ครม.ไฟเขียวตั้งบอร์ดรฟท. จ่อเซ็น'ไฮสปีด'3สนามบิน


เพิ่มเพื่อน    


    ครม.รับทราบความคืบหน้าไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ไฟเขียวตั้งบอร์ด รฟท. "จิรุตม์" นั่งประธาน ถกนัดแรก 16 ต.ค. นายกฯ มั่นใจเซ็นตามกำหนด "อนุทิน" ย้ำ 25 ต.ค.ไม่เลื่อนแน่ ซีพีลั่นพร้อมทำสัญญาถ้าเป็นไปตามข้อตกลง
    เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟท.) เรียบร้อยแล้ว จะทำงานต่อไปในช่วงหลังจากนี้
    ผู้สื่อข่าวถามว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่จะมีการลงนามวันที่ 25 ต.ค.นี้แน่นอนแล้วใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คาดว่าจะมีการลงนามสัญญาได้ตามเวลาที่กำหนดไว้เดิม และปัจจุบันคือวันที่ 25 ต.ค.นี้ ซึ่งได้รับรายงานจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ว่าเป็นไปตามกรอบกำหนดเวลา
    ส่วนกรณีกลุ่มซีพียื่นศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราวโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภานั้น นายกฯ กล่าวว่า เป็นเรื่องสิทธิของเอกชนที่จะยื่นศาล เราคงทำงานคู่ขนานกันไป
    ด้านนายอนุทินกล่าวว่า ภายหลังที่ประชุม ครม.อนุมัติการแต่งตั้งบอร์ด รฟท.แล้วสามารถเดินหน้าโครงการดังกล่าวได้เลย ไม่มีปัญหาอะไร เพราะรัฐบาลมีความพร้อมอยู่แล้ว และมั่นใจว่าเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดไว้ในสัญญา สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับทีโออาร์ ซึ่งมีความยุติธรรม โดยเรื่องนี้ต้องมีบอร์ดเข้ามารับทราบและเห็นชอบการเซ็นสัญญา ซึ่งบอร์ด รฟท.ชุดที่แล้ว ทั้งที่รู้ว่าต้องมีการเซ็นสัญญาก็ลาออกไม่รู้ด้วยเหตุผลอะไร จึงทำให้มีผลกระทบ 
    “บอร์ดที่เป็นข้าราชการประจำ เราคงไปแตะต้องอะไรเขาไม่ได้ แต่บอร์ดที่มาจากข้างนอก ผมก็ดูชื่อไว้ทุกคน ตราบใดที่เรายังดูแลตรงนี้อยู่ คงไม่เสนอให้มาดำรงตำแหน่งในที่อื่นๆ เพราะเราต้องการให้เข้าไปทำงาน ไม่ได้เข้าไปเพื่อเป็นเกียรติยศหรืออะไร และไม่ใช่การแบล็กลิสต์ เพราะผมไม่มีอำนาจไปแบล็กลิสต์อะไร แต่ถือว่าคนพวกนี้ทำงานร่วมกับเราไม่ได้ ถ้าจะเข้ามาใหม่ก็ต้องรอให้พวกเราพ้นจากรัฐบาลไปก่อน ผมยังได้กำชับนายศักดิ์สยามว่าจะต้องให้ความร่วมมือสนับสนุน และให้ความสะดวกทุกอย่างกับผู้ที่ชนะการประมูล เพื่อให้เขาทำงานให้เสร็จโดยเร็ว อะไรที่ติดขัดก็ต้องพยายามไปคลายข้อจำกัดทั้งหลายให้ได้มากที่สุด ภายใต้กรอบของกฎหมาย อย่าให้ใครเดือดร้อน จะไม่มีการไปดึง เพราะมีความหมั่นไส้หรืออะไร” นายอนุทินระบุ
    อย่างไรก็ตาม การลงนามจะมีขึ้นในวันที่ 25 ต.ค.นี้ จะไม่มีการเลื่อน เพราะก่อนหน้านี้ได้เชิญนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) มาพูดคุย เพื่อให้เขามั่นใจว่ารัฐบาลจะให้ความร่วมมือทุกอย่างเพื่อให้เกิดความสะดวก ไม่ให้เกิดอุปสรรค และชัดเจนอยู่แล้ว การส่งมอบพื้นที่ไม่ว่าสัญญาไหนก็ตามในประเทศไทย ถ้าส่งมอบล่าช้า เขาก็ต่อเวลาให้ ไม่มีที่ไหนที่ส่งมอบพื้นที่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และกรณีดังกล่าวเราพร้อมส่งมอบพื้นที่ได้ 70 เปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว ฉะนั้นน่าจะเริ่มวางแผนการก่อสร้างได้
    เมื่อถามถึงกรณีตัวแทนบริษัทได้พูดคุยถึงความเสี่ยงที่อยากให้รัฐบาลช่วยรับผิดชอบหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ไม่มี รัฐบาลไม่มีความเสี่ยง ความเสี่ยงของรัฐบาลคือการสนับสนุนให้บริษัทที่ชนะการประมูลทำงานได้อย่างราบรื่นที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนความเสี่ยงเรื่องการเงิน กำไร จำนวนผู้โดยสาร ค่าเงิน หรือต้นทุนต่างๆ เป็นเรื่องของเอกชนที่จะรับผิดชอบเอง เพราะเราไม่ได้บังคับให้ใครเข้ามาประมูล ซึ่งมีเงื่อนไขข้อปฏิบัติทุกอย่างที่กำหนดเอาไว้ โดยบริษัทเองก็รับรู้ ดังนั้นเมื่อยื่นซองประมูลไปแล้ว มีการประกาศบริษัทที่ชนะแล้ว ทางบริษัทผู้ชนะต้องทำตามเงื่อนไขและกฎหมายที่กำหนดไว้ โดยที่ผ่านมาประเทศไทยส่วนใหญ่มักจะออกกฎหมายแทนที่จะทำตามกฎหมาย ปัญหาถึงได้เกิดแบบนี้
    ส่วนที่มีความพยายามจะปล่อยข่าวว่าบริษัทที่ชนะการประมูลอันดับ 2 อยากทำโครงการนี้นั้น นายอนุทินกล่าวว่า ไม่มีปัญหา ดีเสียอีกที่ปล่อยข่าวออกมาแบบนี้ จะได้เห็นชัดเจนว่าทำหรือไม่ทำอย่างไร ทุกคนมีอดีตหมด แต่เราต้องอยู่กับปัจจุบัน ยืนยันทุกคนที่รู้จักตนจะรู้ดีว่าตนไม่เคยทำอะไรที่มีผลประโยชน์เข้าตัวเอง และตนออกจากบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ได้อันดับ 2 ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวตั้งแต่ปี 2547 ผ่านมา 15 ปีแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีความกังวลเรื่องนี้ และรู้ดีว่าจุดเดียวที่เขาพยายามจะตีตนได้ ก็คือจุดนี้ ตีไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่เป็นปัญหาอะไร ทุกอย่างโปร่งใส
    นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในวันที่ 16 ต.ค.นี้ จะมีการประชุมบอร์ด รฟท.ครั้งแรก โดยจะหารือเกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งหากดำเนินการภายใต้กรอบ เงื่อนไข RFP และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน ไม่มีเหตุผลใดที่ทำให้ต้องยกเลิกสัญญา ซึ่งในส่วนของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีการตรวจสอบร่างสัญญาอย่างละเอียด นอกจากนี้จะมีการหารือถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงินลงทุน 179,421 ล้านบาท ในส่วนของสัญญา 2.3 (งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร) ที่มีการปรับกรอบวงเงินจากที่ ครม. อนุมัติไว้ที่ 38,558.38 ล้านบาท เป็น 50,633.50 ล้านบาท
       น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.มีมติแต่งตั้งให้นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ดำรงตำแหน่งเป็นประธานบอร์ด รฟท. พร้อมทั้งแต่งตั้งให้นายชยธรรม์ พรหมศร, นายอำนวย ปรีมนวงศ์, น.ส.ไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล, นายธันวา เลาหศิริวงศ์, นายพินิจ พัวพันธ์ และนางศุกร์ศิริ บุญญเศรษฐ์ เป็นกรรมการ รฟท. ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.2562 เป็นต้นไป เพื่อให้การดำเนินกิจการของ รฟท.เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นไปตามกฎหมายกำหนด
    นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังรับทราบผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เกี่ยวกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการส่งมอบพื้นที่โครงการดังกล่าว โดยให้ รฟท.และหน่วยงานเจ้าของสาธารณูปโภคจัดทำร่างแผนปฏิบัติการรื้อย้ายสาธารณูปโภคพร้อมค่าใช้จ่ายให้เร็วที่สุด เพื่อเสนอคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเห็นชอบ พร้อมทั้งกำหนดให้ส่งมอบพื้นที่โครงการให้เร็วที่สุด
    ทั้งนี้ ได้กำหนดให้มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ไม่ให้เป็นปัญหาต่อในระยะเวลาการส่งมอบพื้นที่โครงการ รวมทั้งได้กำหนดให้กรณีที่ส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินล่าช้ากว่ากำหนด ให้มีการชดเชยเอกชนคู่สัญญา โดยการขยายระยะเวลาการออกแบบและก่อสร้าง โดยไม่มีการชดเชยเงินค่าเสียหายให้แก่เอกชนคู่สัญญา
    ขณะเดียวกัน ให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง เร่งตอบหนังสือยืนยันแนวเวนคืนโครงการกลับไปยัง รฟท. และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเร่งรัดการออกร่างพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินเพื่อเสนอ ครม.โดยเร็ว ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ จะมีการนำรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ผ่านการรับทราบของ ครม.กลับไปยังที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อีกครั้ง
    ขณะที่ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) กล่าวถึงกรณีการลงนามสัญญาการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินว่า หากโครงการดังกล่าวมีสัญญาที่เป็นไปตามข้อตกลง ก็พร้อมที่จะลงนาม ซึ่งการลงนามยังเป็นไปตามกำหนดการเดิม ในวันที่ 25 ต.ค. นี้ โดยทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) อย่างไรก็ตาม ด้านโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภายังยืนยันที่จะรักษาสิทธิ์ และเดินหน้าผลักดันโครงการดังกล่าวต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"