วิกฤติรอบใหม่ก่อตัว ธีรยุทธเตือนภัยระบบคิดเห็นคนกลุ่มอื่นเป็นศัตรู


เพิ่มเพื่อน    


    "ธีรยุทธ" ออกโรงมองสังคมไทยไร้เป้าหมาย จากยุคพัฒนา-ยุคปฏิรูป สู่ยุคปัจจุบันที่กำลัง "ติดกับดักตัวเอง" เตือนทุกภาคส่วนระวังก่อวิกฤติใหม่ประเทศไทย เหตุรับกระบวนทัศน์แบบใหม่ที่เรียกว่า "ความเมือง" เห็นกลุ่มอื่นเป็นศัตรูที่ต้องล้มล้าง ซึ่งกำลังขยายตัวและน่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ ชี้หากรัฐบาล-ทหารมองปัญหาใจกลางผิดอาจนำไปสู่ปัญหาใหม่ที่ร้ายแรง แนะ "ประยุทธ์"  ใช้ความเป็นผู้ใหญ่แสดงออกด้วยท่วงทำนองนุ่มนวล ปล่อยวางบางเรื่อง อย่ามองความคิดเห็นของนักวิชาการเป็นการทำลายล้างทุกเม็ด
    ช่วงเช้าวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา นายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการและอดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 บรรยายพิเศษเรื่อง "ประชาชน พรรคการเมือง ทหารไทย ติดกับดัก ก่อวิกฤติใหม่ประเทศไทย" ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน ซึ่งจัดโดยวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับมูลนิธิ 14 ตุลา เพื่อรำลึกครบ 46 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
    นายธีรยุทธเริ่มต้นว่า กำลังมีการเปลี่ยนแปลงระบบคิดหรือกระบวนทัศน์ในสังคมไทย ซึ่งเพิ่งจะก่อตัวไม่นาน และเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ถือเป็นหน้าที่ในฐานะนักวิชาการอิสระ ที่จะติง เตือน สังคมว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นปัจจุบัน ตนไม่ถือว่ามีใคร กลุ่มไหนในสังคมเป็นศัตรู มองทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ฝ่ายทหาร ด้วยสายตาที่เป็นกลาง จะวิพากษ์วิจารณ์ตามบทบาทที่แต่ละฝ่ายเดินไป ไม่เจาะจงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
    นายธีรยุทธมองว่าสังคมไทยไม่มีเป้าหมาย จนกลับมาติดกับดักตัวเอง นับจากปี 2500 กล่าวได้ว่า เมืองไทยมี 3 ยุคคือ 1.ยุคพัฒนา 2505-2535 สมัยจอมพลสฤษดิ์ต่อพลเอกเปรม ประเทศไทยมีเป้าหมายคือการพัฒนาให้ก้าวขึ้นมาเป็นอุตสาหกรรมแถวหน้าของภูมิภาค ซึ่งได้ผลน่าพอใจ พร้อมๆ กันไปคือการพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งมีทั้งผลดี-ผลเสียสลับกันไป เพราะยังมีการคอร์รัปชันของนักการเมืองสูงจนมีการแทรกแซงโดยรัฐประหารหลายหน
    2.ยุคปฏิรูปช่วงปี 2535-2557 สังคมมองเห็นทางออกจากปัญหาคอร์รัปชันและการใช้อำนาจอย่างไร้สำนึกของนักการเมือง จนเกิดเป็นเป้าหมายใหญ่ของประเทศร่วมกัน คือการปฏิรูปการเมือง แต่กลับล้มเหลว เพราะแม้จะเกิดการชุมนุมประท้วงใหญ่มากของพันธมิตรและ กปปส. มีการรัฐประหาร 2 หน ก็สะท้อนว่าพลังอนุรักษ์ ระบบราชการ และกองทัพ ไม่พร้อมและไม่สามารถทำการปฏิรูปใดๆ ได้ เป้าหมายการปฏิรูปจึงคงจะฝ่อลงไปเรื่อยๆ
