ฝ่ายค้านเตรียม 106 ขุนพลชำแหละ ส่งสัญญาณ (เลิก) ขวาง พ.ร.บ.งบประมาณ


เพิ่มเพื่อน    

        นับถอยหลังสู่เวทีปล่อยของ ที่ พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้าน จะได้ร่วมโชว์บทบาทอีกครั้ง ผ่านการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ระหว่างวันที่ 17-18 ต.ค. ที่สามารถขยายเวลาได้อีกวัน โดยวงเงินงบประมาณรายจ่ายตั้งไว้สูงถึง 3.2 ล้านล้านบาท มากกว่างบเมื่อปี 2562 ถึง 2 แสนล้านบาท โดย 5 กระทรวงที่ได้งบประมาณสูงสุด 1.กระทรวงศึกษาธิการได้งบประมาณ จำนวน 368,660.34 ล้านบาท 2.กระทรวงมหาดไทยได้งบประมาณ 353,007.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบปี 62 จำนวน 25,264.76 ล้านบาท 3.กระทรวงการคลังวงเงินงบประมาณ 249,675.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 6,727.98 ล้านบาท

        4.กระทรวงกลาโหมได้งบประมาณ จำนวน 233,353.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบปี 2562 จำนวน 6,226.86 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของงบกระทรวงกลาโหมยังจำแนกออกมา เป็นของกองทัพบก 113,677.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบปี 62 จำนวน 2,300.53 ล้านบาท กองทัพเรือได้งบประมาณ 47,277.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบปี 2562 จำนวน 1,793.23 ล้านบาท ในส่วนของกองทัพอากาศได้งบ 42,882.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบปี 62 จำนวน 1,273.93 ล้านบาท อันดับ 5 กระทรวงคมนาคมได้งบประมาณ จำนวน 178,840.07 ล้านบาท ลดลงจากงบปี 62 จำนวน 758,572.90 ล้านบาท

        แม้เวลานี้พรรคเพื่อไทย พรรคร่วมฝ่ายค้าน บอกว่า เวลาในการอภิปราย 2 วัน 17-18 ต.ค. ไม่เพียงพอ ขอให้ขยายเพิ่มไปถึงวันที่ 19 ต.ค. เพื่อให้สอดรับกับเนื้อหา ประเด็นที่จะพูดครบถ้วนสมบูรณ์ เบื้องต้นพรรคร่วมฝ่ายค้านจัด 106 ขุนพล วางกรอบเตรียมชำแหละพรรคเพื่อไทย 66 คน พรรคอนาคตใหม่ 33-35 คน พรรคเสรีรวมไทย 2 คน พรรคเพื่อชาติ 1 คน พรรคพลังปวงชนไทย 1 คน พรรคประชาชาติ 2 คน และพรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 คน แม้จะมีการกำหนดเวลา คนอภิปรายโดยทั่วไปอยู่ประมาณ 5-7 นาที แต่ สำหรับบุคคลที่เป็นไฮไลต์แต่ละหัวข้อ จะเพิ่มเวลาให้มากกว่าปกติ อาทิ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ นายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. นายขจิต ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นบุคคลหน้าเดิมที่มีบทบาทจากเวทีที่ร่วมอภิปรายชำแหละนายกรัฐมนตรี ปมถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน

        กระทรวงที่ถูกล็อกเป้าโฟกัสถูกชำแหละมีทั้งรายบุคคล รายกระทรวง ซึ่งหนีไม่พ้น บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงกลาโหม โดยเนื้อหา ไม่เพียงที่จะอยู่แค่งบประมาณที่ตั้งไว้สูงถึง 3.2 ล้านล้านบาท ซึ่งมากเป็นประวัติการณ์ แต่ยังจะขุดของเก่า ลากโยง เชื่อมโยง ประเด็นการเมืองอื่นๆ เข้ามาร่วมผสมโรงด้วย ไม่ว่าจะเป็นสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ไม่มีสมาชิกท้วงติง ใช้เวลาผ่านงบเพียง 30 นาที รวมไปถึงงบกลางในงบประมาณวงเงินรอบนี้ ที่ตั้งไว้สูงถึง 5 แสนล้าน แต่กลับไม่มีการลงในรายละเอียดเท่าที่ควร

