ประธานาธิบดีตุรกียืนกรานไม่เจรจากับเคิร์ด


เพิ่มเพื่อน    

ประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ยืนกรานอย่างหนักแน่นเมื่อวันพุธว่าจะไม่เจรจากับกองกำลังเคิร์ดซีเรีย มีทางเลือกเดียวคือเคิร์ดต้องวางอาวุธแล้วถอนตัวออกจากชายแดนที่ตุรกีกำหนดเป็นเขตปลอดภัย เพื่อให้ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในตุรกีตั้งถิ่นฐาน

ประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ทักทายสมาชิกพรรคความยุติธรรมและการพัฒนา (เอเค) ของเขาระหว่างประชุมสภาเมื่อวันพุธ / AFP

    คำกล่าวของประธานาธิบดีตุรกีเมื่อวันพุธที่ 16 ตุลาคม 2562 มีออกมาในขณะที่มหาอำนาจหลายชาติรวมถึงสหรัฐ เรียกร้องให้ตุรกีหยุดยิงในปฏิบัติการทางเหนือของซีเรียที่เริ่มต้นมาตั้งแต่วันพุธที่แล้ว  สหรัฐกำลังส่งรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ และรัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ ปอมเปโอ มาคุยกับแอร์โดอันในวันพฤหัสบดี

    แอร์โดอันกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า มีผู้นำประเทศบางคนกำลังพยายามเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย  แต่ในประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐตุรกีไม่เคยปรากฏว่าตุรกีนั่งร่วมโต๊ะเจรจากับองค์กรก่อการร้าย "ข้อเสนอของเรา ณ เวลานี้คือ ผู้ก่อการร้ายทั้งหมดวางอาวุธยุทโธปกรณ์ ทำลายกับดักทั้งหมด แล้วถอนตัวออกจากเขตปลอดภัยที่เรากำหนด "นี่คือหนทางเร็วที่สุดที่จะแก้ไขปัญหาในซีเรีย" เขาย้ำ

    ตุรกีเปิดปฏิบัติการพีซสปริงเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม โดยอ้างว่าเพื่อจัดตั้ง "เขตปลอดภัย" ในภาคเหนือของซีเรีย ซึ่งจะเป็นการผลักดันกองกำลังชาวเคิร์ดถอยห่างจากชายแดนตุรกี และเปิดทางให้ส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในตุรกี 3.6 ล้านคนมาตั้งถิ่นฐานที่นี่

    แอร์โดอันกล่าวว่า เมื่อใดที่เขตปลอดภัยจัดตั้งได้ "ตั้งแต่เมื่อมานบิจจนถึงชายแดนอิรัก" เมื่อนั้นปฏิบัติการนี้ก็จะยุติลงเอง

    รายงานเอเอฟพีกล่าวว่า การสู้รบระหว่างนักรบกองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย (เอสดีเอฟ) ที่กองกำลังเคิร์ดเป็นผู้นำ กับกองทัพตุรกีและอดีตกบฏซีเรียที่ตุรกีหนุนหลัง ที่เมืองราสอัลไอน์ เมืองสำคัญติดชายแดนซีเรีย ยังคงเป็นไปอย่างดุเดือดเมื่อวันพุธ ถึงแม้ว่าตุรกีจะอ้างว่ายึดเมืองนี้ได้แล้วก็ตาม

    องค์กรสังเกตการณ์สิทธิมนุษยชนซีเรียกล่าวว่า นักรบเอสดีเอฟพยายามป้องกันที่มั่นฝั่งตะวันออกของเมืองนี้อย่างเต็มที่ โดยเมื่อวันอังคารพวกเขาเปิดฉากตีโต้ครั้งใหญ่ และมีรายการต่อสู้รบอย่างดุเดือดในเขตตะวันตกของเมืองนี้ รวมถึงที่เมืองทัลอับยาด

    นับแต่เริ่มปฏิบัติการภายหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งถอนทหารอเมริกันจากที่มั่นชายแดนซีเรียไม่กี่วันก่อนหน้านั้น ตุรกีและนักรบตัวแทนสามารถควบคุมพื้นที่ชายแดนระยะทางกว่า 100 กิโลเมตรแล้ว แต่เมืองราสอันไอน์ หรือเมืองซีรีคานีในภาษาเคิร์ด ยังต้านทานไว้ได้

    การสู้รบส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิตแล้วหลายสิบคน ส่วนใหญ่เป็นชาวเคิร์ด และมีผู้ไร้ถิ่นฐานไม่ต่ำกว่า 160,000 คน นอกจากความวิตกว่าจะเกิดคลื่นผู้อพยพลี้ภัยรอบใหม่ ชาติมหาอำนาจในโลกตะวันตกหวั่นเกรงด้วยว่าปฏิบัติการของตุรกีจะเป็นอันตรายต่อการปราบปรามกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) มีนักรบไอเอสรวมถึงชาวต่างชาติ กว่าหมื่นรายถูกคุมขังในคุกและค่ายหลายแห่งของเคิร์ด

    แม้ฌอง-อีฟส์ เลอดริยอง รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส กล่าวเมื่อวันพุธว่า ตอนนี้ปฏิบัติการของตุรกียังไม่คุกคามค่ายเหล่านี้ แต่ยุโรปก็ใช้แนวทางแข็งกร้าวกับตุรกีมากขึ้น โดยอังกฤษและสเปนเป็น 2 ชาติล่าสุดที่ประกาศระงับการส่งออกอาวุธให้ตุรกีเมื่อวันอังคาร ต่อจากฝรั่งเศสและเยอรมนี นอกจากนี้แคนาดาก็ใช้มาตรการแบบเดียวกัน

    ด้านทำเนียบเครมลินกล่าวว่า แอร์โดอันจะมาเจรจากับปูตินภายในไม่กี่วันข้างหน้า เพื่อรับประกันว่าปฏิบัติการนี้จะไม่บานปลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบระหว่างตุรกีกับซีเรีย ซึ่งรัสเซียหนุนหลัง

    มีรายงานด้วยว่า กองทัพรัสเซียส่งสารวัตรทหารออกลาดตระเวนบริเวณชายแดนทางเหนือของซีเรียแล้วภายหลังสหรัฐถอนกำลังพลอีก 1,000 นาย เพื่อป้องกันการปะทะระหว่างทหารซีเรียกับทหารตุรกี.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"