    3.ยุคปัจจุบันคือ 2557-2562 ยุคติดกับดัก เพราะไม่สามารถพบเป้าหมายที่เป็นทางออกได้ อันที่จริง มีเป้าหมายหนึ่งคือ ประชาธิปไตยที่กินได้ หรือนโยบายประชานิยมที่จับใจชาวบ้าน จนกลายเป็นเสียงที่เหนียวแน่นของพรรคไทยรักไทย แต่ประชานิยมที่เกิดมาทั่วโลกเป็นเพียงเครื่องมือของการเลือกตั้ง ไม่สามารถเป็นเป้าหมายของประเทศได้ และพิสูจน์มาแล้วว่าไม่ยั่งยืน 
    "ส่วนพรรคอนาคตใหม่มีฐานเสียงเป็นชนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่ ที่ไม่พอใจระบบเก่า 2 พรรคนี้ยังไม่มีการเสนอยุทธศาสตร์แผนงานหลักที่จะนำพาประเทศข้ามความขัดแย้งนี้ไปข้างหน้า เน้นการจุดประเด็นซึ่งเป็นจุดขายของขบวนการประชานิยม และมักกลายเป็นความขัดแย้งกับฝ่ายรัฐ ส่วนพลังฝ่ายอนุรักษ์หรือทหารเอง แม้จะได้อำนาจมา 5 ปีเศษ แต่ก็ติดกับดักความคิดที่เน้นเฉพาะความมั่นคง ไม่มีเป้าหมายที่จะกินใจประชาชนจนเกิดเป็นเป้าหมายร่วมของประเทศได้"
'ความเมือง'แทนที่'การเมือง'
    นายธีรยุทธกล่าวต่อไปว่า กระบวนทัศน์ใหม่ที่เข้ามาครอบงำคนไทย คือระบบคิดที่เรียกว่า ความเมือง เข้ามาแทนที่ระบบคิดแบบการเมือง ในวงการรัฐศาสตร์มีความคิดหนึ่งซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้น คือความคิดว่าสิ่งที่สะท้อนแก่นแท้ของสังคมมนุษย์มากกว่าการเมือง (the politic) คือสิ่งที่เรียกว่าความเมือง (the political) 
    ทั้งนี้ คำว่าการเมือง ซึ่งนิยามว่าเป็นพื้นที่การแข่งขันของความคิดที่ต่างกัน เป็นความไม่ชอบไม่พอใจ (innimicus) หรือโกรธชังกัน (exthrós) ระหว่างบุคคลก็ได้ แต่ก็สามารถหาข้อสรุปโดยเสียงส่วนใหญ่ได้ แต่ทัศนะใหม่เรื่องความเมืองเป็นเรื่องการต่อสู้แบบรวมเบ็ดเสร็จ (totality war) ของกลุ่มคนซึ่งมองอีกลุ่มในแง่เป็นพวกเรากับศัตรู (the enemy) เป็นความสัมพันธ์เชิงสงคราม (hostis, polémios) ผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดในท้ายที่สุดคือองค์อธิปัตย์ (sovereignty) ของกลุ่มซึ่งอาจเป็นผู้นำรัฐหรืออำนาจทางกฎหมายก็ได้
    นายธีรยุทธเห็นว่าหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมาทุกครั้ง ทั้งประชาชนและนักการเมืองไทย จะมองว่าประเทศได้ก้าวเข้าสู่กระบวนการเมืองประชาธิปไตยปกติ คือการแถลงนโยบาย ทัศนะของแต่ละฝ่าย การตรวจสอบ หักล้างด้วยหลักฐานโวหารเหตุผล เพื่อนำไปสู่การแก้ไขผิดเป็นถูกหรือเพื่อล้มรัฐบาลไปสู่การเลือกตั้งใหม่ก็ได้ แต่น่ากังวลว่าปัจจุบันคนไทยส่วนหนึ่ง กำลังรับกระบวนทัศน์แบบความเมือง ซึ่งมองพวกอื่นเป็นศัตรูที่ต้องล้มล้าง มาใช้แม้ในภาวะปกติซึ่งไม่ได้มีวิกฤติใดๆ 
    "ทำให้เราได้พบเห็นนักการเมืองกลายเป็นนักความเมือง พรรคการเมืองกลายเป็นพรรคความเมือง นักวิชาการกลายเป็นนักโฆษณาความเมือง ทหารฝ่ายความมั่นคงเป็นทหารฝ่ายความเมือง เราได้เห็นนักเคลื่อนไหวความเมือง พวกเขาเริ่มต้นด้วยการมองการกระทำของอีกฝ่ายไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ใดๆ เป็นภยันตรายร้ายแรงต่อบ้านเมือง เป็นศัตรูที่จะต้องถูกทำลายลงไป ด้วยการขยายประเด็นเกินเหตุและผล ไปจนถึงการฟ้องร้องหาเรื่องดำเนินคดีความ รวมทั้งการใช้อิทธิพลกดดันกระบวนยุติธรรม บางครั้งก็ใช้มาตรการป้องกันล่วงหน้า ปักธงล่วงหน้า (preemptive) ก่อนอีกฝ่ายจะดำเนินการใด ๆ ด้วยซ้ำ"
ความขัดแย้งขยายขึ้นเรื่อยๆ
    นักวิชาการผู้นี้ชี้ว่า ระบบคิดแบบความเมืองทำให้ความขัดแย้งขยายตัวน่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากความขัดแย้งเหลือง-แดง ซึ่งเป็นเรื่องชนชั้นล่างชั้นกลางในชนบทกับชนชั้นกลาง ชั้นสูงในเมือง ต่อมาเพิ่มประเด็นความเป็น ภาคเหนือ อีสาน ใต้ ความขัดแย้งเผด็จการ-ประชาธิปไตย การเลือกตั้งหลังสุดก็เพิ่มประเด็น คนรุ่นเก่า รุ่นใหม่ ความคิดเก่า ความคิดใหม่ ชาติมหาอำนาจเองก็แสดงจุดยืนชัดเจนคือ ชาติตะวันตก หนุนฝ่ายเสื้อแดง จีนหนุนฝ่ายอนุรักษ์กับทหาร 
    "การที่ความขัดแย้งขยายตัวมาตลอด บ่งชี้ว่ารัฐบาลกับทหารจัดการกับวิกฤติการผิดพลาด มองปัญหาใจกลางผิด" นายธีรยุทธ กล่าว และเตือนว่าการมองปัญหาใจกลางผิด อาจนำไปสู่ปัญหาใหม่ที่ร้ายแรง
    เขาว่าทหารเอาค่านิยมของทหารเองในเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบัน ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ยกให้เป็นปัญหาหลักของประเทศ  ปัญหานี้มีความสำคัญยิ่ง แต่ที่จะหยิบยกให้เป็นปัญหาหลักโดยแง่ความเร่งด่วน อาจผิดพลาดทั้งยุทธศาสตร์ยุทธวิธี ปัญหาที่ควรหยิบยกเพื่อให้ได้ใจประชาชนส่วนใหญ่ ควรเป็นปัญหาปากท้อง ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งกระทบประชาชนสูงมาก ปัญหาความมั่นคง ควรแก้ไขในลักษณะที่นิ่มนวล แบบแสดงความเข้าใจกันและกัน
    "เพราะประชาชนทั้งประเทศยึดอยู่ในค่านิยมนี้อยู่แล้ว แต่ส่วนที่อาจจะไม่ชื่นชม ติติงสถาบันฯ เป็นเพียงส่วนน้อยไม่มีพลังที่เป็นนัยยะสำคัญเลย และที่พวกเขาพูดถึงก็มักจะเป็นการพูดถึงสถาบันกับโลกยุคใหม่เพื่อให้ประเพณีปกครองประเทศส่วนนี้ยั่งยืนสถาพรต่อไป"
    ทั้งนี้ การที่กองทัพโยงประเด็นความมั่นคงเข้ากับสงคราม hybrid สะท้อนว่าทหารเชื่อว่าสังคมไทยซึ่งในยุครัฐประหารของคสช ยังอยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง แต่พอ 5 ปีผ่านไป สังคมก็ได้พัฒนาความขัดแย้งมาเป็นสงคราม hybrid ซึ่งร้ายแรงกว่าเดิมเพราะเป็นสงครามยุคหลังสมัยใหม่ที่ไม่จำกัดรูปแบบการต่อสู้ แต่ที่จริงแล้วคติสงครามที่ไร้รูปแบบมีมาตลอด 
แนะควรกังวลต่อวิกฤติใหม่
    นายธีรยุทธยกตัวอย่างเช่นเรื่องวัสสการพราหมณ์ในสมัยพุทธกาล ยุคอาณาจักรลานนา เชียงใหม่ก็ส่งไส้ศึกไปบ่อนทำลายลำพูน ทหารลำปางเคยก่อวินาศกรรมในเชียงใหม่ พม่าส่งสายลับมาทำแผนที่กรุงธนบุรี ปัจจุบันทุกชาติพยายามโฆษณาชวนเชื่อแนวทางของตัวเอง เอาข้อมูลความลับทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหารของกันและกันอย่างเป็นปกติ 
    "การนำเอาภาวะไม่ปกติแบบภาวะสงครามมาขยายภาพเกินจริงในภาวะปกติ ของประเทศหรือโลก มักจะทำให้ความรุนแรงขยายตัวและเกิดสงครามจริงๆ ขึ้นในที่สุด" อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16  กล่าว และว่า ประเทศไทยเคยเกิดความขัดแย้งแบบพวกเรา-ศัตรู เพียงหนเดียว คือการสร้างความคิดฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป และถือนักศึกษาเป็นภัยคอมมิวนิสต์ที่ต้องฆ่าทำลายล้างในช่วง 6 ตุลาคม 2519 
    อย่างไรก็ตาม การเกิดระบบความเมืองในขณะนี้ มีการเคลื่อนไหวกว้างขวางจากหลายฝ่ายในสังคม ทั้งฝ่ายมวลชน การใช้สื่อออนไลน์ เฟกนิวส์ สื่อทางการ นักเคลื่อนไหว นักกฎหมาย หน่วยราชการ กองทัพ กระบวนการศาลฯ ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้น เป็นวิกฤติใหม่ที่ควรกังวลและต้องช่วยกันให้ทุกฝ่ายคลี่คลาย ผ่อนความขึงตึงจนเกินไปลง
    นักวิชาการผู้นี้เสนอหนทางแก้ไขวิกฤติที่กำลังก่อตัวว่า 1. สังคมทั่วไปควรมองสถานการณ์ให้กระจ่าง ตั้งสติอยู่ตรงกลาง หรือเสริมพลังทางบวกที่จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ของสังคม เสริมความรู้สึกแบบเพื่อนมิตร อย่างรับเหตุผลที่เปิดกว้างหลากหลาย ก็จะไม่ไปช่วยเสริมกระแสพวกเรา-ศัตรูที่เกิดขึ้น
     2.ฝ่ายรัฐต้องธำรงความเป็นกลาง ไม่เข้าไปร่วมการใช้ความเมือง ทำลายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะความเมืองหมายถึงความขัดแย้งแบบทำลายล้างในภาวะสงคราม ถ้าหน่วยรัฐร่วมเป็นฝักฝ่ายด้วยก็จะสร้างความหวาดกลัวว่า รัฐบาลมีความเชื่อว่ากำลังมีสงครามภายใน หรือรัฐบาลกำลังประกาศภาวะสงครามหรือความเป็นศัตรูกับประชาชนบางกลุ่ม ซึ่งไม่เป็นผลดีอย่างยิ่งกับบ้านเมือง ศาลและระบบยุติธรรมเอง ก็ต้องตริตรองทุกคดีความหรือทุกปัญหาอย่างมีวิจารณญาณและหลักยุติธรรมอย่างแท้จริง บางทีอาจต้อง devolute คือถอยกระบวนการตุลาการภิวัตน์กลับบ้าง (devolution = วนกลับ กระจายศูนย์ ลดบทบาท) 
    "เหมือนกับที่เกิดในสหรัฐและอีกเกือบทุกประเทศ ซึ่งควรจะช่วยบรรเทาความรุนแรงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้จากกระบวนทัศน์ความเมืองที่กำลังแผ่ขยายอยู่ในขณะนี้"
งานที่รัฐบาลบิ๊กตู่ควรทำ
    นายธีรยุทธกล่าวด้วยว่า งานที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ควรทำ รัฐบาลประยุทธ์ในช่วงรัฐประหารมีผลงานจับต้องได้จำนวนหนึ่ง คือโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ และการรักษาความสงบไม่ให้มีการชุมนุมประท้วง ส่วนการปฏิรูประบบไม่เกิด การสร้างความสมานฉันท์ก็ไม่เกิด รัฐบาลประยุทธ์ซึ่งมาจากเลือกตั้งจะยิ่งทำงานลำบากกว่าเดิมมาก เพราะโดยโครงสร้างรัฐบาลจะอยู่รอดต่อไปได้ ต้องจัดสรรผลประโยชน์มาให้ทุกกลุ่มการเมือง ซึ่งในที่สุดจะต้องพึ่งพากลุ่มทุนใหญ่ 
    "ดังนั้นภารกิจหลักของรัฐบาลในช่วงหน้าก็คือจะกลายเป็นการดำเนินนโยบายโครงการให้กับกลุ่มทุนใหญ่ เป็นรัฐบาลทหารเพื่อกลุ่มธุรกิจใหญ่" อย่างไรก็ตาม นายธีรยุทธคาดว่า "คนจำนวนมากยังต้องการให้ประเทศได้มีรัฐบาลบริหารงานไปอีกสักระยะหนึ่ง ดังนั้นพลเอกประยุทธ์ควรปรับปรุงวิธีการทำงาน เพราะการควบคุมประสานพรรคร่วมลำบากยากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ควรตั้งเป้าหมายระยะยาว แต่ต้องทำให้ได้ผลจริงจังสักสองสามเรื่องก็พอ"
    เขาเสนอแนะรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ทำอย่างแรกคือ โฟกัสการแก้ปัญหาปากท้องของชาวบ้าน ที่ตนเคยเรียกรวยกระจุก จนกระจาย กลางกระจ้อน (กระจ้อน = แคระ แกร็น) อย่างจริงจัง เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำมีสูง คนจน คนชั้นกลางก็ลำบากจริง ๆ การแก้ปัญหานี้จริงๆ ทำได้ยากแต่นายกก็ต้องทุ่มเททำ
    อย่างที่สองคือ การเพิ่มคุณภาพของคนในทุกวัยในด้านการศึกษาพัฒนาทักษะใหม่ อาชีพใหม่สำหรับเศรษฐกิจแบบ disruptive ที่เกิดขึ้นรวดเร็วในหลายๆ ด้าน ต้องใช้อำนาจบารมีตัวนายกฯ ประยุทธ์เองลงมือแก้ปัญหาเอง การแก้ปัญหาครบทั้งต้นน้ำปลายน้ำ เช่น ต้องมีการประกันรายได้การงานให้ และควรทำแบบเลือกสรรเฉพาะส่วน เพราะการปฏิรูปทั้งระบบใหญ่โตเกินไป ไม่สามารถทำได้จริง ถ้าทำเช่นนี้ ก็จะเป็นการเลือกลำดับความสำคัญได้ถูกต้องใกล้เคียงมากที่สุด
    ช่วงท้ายการบรรยาย นายธีรยุทธเปิดให้สื่อมวลชนซักถาม โดยสื่อถามว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นไม่มีการพยายามหาทางออก จะนำไปสู่อะไร นายธีรยุทธกล่าวว่า น่าเป็นห่วงมาก ลักษณะที่มีโอกาสเกิดคือจะเกิดวาทกรรมที่แรงขึ้นไปเรื่อยๆ และจะค่อยๆ ทำลายคนที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มอื่นหรือคนอื่นทีละเล็กละน้อย 
อย่าผลักไสให้เป็นคนส่วนน้อย
    "อย่างกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ถูกมองเป็นตี๋ เป็นฮ่องเต้ซินโดรม ถูกผลักให้เป็นคนส่วนน้อย อันนี้เขาเรียกว่าการถอดความเป็นตัวตนที่จำเป็น เช่น เป็นพลเมืองของประเทศไทย  เป็นพลเมือง เป็นนักธุรกิจ ให้เหลือเฉพาะสิ่งที่เปลือยเปล่า ไม่มีอะไรซักอย่าง รวมทั้งสร้างภาพว่าเป็นยักษ์มาร เป็นศัตรูที่ร้ายกาจ แบบเดียวกับที่คอมมิวนิสต์เคยถูกสร้าง เพราะฉะนั้นวาทกรรมแบบความเมืองแบบนี้ หากปล่อยไปก็จะนำไปสู่การใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็นเรื่องต้องระวัง"
    นายธีรยุทธกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา มีบารมี และมีฐานพอสมควร ซึ่งท่านควรจะใช้ หากท่านออกมาพูดด้วยความเป็นผู้ใหญ่ ให้ภาพสงบเรียบร้อย นุ่มนวล ปล่อยวางบางเรื่องบ้าง อย่างกรณีที่มีนักวิชาการไปพูด ซึ่งการที่ท่านออกมาบอกว่าไม่มีอะไร อย่าไปถือว่าเป็นการทำลายล้างทุกเม็ด มันจะทำให้ความแรงลดไป 
    "ขอฝากว่า ให้ พล.อ.ประยุทธ์ หรือทหารท่านอื่นๆ ในกองทัพ เช่นเดียวกับคุณชวน หลีกภัย หรือนักการเมืองชั้นผู้ใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์บางท่าน ผู้ใหญ่ในวงการสื่อที่เป็นเสาหลักในสังคม ก็น่าจะช่วยกัน” นักวิชาการผู้นี้กล่าว และว่า หากเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะสู้ คงไม่ประสบความสำเร็จ แต่โอกาสที่จะเกิดแบบการใช้อำนาจที่เข้มข้นขึ้นอย่างการใช้มาตรการทางกฎหมายต่างๆ ก็ยังมี
    ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าจะมีการรัฐประหารอีกหรือไม่ เขาบอกว่าพยายามติงอยู่ว่าอย่าเอาเรื่องเหล่านี้มาเป็นความขัดแย้งในสังคม กลายเป็นเรื่องพิเศษของคนส่วนน้อย ที่อาจนำไปสู่อุบัติเหตุที่ไม่มีใครคุมได้ อย่างขบวนการนักศึกษาก็เกิดไม่ได้ง่ายๆ หากกระบวนการยุติธรรมเราทำได้ดี ไม่มีการใช้ความเมืองเกินเหตุ มีความยืดหยุ่น คิดว่าจะไม่นำไปสู่ปัญหาแรงเกินไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"