        เพื่อไทย พรรคร่วมฝ่ายค้าน ต่างมองว่า มีนัยซ่อนเร้น ซ่อนเงื่อน และเตรียมชำแหละ ลากไส้ออกมา ผ่านเวทีอภิปรายงบประมาณ ยังไม่นับรวมการบริหารงานเชิงเศรษฐกิจ ที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้าทีม ที่ทำงานไม่เข้าเป้า ใช้งบประมาณมหาศาล โดยเป้าประสงค์สุดท้ายดูจะหวังผลทางการเมืองมากกว่าแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน

        ขณะที่ กระทรวงมหาดไทย ที่มี บิ๊กป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา นั่งเป็นเจ้ากระทรวง ถูกวิพากษ์วิจารณ์ที่เหนียวแน่นในเก้าอี้ดังกล่าวมาตั้งแต่ยึดอำนาจ 2557 ไม่เคยถูกปรับออก ขณะที่แวดวงในกระทรวงคลองหลอดก็มีเสียงซุบซิบ นินทากันหนาหูเกี่ยวกับการบริหารจัดการงบ รวมไปถึงการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐมนตรีว่าการ แม้ว่ายุคนี้จะมี รัฐมนตรีช่วยเข้าไปช่วยงาน แต่ทุกเรื่อง ในทุกรายละเอียด ต้องผ่านความเห็นชอบจาก รัฐมนตรีว่าการโดยตรงเสียก่อน  

        ยังไม่นับรวมกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่กำลังมีเรื่องร้อน ที่ต่างอยู่ในโฟกัสที่เพื่อไทย พรรคร่วมฝ่ายค้านพร้อมจัดขุนพลถล่ม

        แม้จะถูกบางฝ่ายค่อนขอดการอภิปรายงบประมาณของพรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคร่วมรัฐบาล เป็นเพียงเวทีประดิษฐ์วาทกรรม หลอกด่ารัฐบาล เป็นเพียงพิธีกรรมที่ทำให้ครบตามพันธกิจ ตามเงื่อนไขกฎหมายกำหนดเท่านั้น แต่ในเบื้องลึกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ต่างต้องรอเม็ดเงินจากงบประมาณที่จะอัดลงพื้นที่เพื่อเอาไปบริหารประเทศ เอาไปพัฒนาจังหวัด อำเภอ ตำบล เอาไปช่วยเหลือชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายค้าน เพื่อไทย ที่ห่างหายจากการเป็นรัฐบาลมากว่า 5 ปี รวมไปถึงภาวะฝืดเคืองจากเศรษฐกิจในพรรค กระสุนดินดำ ขัดลำกล้อง ต่างหวังรองบประมาณตรงนี้เช่นกัน

        ล่าสุดมีสัญญาณเชิงบวก ‘สุทิน คลังแสง’ ประธานวิปฝ่ายค้าน บอกว่า การอภิปรายครั้งนี้จะเน้นเรื่องของประโยชน์ของประชาชนและการแก้ปัญหาประเทศเป็นหลัก อะไรที่ไม่ดีก็จะท้วงติงและเสนอแนะ ซึ่งถ้าหากรัฐบาลใจกว้างรับฟังคำแนะนำแล้วไปปรับปรุงแก้ไขเราก็พร้อมให้โอกาส โดยหากยอมรับว่าผิดพลาดเราก็อาจจะผ่านให้ นี่คือเจตนาของฝ่ายค้าน แต่ถ้าหากรัฐบาลไม่ยอมรับความจริง ยังดึงดัน เราก็จำเป็นต้องใช้ศักยภาพที่มี

       ถือเป็นสัญญาณที่ดี เพื่อไทย พรรคร่วมฝ่ายค้าน ต่างรู้ดีหาก พ.ร.บ.งบประมาณไม่ผ่านสภาฯ ในทางการเมืองอาจได้แค่ความสะใจ แต่ในความเป็นจริง พรรคร่วมฝ่ายค้านและชาวบ้านจะอยู่ในภาวะเดือดร้อนไม่แพ้กัน ส่วนพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน จะถูกชาวบ้านเปิดเวทีซักฟอกนอกสภาฯ อย่างดุเดือด อีกรอบก็เป็นได้.   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"