เร่งส่งมอบพื้นที่รถไฟเชื่อม3สนามบิน


เพิ่มเพื่อน    

 บอร์ดอีอีซีไฟเขียวแผนเร่งรัดโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน เคาะส่งมอบพื้นที่ 3 ระยะ เร็วสุด 1 ปี 3 เดือน เผยขยายเวลาไม่มีค่าปรับ เริ่มเปิดบริการปลายปี 66 นายกฯ สั่งภาครัฐเคลียร์ทางเอื้อซีพี พร้อมเป็นประธานลงนาม 25 ต.ค. "สมคิด" แย้มยกหูคุย "ศุภชัย" ยันเซ็นแน่ ขอดูฤกษ์ยามก่อน อาจเร็วกว่าเดิมก็ได้

    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่่ 16 ตุลาคม เวลา 10.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ดอีอีซี โดยนายกฯ กล่าวก่อนการประชุมว่า โครงการในพื้นที่อีอีซีเป็นโครงการสำคัญที่จำเป็นจะต้องเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนดการที่มีอยู่ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในเรื่องการลงทุนในอีอีซีเป็นโครงการนำร่อง
    ภายหลังการประชุม นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการบอร์ดอีอีซี เปิดเผยว่า ที่ประชุมรับทราบแผนเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ตามที่คณะอนุกรรมการบริหารที่มีนายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง เป็นประธานเสนอ โดยแผนการส่งมอบพื้นที่แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย 
    1.สถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ ระยะทาง 28 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่แอร์พอร์ตลิงก์เดิม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ทันทีหลังจากที่มีการลงนาม 2.สถานีสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร เร่งรัดส่งมอบพื้นที่ภายใน 1 ปี 3 เดือน แต่สามารถขยายเวลาได้ไม่เกิน 2 ปีหลังลงนามในสัญญา และ 3.สถานีพญาไท-ดอนเมือง ระยะทาง 22 กิโลเมตร เร่งรัดส่งมอบพื้นที่ภายใน 2 ปี 3 เดือน หรือไม่เกิน 4 ปีหลังลงนาม
         "ขณะนี้มีกำหนดจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าความเร็วสูง 3 สนามบิน เฉพาะสถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ช่วงปลายปี 2566 หรือต้นปี 2567 ส่วนช่วงสถานีพญาไท-ดอนเมือง ที่มีการรื้อย้ายปรับปรุงสาธารณูปโภคจำนวนมาก คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วง 2567-2568 แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ตามกำหนด ก็ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะสามารถขยายเวลาให้เอกชนทำงานต่อไปได้ และจะไม่มีการจ่ายเงินชดเชย เนื่องจากเอกชนรับทราบเงื่อนไขในการลงทุนแล้วว่าจะต้องแบกรับต้นทุนบวกความเสี่ยงทั้งหมดแล้ว" นายคณิศระบุ
         นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่ โดยมอบหมายให้ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน เพื่อเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดต่อไป
    สำหรับงบการรื้อย้ายสาธารณูปโภค 8 หน่วยงาน เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่ต้องการทำรื้อสายไฟ ซึ่งทั้งหมดได้เตรียมงบประมาณไว้เบื้องต้น คาดจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาช่วงเดือน พ.ย.นี้ โดยงบดังกล่าวจะกระจายให้ 8 หน่วยงานเพื่อใช้ในการรื้อย้าย อย่าง กฟน. รัฐต้องใช้งประมาณจ่ายให้ทั้งหมด เพราะก่อนหน้านี้ กฟน.เคยรื้อย้ายสายไฟเพื่อหลีกเลี่ยงโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงให้แล้วเป็นงบประมาณที่สูงมาก ดังนั้นครั้งนี้รัฐจำเป็นต้องออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด สำหรับบางหน่วยงานอาจจำเป็นต้องใช้งบประมาณของตัวเอง เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ต้องมีการรื้อแนวท่อก๊าซ/แนวท่อน้ำมันใต้ดิน 
    ด้านนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการ รฟท. ในฐานะรักษาการผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า หลังจากวันนี้จะรับเอามติ กพอ. เพื่อส่งให้กับคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จากนั้นจะแก้ไขแนบท้ายในสัญญาตามมติ กพอ. พร้อมเตรียมลงนามกับกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่ม CPH ผู้ชนะประมูลโครงการนี้ในวันที่ 25 ต.ค.นี้
    สำหรับโมเดลการส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้ตั้งคณะอนุกรรมการบริหารเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มี รมว.การคลังเป็นประธาน เพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานโครงการและโครงการอื่นด้วย
นายกฯ ปธ.ลงนาม 25 ต.ค.
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่มีการปรับเงื่อนไขเล็กน้อย ซึ่งเชื่อว่าเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย และนายกฯ ได้กำชับว่าภาครัฐต้องอำนวยความสะดวก เพื่อให้การดำเนินการโครงการนี้เป็นไปด้วยความราบรื่น ไม่มีอุปสรรคใดๆ โดยรัฐต้องออกแรงด้วย ไม่ใช่ปล่อยเอกชนออกแรงอย่างเดียว ตรงนี้น่าจะเป็นความเข้าใจที่ตรงกัน และรับทราบจะมีการลงนามสัญญา ซึ่งร่างสัญญาหลักมีอยู่แล้ว จึงไม่น่ามีอุปสรรคในการลงนาม
    เมื่อถามว่า รายละเอียดในการปรับเงื่อนไขคืออะไร นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นการปรับความเข้าใจในเรื่องการส่งมอบพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องเข้ามาทำการรื้อย้ายสาธารณูปโภค ซึ่งทาง รมว.มหาดไทยได้ไล่ถามทีละหน่วยงาน ทุกคนยืนยันว่าพร้อมและปฏิบัติได้ ขณะที่? รฟท.ต้องไปรับภาระการเวนคืนที่ดินบางส่วน และหาที่อยู่ให้กับชาวบ้านตามแนวรถไฟ ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน โดยเลื่อนระยะเวลาจาก 1 ปี 3 เดือน เป็น 2 ปี เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้น ถึงเวลานั้นถ้ามีอุปสรรค ก็ต้องว่ากันในเรื่องการขยายเวลาให้กับเอกชน อย่างไรก็ตาม? เราเข้ามาต้องการสนับสนุนทุกอย่างเพื่อให้เขาทำเสร็จ ตนได้กำชับ รมว.คมนาคมตลอดเวลา หากทางเอกชนขอสิ่งใดมา ที่เราทำได้ อยู่ในกรอบกฎหมายและทีโออาร์ เราต้องทำทุกอย่าง ถือเป็นภารกิจและหน้าที่
    นายอนุทินกล่าวว่า การทำสัญญากับรัฐจะชดเชยในเรื่องระยะเวลา ไม่ใช่เงิน หากชดเชยด้วยเงิน ทุกสัญญาที่รัฐทำกับเอกชนก็ต้องชดเชยตามไปด้วย ทั้งนี้ การก่อสร้างทุกอย่างต้องมีอุปสรรคอยู่แล้ว หากเอกชนติดอุปสรรคขอขยายสัญญา หรือหากรัฐติดอุปสรรค ก็ขอขยายสัญญาได้โดยไม่มีค่าปรับ ถือว่ายุติธรรม เพียงแค่อย่าใช้อคติหรือความลำเอียงในการดำเนินสัญญา จะทำให้ไม่มีปัญหา เพราะเชื่อว่าทุกคนต้องการให้ประเทศมีรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน จะเป็นการสร้างความเข้าใจให้ทั้งโลกว่าโครงการอีอีซีเกิดแน่นอน
    “ในวันที่ 25 ต.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์จะไปเป็นประธานการลงนาม โดย รมว.คมนาคมได้กราบเรียนเชิญเรียบร้อยแล้ว เพราะถือเป็นงานใหญ่ อีอีซีถือเป็นตำนานของ พล.อ.ประยุทธ์ สมัยก่อนเรามีอีสเทิร์นซีบอร์ด เป็นของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ วันนี้อีอีซีก็เป็นผลงาน เป็นสิ่งที่จะต้องกล่าวขานถึงความมุ่งมั่นของ พล.อ.ประยุทธ์” นายอนุทินระบุ
    ทั้งนี้ นายกฯ กำชับว่าให้ทำเสร็จเร็วๆ อะไรช่วยเขาได้ก็ช่วย อะไรยืดหยุ่นได้ก็ยืดหยุ่น โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ได้พูดในที่ประชุมว่า อย่าไปแน่นหรือตึงมาก ผ่อนได้ก็ผ่อนแต่อย่าให้ผิดกฎหมาย และอย่าให้รัฐเสียประโยชน์ ซึ่งกระทรวงคมนาคมพร้อมอยู่แล้ว ยิ่งทำเสร็จเร็ว ส่งมอบพื้นที่เร็ว จะเป็นผลงานของกระทรวงคมนาคม
    ส่วนกรณีนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นห่วงการส่งมอบพื้นที่นั้น นายอนุทิน กล่าวว่า มีการส่งมอบพื้นที่ที่เป็นนัยสำคัญหลักอยู่แล้วกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ สามารถส่งมอบโดยไม่มีอุปสรรค และในระยะเวลา 2 ปีเราก็ไปแก้ไขปัญหาส่วนที่เหลือ กว่าจะได้สร้างจริงๆ ใช้เวลาเป็นปี ขอเรียนนายศุภชัยได้เลยไม่ต้องห่วง สัปดาห์ที่แล้วก็ได้มาพบตน และยืนยันไปว่าอย่าได้กังวล ตราบใดที่ตนยังอยู่ตรงนี้ พร้อมที่จะสนับสนุนให้เอกชนทำงานได้อย่างราบรื่นที่สุด ตนเองก็พอจะมีความรู้เรื่องนี้อยู่บ้าง ไม่ใช่ไม่มี ตนก็โดนอะไรมาก็รู้ และจะนำสิ่งที่โดนมามาช่วย และมานั่งเถียงแทนเขาด้วย    
ซีพีการันตีเซ็นแน่ดูฤกษ์ก่อน
    ขณะที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายฮิโรชิ ซากิ ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมโอซากา ประเทศญี่ปุ่น สภาหอการค้าและนักธุรกิจของญี่ปุ่นได้เข้ามาหารือและสอบถามถึงความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ว่าได้ยืนยันให้นักลงทุนญี่ปุ่นมั่นใจว่าโครงการนี้จะมีการก่อสร้างได้ตามกำหนด และจะมีการลงนามในสัญญากับภาคเอกชนเร็วๆ นี้ ซึ่งกลุ่มซีพีจะต้องดูฤกษ์ยามก่อนว่าจะลงนามในวันไหน อาจจะเร็วกว่าวันที่ 25 ต.ค.ก็ได้ เพราะได้ยกหูคุยกับนายศุภชัย โดยบอกว่าจะเซ็นสัญญาแน่นอน อาจจะก่อนวันที่ 25 ต.ค.ก็ได้ ขอไปดูฤกษ์ยามก่อน แต่ไม่เกินวันที่ 25 ต.ค.แน่นอน 
    ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนทำเนียบรัฐบาล สหภาพรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้เดินทางมายื่นหนังสือและแถลงการณ์เพื่อขอให้รัฐบาลใช้ความรอบคอบในการพิจารณาการลงนามสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยมีนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับมอบแถลงการณ์
     นายสาวิทย์กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กิโลเมตร มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท เป็นโครงการสืบเนื่องจากรัฐบาล คสช.จนถึงรัฐบาลปัจจุบัน เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลกับเอกชน หรือ PPP และผู้ที่ชนะการประมูลโครงการ กลุ่ม CPH ซึ่งการลงนามในสัญญามีการเลื่อนมาหลายครั้ง และมีการกำหนดเงื่อนไขหลายข้อ ล่าสุดมีการกำหนดว่า รฟท.จะต้องส่งมอบพื้นที่ได้ 82% ของพื้นที่ทั้งหมดภายในระยะเวลา 15 เดือน หรือภายใน 1 ปี 3 เดือน
        ขณะที่เมื่อดูจากข้อตกลงที่กำหนดว่า รฟท.จะต้องส่งมอบพื้นที่ทั้งหมด 100% ภายใน 5 ปี ถือว่ายากและเสี่ยงเช่นกัน เนื่องจากในเส้นทางที่ต้องส่งมอบมีทั้งประชาชนที่อยู่อาศัยโดยถูกต้องและไม่ถูกต้องอีกเป็นจำนวนมาก และยังมีสัญญาทางธุรกิจระหว่างรฟท.กับเอกชนประมาณ 300 สัญญา รวมทั้งการรื้อย้ายสาธารณูปโภคไฟฟ้า ประปา ท่อก๊าซ ท่อส่งน้ำมัน ฯลฯ ทำให้ต้องมีการรื้อย้ายสถานที่ราชการอีกหลายแห่ง และจะกำหนดจุดที่เวนคืนที่ดินเพิ่มอีก ซึ่งไม่แน่ว่าหน่วยงานราชการต่างๆ ได้เตรียมงบประมาณไว้พร้อมหรือไม่ และหากไม่สามารถทำได้ ก็อาจมีการเรียกร้องค่าเสียหายจาก รฟท.ภายหลัง ซึ่งจะเป็นมูลค่าอีกเท่าไหร่ก็ยังไม่สามารถประเมินได้
         “หากจะลงนามในสัญญาระหว่างรัฐกับบริษัทที่ชนะการประมูล โดยมีเงื่อนไขตามเอกสารแนบท้ายสัญญาที่จะให้การรถไฟส่งมอบฟื้นที่ 82% ในระยะเวลา 15 เดือน ซึ่งมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงว่าการรถไฟฯ จะทำไม่ได้ และจะเป็นเหตุให้เอกชนร้องเรียนค่าเสียหายได้ จึงอยากให้นายกฯ และบอร์ดอีอีซี และส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้พิจารณาอย่างรอบคอบถึงเงื่อนไขแนบท้ายสัญญาดังกล่าว รวมทั้งเงื่อนไขอื่นๆ ซึ่งสังคม ประชาชนยังไม่รับรู้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนออันเป็นเจตจำนงเพื่อรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน จะได้รับการพิจารณาจากท่านและคณะ และขอให้พี่น้องประชาชน สื่อมวลชน ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด" นายสาวิทย์ระบุ.
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"