็งเห็นล่วงหน้าอยู่แล้วว่า สิ่งที่นายธนาธรพูดในศาลเกี่ยวกับอดีตนายกฯ ทักษิณ จะต้องกลายเป็นประเด็นให้ทีมงานโซเชียลเอาไปโพสต์โจมตีในโลกออนไลน์ ซึ่งไม่เข้าใจว่านายธนาธรทำแบบนี้เพื่ออะไร จะพูดแขวะอดีตนายกฯ ทักษิณ เพื่ออะไร" ร.ท.หญิงสุณิสาระบุ
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้พูดในฐานะรองโฆษกพรรค แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว โดยไม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพรรคฝ่ายค้าน และกำลังพูดถึงนายธนาธร ไม่ได้พูดถึงพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งก็ต้องขออภัยผู้บริหารพรรคล่วงหน้า หากทำให้พรรคไม่สบายใจ
ต่อมาเวลา 17.53 น. นายธนาธรได้โพสต์เฟซบุ๊กขอโทษที่กล่าวพาดพิงถึงนายทักษิณว่า "เมื่อกลับมาฟังสิ่งที่ผมพาดพิงถึงคุณทักษิณในระหว่างการไต่สวนในศาลวันนี้ ผมยอมรับว่าผมเองกระทำไม่เหมาะสมที่กล่าวถึงบุคคลที่สามเช่นนั้น ผมเองเจตนาจะบอกว่า ผมตั้งใจที่จะออกจากธุรกิจเมื่อตัดสินใจเข้าสู่การเมือง และทราบดีว่าสังคมจ้องจับตาเรื่องนี้ จึงพยายามสร้างมาตรฐานให้มากกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่ด้วยบรรยากาศในศาลทำให้ผมสื่อสารออกมาผิดพลาด ผมต้องขออภัยมา ณ ที่นี้".
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |