(ความเจริญทางฝั่งท่าเรือคลองเตย)
หากจะถามหาแหล่งท่องเที่ยวที่ได้สูดโฮโซนเข้าได้เต็มปอด บางกะเจ้าคือหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจมากๆ เพราะไม่ไกล จะเรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ ก็ว่าได้ ทั้งที่ตามทะเบียนแล้วตั้งอยู่ในเขตพระประแดง จ.สมุทรปราการ แต่ถ้าข้ามเรือจากคลองเตยไปก็จะถึงบางกะเจ้าได้ไม่ยาก หรือจะขับรถ นั่งรถไปก็ไม่ต้องตะเกียกตะกายไปไกลนัก
บางกะเจ้ามีอะไร ก็ต้องบอกว่าที่นี่เป็นพื้นที่สีเขียวแอ่งใหญ่ และทำหน้าที่เป็นปอดให้ชาวกรุงมานมนาน ปัจจุบันมีกฎหมายคุ้มครองบางกะเจ้าไม่ให้เปลี่ยนจากสภาพพื้นที่สีเขียวไปเป็นอย่างอื่น แม้จะมีพวกที่มีทุนหนาๆ พยายามเข้าไปทำธุรกิจในบางกะเจ้า แต่ก็ทำอะไรไม่ได้
ถ้ามาบางกะเจ้า ต้องไม่พลาดมาที่สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ สวนสาธารณะสีเขียว มาที่นี่ได้ปั่นจักรยานเล่น และเดินช็อปชิมที่ตลาดบางน้ำผึ้ง มีร้านคาเฟ่เก๋ๆ นั่งชิวๆ หรือจะไปไหว้พระทำบุญที่วัดเก่าแก่
(ล่องเรือคลองแพ)
แต่มาคราวนี้ เราจะพาไปเปิดมุมท่องเที่ยวใหม่ของบางกะเจ้าในเส้นทางวิถีคลองแพบางกอบัว ที่ ต.บางกอบัว 1 ใน 6 เส้นทางคุ้งบางกะเจ้า ซึ่ง 6 ตำบลได้แก่ ทรงคนอง, บางกอบัว, บางน้ำผึ้ง, บางกระสอบ, บางกะเจ้า และบางยอ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ร่วมกันจัดทำโครงการขึ้นเพื่อให้การมาท่องเที่ยวที่บางกะเจ้าเป็นแบบวิถีชุมชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่การมาเดินเล่นหรือซื้อของในตลาดนัดเท่านั้น แต่เป็นการพยายามดึงเอกลักษณ์โดดเด่นในชุมชนมานำเสนอนักท่องเที่ยว ให้ได้สัมผัสอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น และหลากหลายในรูปแบบการท่องเที่ยว ใน 6 เส้นทาง 6 คอนเซ็ปต์ ได้แก่ เส้นทางวิถีมอญทรงคนอง, เส้นทางวิถีคลองแพบางกอบัว, เส้นทางวิถีตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง, เส้นทางวิถีจากบางกระสอบ, Inside บางกะเจ้า และเส้นทางวิถีเกษตรบางยอ
(พายเรือคายัค คลองแพก็มีบริการ)
ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนในคุ้งบางกะเจ้าว่าเป็นการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน ซึ่ง 6 เส้นทางใหม่ที่นำเสนอจะช่วยสร้างและกระจายรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นได้อย่างดี ซึ่ง อพท.ได้บูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย สนับสนุน มุ่งพัฒนาให้พื้นที่คุ้งบางกะเจ้าสู่การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระยะ 5 ปี
"ปัจจุบันการท่องเที่ยวได้พัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่นักท่องเที่ยวผู้มาเยือนสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชุมชนเจ้าของบ้าน นับเป็นการสร้าง local experience และด้วยความโดดเด่นเรื่องวัฒนธรรมและระบบนิเวศที่สมบูรณ์ของคุ้งบางกะเจ้า เหมาะแก่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์"
(ทำลูกประคบจากฝีมือตัวเอง)
มาว่าถึงการเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงบางกอบัว ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงกว่าๆ พอมาถึงแล้วก็เริ่มสตาร์ทกันที่บ้านนายธนากร สัณหรักษ์ หรือพี่โกหม่อง ประธานท่องเที่ยวชุมชนบางกอบัว อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ทางเดินเข้าเล็กๆ ปกคลุมไปด้วยต้นไม้ทำให้พอคลายร้อนได้บ้าง บ้านหลังขนาดกลางตั้งอยู่ริมคลองแพ ที่นี่เราได้มาทำลูกประคบ โดยมีวิทยากรที่เป็นคนในชุมชนมาสอนวิธีการทำ ตัวลูกประคบก็ใช้สมุนไพรที่มีอยู่ในชุมชน ไม่ว่า ตะไคร้ ขมิ้นชัน ใบมะขาม มะกรูด มาเป็นส่วนผสม ลูกประคบที่หัดทำสามารถนำกลับได้ด้วย
(ชาวบ้านหากุ้งเลี้ยงชีพ)
พี่โกหม่องเล่าให้ฟังว่า ต.บางกอบัวเป็นอีกจุดที่ตนและชาวบ้านได้ร่วมกันพัฒนาเพื่อให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยววิถีชุมชน ให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสความเป็นบางกอบัว อย่างการปรับปรุงคลองแพ ซึ่งในอดีตคลองแพเป็นเหมือนเส้นทางค้าขายทางน้ำที่สำคัญของชาวบ้านที่นี่ไปยังท่าเรือคลองเตย แต่เมื่อมีความเจริญเข้ามาคลองแพจึงไม่ค่อยมีการใช้งานและปกคลุมไปด้วยต้นไม้หนาทึบ ตนจึงมีแนวคิดที่จะทำเป็นเส้นทางไฮไลต์ คือ เส้นทางล่องเรือ ขุดลอกคลองระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ปรับปรุงภูมิทัศน์ริมฝั่ง ชาวบ้านก็ได้รายได้จากการพายเรือนำเที่ยวด้วย นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ อย่าง วัดบางกอบัว หรือพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมวัตถุโบราณต่างๆ มีโฮมสเตย์รองรับ แต่อาจจะยังไม่มากนัก ในอนาคตก็อยากที่จะพัฒนาเส้นทางล่องเรือให้เชื่อมต่อไปยัง 5 ตำบลท่องเที่ยวชุมชนด้วย
(บ้านเรือนริมคลอง)
ทำลูกประคบเรียบร้อยก็ลงเรือได้เลยที่ท่าบ้านพี่โกหม่อง ใครจะสะดวกนั่งเรือชมวิวสบายๆ หรือจะพายเรือคายัคก็เลือกได้เลย ส่วนเราเลือกนั่งเรือ และให้พี่เอก ชาวบ้านบางกอบัว มือพายอารมณ์ดีนำเที่ยว ริมสองฝั่งคลองเต็มไปด้วยต้นจาก สลับกับพันธุ์ไม้อื่นๆ บ้านเรือนของชาวบ้านที่นี่ก็ปรับเปลี่ยนไปตามสมัย แต่ก็ไม่หนาแน่นนัก พายมาสักพักก็จะมีจุดรับของว่างเป็นน้ำตาลสด และขนมสอดไส้ ที่ท่าบ้านกลางสวน บางกอบัว นั่งรับลมต่อไปจนขึ้นท่ายังจุดชมวิวท่าเรือคลองเตย ยังคงมีชาวบ้านออกมาหากุ้งหาปลา แต่อีกฟากก็เป็นท่าเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ ที่เครื่องจักรกำลังทำงานโยกย้ายสิ่งของ ถัดไปก็จะเห็นวิวเมือง ตึกสูงมากมาย เพียงแค่แม่น้ำเจ้าพระยาคั่นกลางก็เห็นได้ชัดเลยว่าวิถีชีวิตสองฝั่งแม่น้ำช่างต่างกันเหลือเกิน
(อาหารพื้นบ้าน อร่อยพุงกาง)
เราลงเรือต่อเพื่อไปทานข้าวกันที่จุดรับของว่าง กับข้าวฝีมือชาวบ้านที่นำเมนูท้องถิ่นมาเสิร์ฟให้เราได้ทาน อย่าง ห่อหมกปลาน้ำดอกไม้ เนื้อปลาแน่นๆ นึ่งจนแห้ง ไม่มีกลิ่นคาวปลา เป็นเมนูที่ชอบที่สุดในวันนั้นเลย ยังมีแกงกะลามะพร้าว ผัดผักกุ้ง และน้ำพริกผักสด ตบท้ายด้วยลูกจากลอยแก้ว อิ่มพุงกางกันเลยทีเดียว
(สปาเท้าสมุนไพร)
กิจกรรมก่อนกลับก็มีให้เราได้ทำ ทั้งสปาเท้าน้ำสมุนไพร หรือใครจะเลือกทำมัดย้อมจากสีมะพร้าวและหูกวาง ชาวคณะก็ได้ลงมือทำกันอย่างสนุกสนาน และภูมิใจในผลงานลายมัดย้อมที่ออกมามาก ทริปนี้ทั้งหมดราคาก็อยู่ที่ประมาณ 950 บาท รวมอาหาร (ราคาขึ้นอยู่แต่ละกิจกรรม) ที่คุ้มมากๆ แต่ที่คุ้มค่าที่สุดคือการได้เข้ามาสัมผัสความน่ารักของชาวบ้าน และความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายท่ามกลางธรรมชาติที่พวกเขาดูแลรักษากันอย่างดี ใครสนใจเข้ามาท่องเที่ยวสามารถติดต่อได้ที่พี่โกหม่อง โทร. 09-2982-2535
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |